xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ลงนามจ้างมช.ศึกษาผลกระทบเวียงแหง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ -กฟผ.ลงนามสัญญาว่าจ้าง มช.ศึกษาผลกระทบโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหงแล้ว งบประมาณกว่า 17 ล้านบาท ระยะเวลา 16 เดือน แม้ก่อนหน้านี้กลุ่มอนุรักษ์และชาวบ้านในพื้นที่จะเคยคัดค้านแต่ไม่เป็นผล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ.ระบุเพิ่งเป็นการเริ่มต้นศึกษายังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น
รายงานข่าวแจ้งว่าเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2547 ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บางกรวย ได้มีพิธีลงนามสัญญาที่ กฟผ.ว่าจ้างให้นักวิชาการจากสถานบริการวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) ในการพัฒนาแหล่งถ่านหินอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ในวงเงินงบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 17.9 ล้านบาท และทำการศึกษาในระยะเวลา 16 เดือน
นายสหาย รักเหย้า รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวว่า ได้มีการสำรวจและประเมินศักยภาพของถ่านหินในหลายพื้นที่ แต่พบว่าที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งถ่านหินที่มีคุณภาพดีมีปริมาณกำมะถันต่ำ และมีปริมาณที่จะสำรองมากพอที่จะพัฒนาสำหรับถ่านหินที่แม่เมาะเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2544 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้เสนอแนวทางการพัฒนาแหล่งถ่านหินในประเทศ โดยให้ กฟผ.จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในการพัฒนาแหล่งถ่านหินอำเภอเวียงแหง ซึ่งหากได้รายงานผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้วและได้รับการอนุมัติ กฟผ.จะนำเสนอ ครม.เพื่อกันพื้นที่แหล่งถ่านหินเวียงแหง ให้กฟผ.เข้าไปพัฒนา เพื่อนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยไม่ต้องมีการเปิดประมูล
สำหรับการตัดสินใจจ้างนักวิชาการ จากสถานบริการวิศวกรรม มช.ในการทำการศึกษา เนื่องจากเห็นว่าเป็นสถาบันด้านวิชาการที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับในพื้นที่ภาคเหนือ โดยยึดหลักความโปร่งใส ความเป็นกลาง การยอมรับและการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วม ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด โดยที่จะใช้เวลาในการศึกษาผลกระทบ 16 เดือนนับจากการลงนามทำสัญญา
รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ.กล่าวว่า การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมนี้ เพื่อให้เป็นโครงการที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่โครงการอื่น ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการตัดสินใจดำเนินโครงการดังกล่าวตั้งแต่ต้น โดยยืนยันว่า ขณะนี้จะยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการเปิดเหมืองเวียงแหงอย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวลทั้งสิ้น แต่เพิ่งจะเป็นการเริ่มต้นศึกษาผลกระทบอย่างเป็นทางการเท่านั้น เพื่อดูผลว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่
อย่างไรก็ตาม จากการที่ประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เพื่อซื้อพลังงานจากต่างประเทศมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ดังนั้น หากสามารถพัฒนานำพลังงานภายในประเทศมาใช้ โดยไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นเลือกที่ดีอย่างหนึ่ง ส่วนประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่มองว่าไม่น่าจะมีสิ่งใดที่น่าวิตกกังวล แม้ว่าจะมีประชาชนในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้
อนึ่ง แม้ก่อนหน้านี้กลุ่มเครือข่ายทรัพยากรฯ ลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน และชาวบ้านอำเภอเวียงแหง ได้เข้ายื่นหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่าน ขอให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พิจารณายุติ/ยกเลิกการรับศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม กรณีโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แต่ในที่สุดก็มีลงนามสัญญาว่าจ้างดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น