xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่มงบฯ 4.9 หมื่นล้านผันน้ำลงเขื่อนภูมิพล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – กรมพลังงานทดแทนฯ ประชุมรับฟังความเห็นโครงการอุโมงค์ ผันน้ำสาละวินลงเขื่อนภูมิพล ชี้ข้อดีมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในการผลิตไฟฟ้า และใช้พื้นที่การเกษตร ลดความรุนแรงปัญหาภัยแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระบุควรให้เอกชนลงทุนก่อสร้างงบฯกว่า 4.9 หมื่นล้านบาท แลกสัมปทานโครงการ 30 ปี เตรียมรอทำประชาพิจารณ์ภายใน 120 วัน

วันที่ 9 มิ.ย.48 กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กระทรวงพลังงาน จัดการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังข้อมูลและแสดงความคิดเห็น ที่โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่

นายชูฤทธิ์ วัชระศิลป์ หัวหน้าโครงการ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล กล่าวถึงความสำคัญโครงการฯ ว่า เนื่องพบว่าน้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนภูมิพลในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ เพราะมีกิจกรรมที่มีการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น โดยมีปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนเฉลี่ยปีละ 5,592 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุทั้งหมด 9,660 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเห็นว่ายังมีการใช้งานไม่เต็มศักยภาพ เพราะมีความจุที่ว่างเปล่าอีกถึงประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

ประกอบกับพบว่า ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีความต้องการน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจจะประสบภาวะขาดแคลนน้ำได้ในอนาคต จึงเป็นที่มาของโครงการนี้ที่เกิดขึ้น ด้วยแนวคิดที่จะให้มีการจัดเก็บน้ำได้เต็มศักยภาพและมีการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการผันน้ำมาจากลุ่มน้ำสาละวิน ที่จากการศึกษาพบว่ามีปริมาณน้ำเหลือเฟือ

ทั้งนี้ตามการศึกษาของโครงการฯ ได้แนวทางว่า จะทำการผันน้ำจากน้ำเมย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาละวิน ที่อยู่ในพื้นที่อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาลงสู่แม่น้ำปิงในพื้นที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ แล้วปล่อยน้ำลงสู่เขื่อนภูมิพล ทั้งนี้การผันน้ำดังกล่าวจะทำการสูบผ่านอุโมงค์ขึ้นมา เนื่องจากน้ำยวมอยู่ในพื้นที่ที่ต่ำกว่าแม่น้ำปิง โดยที่จะทำการสูบน้ำขึ้นมาในช่วงฤดูฝนที่มีปริมาณน้ำมากเท่านั้น ส่วนน้ำที่ถูกปล่อยลงสู่เขื่อนภูมิพลแล้วนั้น จะถูกใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ก่อนที่ถูกปล่อยลงสู่พื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อไป

สำหรับอุโมงค์ผันน้ำตามโครงการดังกล่าว จะมีจุดเริ่มที่บ้านสบเงา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปสิ้นสุดที่ห้วยแม่งูด บ้านห้วยหินคำ ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 61.85 กิโลเมตร ทั้งนี้การในการก่อสร้างเชื่อว่า จะสามารถควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากอุโมงค์นี้จะถูกวางลึกลงไปภายใต้พื้นดิน 30-100 เมตร จึงมั่นใจว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อในระดับที่ต่ำมาก

“ผลดีของโครงการนี้ คือ การที่จะทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลมีปริมาณที่สูงขึ้นและสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด ส่งผลดีทั้งต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า และทำให้มีปริมาณน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นการลดปริมาณการใช้น้ำบาดาลไปพร้อมกันด้วย ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าการผันน้ำมาจากน้ำยวม จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำในพื้นที่ดังกล่าว เพราะมีปริมาณการใช้น้ำเพียงปีละ 200 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น จากปริมาณน้ำทั้งหมด ที่มีปีละกว่า 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และการผันน้ำ ก็จะผันมาแต่เฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น” นายชูฤทธิ์ กล่าว

ส่วนงบประมาณในการก่อสร้าง หากคำนวณต้นทุน ณ เวลาปัจจุบันในปี 2548 จะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 40,417 ล้านบาท อย่างไรก็ตามหากการดำเนินการเป็นไปตามแผนงานจะเริ่มทำการก่อสร้างได้ในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งเมื่อคำนวณราคาโครงการโดยมีปัจจัยด้านเงินเฟ้อ ภาษี และดอกเบี้ย เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 49,360 ล้านบาท

ทั้งนี้การลงทุนโครงการ ควรจะต้องเป็นการลงทุนและดำเนินการโดยเอกชน ในขณะที่รัฐบาลเป็นฝ่ายจ่ายค่าน้ำที่นำไปใช้เพื่อการเกษตร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นฝ่ายจ่ายค่าน้ำ ที่นำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า

หัวหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล เพิ่มเติมว่า หลังจากการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้แล้ว จะมีการรวบรวมข้อมูล ข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นทั้งหมด เพื่อนำไปปรับปรุงในรายละเอียดต่างๆ ของโครงการก่อนที่จะมีการทำประชาพิจารณ์โครงการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตามกรอบทีโออาร์จะต้องมีการจัดทำการประชาพิจารณ์ภายใน 120 วัน หลังจากการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2
กำลังโหลดความคิดเห็น