xs
xsm
sm
md
lg

เชียงใหม่ฟื้นประเพณียี่เป็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ –เชียงใหม่ฟื้นประเพณียี่เป็ง แทนคำว่าลอยกระทง ในงาน “สัปดาห์ร้อยตำนาน...สืบสานเดือนยี่เป็งล้านนา”จัดงานยิ่งใหญ่ 9 วัน 9 คืน พร้อมเนรมิตเมืองเชียงใหม่ สู่บรรยากาศล้านนาในอดีต เตรียมเฟ้นหาสาวงามในการประกวดเทพียี่เป็ง เน้นต้องเข้าใจรากเหง้า วัฒนธรรมและประเพณีของเมืองเชียงใหม่

นายสนั่น ธรรมธิ คณะกรรมการจัดกิจกรรมยี่เป็ง และนักวิชาการ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงการฟื้นประเพณียี่เป็ง ในงาน“สัปดาห์ร้อยตำนาน...สืบสานเดือนยี่เป็งล้านนา”ว่า เป็นครั้งแรกในรอบ 57 ปีที่จังหวัดเชียงใหม่ ใช้คำว่ายี่เป็ง ซึ่งเป็นประเพณีพื้นบ้านของจังหวัดอย่างเป็นทางการ แทนคำว่าลอยกระทง ซึ่งเป็นคำที่มาจากส่วนกลางอย่างกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ตั้งใจว่าการจัดงานครั้งนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานของประเพณี ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นจริงๆ เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 จังหวัดเชียงใหม่ไม่เคยจัดงานประเพณียี่เป็งอีกเลย แต่ใช้คำว่าประเพณีลอยกระทงแทน
เดิมประเพณียี่เป็ง คือ การรำลึกถึงสิ่งที่มีคุณ เช่น สิ่งที่มีคุณตามธรรมชาติ ก็จะมีการบูชาผีน้ำ ผีฟ้า ผ่านการลอยเครื่องสักการะ ส่วนผีดินและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่คุ้มครองมนุษย์จะบูชาด้วยการวางเครื่องสักการะบนพื้นดิน โดยเครื่องสักการะเหล่านั้น ถือเป็นการติดต่อการภพภูมิอื่น เพราะฉะนั้นจึงต้องมีธูป เทียนและพิธีกรรมต่างๆ

ทั้งนี้คำว่ายี่เป็ง สำหรับภาษาเหนือ คำว่ายี่แปลว่าที่สอง ซึ่งนับทางจันทรคติของชาวล้านนา จัดเป็นเดือนที่สอง แต่เผอิญไปคล้องกับเดือน 12 ของทางภาคกลาง ส่วนเป็งหมายความถึงเดือนเพ็ญ,เดือนที่มีพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งจะจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนยี่ของทุกปี

ก่อนที่จะถึงวันยี่เป็ง 2-3 วัน ชาวบ้านจะนำเอาก้านมะพร้าว ต้นกล้วย อ้อย ดอกไม้มาทำเป็นซุ้มประตูที่หน้าบ้าน ตามประตูวัดเรียกว่าประตูป่า และทำความสะอาดบ้านเรือน เมื่อถึงตอนเช้าของวันยี่เป็งก็จะมีการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเรียกว่าตามขันข้าว พอหัวค่ำก็จะนำกระถางเทียนหรือขี้ผึ้งหรือที่เรียกว่า ผางปะตี้บมาจุดเรียงไว้ตามรั้วบ้าน หรือจุดโคมแขวนไว้ตามหน้าบ้าน และจะมีการจุดโคมลอยอีกด้วย ส่วนในช่วงค่ำๆก็จะพากันนำเอากระทงที่จัดทำไว้ไปลอยแม่น้ำ

การจัดงานประเพณียี่เป็งในปีนี้ จะจำลองเอาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนชาวล้านนาในสมัยก่อน อาทิ การตกแต่งโดยนำเอาเอกลักษณ์ของล้านนา มาประดับประดาบริเวณแจ่งทั้ง 4 ด้าน และที่ประตูเมืองทุกประตู โดยเฉพาะที่ประตูท่าแพ ที่จะมีลานวัฒนธรรมและกาดมั่ว กาดแลง และจะจัดพิธีและการแสดงซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมอยางเด่นชัด

โดยจัดตั้งเวที 3 จุด 3 มุม เวทีแรกคือบริเวณอนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ ซึ่งกำหนดให้เป็นเวทีของการนำเสนอและประกวดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา เวทีที่สอง คือ เวทีประตูท่าแพ สำหรับการประกวดเทพียี่เป็งและเทพีน้อยยี่เป็ง ถือได้ว่าเป็นมิติใหม่ของการประกวดสาวงาม ที่จะต้องทดสอบภูมิความรู้ความเข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณี เกี่ยวกับเมืองเชียงใหม่ด้วย

ส่วนเวทีที่สาม คือ เวทีกลางน้ำหน้าเทศบาลนครเชียงใหม่ กำหนดให้เป็นเวทีการแสดงแสง สี เสียง ชุด “จินตภาพ สายธารตำนานยี่เป็ง”

นอกเหนือจากการแสดงทั้ง 3 เวทีแล้ว ยังมีกิจกรรมต่างๆอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การเข่งขันกีฬาทางน้ำ ถ่อแพ ดำน้ำ พายกาละมัง การประกวดกระทงเล็ก การประกวดดอกไม้ไฟ การแข่งขันกลองหลวงชิงถ้วยพระราชทาน โดยงาน “สัปดาห์ร้อยตำนาน..สืบสานเดือนยี่เป็งล้านนา”จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-27 พฤศจิกายนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น