ศูนย์ข่าวศรีราชา –ภาคประชาชนในภาคตะวันออกเปิดเวทีวิพากษ์ ร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะ หวั่นจะ กระทบต่อสภาวะแวดล้อม และทำลายวิถีชีวิตชุมชนเมืองที่มีอยู่เดิม จากการขยาย ตัวอย่างหนักของนิคมอุตสาหกรรมที่มีนายทุนทั้งไทยและต่างชาติอยู่เบื้องหลัง และกระทบโดยตรงต่อการกำหนดผังเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ที่จะต้องปรับแผนให้สอดคล้องกับระบบทุนนิยม
วันนี้ (15 มี.ค.) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้จัด ให้การเสวนาเวทีประชาชนเกี่ยวกับการเรียนรู้นโยบายสาธารณะ ในหัวข้อ “ร่างกฎหมาย เขตเศรษฐกิจพิเศษกับการพัฒนาภาคตะวันออก ”เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้ เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้เรียนรู้รายละเอียดของร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ว่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างไร หากรัฐบาลประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยมีนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ สมาชิกวุฒิสภา เป็นวิทยากรร่วมกับตัวแทนจากหน่วยงานและชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่เข้าร่วมการสัมมนากว่า50 คน
นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวว่า ในภาวะที่ระบบเศรษฐกิจใช้เงินเป็นตัวตั้ง และนโยบายของรัฐบาล เป็นการบริหารงานในระบบทุนนิยมแบบสมบูรณ์แบบ ที่ส่งผลให้มีการผูกขาดอยู่ในกลุ่มทุนใหญ่เพียงไม่กี่ตระกูล ที่สำคัญรัฐบาลยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมา เพื่อศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ ที่จะกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
โดยเฉพาะในเรื่องความเป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจและการเงิน ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละเขต ผลกระทบและความคุ้มค่าในประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่ จะได้รับเพื่อสนับสนุนการเข้ามาลงทุนภายในประเทศ ของกลุ่มทุนต่างชาติ
ทั้งนี้นโยบายสาธารณะ ที่ผูกขาดโดยมีนักการเมือง นักธุรกิจ เป็นผู้สนนับสนุน จะก่อให้เกิดผลประโยชน์เฉพาะคน เฉพาะกลุ่ม ดังนั้นสมาชิกวุฒิสภา จึงจำเป็นต้องเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อนำขอเสนอแนะในส่วนภาคประชาชน ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง หลังจากที่ร่างกฎหมายได้ผ่านมติความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 ที่ผ่านมา และจะต้องส่งให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอให้กฤษฎีกาตรวจสอบ เพื่อให้ครม.พิจารณาผ่านความเห็นชอบ ก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย
“ผลกระทบที่จะเกิดจากการประกาศใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้ มีอยู่ 3 ส่วนคือ 1. ภาคสังคม เพราะกฎหมายฉบับนี้จะทำลายการพัฒนาสังคมที่สมดุล เศรษฐกิจชุมชนแบบพออยู่พอกินจะอยู่ไม่ได้ เพราะที่ดิน ลุ่มน้ำ ป่าเขาจะถูกแปลงเป็นเงินหมด เงินที่เข้าสู่ชุมชนคือเงินที่ผ่านมาสู่ชุมชนไม่ใช่เงินทุน ที่เข้ามาสร้างฐานะให้ชุมชน 2.ความจำเป็นของการใช้อำนาจพิเศษ ที่จะละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ฉะนั้นจึงพบว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะละเมิดสิทธิเสรีภาพต่างๆ รวมทั้งสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ต่อไปผู้ว่าราชการจังหวัดจะไม่มีความหมายและต้องขึ้นอยู่กับผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3. ผลกระทบด้านพื้นที่ โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญพยายามทำ ให้เกิดบริบทของการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะทำให้ อบต. อบจ.เป็นองค์กรที่ขาดความอิสระ ในการกระจายผลประโยชน์ ในท้องถิ่น ”
นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวอีกว่าการจัดเวทีประชาชนในครั้งนี้ ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยอง ได้มีโอกาสเสนอความคิดเห็น เกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว ว่ามีผลกระทบอย่างไร เพื่อให้รัฐบาลได้มีมุมมองที่ชัดเจนขึ้น โดยที่ผ่านมาระบบทุนนิยม ที่เข้ามาในพื้นที่ภาคตะวันออก จากการพัฒนาโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด หรือโครงการอื่นๆ ของประเทศ ก่อให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมต่างๆมากมาย
หากกฎหมายฉบับนี้ ประกาศเป็นราชกฤษฎีกา จะสามารถทำให้นายทุนสามารถประกาศจุดไหนก็ได้ เพื่อจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะทำให้การกำหนดพื้นที่ทางเศรษฐกิจ ทำได้ง่ายขึ้น โดยไม่รู้ว่าแต่ละพื้นที่มีความหลากหลายอย่างไรและพื้นที่ใดได้ประโยชน์ที่แท้จริง
“หากมองการทำงานของรัฐบาลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา นี่คือวิธีคิดที่จะทำให้เกิด เงินด้วยการลงทุนในระบบทุน เพราะฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับนาย ทุนต่างชาติถึง 6 ประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสามารถนำผลกำไรออกนอกประเทศ การนำวัตถุดิบเข้ามาในประเทศ โดยไม่อยู่ในข้อบังคับเรื่องมาตรฐาน สามารถนำพื้นที่ที่มีอยู่มากำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษฯลฯ เราต้องเรื่องที่ดิน ลุ่มน้ำมาดูด้วย ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อพื้นที่ ที่นายทุนจะเข้ามาทำลาย ซึ่งขณะนี้เราได้มีการสัมมนาใหญ่ ที่กรรมาธิการวุฒิสภาไปแล้ว และจะเริ่มจัดสัมมนาในทุกพื้นที่หรือแม้แต่กลุ่มนักธุรกิจเพื่อให้รู้รายละเอียดเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องมีข้อมูล ที่หลากหลายก่อนพิจารณาบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ” นายแพทย์นิรันดร์
ขณะที่อาจารย์เดชรัต สุขกำเนิดแผนงานนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ กล่าวใน หัวข้อเขตเศรษฐกิจพิเศษกับกระบวนการนโยบายสาธารณะว่า หากมีการประกาศใช้กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะทำให้แผนยุทธศาสตร์จังหวัด และแผนอื่น ๆที่กำหนดขึ้นมาเพื่อพัฒนาพื้นที่ ต้องปรับให้สอดคล้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยอัตโนมัติ แม้แต่แผนดำเนินการรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก็ต้องปรับด้วยเช่นกัน
สำหรับความพิเศษของเขตเศรษฐกิจพิเศษ กำหนดให้คนต่างด้าวสามารถเข้ามาถือครองที่ดินได้ และยังสามารถนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่อาศัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้อีกด้วย ไม่นำรวมถึงเรื่องการสามารถนำเงิน หรือกำไรที่ได้จากการลงทุนในพื้นที่ออกนอกราชอาณาจักร และในเรื่องของวัตถุดิบที่นำเข้ามา จะไม่อยู่ในข้อบังคับเรื่องมาตรฐาน
นอกจากนั้นกลุ่มทุนที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยังสามารถหักค่าใช้จ่ายใดๆ ได้ เหลือเท่าไรจึงค่อยจ่ายให้กับรัฐบาล นอกจากนั้นทรัพย์สินในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ถือเป็นทรัพย์สินของรัฐที่ไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องถิ่นฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นกฎหมายที่สร้างขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับทุนต่างชาติ โดยไม่คำนึงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่จะถูกกำหนดให้อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ด้านกำนันเหรียญ หิรัญ ตัวแทนจากตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง กล่าวในการสัมมนาว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ภาคตะวันออก ในช่วงที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เริ่มตั้งแต่โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันคือเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดย เฉพาะพื้นที่ตำบลมาบตาพุด ที่เดิมถูกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม แต่เมื่อสุดท้ายการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น พื้นที่ดังกล่าวก็ไม่สามารถควบคุมได้เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบัน ระยอง มีสวนอุตสาหกรรมทีพีไออยู่รอบเมือง ย่อมส่งผลให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก นอกจากนั้น การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะทำให้การกำหนดผังเมืองเดิมถูกยกเลิกไป แผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ต้องปรับใหม่หมด และการที่เขตเศรษฐกิจพิเศษถูกกำหนดให้เป็นนิติบุคคล ก็จะนำพามาสู่การเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และสุดท้ายแล้วผลประโยชน์ทั้งหมดย่อมตกอยู่กับนายทุน
“ตอนนี้ที่เรากำลังทำคือการจัดเข่าคุยกันว่า อำนาจตัวไหนที่มีล้นฟ้าก็ขอให้รัฐบาลลดทอนลง เพราะกฎหมายตัวนี้เป็นกฎหมายกลาง หากประกาศใช้จะต้องยกเลิกกฎหมายท้องถิ่นทั้งหมด และอำนาจจะตกอยู่ที่ใคร ที่สำคัญตอนนี้ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่รู้ว่ามีร่างกฏหมายตัวนี้ เราก็ต้องให้ความรู้ให้ทั่วถึง ” กำนันเหรียญ กล่าว