ศูนย์ข่าวขอนแก่น-นักวิชาการม.ขอนแก่น เปิดผลวิจัย พบการกระจายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในอีสานมีน้อย เป็นต้นเหตุทำฐานรายได้คนอีสานต่ำกว่าคนภาคอื่น ชี้ปัจจัยตลาดประชากรขนาดใหญ่ แทบไม่มีผลดึงกลุ่มทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ ขณะที่การลงทุน ยังกระจุกตัวอยู่ที่โคราช แนะ ภาครัฐต้องวางมาตรการกระจายอุตสาหกรรม ให้มีประสิทธิภาพ ทั้งเน้นคุณภาพวัตถุดิบเกษตรสู่โรงงานแปรรูป จนถึงเชื่อมตลาดกับประเทศอินโดจีน
รศ.สุเมธ แก่นมณี คณบดี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะหัวหน้าคณะนักวิจัยเรื่อง "การศึกษาธุรกิจอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" เปิดเผย ถึงผลงานวิจัยว่า ภาคอีสานเป็นภาคที่ประสบปัญหาความยากจนมากที่สุดในประเทศ โดยข้อมูลปี 2545 พบว่า รายได้ต่อหัวของคนอีสานมีเพียง 27,752 บาท/คน/ปีเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนทั้งประเทศถึง 3 เท่า ซึ่งมีค่าเท่ากับ 85,591 บาท/คน/ปี
โครงสร้างเศรษฐกิจของภาคอีสาน พึ่งพาการผลิตในภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมกลับมีสัดส่วนน้อย ซึ่งภาคเกษตรกรรม สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผลิตค่อนข้างต่ำ ทำให้ฐานรายได้ของประชากรในภาคอีสานต่ำกว่าประชากรในภาคอื่นๆ ทั้งนี้โรงงานอุตสาหกรรมกระจายตัวอยู่ในภาคอีสานน้อยมาก เมื่อเทียบกับภาคอื่น ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในภาคกลางและเขตปริมณฑล
ขณะที่ปัจจัยดึงดูดธุรกิจอุตสาหกรรม เข้ามาลงทุนในภาคอีสาน มากกว่าร้อยละ 50 มาจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล โดยเฉพาะปัจจัยด้านวัตถุดิบ มีความสำคัญมากต่อการดึงดูดอุตสาหกรรมการเกษตรเข้ามาลงทุนในภาคอีสาน ขณะที่ปัจจัยด้านการตลาด กลับไม่มีความสำคัญนัก แม้ภาคอีสานจะมีประชากรมากที่สุดของประเทศกว่า 20 ล้านคน ส่วนปัจจัยด้านแรงงาน ก็ไม่มีผลมากนัก
"ภาคอีสานมีพื้นที่และจำนวนประชากรมากที่สุดถึง 1 ใน 3 ของประเทศ มีฐานตลาดใหญ่ที่สุด แต่ดึงดูดให้ธุรกิจอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนในภาคอีสานได้ไม่มากนัก เนื่องจาก กำลังซื้อต่อหัวของประชากรในภาคอีสานค่อนข้างต่ำ โรงงานอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนในภาคอีสาน ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา" รศ.สุเมธกล่าวและว่า
การแห่ลงทุนในจ.นครราชสีมา เนื่องจาก มีความได้เปรียบ ในด้านระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การคมนาคมขนส่งที่สะดวก ทำเลที่ตั้งไม่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ และพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (ESB) โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ มองตลาดทั้งประเทศหรือตลาดส่งออก มากกว่าที่จะเข้ามาลงทุนเพื่อป้อนตลาดในภาคอีสาน จ.นครราชสีมา จึงได้รับความสนใจ
ข้อมูล จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ช่วงมกราคม-เมษายน 2547 พบว่า มีโรงงานที่ได้รับการส่งเสริมลงทุนในจังหวัดนครราชสีมาสูงถึง 37 แห่ง จากทั้งหมด 49 แห่ง หรือร้อยละ 75.51 รองลงมาคือ ที่จังหวัดขอนแก่น 6 แห่ง หนองคาย 2 แห่ง ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ นครพนม จังหวัดละ 1 แห่ง ส่วนจังหวัดที่เหลือไม่มีโรงงานที่ได้รับการส่งเสริม
รศ.สุเมธกล่าวต่อว่า จุดที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจอุตสาหกรรม ที่ลงทุนในภาคอีสาน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานแปรรูปผลิตผลการเกษตร เนื่องจาก ภาคอีสานเป็นฐานเพาะปลูกพืชเกษตรใหญ่ที่สุดของประเทศ จึงมีโรงงานแปรรูปผลิตผลเกษตรเข้ามาลงทุน ใช้วัตถุดิบเกษตรดังกล่าว แต่กลับมีปัญหาราคาพืชเกษตรตกต่ำ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนภาครัฐต้องเข้ามาแทรกแซงราคาเป็นระยะ
ทั้งนี้สาเหตุของปัญหา เนื่องจากทุกฝ่ายมองข้าม ความสำคัญคุณภาพวัตถุดิบเกษตร ตั้งแต่นโยบายส่งเสริมของรัฐบาล จนถึงตัวเกษตรกร ส่งเสริมการเพาะปลูกพืชเกษตรในเชิงปริมาณ แต่ไม่เน้นคุณภาพ วัตถุดิบเกษตรเมื่อออกสู่ตลาดพร้อมกับในปริมาณมาก และไม่มีคุณภาพ จึงเกิดปัญหาราคาพืชเกษตรตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง
แนะรัฐพัฒนาโครงข่าย-กระจายอุตสาหกรรม
สำหรับแนวทางยกระดับวิถีชีวิตและพัฒนาเศรษฐกิจของภาคอีสาน ควรมีมาตรการที่ชัดเจน สลายการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมในระดับประเทศและภาคอีสาน โดยส่งเสริมสร้างปัจจัยดึงดูด ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการประกอบกิจการจากภายในภาคอีสาน รวมทั้งต้องพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ตรงกับความต้องการตลาด
"จุดแข็งของภาคอีสาน ที่เป็นฐานเพาะปลูกพืชเกษตรขนาดใหญ่ จะต้องดำเนินการเพิ่มเติม โดยภาครัฐ ควรให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าเกษตร เชื่อมโยงการผลิตวัตถุดิบสินค้าเกษตรป้อนโรงงานแปรรูป ส่งเสริมให้ผลิตวัตถุดิบเกษตรที่มีคุณภาพ และสำรวจความต้องการทางตลาดจากผู้ผลิต สู่เกษตรกรให้ครบวงจร จะสามารถแก้ปัญหาความผันผวนราคาและตลาดได้"หัวหน้าคณะผู้วิจัยกล่าวและว่า
นอกจากนี้ ภาคอีสานมีความได้เปรียบในการกระจายสินค้าไปยังตลาดในระดับประเทศและตลาดส่งออก มีโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่สะดวก ภูมิประเทศไม่เป็นภูเขาสูงชันเหมือนภาคเหนือ ระยะทางขนส่งไปยังท่าเรือภาคตะวันออกสั้นกว่าภาคอื่นๆ อีกทั้งสามารถกระจายสินค้าไปยังตลาดกลุ่มประเทศอินโดจีนอีกทางหนึ่ง
ดังนั้น ควรมีมาตรการพัฒนาโครงข่ายถนน พัฒนาระบบเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทั้งทางภาคตะวันออกของไทย และโดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับกลุ่มประเทศอินโดจีน ที่จะเป็นฐานตลาดขนาดใหญ่ของสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตจากภาคอีสาน รวมถึงเป็นช่องทางส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลก ผ่านเส้นทางหมายเลข 8,9 เข้าสู่ท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม ซึ่งมีระยะทางที่สั้นกว่าท่าเรือชายฝั่งภาคตะวันออก