xs
xsm
sm
md
lg

แจ้งความถูกละเมิดสิทธิ์รังวัดเขตเหมืองโปแตช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุดรธานี—ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์อุดรธานี แจ้งความเอาผิด บ.ซีบีฯฐานละเมิดสิทธิ์ ปักหมุดรังวัดขอบเหมืองโปแตชทั้งกฎหมายระบุชัด ต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นทำได้ สผ.ยันการขอประทานบัตรเอพีพีซีต้องยื่นอีไอเอฉบับใหม่ที่สมบูรณ์เท่านั้น ด้านแกนนำคัดค้านร้องขอความคุ้มครอง จากจังหวัดหลังมีกระแสข่าวแกนนำถูกหมายหัวสังหาร

สถานการณ์ความคืบหน้าโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ภายหลัง กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทซีบี จำกัด ภายใต้การว่าจ้างของบริษัทเอพีพีซี เข้าไปรังวัดปักหมุด เพื่อทำแผนที่ขอบเขตเหมืองแร่ เพื่อประกอบคำขอประทานบัตร โดยไม่แจ้งให้ชาวบ้านเจ้าของที่ดินทราบล่วงหน้า

การกระทำของเอพีพีซีดังกล่าว ถือว่าละเมิดกฎหมาย เพราะการรังวัดปักหมุดฯต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น อย่างไรก็ตามล่าสุดทางจังหวัดได้สั่งการให้รังวัดปักหมุดของบริษัทซีบีฯเป็นโมฆะ

สถานการณ์ล่าสุดในพื้นที่ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กว่า 200 คน ได้เข้าพบ นายอำนาจ ผการัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาชี้แจงรายละเอียดขั้นตอน ในการยื่นขอประทานบัตร และความชัดเจนเรื่องรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่เกิดความไม่ไว้วางใจ ในมาตรการของกฎหมายแร่ รวมทั้งเสนอให้จังหวัดเร่งดูแลความปลอดภัยของแกนนำชาวบ้านในพื้นที่

เอ็นจีโอระบุชาวบ้านหวั่นคุณภาพชีวิตตกต่ำ

นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ คณะทำงานเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคอีสาน เปิดเผยว่าโครงการลงทุนเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี ชาวบ้านเองไม่ได้คัดค้านแบบหัวชนฝาว่าไม่ให้สร้าง แต่สิ่งสำคัญที่ชาวบ้านวิตกกังวล คือ เรื่องคุณภาพชีวิตภายหลังที่มีการดำเนินการเหมืองแร่โพแทชดังกล่าวแล้ว คุณภาพชีวิตของชาวบ้านจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร กระบวนการเพื่อขอประทานบัตรขั้นตอนต่างๆ มีความโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะประเด็นรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)โครงการฯ

“ การเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของบริษัทที่ผ่านมา ไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความเห็น ทำให้ชาวบ้านเกิดความวิตกกังกลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นหน้าที่บทบาททางจังหวัดอุดรฯ ที่ต้องส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีมีส่วนร่วมให้มากที่สุด”นายสุวิทย์กล่าวและว่า

ขณะนี้บริษัทเอพีพีซี.เจ้าของโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี กำลังยื่นร้องต่ออนุญาโญตุลาการ เพื่อบีบบังคับรัฐบาลไทยให้จ่ายค่าเสียหาย 6,500 ล้านบาทแก่บริษัท เนื่องจากรัฐบาลไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ยังไม่อนุมัติให้สิทธิการยื่นขอประทานบัตรแหล่งแร่โปแตช อุดรเหนือ ซึ่งเขาระบุว่าผลการศึกษาพบแหล่งแร่ถึง 1,000 ล้านตัน ซึ่งหากรัฐบาลไทยไม่เปิดให้มีการลงทุน และยอมจ่ายค่าเสียหายตามที่ทางบริษัทเรียกร้องนั้น ก็เท่ากับว่าประเทศไทยกำลังจะเสียค่าโง่อีกครั้ง ให้กับบริษัทต่างชาติ

ข่าวลือสะพัด...ลอบสังหารแกนนำต้านโปแตช

ในขณะที่ นางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เปิดเผยสถานการณ์ในพื้นที่ว่า ณ ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่มีความขัดแย้งกันมาก เพราะได้แบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน คือฝ่ายที่สนับสนุนโครงการฯและฝ่ายที่คัดค้านโครงการฯ ซึ่งชาวบ้านเกิดความไม่ไว้วางใจในกระบวนการกฎหมายของรัฐเพิ่มมากขึ้น หลังจากมีบริษัทเอกชนได้เข้าไปลักลอบทำรังวัด เขตโครงการเหมืองแร่ในพื้นที่ของชาวบ้านจนมีการฟ้องร้องกันไปแล้ว

ที่น่าวิตกไปมากไปกว่านั้น คือตอนนี้มีกระแสข่าวว่าจะมีการสังหารแกนนำ 3 คน ในพื้นที่ที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการฯซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นมีรายชื่อตนอยู่ด้วย และจากเหตุการณ์ที่มีแกนนำชาวบ้านหลายคนถูกลอบฆ่า เพราะขัดขวางผลประโยชน์นายทุนหลายคนที่ผ่านมา ทำให้เชื่อได้ว่ากระแสข่าวที่ออกมามีความเป็นไปได้สูงเช่นกัน

สำหรับความคืบหน้าในประเด็นปัญหาเรื่องอีไอเอของโครงการเหมืองแร่โปแตช นั้น นายปองศักดิ์ ว่องวิษณุพงศ์ ตัวแทนจาก สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า ในส่วนของอีไอเอที่จะยื่นประกอบในขั้นขอสัมปทานโครงการเหมืองแร่โปแตชนั้น จะต้องจัดทำใหม่ ให้เป็นไปตามขอบเขตของการทำเหมือง เพราะว่ารายงานฉบับเก่ายังไม่ได้มีการกำหนดขอบเขตกันเลย ทำกันขึ้นมาก่อนที่จะมีการยื่นขอประทานบัตรด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นจึงต้องยื่นอีไอเอฉบับใหม่
ตอนนี้ได้หารือทางบริษัทเอพีพีซี.เจ้าของโครงการฯแล้ว โดยให้มีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ ให้นำประเด็นข้อเสนอของคณะทำงานแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของชาวบ้าน จำนวน 6 คน ซึ่งมี ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย เป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งได้ข้อสรุปว่าต้องมีการแก้ไขทั้ง 26 ข้อนั้นบรรจุไว้ในรายงานฯด้วย

ด้านนายอำนาจ ผการัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวถึงประเด็นปัญหาของอีไอเอว่า หากทางบริษัทเอพีพีซี.ยืนยันที่จะยื่นอีไอเอฉบับเก่า ก็สามารถทำได้ แต่หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบพิจารณามีสิทธิ์ที่จะไม่รับ ก็อ้างได้ว่าเป็นอีไอเอไม่สมบูรณ์และไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง ในส่วนของจังหวัดอุดรธานีเองนั้น หากโครงการฯไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอที่คณะทำงานแก้ไขปัญหาฯระบุไว้ 26 ข้อ ทางจังหวัดก็จะไม่รับรองโครงการฯเช่นกัน

นอกจากนี้นายอำนาจ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าว อาจมีการสังหารแกนนำที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการในพื้นที่ว่า ตนจะดำเนินการทำหนังสือย้ำไปทางตำรวจในพื้นที่ หากกระแสข่าวดังกล่าวมีมูล ก็จะมีการจัดเจ้าหน้าที่ผลัดเปลี่ยนดูแลความปลอดภัยแกนนำเป้าหมายเป็นกรณีพิเศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น