โดย ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด
ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม 2568 โดย SET Index ขยับขึ้นราว 4.9% จากระดับปิดสิ้นเดือนมิถุนายน สะท้อนแรงซื้อกลับของนักลงทุน ท่ามกลางความชัดเจนของปัจจัยภายในประเทศ ประกอบกับสัญญาณผ่อนคลายจากสถานการณ์ระหว่างประเทศบางประเด็น
ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญในประเทศ คือ ความคืบหน้าทางการเมืองภายใน หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว ช่วยคลี่คลายความไม่แน่นอนทางการเมืองในระยะสั้น ในเวลาเดียวกัน ตลาดเริ่มประเมินว่าแนวโน้มการดำเนินนโยบายภายใต้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ อาจมีความยืดหยุ่นและเอื้อต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งจะเป็นอีกแรงหนุนสำคัญในการลดต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ และช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะกลาง อีกทั้งนโยบาย “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ได้รับอนุมัติและเตรียมเริ่มใช้จริงในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นแรงผลักดันเชิงบวกต่อการช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในเมืองใหญ่
สำหรับปัจจัยต่างประเทศ การฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มอสังหาฯ ที่ได้อานิสงส์จากความคาดหวังว่ารัฐบาลจีนจะรื้อโครงการฟื้นฟู “ชุมชนแออัด” (Shanty Town Redevelopment) ผ่านการอัดฉีดงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งหนุนให้หุ้นอสังหาฯ ในจีนปรับขึ้นแรง และส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่ม China Play ในไทย นอกจากนี้ สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางมีทิศทางผ่อนคลาย หนุนให้ราคาน้ำมันลดลงและกระตุ้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวม ส่งผลให้เม็ดเงินบางส่วนกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงตลาดหุ้นไทย
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบเชิงโครงสร้างและความไม่แน่นอนหลายด้านยังคงกดดันการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งยังมีความเสี่ยงต่อการเติบโตจากปัจจัยเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจากับสหรัฐฯ ในประเด็นมาตรการ “Reciprocal Tariffs” โดยหากไทยไม่สามารถตกลงอัตราภาษีในระดับที่น่าพอใจได้เหมือนบางประเทศ เช่น เวียดนามที่สามารถ
เจรจาได้ที่ระดับ 20% ความเสี่ยงที่ไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงกว่านั้นอาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก และสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก
ในมิติการเมืองภายในประเทศ แม้สถานการณ์ล่าสุดจะคลี่คลายลงบางส่วน แต่ยังคงมีความกังวลในกรณีที่อาจเกิดการยุบสภาหรือนายกฯลาออก ซึ่งหากเกิดขึ้นและทำให้กระบวนการงบประมาณชะงักงัน จะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายภาครัฐ รวมถึงนโยบายการบริหารของรัฐบาลที่อาจจะเปลี่ยนไป อันอาจจะทำให้ GDP ปี 2568 และ 2569 ขยายตัวต่ำกว่าคาด
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาคือภาคการท่องเที่ยวของไทย แม้จะเริ่มฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ แต่การฟื้นกลับสู่ระดับก่อนโควิดยังคงชะลอตัวกว่าที่คาด จากปัจจัยความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ประเทศที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ รวมถึงการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเชิงรุกกว่า
ด้านการลงทุนในตลาดทุน แม้ในระยะสั้นตลาดจะได้รับแรงหนุนจากข่าวบวกต่าง ๆ แต่ปัจจัยเสี่ยงเชิงโครงสร้างและความไม่แน่นอนรอบด้านยังคงอยู่ นักลงทุนจึงควรวางกลยุทธ์การลงทุนอย่างระมัดระวัง พร้อมติดตามความชัดเจนของมาตรการเศรษฐกิจจากภาครัฐ รวมถึงความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในช่วงครึ่งหลังของเดือนอย่างใกล้ชิด
ยังคงแนะนำเน้นเลือกลงทุนในบริษัทที่มีสถานะทางการเงินแข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดดี และถือเงินสดเพียงพอสำหรับรับมือความไม่แน่นอน อีกทั้งมีนโยบายจ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง หรือซื้อหุ้นคืน ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้น และสร้างความมั่นใจในศักยภาพการสร้างผลตอบแทนได้อย่างสม่ำเสมอท่ามกลางภาวะตลาดที่ยังผันผวน