แพร่ –พบชุมชนรอบหมู่บ้านเกิดเหตุ”ฝนเหลือง” เต็มไปด้วยโรงงานตะเกียบผิดกฎหมาย ที่ต้องใช้กำมะถันในกระบวนการผลิต เชื่ออาจเป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของฝนเหลือง เผยพื้นที่เมืองแพร่เคยเกิดวิกฤตฝนเหลืองมาแล้วครั้งหนึ่งตั้งแต่ 10 กว่าปีก่อน
กรณีเกิดฝนเหลืองตกบริเวณบ้านแม่ปานหมู่ 3 และหมู่ 6 ต.แม่ปาน อ.ลอง จ.แพร่ เช้ามืดวันที่ 1 มีนาคม 2547 ซึ่งชาวบ้านพบว่า ตามหลังคาบ้าน – ใบไม้ที่ถูกเม็ดฝน ทิ้งคราบสีเหลืองขุ่นคล้ายพลาสติกสีเหลือง และเมื่อแห้งแล้วได้กลายเป็นฝุ่นผงสีเหลือง ขณะที่บริเวณที่น้ำขังหรือบ่อน้ำที่ถูกฝนดังกล่าวตกใส่ จะมีลักษณะคล้ายไขมันที่ผิวน้ำ
ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นฝนพิษ หรือฝนกรดเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในท้องที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ซึ่งคราวนั้นเป็นผลกระทบ จากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหิน แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ที่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากอำเภอลองมากนัก
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2548 นายแพทย์ปรีดา ดีสุวรรณ สาธารณสุขจังหวัดแพร่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจพื้นที่หลังเกิดปรากฎการณ์ฝนเหลืองในหมู่ที่ 3 ต.แม่ปาน อ.ลอง จ.แพร่ โดยเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างฝนเหลืองที่แห้งติดอยู่ตามใบไม้ และหลังคาบ้านเรือนในชุมชนจุดที่มีฝนเหลืองตกมากที่สุด และได้สำรวจพื้นที่โดยรวม พบว่าในหมู่ที่1,2,3,4 และหมู่ 6 มีโรงงานแปรรูปไม้ไผ่ป่า เพื่อทำไม้ตะเกียบส่งออกจำนวน 13 โรงงานด้วยกัน แต่ละโรงงานถึงแม้จะเป็นกิจการในครัวเรือนแต่มีกำลังการผลิตวันละไม่น้อยกว่า 1 คันรถปิกอัพ
ไม้ไผ่ที่แปรรูปแล้วจะถูกนำเข้ารมควันกำมะถันโดยใช้กำมะถันบดผสมกับน้ำ จนเกิดไอระเหยจากนั้นใช้ผ้าใบคลุมผลิตภัณฑ์จนกำมะถันซึมไปทั่วไม้ไผ่ที่แปรรูปแล้ว โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้ประกอบการรับประทานอาหาร เช่นไม้เสียบลูกชิ้น ตะเกียบ ที่ส่งออกไปต่างประเทศและจำหน่ายในประเทศ
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ บุญพา หัวหน้ากลุ่มปฏิบัติภารกิจภาคปฏิบัติด้านป่าไม้ ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตตั้งโรงงานสิ่งประดิษฐ์จากไม้ สังกัดกรมป่าไม้ ประจำจังหวัดแพร่ (ตำแหน่งเก่าคือป่าไม้จังหวัด) กล่าวว่า กรณีเกิดฝนเหลืองน่าจะเกิดจากกำมะถัน ที่ชาวบ้านใช้อบไม้ป้องกันเชื้อรา ที่ถูกทำให้เป็นสารระเหย ซึ่งจะอันตรายหรือไม่ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้
ทั้งนี้ การประกอบกิจการ หรือตั้งโรงงานสิ่งประดิษฐ์จากไม้ไผ่ ในบริเวณดังกล่าวไม่มีการขออนุญาตแต่อย่างใด และโรงงานเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญในการทำลายป่า แต่ที่ไม่มีการเข้าจับกุม เนื่องจากการผ่อนผันให้ประชาชนได้มีอาชีพตามนโยบายของทางจังหวัดแพร่ ปัญหาดังกล่าวถ้าไม่มีการควบคุมก็เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ซึ่งถ้าทราบผลว่ามีอันตรายต่อสุขภาพ จะทำอย่างไร เพราะโรงงานเช่นนี้มีอยู่ทั่วไปใน อ.ลอง อ.เด่นชัย และ อ.วังชิ้น จ.แพร่
อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่หวาดวิตก จนไม่กล้าที่จะนำพืชผักพื้นบ้านที่ถูกเม็ดฝนตกใส่ มารับประทาน เพราะเกรงว่าจะมีสารพิษเจือปนอยู่
นายชาญชัย อินจินดา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 กล่าวว่า ฝนดังกล่าวตกมานานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว แต่ยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด ปัญหาดังกล่าวได้มีการนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านมาแล้ว ชาวบ้านส่วนหนึ่งเชื่อว่า เป็นผลมาจากการตั้งโรงงานแปรรูปไม้ไผ่ทำไม้ตะเกียบไม้เสียบลูกชิ้นกันมากในบริเวณดังกล่าวโดยมีการใช้กำมะถันในการอบเพื่อฆ่าเชื้อราก่อนนำไปจำหน่าย และควันกำมะถันดังกล่าวจะลอยขึ้นไปอยู่ในชั้นของอากาศที่มีระดับสูง