กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ประกาศให้ใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ของ จ. จันทบุรี ประกอบด้วย อ.เมืองจันทบุรี อ.ท่าใหม่ อ.มะขาม อ.แหลมสิงห์ อ.แก่งหางแมว อ.นายายอาม และ อ.เขาคิชฌกูฏ ส่วน จ. ตราด ที่อ.เขาสมิง
วันที่ 25 ก.ค.68 กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ประกาศเรื่อง ให้ใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ตามที่ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลงวันที่ 19 กันยายน 2549 ให้ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งต่อมามีพระบรมราชโองการเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่และให้ใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2550 นั้น
โดยที่ปรากฏว่า ประเทศกัมพูชาใช้กำลังและอาวุธรุกรานเข้ามาในราชอาณาจักรไทยตลอดแนวชายแดน จึงมีความจำเป็นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่ต้องใช้กำลังทหาร ตำรวจ พลเรือน ตลอดจนประชาชนชาวไทยทุกคน เพื่อป้องกันประเทศให้พ้นจากภัยคุกคามอันมีที่มาจากภายนอกราชอาณาจักรดังกล่าว
เพื่อรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของชาติและบูรณภาพแห่งดินแดน ตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวไทย และจำเป็นต้อนต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่เพิ่มเติม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 176 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457
จึงให้ใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
1.จังหวัดจันทบุรี อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอท่าใหม่ อำเภอมะขาม อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอแก่งหางแมว อำเภอนายายอาม และอำเภอเขาคิชฌกุฏ
2.จังหวัดตราด อำเภอเขาสมิง
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2568
ลงชื่อ พลเรือโท อภิชาติ ทรัพย์ประเสริฐ ผู้บัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด
พลเรือตรี ปารัช รัตนไชยพันธ์ รองโฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงเพิ่มเติมกรณี ผู้บัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ลงนามประกาศ ใช้กฎอัยการศึกเพิ่มเติม ในจังหวัดจันทบุรีและตราด ว่า สืบเนื่องสถานการณ์ความตึงเครียดด้านชายแดนไทย-กัมพูชา ในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อชีวิตและความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 2 จังหวัด
ทางกองกำลังป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด จึงใช้อำนาจตาม พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ประกาศกฎอัยการศึกเพิ่มเติมในพื้นที่บางอำเภอ
ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนในของ จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้มีอำนาจตามกฎหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ และดำเนินการบริหารจัดการกิจกรรมบางอย่าง เช่น การเตรียมพื้นที่ปลอดภัยให้กับประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติเช่นเดียวกับในพื้นที่ที่ประกาศกฎอัยการศึกไปก่อนหน้านี้