xs
xsm
sm
md
lg

บัวหลวงหวั่นซับไพรม์กระทบบอนด์FIF แนะเลือกตราสารหนี้ให้ดีก่อนเข้าลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.บัวหลวงเตือนปัญหาซับไพรม์ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ แนะบลจ.คัดสรรตราสารอย่างเข้มข้นก่อนเลือกลงทุน เผยมุมมองเศรษฐกิจระยะสั้นยังไม่ดี หลังประเมินซับไพรม์ฝุ่นตลบไม่เลิก ชี้น่าจะเห็นความชัดเจนเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกลางปีหน้า

นางวรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีจากการอาศัยความต่างของดอกเบี้ย แม้ว่าอาจจะมีต้องมีการทำการประกันความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) แต่ก็ยังสามารถให้ผลตอบแทนในระดับที่สูงกว่าการลงทุนในประเทศ

ทั้งนี้ แม้กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศจะเป็นหนึ่งแนวทางการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดี แต่ควรที่จะเลือกลงทุนอย่างระมัดระวัง แม้ว่าแต่ละบริษัทจะมีการเลือกสรรตราสารหนี้ที่เข้ามาลงทุนให้มีความน่าเชื่อถือในระดับสูง เพราะตอนนี้ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ยังนับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศอยู่ เนื่องมาจากผลกระทบจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินหรือบริษัทที่ลงทุนในซับไพรม์รวมทั้ง CDO อาจจะส่งผลถึงตราสารหนี้ที่บริษัทดังกล่าวออกด้วย

"ความเสี่ยงในการลงทุนนั้นมีอยู่ทุกที แต่ตอนนี้ความเสี่ยงที่ไม่สามารถประเมินได้ (Unknown) เลยคือผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์และ CDO ที่กระทบกับบริษัทหรือสถาบันการเงินที่ลงทุน หรือการันตีการลงทุนในสิ่งเหล่านี้ ทำให้โดยรวมแล้วตอนนี้การลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศก็ยังคงมีความเสี่ยง ฉะนั้นสำหรับบลจ.ที่จะมีการออกตราสารหนี้ต่างประเทศควรมีการคัดสรรตราสารหนี้ที่จะลงทุนอย่างระมัดระวัง" นางวรวรรณ กล่าว

สำหรับปัญหาซับไพรม์ สามารถแบ่งผลกระทบออกเป็น 2 ทาง คือผลกระทบทางตรงและผลกระทบทางอ้อม โดยในส่วนของผลกระทบทางตรงนั้น ผู้ที่จะได้รับผลกระทบประกอบไปด้วย 1.คนที่ลงทุนในซับไพรม์โดยตรง 2.ลูกหนี้สินเชื่อรายย่อย และ3. ภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่ตกต่ำลง เห็นได้จากตัวเลขการสร้างบ้านใหม่ที่ปรับตัวต่ำที่สุดในรอบหลายปี

ส่วนผลกระทบทางอ้อมก็คือ สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยกู้ หรือมีสินทรัพย์อยู่ในพอร์ตลงทุน เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายเงินได้ ก็จะกลายเป็นหนี้เสีย หรือ เอ็นพีแอล ซึ่งตัวเองมองว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวทางธนาคารที่ได้รับผลจากซับไพรม์ควรจะมีการยึดเวลาใช้หนี้เพื่อให้การผ่อนต่อเดือนน้อยลงและไม่กลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งจะเป็นแก้ไขจากรากฐานจริงๆ

นางวรวรรณ กล่าวถึงผลกระทบของปัญหาซับไพรม์ต่อกองทุนที่ลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (อีเมอร์จิงมาร์เกต) รวมทั้งกลุ่ม BRIC ซึ่งประกอบไปด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีนว่า คงจะต้องขึ้นอยู่กับว่ากองทุนดังกล่าวมีการลงทุนในบริษัทหรือสถาบันการเงินที่มีการลงทุนในซับไพรม์หรือลงทุนในสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับซับไพรม์หรือไม่

อย่างไรก็ตามในด้านมหภาค มีโอกาสที่กลุ่มประเทศดังกล่าวอาจจะได้รับผลกระทบจากซับไพรม์เช่นเดียวกัน เนื่องมาจากปัญหาดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สถาบันการเงินเท่านั้น แต่จะส่งผลเสียต่อการจ้างงาน กำลังซื้อ กำลังการผลิต และการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ซึ่งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจจะกระทบไปถึงหลายประเทศ เช่น เม็กซิโกและบราซิล ซึ่งปัจจุบันเป็นฐานการผลิตของสหรัฐฯด้วย

"มุมมองเศรษฐกิจระยะสั้น ยังไม่น่าจะดีนักเนื่องมาจากปัญหาซับไพรม์ที่ยังคงฝุ่นตลบอยู่ ซึ่งความชัดเจนน่าจะเห็นในช่วงกลางปีหน้าที่น่าจะมีตัวเลขความเสียหายที่ชัดเจนออกมา ซึงหลังจากนั้นคงจะต้องมีการประเมินว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัท ประเทศ ฯลฯ จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพียงใด” นางวรวรรณกล่าว

นางวรวรรณ กล่าวถึงสถานการณ์การลงทุนในประเทศไทยว่า ตอนนี้แนะนำให้นักลงทุนใช้ความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น เช่นการลงทุนในหุ้นควรจะมีการตรวจสอบด้วยว่า P/E ของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวมีการปรับตัวขึ้นบ้างหรือไม่ รวมทั้งมูลค่าตามบัญชี (Price book) เป็นเช่นไร ไม่ใช้พิจารณาแค่ว่า P/E ของบริษัทดังกล่าวสูงหรือต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น