ศูนย์ข่าวศรีราชา-รัฐบาล หว่านเม็ดเงิน 18,000 ล้านบาท แก้ไขปัญหาภัยแล้งในภาคตะวันออกในระยะยาว ส่วนระยะสั้นเตรียมเสนอขอนายกรัฐมนตรี 170ล้านบาท เพื่อขุดเจาะบ่อบาดาลใช้ โดยจะเริ่มลงมือจันทร์นี้ หวังดึงน้ำมาใช้ได้วันละ 200,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมทั้งวางท่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มาหนองปลาไหล
วันนี้( 24 มิ.ย.) เวลา09.00 น.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และนายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดระยอง และชลบุรี ในภาพรวมโดยจะดูแลในด้านการเกษตรอุตสาหกรรม การอุปโภคบริโภคให้มีน้ำใช้
นายสมคิด กล่าวว่าจากกระแสข่าวที่ออกไปเกี่ยวกับปัญหา เรื่องน้ำในภาคตะวันออก ทำให้เกิดผลกระทบในภาพรวมของประเทศ โดยนักลงทุนต่างไม่มั่นใจการในลงทุน เพราะพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด ถือเป็นหัวใจหลักของประเทศที่มีการลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาล
การเดินทางมาวันนี้เพื่อที่จะมาทำความเข้าใจ และสร้างความมั่นใจใหักับผู้ประกอบการว่ารัฐบาลเตรียมช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องลดกำลังการผลิต ขอให้มั่นใจได้ว่ามีน้ำพอใช้แน่นอน โดยในระยะสั้นนี้คงต้องใช้น้ำบาดาลมาช่วย โดยได้หารือกับทางกระทรวงทรัพยากรธรณีแล้วว่ามีน้ำใต้ดินเพียงพอที่จะสามารถสูบขึ้นมาใช้ได้
ส่วนแผนในระยาวและระยะกลาง ได้ให้เร่งดำเนินการ โดยจะผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ไปหนองปลาไหลระยะทาง 40 กิโลเมตร เพื่อหาน้ำเพิ่ม 120 ล้านลูกบาศก์เมตร และจากแม่น้ำบางปะกง มาอ่างเก็บน้ำบางพระ ได้ปีละ50ล้านลูกบาศก์เมตร
ด้าน นายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองและชลบุรี ซึ่งจะมีโครงการเชื่อมท่อจากส่งน้ำ แม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา มายังอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี โดยโครงการจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปี แต่จะต้องเร่งให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งจะกำชับให้บริษัทอีสท์วอเตอร์ เร่งดำเนินการทันที
นอกจากนั้นจะวางท่อจากหนองปลาไหลไปยังอ่างคลองใหญ่ ระยะทาง 10 กิโลเมตร ซึ่งโครงการจะแล้วเสร็จภายใน 90 วัน แต่จะเร่งให้แล้วเสร็จภายใน 70 วัน โดยจะได้น้ำมาใช้กว่า 10 ล้านลูกบาศก์เมตรและโครงการในระยะกลาง โดยวางท่อจากหนองปลาไหลไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งมีน้ำในอ่างแล้วประมาณ 40-50 ล้านล.บ.ม. แต่ถ้าในช่วงฤดูฝนจะสามารถกับเก็บน้ำได้ถึง 248 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยภายในระยะกลางนี้ แล้วเสร็จ จะใช้น้ำได้นานถึง 10 ปี
นายพินิจ กล่าวต่อไปว่า สำหรับระยะยาวตามนโยบายของรัฐบาล ตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำภาคตะวันออก จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 18,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในทุกๆด้านอย่างสมบูรณ์แบบ เช่น ภาคอุตสาหกรรม ,การเกษตร การบริการและการท่องเที่ยว ที่สำคัญประชาชนทุกครัวเรือนจะมีน้ำประปาใช้
อย่างไรก็ตาม ในสำหรับแผนฉุกเฉินในขณะนี้ จะเร่งดำเนินการนำน้ำบาดาลมาใช้ภายใน7 นี้ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในวันจันทร์ที่27 นี้เลย โดยจะต้องสูบน้ำมาขึ้นมาให้ได้ 200,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนแผนระยะต่อไปคือวางท่อหนองปลาไหล - คลองใหญ่ ซึ่งจะผันน้ำ ประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็จะสามารถใช้ได้ถึงเดือนกรกฎาคม
แหล่งข่าวจากกรมชลประทาน เผยว่า สำหรับอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลมีความจุทั้งสิ้น 163.75 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันเหลืออยู่ 21.3 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่อ่างเก็บน้ำดอกกรายมีความจุทั้งสิ้น 71.40 ล้าน ลบ.ม.ปัจจุบันเหลืออยู่ 11.02 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นอยู่เช่นนี้ต่อไป คงจะสามารถระบายน้ำในอ่างเพื่อสนับสนุนการอุปโภค บริโภค การอุตสาหกรรม ได้ถึงเพียงกลางเดือนสิงหาคมนี้เท่านั้น
กรณีดังกล่าวกรมชลประทานได้ประสานงานกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก และการบินเกษตร ในการปฏิบัติฝนหลวงเติมในอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ดอกกราย บางพระ และอ่างอื่นๆในพื้นที่บริเวณจังหวัดระยอง และชลบุรี ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ในแผนปฏิบัติระยะสั้น ได้กำหนดมาตรการเร่งด่วนในการวางแผนการก่อสร้างระบบการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่เพื่อนำไปลงในอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ในงบประมาณ 165 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการภายในปีนี้
พร้อมกับการวางแผนการผันน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำดอกกราย และหนองปลาไหล ในงบประมาณ 320 ล้านบาท และการศึกษาวางแผนการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำปะแสร์ หนองปลาไหล ในงบประมาณ 2,400 ล้านบาท เนื่องจากอ่างเก็บน้ำปะแสร์ซึ่งดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2547สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 248 ล้าน ลบ.ม.และปัจจุบันมีน้ำเหลืออยู่ถึงกว่า 40 ล้าน ลบ.ม. สุดท้ายคงต้องเร่งทำการประสานงานกับ บ.อีสท์วอร์เตอร์ ให้เร่งดำเนินการผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกง ไปลงยังอ่างเก็บน้ำบางพระ ซึ่งหากเป็นไปตามแผนแล้วคงจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2549
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว กรมชลประทานได้วางยุทธศาสตร์ลุ่มน้ำในระยะเวลา 4 ปี (2549-2552) โดยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 13 โครงการ ซึ่งจะได้น้ำดิบเพิ่มขึ้นถึง 1,040 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต