xs
xsm
sm
md
lg

ชลประทานยัน“แก่งเสือเต้น”ต้องเกิด พื้นที่ใหม่ไม่คุ้มดันลงสะเอียบต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่ – ชลประทานเสนอล้มแก่งเสือเต้นตอนล่างอ้างไม่คุ้มทุน ยันให้แนวสันเขื่อนเดิมเหมาะสมที่สุด ในขณะที่ชาวสะเอียบข้องใจ “ประชา มาลีนนท์” เข้าหัวงานสร้างเขื่อนที่แก่งเสือเต้น ดูพื้นที่ตามที่ชลประทานชงสร้างที่เดิม แถมเร่งให้รัฐบาลตัดสินใจ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งวิกฤตน้ำในอีก 7 ปีข้างหน้า

ผู้สื่อข่าว รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่แจ้งว่า นายประชา มาลีนนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เดินทางมาดูความคืบหน้า การแก้ปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำยม โดยได้เดินทางเข้าดูจุดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ในอุทยานแห่งชาติแม่ยม อ.สอง จ.แพร่
ทั้งนี้ เพื่อรับทราบข้อมูลผลการศึกษาระหว่างที่ตั้งเขื่อนแห่งเดิม และ ที่ตั้งแนวสันเขื่อนแห่งใหม่ ที่คณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำยม จ.แพร่ที่มีตัวแทนชาวสะเอียบร่วมอยู่ด้วย ได้หาทางออกร่วมกัน เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2548 ที่ผ่านมา

นายชูชาติ ฉุยกลม วิศวกรวิชาชีพ 8 ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้าง 2 เขื่อนแควน้อย อันเนื่องจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นนักวิชาการของกรมชลประทานที่ศึกษาข้อมูลความเป็นไปได้ของแนวเขื่อนทั้ง 2 แห่ง ได้บรรยายสรุปต่อนายประชา ว่า แพร่ต้องการน้ำใช้ในภาพรวมในอนาคตถึง 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในขณะที่เดิมแพร่มีจุดกักเก็บน้ำได้เพียง 400 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

หลังจากที่มีกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยมีคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำยม จ .แพร่ ได้ร่วมกันวางแผนในการลดความขัดแย้งโดยจะสร้างบริเวณห้วยสัก โดยเน้นความจุน้ำเพียง 400 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น เป็นแนวสันเขื่อนแก่งเสือเต้นแห่งใหม่ซึ่งผลการศึกษาพบว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากปริมาณน้ำธรรมชาติของลุ่มน้ำยมมีมากมหาศาล จะต้องทำทางระบายน้ำ(สปิงเวย์) ที่ต้องใช้งบประมาณลงทุนสูงมาก ปริมาณน้ำที่ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวแพร่ ระดับน้ำยังอาจท่วมหลายหมู่บ้านใน ต.แม่ตีบ อ.งาว จ.แพร่

ส่วนแนวทางการผันน้ำจากแม่น้ำกกเข้ามาในเขื่อนแห่งนี้คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เพราะหน้าฝนเขื่อนแห่งนี้จะมีปริมาณน้ำล้นอย่างมาก และฤดูแล้งแม่น้ำกก จ.เชียงราย ก็คงจะมีปัญหาขาดแคลนน้ำไม่สามารถผันมาได้เช่นกัน ดังนั้นแนวทางที่ดีที่สุดน่าจะเป็นโครงการใหญ่ คือ แนวสันเขื่อนเดิมที่แก่งเสือเต้น ซึ่งจะต้องแก้ปัญหาที่ 4 หมู่บ้านของ ต.สะเอียบเท่านั้น

นายชูชาติ กล่าวกับนายประชาด้วยว่า ถ้ายังไม่ตัดสินใจโดยให้มีการทบทวนใหม่ ก็จะไม่สามารถสร้างได้จะต้องเริ่มต้นศึกษากันใหม่ทั้งหมด และต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 5 ปี ซึ่งเกินอายุรัฐบาลชุดปัจจุบันไป ถ้าสร้างในขณะนี้จะไปเสร็จสมบูรณ์ในอีก 7 ปีข้างหน้า ถึงเวลานั้นจะสามารถรองรับน้ำของลุ่มน้ำยมที่ไหลลงไปท่วมสุโขทัยได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีเหตุผลหลายประการเข้ามาประกอบ เพื่อให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่นายประชา ยังไม่ยืนยันข้อมูลใด ๆ โดยบอกว่า มาเพื่อรับทราบความเคลื่อนไหวการแก้ไขปัญหาเท่านั้น และจะนำประเด็นต่างๆ ไปนำเสนอ ครม.ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะสร้างหรือไม่สร้างต่อไป

ทางด้านชาวสะเอียบ ต่างพากันตื่นเต้นกับข่าวการเข้าดูหัวงานสร้างเขื่อนของนายประชา พร้อมคณะ

นายอุดม ศรีคำภา แกนนำต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ต.สะเอียบ กล่าวว่า ชาวบ้านมั่นใจว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันไม่สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเพราะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนจำนวนมาก แต่ชาวบ้านก็ทราบดีว่าเป็นความเดือดร้อนจึงมีแนวทางร่วมกันในการสร้างเขื่อนที่ห้วยสักที่มีความจุน้ำเพียง 400 ล้านลูกบาศก์เมตรก็น่าจะเพียงพอ

อย่างไรก็ตามขณะนี้คณะกรรมการหมู่บ้านกำลังสงสัยว่าการเดินทางมาตรวจโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ได้แจ้งให้ชัดเจน ชาวบ้านทราบเพียงว่ามาร่วมกิจกรรมกับชุมชนใน.ต.บ้านกลาง อ.สอง จ.แพร่ เท่านั้น ไม่รู้ว่าจะเข้ามาดูจุดสร้างเขื่อน แต่ชาวสะเอียบยังยืนยันในแนวทางเดิม คือ การไม่อพยพออกจากพื้นที่ ไม่สนับสนุนให้สร้าง และพร้อมที่จะต่อต้านโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นถ้ามาสร้างที่เดิม แต่ขณะนี้คงต้องรอดูท่าทีของรัฐก่อนว่าจะออกมาในแนวทางใด
กำลังโหลดความคิดเห็น