xs
xsm
sm
md
lg

โรงแป้งมันหันใช้ "ก๊าซชีวภาพ" หลัง "สงวนวงษ์" โชว์ประหยัด 3 ล้าน/เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ใช้พลังงาน "ก๊าซชีวภาพ" ทดแทนน้ำมันเตาประสบผลสำเร็จ โรงงานแป้งมันสงวนวงษ์โชว์ตัวเลขประหยัดพลังงานสูงถึงเดือนละ 3 ล้านบาทเมื่อเทียบกับใช้น้ำมันเตา เหตุระดับราคาคงที่ ไม่ผันผวนตามราคาน้ำมันตลาดโลก ทั้งเป็นพลังงานสะอาด ส่งผลต่ออุตสาหกรรมแปรรูปแป้งมันภาคอีสาน เริ่มเปลี่ยนมาใช้ก๊าซชีวภาพสูงขึ้น เฉพาะโคราช 4 โรงงาน กาฬสินธุ์อีก 2 โรงงาน ด้านบีโอไอชี้ยังเกิดผลดีมีพลังงานไฟฟ้าขายคืนให้ กฟผ. ป้อนชุมชนใกล้โรงงานได้เพียงพอ

ก๊าซชีวภาพ (Biogas) หนึ่งในพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วหมดไป กำลังได้รับความสนใจจากอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร ที่ผ่านมามีบริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังส่งออกรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย นำร่องโครงการร่วมลงทุนกับบริษัทคลีนไทยสร้างโรงหมักก๊าซชีวภาพเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานในกระบวนการผลิตแป้งมัน แทนน้ำมันเตาที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ประหยัดกว่าน้ำมันเตาเกือบ 40%

นายทศพล ตันติวงษ์ ประธานกรรมการบริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด เปิดเผยถึงการใช้ก๊าซชีวภาพในโรงงานว่า การใช้ก๊าซชีวภาพแทนน้ำมันเตา บริษัทเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2546 สามารถใช้แทนน้ำมันเตาได้ทั้ง 100% โดยไม่ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตแป้งมันสำปะหลังของโรงงานลดลง

ก๊าซชีวภาพสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และประหยัดต้นทุนผลิตที่ต้องซื้อน้ำมันเตาลงได้มาก เพราะก๊าซชีวภาพที่ซื้อจากคลีนไทย ผู้ร่วมทุน กำหนดราคาต่ำกว่าน้ำมันเตา 20% ทั้งได้กำหนดเพดานราคาสูงสุดไว้ และจะไม่ปรับขึ้นอีก หากราคาน้ำมันเตายังปรับขึ้นไม่หยุด โดยสถานการณ์ความผันผวนราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลให้น้ำมันเตาปรับราคาขึ้นไปถึงลิตรละ 13.50 บาทแล้ว

"ก๊าซชีวภาพปรับราคาขึ้นมาสูงสุดแล้วคือ 8.50 บาท/ลิตร โดยโรงงานต้องใช้น้ำมันเตาสูงถึง 600,000 ลิตร/เดือน คิดเป็นค่าก๊าซชีวภาพ 5,100,000 บาท/เดือน แต่หากบริษัทยังใช้น้ำมันเตาจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงเดือนละ 8,100,000 บาท เท่ากับว่าบริษัทประหยัดค่าพลังงานได้ถึง 3,000,000 บาท/เดือน หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ลดลงถึง 37%" นายทศพลกล่าวและว่า

ก๊าซชีวภาพที่เหลือยังนำไปใช้ปั่นเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 3 เมกะวัตต์ ใช้ภายในโรงงานได้ประมาณ 35% ด้วย โดยคลีนไทยขายไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานก๊าซชีวภาพในราคาที่ต่ำกว่าซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคประมาณหน่วยละ 50 สตางค์

ที่สำคัญ การใช้ก๊าซชีวภาพทำให้สิ่งแวดล้อมรอบโรงงานมีคุณภาพดีขึ้น เพราะเป็นพลังงานสะอาด เผาไหม้หมดจด ไม่เกิดมลพิษทำลายชั้นบรรยากาศโลก กอปรกับน้ำเสียจากการผลิตแป้งมัน เมื่อผ่านกระบวนการหมักให้เป็นก๊าซชีวภาพแล้วจะกลายเป็นน้ำสะอาดสูงถึง 80% ไม่มีมลพิษทางกลิ่น นำกลับมาใช้ใหม่ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารได้

โรงงานแป้งมันแห่ใช้ก๊าซชีวภาพ

นายทศพลกล่าวต่อว่า ความเคลื่อนไหวการลงทุนผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมของภาคอีสาน เริ่มมีการลงทุนกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะการลงทุนกับโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังมีจำนวนมากเป็นพิเศษ เพราะเจ้าของโรงงานแป้งมันเห็นช่องทางที่จะประหยัดต้นทุนการผลิตจากค่าพลังงานลงได้

เฉพาะที่จังหวัดนครราชสีมา นอกจากโรงงานสงวนวงษ์อุตสาหกรรมที่ได้ลงทุนเป็นแห่งแรกแล้ว มีโรงงานแป้งมันสำปะหลังในจังหวัดนครราชสีมาลงทุนสร้างโรงหมักก๊าซชีวภาพขนาดกลางแล้วจำนวนกว่า 4 โรงงาน ในจำนวนนี้เดินเครื่องจักรผลิตและใช้ประโยชน์จากก๊าซชีวภาพแล้ว 1 โรงงาน ขณะเดียวกันยังมีที่จังหวัดกาฬสินธุ์อีกประมาณ 2 โรงงาน

นายทศพลกล่าวถึงลักษณะการลงทุนสร้างโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพว่ามี 2 ลักษณะ คือ โครงการร่วมลงทุนกับโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง โดยบริษัทที่มีเทคโนโลยีผลิตก๊าซชีวภาพจะเข้ามาลงทุนก่อสร้างเองทั้งหมด นำน้ำเสียจากการผลิตแป้งมันสำปะหลังมาเป็นวัตถุดิบหมักเป็นก๊าซชีวภาพ แล้วนำก๊าซส่งขายให้โรงงานแป้งมัน

การร่วมลงทุนทั้งสองฝ่ายจะทำสัญญาชัดเจน โรงงานแป้งมันต้องส่งน้ำเสียเข้าสู่การผลิตก๊าซชีวภาพ และจะต้องรับซื้อก๊าซชีวภาพในราคาที่ต่ำกว่าน้ำมันเตา 20% โดยผู้ผลิตก๊าซชีวภาพ จะกำหนดเพดานราคาก๊าซชีวภาพไว้ ซึ่งมีบริษัท คลีนเอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ ประเทศไทย จำกัด หรือคลีนไทย เป็นบริษัทหลักที่เข้ามาร่วมลงทุนกับบริษัทผลิตแป้งมันหลายๆบริษัทในภาคอีสาน

ที่ผ่านมาได้ลงทุนโครงการแรกกับบริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด และขยายการลงทุนไปยังจังหวัดกาฬสินธุ์ กับบริษัทจิรัฐพัฒนาการเกษตร จำกัด จำนวน 2 โครงการ ที่จังหวัดระยองและสระบุรี จังหวัดละ 1 โครงการ

อีกรูปแบบคือเจ้าของโรงงานแป้งมันสำปะหลังลงทุนเอง โดยขอซื้อเทคโนโลยีผลิตก๊าซชีวภาพจากบริษัทผู้เชี่ยวชาญมาปรับใช้ภายในโรงงานของตนเอง ซึ่งการลงทุนดังกล่าว บริษัทยอมเสียค่าใช้จ่ายลงทุนเองทั้งหมด ค่าเทคโนโลยีผลิตและต้องมีภาระบริหารจัดการด้านก๊าซชีวภาพเอง แต่มีข้อดีคือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายซื้อก๊าซชีวภาพ และมีโอกาสคืนทุนเร็วกว่าภายในระยะเวลาประมาณ 2 ปี

"สาเหตุที่เกิดการลงทุนผลิตก๊าซชีวภาพกับโรงงานแป้งมันสำปะหลังหลายแห่ง เพราะโรงงานแป้งมันสำปะหลังมีน้ำเสียจากการแปรรูปแป้งมันจำนวนมาก เป็นวัตถุดิบเหมาะใช้ผลิตก๊าซชีวภาพ ขณะเดียวกันก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานสำคัญ นำมาใช้ทดแทนน้ำมันเตาในกระบวนการผลิตแป้งมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนค่าพลังงานที่ต่ำกว่ามาก" นายทศพลกล่าวและว่า

สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมเห็นความสำคัญของการใช้พลังงานทดแทน เช่น ก๊าซชีวภาพ มาเป็นพลังงานหลักกับกระบวนการผลิตในโรงงาน เพื่อลดความเสี่ยงต้นทุนค่าพลังงานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะก๊าซชีวภาพจะสามารถลดต้นทุนค่าพลังงานภายในโรงงานได้

กฟผ.มีแหล่งผลิตไฟฟ้ารายย่อยเพิ่ม

น.ส.ชุติมา พุ่มศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 อุบลราชธานี (บีโอไอ) กล่าวว่าการลงทุนของโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ ที่เข้าไปร่วมลงทุนกับโรงงานแป้งมันสำปะหลัง ผลดีนอกจากลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้แล้ว ก๊าซชีวภาพที่เหลือยังสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานปั่นกระแสไฟฟ้าใช้ในโรงงานและขายคืนเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) อีกด้วย

โรงงานแป้งมันนอกจากมีก๊าซชีวภาพใช้แล้ว ยังสามารถใช้ไฟฟ้าในต้นทุนที่ต่ำกว่า กระแสไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้ภายในโรงงานแป้งมันจะขายคืนเข้าสู่ระบบของ กฟผ.เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าสู่ผู้ใช้ไฟฟ้าชุมชนรอบๆ โรงงานให้มีไฟฟ้าใช้เพียงพอ

การลงทุนผลิตก๊าซชีวภาพอยู่ในข่ายโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน เพราะเป็นการลงทุนที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สอดคล้องกับนโยบายรัฐด้านการใช้พลังงานทดแทน ทางบีโอไอ จัดลำดับความสำคัญเป็นลำดับต้น โดยให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ 100% เป็นระยะเวลาถึง 8 ปี และจ่ายในอัตรา 50% อีก 5 ปี ส่วนเครื่องจักรผลิตที่นำเข้าจากต่างประเทศ มาใช้ผลิต จะได้รับยกเว้นไม่เสียภาษีนำเข้า
กำลังโหลดความคิดเห็น