xs
xsm
sm
md
lg

"ร้อยเอ็ดกรีน" ทุ่ม 600 ล้านผลิตไฟฟ้าจากแกลบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - "ร้อยเอ็ดกรีน" ทุ่ม 600 ล้านบาทผลิตไฟฟ้าจากแกลบ 8.8 เมกะวัตต์ ส่งขายให้ กฟผ. ตลอดอายุสัญญา 21 ปี แจงการลงทุนเกิดประโยชน์ทั้งระดับท้องถิ่นและประเทศ ชี้การใช้พลังงานจากแกลบช่วยประเทศลดการนำเข้าน้ำมันเตากว่า 300 ล้านลิตร มูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านบาท ขณะที่ท้องถิ่นมีรายได้หมุนเวียนจากการซื้อขายแกลบ สนพ.ยกเป็นโรงงานต้นแบบ แต่ครวญต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง เหตุมีคู่แข่งธุรกิจตั้งโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงเดียวกันหลายแห่ง คาดระยะเวลาคืนทุนยาวกว่ากำหนด

นายพรศักดิ์ พรชนาธรรม ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ร้อยเอ็ดกรีน จำกัด เปิดเผยว่าร้อยเอ็ดกรีน เป็นบริษัทในเครือของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก ดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน ส่วนการลงทุนที่จังหวัดร้อยเอ็ดจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล นำแกลบมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าส่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และใช้ภายในโรงงาน

ทุ่ม 600 ล้านสร้างแกลบให้เป็นไฟฟ้า

บริษัทใช้เงินลงทุนกว่า 600 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2544 มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 9.95 เมกะวัตต์ ใช้ภายในโรงงาน 1.15 เมกะวัตต์ เป้าหมายหลักเพื่อผลิตไฟฟ้าส่งจำหน่ายให้กับ กฟผ. 8.8 เมกะวัตต์ อย่างต่อเนื่องตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 21 ปี เริ่มส่งกระแสไฟฟ้าให้กับ กฟผ.ตั้งแต่ 29 พฤษภาคม 2546 โดยส่งไฟฟ้าตามสายส่งเข้าสู่ระบบที่สถานีไฟฟ้าย่อยจังหวัดร้อยเอ็ด

ทั้งนี้จังหวัดร้อยเอ็ดมีความพร้อมด้านวัตถุดิบรองรับ คือแกลบ เศษวัสดุที่เหลือจากการสีข้าว เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เกษตรกรรมปลูกข้าวมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ทำให้มีโรงสีข้าวกระจายครอบคลุมอยู่ทั่วจังหวัด บริษัทจะรับซื้อแกลบตามโรงสีต่างๆ ในรัศมี 80 กิโลเมตร โดยต้องใช้วัตถุดิบประมาณวันละ 300 ตันหรือประมาณ 80,000 ตัน/ปี

ผู้จัดการทั่วไปโรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีนกล่าวว่า กระบวนการผลิตจากแกลบเป็นไฟฟ้า แกลบจะถูกนำไปเป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้หม้อไอน้ำขนาดใหญ่ (Boiler) เกิดไอน้ำที่แรงดันและอุณหภูมิสูง นำไปเป็นพลังงานหมุนเครื่องกันหันไอน้ำ เพลาที่ต่ออยู่จะหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เกิดการเหนี่ยวนำและมีกระแสไฟฟ้าไหลออกสู่ระบบสายส่งไปสู่สถานีไฟฟ้าย่อยจังหวัดร้อยเอ็ด จ่ายกระแสไฟให้กับผู้ใช้ไฟต่อไป

เกิดประโยชน์ทั้งท้องถิ่นและประเทศ

ศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้า 8.8 เมกะวัตต์ คิดเป็นปริมาณถึง 1/3 ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในตัวเมืองร้อยเอ็ด เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในจังหวัดร้อยเอ็ดมีความมั่นคงด้านพลังงาน เพราะมีแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่ใกล้ หากไม่มีโรงไฟฟ้าในพื้นที่แล้วจะต้องส่งไฟฟ้าจากเขื่อนขนาดใหญ่มาถึงจังหวัด ซึ่งต้องลงทุนค่าสายส่งสูงมาก อีกทั้งยังเกิดการสูญเสียกระแสไฟฟ้า ตามสายส่งจากแหล่งผลิตมาถึงสถานีไฟฟ้า

นายพรศักดิ์กล่าวว่า ประโยชน์ในระดับประเทศสูงมาก การใช้พลังงานทางเลือกจากแกลบจะเป็นทางออกที่ดีของการลดการสูญเสียเงินตรานำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมาผลิตกระแสไฟฟ้า หากเทียบกับการใช้น้ำมันเตา ตามศักยภาพการผลิตของโรงไฟฟ้าร้อยเอ็ดกรีนจะต้องใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 13.8 ล้านลิตร/ปี คิดเป็นมูลค่า 96.6 ล้านบาท ณ ระดับราคาน้ำมันเตาเมื่อปี 2544 ที่ระดับราคา 7 บาท/ลิตร

"หากครบอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 21 ปี ประเทศไทยจะลดการนำเข้าน้ำมันเตาได้ประมาณ 290 ล้านลิตร หรือคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2,030 ล้านบาท อย่างไรก็ตามสถานการณ์พลังงาน ปัจจุบัน ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าเท่าตัว ราคาน้ำมันเตาสูงกว่า 13 บาท/ลิตร ดังนั้นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ประเทศจะสามารถประหยัดเงินตรานำเข้าน้ำมันเตาน่าจะสูงกว่า 3,000 ล้านบาท" นายพรศักดิ์กล่าวและว่า

การใช้พลังงานทางเลือกจากแกลบยังเกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในจังหวัดร้อยเอ็ด เพราะแกลบถือเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ไม่มีมูลค่าในทางเศรษฐกิจ ทั้งยังก่อมลพิษฝุ่นกับประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงสีข้าว การเข้ามาลงทุนรับซื้อแกลบทำให้แกลบกลายเป็นสิ่งมีค่าทันที โดยระยะเริ่มต้นเมื่อปี 2544 แกลบมีราคารับซื้ออยู่ที่ตันละ 80-100 บาท

ทั้งนี้การลงทุนผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแกลบ สำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้ให้การสนับสนุนตั้งแต่ริเริ่มโครงการ และวางกรอบให้เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบ (Pirot Plan) เพราะแกลบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้นถือเป็นพลังงานทดแทนการใช้พลังงานที่ใช้แล้วหมดไป เช่น น้ำมันเตา ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ประเทศไทยต้องพึ่งพาพลังงานเหล่านี้เป็นพลังงานหลักผลิตไฟฟ้ามากถึงร้อยละ 70

การผลิตไฟฟ้าจากแกลบ บริษัทได้นำเทคโนโลยีชั้นสูงด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมมาใช้ โดยเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้ระบบกำจัดฝุ่นแบบใช้ประจุไฟฟ้าสถิตเป็นแห่งแรกของประเทศ สามารถลดปริมาณฝุ่นจากการเผาไหม้แกลบ จึงไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นโรงงานต้นแบบการลงทุนของโรงไฟฟ้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างสังคมที่ดีกับชุมชนรอบข้าง

นายพรศักดิ์กล่าวถึงปัญหาอุปสรรคว่า ปัญหาของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล ณ ขณะนี้ กำลังประสบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบ คือแกลบมีราคาสูงขึ้นกว่าเท่าตัว จากเดิมที่ประมาณการราคาซื้อไว้สูงสุดไม่เกิน 150 บาท/ตัน แต่ ณ ปัจจุบันราคาแกลบพุ่งขึ้นมาถึงระดับมากกว่า 300 บาท/ตัน เพราะหลังจากที่บริษัทผลิตกระแสไฟฟ้าส่งขายให้ กฟผ.แล้ว เกิดการตื่นตัว มีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าจากแกลบเพิ่มทั้งในเขตภาคกลางและภาคอีสาน

โรงไฟฟ้าจะต้องผลิตไฟฟ้าให้ได้ตามปริมาณที่ตกลงในสัญญาซื้อขายกับ กฟผ. จึงเกิดการแข่งขันรับซื้อแกลบ และน่าจะสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทำให้กลไกราคาแกลบพุ่งขึ้นกว่าเท่าตัว กระทบต่อระยะเวลาการคืนทุนล่าช้ากว่ากำหนด จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 12 ปี ณ ราคารับซื้อแกลบสูงสุดไม่เกิน 150 บาท/ตัน เมื่อราคาวัตถุดิบพุ่งสูงกว่าที่ประเมินไว้ จะทำให้ระยะเวลาคืนทุนขยายไปด้วย

ส่วนในแง่ความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าของ กฟผ. มีความต้องการสูง วางนโยบายรับซื้อไฟฟ้าในปริมาณไม่จำกัดจากผู้ผลิตรายย่อย โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานชีวมวล แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องราคาวัตถุดิบสูง และปริมาณวัตถุดิบอาจไม่เพียงพอต่อการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน

ด้าน น.ส.ชุติมา พุ่มศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 อุบลราชธานี (บีโอไอ) กล่าวว่าการใช้แกลบมาผลิตกระแสไฟฟ้าถือเป็นพลังงานทดแทนที่สำคัญ ลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง สร้างผลดีต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านพลังงานทางเลือกของรัฐบาลที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ในภาวะวิกฤตน้ำมันราคาแพง

บีโอไอมีนโยบายให้การสนับสนุนการลงทุนในด้านพลังงานทดแทนสูง และจัดลำดับความสำคัญการส่งเสริมการลงทุนเป็นลำดับต้นๆ ให้สิทธิประโยชน์การลงทุนสูง จูงใจให้เกิดการลงทุน โดยบีโอไอจะให้การสนับสนุนยกเว้นภาษีเงินได้ 100% เป็นระยะเวลาถึง 8 ปี และจ่ายในอัตรา 50% อีก 5 ปี ส่วนเครื่องจักรผลิตที่นำเข้าจากต่างประเทศมาใช้ผลิตจะได้รับยกเว้นไม่เสียภาษีนำเข้า

ส่วนแนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน มีลู่ทางที่จะขยายการลงทุนเข้ามาในภาคอีสานมากขึ้น เนื่องจากมีความพร้อมด้านวัตถุดิบรองรับ จากศักยภาพของภาคอีสานที่เป็นฐานเกษตรแปรรูปขนาดใหญ่ของประเทศ ทั้งโรงสีข้าว โรงงานมันสำปะหลัง โรงงานน้ำตาล เศษวัสดุที่เหลือจากการแปรรูปสินค้าเกษตรล้วนนำใช้ผลิตเป็นพลังงานทดแทนได้ ทิศทางการพัฒนาภาคอีสานจะเป็นศูนย์กลางลงทุนด้านพลังงานทดแทนจากพืชในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น