เป็น "เจ้าของฟาร์ม" ไม่ได้มีหน้าที่แค่ "เลี้ยงควาย" แต่เต็มไปด้วยหน้าที่หลากมิติ โดยเฉพาะพาร์ทการบริหารธุรกิจ ปรับสิ่งฟุ่มเฟือยในรุ่นคุณพ่อ ปั้นแบรนด์ให้เปรี้ยงปังในยุคโซเชียลฯ พร้อมกลยุทธ์สู่สากลตามแนวคิด "เกษตรกรรุ่นใหม่" สอนใจให้อย่ามองใครเพียงผิวเผิน "คนที่จะอยู่รอด คือคนที่ปรับตัวได้กับทุกสถานการณ์"
*** พับแพลนโกอินเตอร์ เรียนรู้วิถีควายงาม ***
“เฟิร์นไล่อ่านเกือบทุกคอมเมนต์เลยในข่าวที่ออกไป เราก็จะมีเจอบ้างที่แบบ… เสียดายเงินส่งให้เรียนถึง ป.โท แล้วมาเลี้ยงควาย รู้อย่างนี้ไม่ต้องไปส่งเรียนถึงต่างประเทศก็ได้มั้ง เปลืองเงิน โง่หรือเปล่า
แต่เราก็เลือกที่จะไม่สนใจ เพราะเราถือว่าเขาไม่ได้เข้ามาคลุกคลีในแวดวงนี้ เขาไม่ได้รู้ว่าการเลี้ยงควายงามมันไม่ได้ต่างกับธุรกิจอื่นๆ ที่มันต้องใช้ทั้งทักษะและความสามารถในการบริหารจัดการ การทำการตลาด เหมือนการทำธุรกิจนึงเลยค่ะ”
“เฟิร์น - อรกัญญา จารย์ลี” หญิงสาววัย 28 ปี บอกกับเรา ไปพร้อมๆ กับการดูแลควายในฟาร์มไปด้วย
ถ้าไม่บอกว่าทำอาชีพอะไร ก็คงไม่รู้ว่าสาวสวยสุดเซ็กซี่คนนี้ เป็นเจ้าของ “พร้อมเพรียงชัยฟาร์ม" ฟาร์มควายงามบนพื้นที่ 36 ไร่ ใน จ.นครนายก และยังเป็นเจ้าของ “ออมสิน” ควายเผือกยักษ์ชื่อดังอีกตัวนึงของวงการอีกด้วย
เธอกลายเป็นไวรัลขึ้นมาในแวดวงควายงามบ้านเรา ในฐานะเกษตรกรคนเลี้ยงควายรุ่นใหม่ พ่วงดีกรีปริญญาโทจาก University of Greenwich ประเทศสิงคโปร์
ชีวิตนักเรียนนอก มาบรรจบในเส้นทางของควายงามได้ยังไง ติดตามไปพร้อมๆ กันตามบรรทัดต่อจากนี้ ...
“คุณพ่อเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำงานคนเดียว จะมีธุรกิจรับเหมาก่อสร้างกับรับถมดิน ก็จะมีบ่อดินลูกรังอยู่ค่ะ เขาก็จะทำแต่งาน ลูกก็เลยจะไม่ค่อยสนิทกับคุณพ่อเท่าไหร่ ยังรู้เรื่องราวกันอยู่ แต่เราอาจจะไม่ได้พูดคุยกันมาก
เฟิร์นไปอยู่สิงคโปร์ตั้งแต่อายุ 17 เราก็เลยไม่ได้เข้าไปยุ่งอะไร เขาก็ไม่ได้อยากมายุ่งกับธุรกิจอยู่แล้ว เหมือนว่าเรามีหน้าที่เรียนก็เรียนไป เราตัดสินใจว่าจะย้ายไปก่อน เพราะว่าด้วยหลักสูตรที่นั่นมันทำให้เรียนจบไวกว่า เราย้ายไปตั้งแต่ ม.5 ไปปรับภาษา ปรับพื้นฐานเสร็จ เราสามารถสอบเทียบอนุปริญญาได้เลย เรียนอนุปริญญาเสร็จก็ต่อ ป.ตรี แล้วก็ต่อ ป.โทเลย
คณะที่เฟิร์นเรียน ตอนอนุปริญญาเลือกเรียนเป็น BA ก็คือ Business Administration พอมา ป.ตรี ก็เลือกเป็น International Business พอมา ป.โท ก็เลือกเป็น International Business เราเป็นคนที่ไม่มีความชอบทางด้านไหนเป็นพิเศษ
ต่างประเทศ ณ ตอนนั้น คณะที่ให้เลือกเรียนมันก็ไม่ได้มีเยอะมาก ด้วยความที่ต้องเรียนเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าจะมาทั้งตัวเลขหรือมาทั้งกฎหมาย เราคิดว่าเราเรียนไม่ไหว เราก็เลยเลือกเป็น International Business เรามองไปในอนาคต เผื่อเราอาจจะค้าขายหรืออยากทำอะไรระหว่างประเทศ เลยเลือกเรียนทางนี้ ใช้ชีวิตอยู่ที่โน่นตั้งแต่ 17 จนถึง 23 ปีค่ะ”
[ โปรไฟล์ไม่ธรรมดา ดีกรี ป.โท เมืองนอก ]
หลังจากที่เรียนจบมา สาวดีกรีปริญญาโทคนนี้เลือกที่จะใช้ชีวิตต่อในต่างแดน แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นไปตามแผน เพราะมาเจอกับการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ที่ทั่วโลกเผชิญเหมือนกันอย่างเลี่ยงไม่ได้
“จริงๆ แล้วเฟิร์นแพลนไว้ว่าหลังจากเรียนจบ ป.โท จะอยู่ที่สิงคโปร์ยาวเลย เราจะสมัครเข้าเป็นแอร์โฮสเตทของ Singapore Airlines เพราะว่ามันเป็นสายการบินที่ดีที่สุด ทั้งในเรื่องสวัสดิการ ทั้งในเรื่องเงินเดือนซึ่งเราโอเคมันตอบโจทย์
เราคุยกับครอบครัว ถ้าเราเรียนจบมาเราจะไม่กลับไทยนะ เราจะขอสมัครงาน หางานทำที่นี่ไปเลย เราก็คิดว่าถ้าเกิดสมัครเป็นแอร์ฯ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เป็นพนักงานออฟฟิศอยู่ที่นั่น อย่างน้อยก็เงินเดือนสูงอยู่ แต่ว่าเจอโควิดซะก่อน
ไม่เคยมีโรคระบาดที่หนักทั่วโลกขนาดนี้ คุณพ่อก็เลยขอให้กลับไทยได้มั้ย เขาเป็นห่วงเพราะว่าเราอยู่ไกลคนเดียว สถานการณ์ในอนาคตจะเกิดอะไรก็ยังไม่มีใครคาดเดาได้ ทุกอย่างที่แพลนไว้กับการใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศก็เลยต้องพับลง
หลังจากกลับมาจากสิงคโปร์ เราก็มีทำธุรกิจส่วนตัวจุ๊กจิ๊กบ้างนิดหน่อย แล้วก็ทำงานออฟฟิศ ไปเป็นพนักงานจัดซื้อค่ะ ออฟฟิศใกล้บ้าน อยู่ปทุมฯ ค่ะ บ้านเฟิร์นอยู่แถวรังสิต เพราะว่าเราก็เลือกที่เราได้ดูแลคุณแม่ด้วย ก็คือใช้ชีวิตแบบคนเมืองปกติเลยค่ะ ตื่นเช้าไปทำงาน ทำงานเสร็จถึงเย็น มี hangout บ้างนิดหน่อย วันหยุดไปคาเฟ่ เข้าห้างฯ บ้าง”
สำหรับธุรกิจของที่บ้านในตอนนั้น นอกจากงานรับเหมาก่อสร้างแล้ว คุณพ่อของเธอยังมีฟาร์มควายอีกด้วย
“คุณพ่อเริ่มจากการเลี้ยงควายฝูง เป็นควายไล่ทุ่งธรรมดาเป็นร้อยตัว แล้วเพื่อนเขาชักชวน คิดว่าน่าจะมองเห็นช่องทางตลาดช่วงนั้นควายจะมีราคา เลี้ยงควายฝูงก่อนที่จะมีโควิดค่ะ ตอนที่พ่อเลี้ยงควายฝูง เฟิร์นยังเรียนอยู่ที่สิงคโปร์ ก็คือรู้แค่ว่าคุณพ่อเลี้ยงควาย เราเคยเข้าไปดูแค่ครั้งเดียว
แล้วมีคนชักชวนคุณพ่อ เลี้ยงทำไมควายฝูง ลองมาเลี้ยงควายงามสิ หลังจากนั้นไม่นานคุณพ่อก็เลยขายควายฝูงทั้งหมด แล้วก็เริ่มมาเลี้ยงควายงามค่ะ เฟิร์นคิดว่าเป็นงานอดิเรก เพราะว่าตอนนั้นคุณพ่อยังทำรับเหมาแล้วก็ยังทำบ่อดินอยู่ เลี้ยงเพราะความชอบด้วยส่วนนึง เลี้ยงเพราะเห็นช่องทางทางการตลาดด้วยส่วนนึงค่ะ”
*** รับมือความสูญเสีย "ใกล้ชิดควาย-ปรับธุรกิจ" ***
ชีวิตของเธอดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่ก็ต้องมาเจอเหตุการณ์เปลี่ยนชีวิตครั้งใหญ่ เมื่อ “ครอบครัวจารย์ลี”สูญเสียคุณพ่อผู้เป็นเสาหลักของบ้านไปอย่างไม่มีวันกลับ เฟิร์นต้องรับมือกับความเสียใจ ไปพร้อมๆ กับหน้าที่สำคัญที่ต้องรับผิดชอบ คือการดูแลฟาร์มควายต่อ โดยเฉพาะ “ออมสิน” ควายเผือกยักษ์สุดรักของคุณพ่อ ที่อยู่คู่ฟาร์มมาตั้งแต่ต้น
“ทำงานได้สักพักนึงคุณพ่อเสียชีวิต เคว้งคว้างค่ะ ตัวเราเราหวิวในใจแล้ว ความคิดทุกอย่างมันประดังเข้ามาในหัวหมด แต่ ณ จุดนั้นเราคือคนเดียวที่เราอ่อนแอไม่ได้ เพราะว่าถ้าเราอ่อนแอแล้วคุณแม่จะพึ่งพาใคร คุณแม่จะใช้ใครยึด
คุณพ่อเขาเป็นเสาหลักครอบครัว รายรับทุกทาง การใช้จ่ายภายในบ้านมาจากคุณพ่อ แต่สุดท้ายแล้วเราก็ต้องตั้งสติ ให้คนในครอบครัวพึ่งพาได้ มันก็เลยเป็นเหมือนไฟท์บังคับที่ว่าในเมื่อมันไม่มีช้อยส์อะไรให้เราเลือก เราก็ต้องเข้มแข็งที่สุดค่ะ
เฟิร์นมีพี่น้อง 3 คน เฟิร์นเป็นน้องสุดท้อง พี่สาวมีครอบครัวไปแล้ว ส่วนพี่ชายเสียชีวิตค่ะ เหลือเฟิร์นที่สามารถเข้ามาทำต่อคุณพ่อได้เต็มเวลา คุณพ่อยังมีธุรกิจตรงนี้ ด้วยความที่เขาเป็นสิ่งมีชีวิต มันไม่สามารถจะทิ้งหรือว่าจะให้คนอื่นมาดูแลต่อ
เพราะว่าเป็นสิ่งที่คุณพ่อรัก เขาเป็นมากกว่าสัตว์หรือเป็นมากกว่าธุรกิจที่ต้องสานต่อ ในตัวออมสินเรื่องราวทุกอย่างที่เกี่ยวกับคุณพ่ออยู่ในนั้นหมดเลยค่ะ มันเป็นความผูกพัน เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเฟิร์นด้วยก็ส่วนนึงค่ะ
หลังจากที่คุณพ่อเสีย เรามีการเข้ามาดูฟาร์มบ้างเป็นระยะ เฟิร์นเพิ่งเข้ามาทำเต็มที่ได้ประมาณ 3-4 เดือน ก่อนหน้านี้ก็เป็นคนอื่นเขาอยู่กับคุณพ่อมาตั้งแต่แรกบริหารจัดการอยู่ เราก็เก็บความรู้ทั้งในด้านทฤษฎีแล้วก็การปฏิบัติได้นิดหน่อย
คุณแม่ก็เป็นห่วงว่าเราจะทำได้มั้ย เราไม่เคยเลี้ยงควาย เราไม่มีความรู้ทางด้านการเกษตร ทางด้านการเลี้ยงควายอะไรเลย ถ้าเกิดว่าควายเจ็บป่วยหรือเป็นอะไรขึ้นมา เราจะรับมือได้มั้ย อันนี้คือสิ่งที่คุณแม่กังวลมากๆ แต่พอมาถึงจุดนึงที่เราคิดว่าเราพร้อมแล้ว บอกกับแม่ว่าเราทำได้ แม่ไม่ต้องคิดไปก่อนว่าเราจะทำไม่ได้ เพราะในเมื่อคนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้”
[ เฟิร์นและ “ออมสิน” พระเอกของฟาร์ม ]
เธอยังจำได้ดีถึงความรู้สึกในวันแรกที่เดินเข้าฟาร์มควาย ในฐานะนายหญิงคนใหม่อย่างเต็มตัว
“ครั้งแรกที่เราเข้ามาทำเต็มตัว เรายังมีความรู้สึกกลัวควายขวิดอยู่เลยค่ะ (หัวเราะ) ด้วยความที่เขาตัวใหญ่ เราก็ไม่ค่อยจะกล้าเข้าใกล้ เราไม่กล้าแม้จะเข้าไปในคอกเขาเลยนะ เราไม่รู้วิธีการจับเขา การเข้าหาเขาจะต้องทำยังไง เรากลัวเขาไม่ชินเรา เราก็เริ่มเข้ามาบ่อยๆ ก็จะให้พี่ๆ เขาช่วยสอนเราเราพร้อมที่จะเรียนรู้ เพื่อให้เราสามารถทำเองได้ทุกอย่าง
การที่เฟิร์นเคยศึกษาความรู้มาก่อน เราควรจะเลี้ยงควายยังไง ควายควรจะกินยังไง จะอยู่ยังไง ทั้งหมดทั้งปวงมันคือในเรื่องของสุขภาพของควาย เพราะว่าเราอยากให้เขาอยู่กับเราได้นานที่สุด เรามาเลี้ยงก็ต้องมีการปรับในเรื่องของหลักโภชนาการของควาย ว่าควายควรจะกินอะไรยังไงเท่าไหร่ แต่ถามว่าปรับทำหน้างานมั้ย ก็มีบ้างค่ะ
เฟิร์นคิดว่ามันไม่ยากแต่มันต้องใส่ใจตรงที่ว่าเขาเป็นสัตว์ เขาพูดไม่ได้ เวลาเป็นอะไรเขาไม่สามารถบอกเราได้แน่นอน มันจะต้องเป็นการใส่ใจและสังเกต วันนี้เขาปกติดีมั้ย มันต้องใช้ความใส่ใจ ความละเอียดในทุกๆ วัน
จริงๆ แล้วควายไม่ได้เป็นสัตว์ที่ดุร้าย เขาอาจจะแค่ไม่คุ้น เขาก็จะไม่ให้จับ แต่ถ้าเรารู้ว่าควรจะเข้าหาเขายังไง ควายทุกตัวก็จะยอมให้จับ รวมถึงตัวอื่นที่ไม่ใช่ในฟาร์มเราด้วย เหมือนหมาเหมือนแมวแบบนั้นเลยค่ะ เขารู้เรื่องขนาดนั้นเหมือนกัน
เหมือนอย่างออมสินบางทีถ้าเกิดว่า พอเราเข้ามา เราอาบน้ำให้เขาบ่อยๆ เขาก็จะรู้แล้วถ้าเขาเห็นเรา เขาจะได้อาบน้ำ เพราะเห็นเรามา บางทีเขาก็จะอยากออกไปอาบน้ำ บางทีเปิดประตูคอกให้ก็เดินตรงไปที่อาบน้ำเองเลย (ยิ้ม)”
พร้อมเพรียงชัยฟาร์ม ในวันที่ต้องเปลี่ยนมือ นอกจากการบริหารจัดการฟาร์มแล้ว ด้วยความที่เธอยังอายุน้อยและไม่มีประสบการณ์มาก่อน อีกโจทย์ยากของคนดูแลคนใหม่ คือการทำให้ลูกน้องของพ่อยอมรับในตัวเธอให้ได้
“เราแยกกันคนละเรื่อง หลักการบริหารกับการดูแล การเลี้ยงควายไม่ยากแต่ต้องใส่ใจ ในพาร์ทของหลักการบริหารฟาร์ม จะทำยังไงให้ฟาร์มอยู่รอดในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ในช่วงที่ราคาควายตกแบบนี้ จะทำยังไงเพื่อให้เราพยุงฟาร์มไปได้
ก่อนหน้านี้คุณพ่อเลี้ยงควายมาดีมาก อาหารเสริมไม่ขาด ทั้งหญ้าแพงโกล่า ทั้งกากน้ำตาลเสริม ทุกอย่างที่สามารถบำรุงควายได้ คุณพ่อจัดให้ไม่อั้น มันเป็นค่าใช้จ่ายที่เยอะมากๆ พอมาถึงจุดที่เฟิร์นมาบริหารต่อ โจทย์แรกคือทำยังไงให้เราลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ โดยที่ควายยังสุขภาพดี ควายไม่ซูบผอม มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะท้าทายและใหม่มากๆ สำหรับเฟิร์น
เราจะต้องบริหารยังไงให้มันมีรายรับ ให้ฟาร์มมันเลี้ยงตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องควักเงินของเราเพื่อ top up เข้าไป ในขณะที่ควายยังขายไม่ได้แล้วไม่มีรายรับเข้าฟาร์ม เฟิร์นเลยบอกว่าการบริหารฟาร์ม มันไม่ต่างอะไรกับการทำธุรกิจนึงเลย
ช่วงแรกที่เฟิร์นเข้ามาบริหาร (ลูกน้องพ่อ) เขาเคยเลี้ยงมาแบบนั้น พอเรามาปรับเปลี่ยน เขาก็จะไม่เชื่อบ้าง เข้าใจแหละ ด้วยความที่เขาเป็นห่วงกลัวควายจะซูบ เขาก็แบบ…ไม่ได้หรอก ถ้าควายมันไม่ได้กินอันนั้นมันจะซูบ แต่สุดท้ายเราก็ทำให้เห็นว่าเราสามารถปรับทุกอย่างไปพร้อมกันได้ ทั้งในเรื่องของการลดค่าใช้จ่าย ควายก็ไม่ได้ซูบและไม่เสียสุขภาพด้วยค่ะ”
*** ไวรัล "เกษตรกรสายเซ็กซี่" เพราะเปิดตัว ***
ถามถึงกระแสไวรัลบนโลกโซเชียลฯ ที่พาให้เธอแจ้งเกิดในฐานะดาวดวงใหม่ในวงการควายงาม เฟิร์นบอกว่า ความจริงแล้วมีจุดเริ่มตนมาจากที่ฟาร์ม แค่ต้องการโปรโมท “เจ้าออมสิน” พ่อพันธุ์เผือก ให้เป็นที่รู้จักเท่านั้น แต่เธอดันถูกจับตามองด้วยไปโดยปริยาย จากลุคในการเลี้ยงควายที่ฮอตไม่แพ้อากาศประเทศไทย
“เราไม่ได้คิดว่าทุกอย่างมันจะกระแสแบบนี้ ครั้งแรกเลยเราจ้างทีมงาน The Spotlight เป็นเพจที่เขาทำขึ้นมาคล้ายๆ เป็นกึ่งสารคดี ไม่ได้เจาะจงแค่ในวงการควายนะคะ ก็คือมีการเล่าเกี่ยวกับเรื่องอื่นด้วย
แพลนที่เราจะต้องทำในการบริหารฟาร์ม แน่นอนว่าเราจะต้องโปรโมท เพราะว่าเราไม่ได้มีคอนเน็กชัน เรายังเป็นน้องใหม่ในวงการควายไทย สิ่งแรกสิ่งเดียวที่คิดคือเราอยากโปรโมทออมสิน เพราะว่าเขาเป็นพ่อพันธุ์อีกตัวนึงที่มีผลงานที่ดีมากๆ
แต่คุณพ่อไม่เคยโปรโมทเลยตอนที่ทำ แทบจะไม่พาไปงานโชว์ตัวที่ไหน ที่ผ่านมาคนในวงการควายเกือบจะลืมออมสินไปแล้ว คนที่เพิ่งเข้ามาในวงการอาจจะไม่รู้จักออมสินแล้ว ทั้งๆ ที่ออมสินถือว่าเป็นพ่อพันธุ์เผือกที่ดีมากๆ อีกตัวนึงในไทย
ก็เลยติดต่อให้ทางทีมงาน The Spotlight แล้วทีนี้พี่เนสกับพี่เชงก็มาก่อนวันนัด เหมือนว่าเรานัดวันพรุ่งนี้ แต่เขามาเซอร์ไพรซ์เราตั้งแต่วันนี้ตอนเย็น เราก็แต่งตัวในแบบของเรา ก็คือใส่เสื้อรัดรูปนิดหน่อย เพราะไม่ได้คิดว่าเราจะถ่ายรูปในชุดนั้น แต่พอพี่ๆ เห็นปุ๊บก็บอกว่าเฟิร์นสวยมากใส่ชุดนี้ พี่มองว่าเซ็กซี่ออก มันไม่ได้โป๊เกิน เราก็เป็นตัวของเราเอง ก็เลยถ่ายออกมา
กลายเป็นว่าทุกอย่างบูมไปเลย สื่อต่างๆ ก็เริ่มมาสัมภาษณ์ ทำไมเราถึงแต่งตัวแบบนี้เลี้ยงควาย เป็นคอนเทนต์หรือเปล่า สร้างกระแสหรือเปล่า พี่นักข่าวเขาก็ไม่ได้แจ้งเฟิร์นก่อนว่าจะมาถ่าย เราก็คิดแค่ว่าเขานัดจะเข้ามาดูฟาร์ม
เขาไม่ได้บอกเราว่าเขาเป็นนักข่าว บางทีถ้าเขาแจ้งเรามาก่อน เราอาจจะแต่งตัวให้เรียบร้อยมากกว่านี้ เราก็ไม่คิดว่าข่าวมันจะออกทั่วประเทศ กับการแต่งตัวเข้าฟาร์มปกติของเฟิร์นเลย แต่ภาพมันออกไปแบบนั้น”
ไม่ใช่แค่เรื่องการแต่งตัวเท่านั้นที่โดนจับจ้อง เพราะหลังจากที่เรื่องราวของเธอกลายเป็นไวรัลขึ้นมา ก็ทำให้เฟิร์นต้องเจอกับถ้อยคำสบประมาทบนโลกโซเชียลฯ ถึงการเลี้ยงควายอีกด้วย
“หลายๆ คนคิดว่ามันคือคอนเทนต์ บางคนก็จะคอมเมนต์ว่าไม่ได้ทำจริงหรอก สร้างภาพอะไรอย่างนี้ บางแหล่งข่าวเขาก็ไม่ได้มีวาร์ปเราใช่มั้ย หมายถึงว่าเขาไม่ได้มีช่องทางการติดต่อของเรา ทุกคนที่เขาคอมเมนต์ รวมทั้งคนที่คอมเมนต์ในเชิงลบ เขาก็เลยไม่ได้เข้ามาดูในโปรไฟล์เรา ไม่ได้มาสัมผัสตัวตนจริงๆ ว่าเราทำจริงๆ
เราแค่ต้องการโปรโมทเจ้าออมสิน เราแค่เริ่มสร้างเครดิตให้ตัวเอง กับการมีตัวตนในแวดวงควายไทยแค่นั้นเลย ไม่ได้คิดว่าทุกอย่างมันจะเป็นไวรัลไปแบบนี้ทั้งประเทศ กับการแต่งกายเลี้ยงควายของเรา เฟิร์นก็แค่แบบว่า just be myself
สิ่งที่เฟิร์นอยากจะบอกก็คือบอกว่าไม่เป็นไรค่ะ ก็อยากจะให้ลองมาติดตามดูก่อน แล้วก็จะได้รู้ว่าทำจริงหรือว่าทำไม่จริง หรือว่าก่อนที่จะเมนท์ตำหนิหรือเตือน ทั้งในเรื่องของการเลี้ยงควาย ว่าทำไมเรียนจบมาขนาดนี้แล้วทำไมถึงมาเลี้ยงควาย ก็อยากให้เขาศึกษาก่อนสักนิด ว่าการเลี้ยงควายทำมันไม่เหมือนสมัยก่อน เขาจะได้มีอีกมุมมองนึงต่อวงการควายไทย
เฟิร์นคิดว่าที่มันเป็นกระแสขนาดนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าลุคของเรามันไม่เหมือนคนที่จะมาเลี้ยงควาย เราคิดว่าในฟาร์มเรามันคือสถานที่ของเรา มันคือ my place หมายถึงว่าเฟิร์นสามารถจะแต่งตัวสวยๆ แต่งตัวเข้ามาที่ฟาร์มตัวเองยังไงก็ได้ มันไม่ได้ผิดกาลเทศะ และเฟิร์นสามารถทำงานได้ด้วยการแต่งกายของเฟิร์นแบบนี้ เราก็คิดแค่นั้น”
*** เลี้ยงควายก็สวยได้ “สุขกับการเป็นตัวเอง” ***
ระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือนหลังเป็นเกษตรกรเลี้ยงควายเต็มตัว ไม่ใช่แค่เส้นทางชีวิตที่เปลี่ยน แต่กิจวัตรในแต่ละวันก็เปลี่ยนตามไปด้วย
“เฟิร์นก็จะตื่นตั้งแต่ยังไม่ 6 โมงเช้า จากบ้านเฟิร์นมาฟาร์ม 60 กิโล ก็ใช้เวลาขับรถชั่วโมงนึง เราต้องรีบมาแต่เช้าเพราะว่าที่ฟาร์มถ้าสายมามันจะร้อน อย่างออมสินเขาเป็นควายเผือก สายมาจะปล่อยไม่ได้แล้วเพราะว่าแดดแรง
เราก็มาช่วยงานที่ฟาร์ม เราก็ทำได้ตั้งแต่กวาดฟาง เก็บขี้ควาย อาบน้ำให้เด็กๆ หรือแม้กระทั่งไปเดินไล่ควาย เพราะว่าสถานที่ที่เราปล่อยควาย มันติดกับที่ในชุมชนของคนอื่นบ้าง เราก็ต้องคอยไปเดินไล่ระวังไม่ให้เขาออกไปนอกบริเวณ
ทำความสะอาดคอก ทำความสะอาดควาย ปล่อยเขาไปเล่น ให้อาหาร พอมันเริ่มสายแดดแรงเขาก็จะเดินเข้ามากันเอง ให้อาหาร ให้ฟางไว้ ก็ทำอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 11 โมง ทุกอย่างก็จะเสร็จเรียบร้อยหมดแล้วในช่วงเช้า
แล้วก็จะเริ่มปล่อยเขาเดินอีกทีก็คือช่วงเย็น อาจจะประมาณ 14.30-15.00 น. เขาจะเริ่มปล่อยให้เขาไปเล่นน้ำ ไปกินหญ้า ก็จะเป็นลูปเดิม ทำความสะอาดคอก ทำความสะอาดควาย ปล่อยเขาไปเดินไล่ทุ่ง พอเย็นมาก็เก็บควายเข้าคอก แล้วก็ให้ฟาง ให้อาหาร เติมน้ำอะไรอย่างนี้ แล้วก็จบ จะเสร็จอยู่ที่ไม่เกิน 6 โมงเย็น เฟิร์นก็จะมีเวลาทำงานอย่างอื่นด้วย
กิจวัตรประจำวันในการทำฟาร์มก็จะมีแค่นี้เลย เกือบจะทุกวันค่ะ ถ้าเป็นช่วงนี้คนทำงานยังไม่พอ เราก็เลยต้องทั้งลงมือลงแรงทำเองด้วย ทุกวันนี้เฟิร์นก็ยังขับรถไป-กลับที่บ้านกับฟาร์ม ไป-กลับก็ 120 โล แทบทุกวัน”
แม้หลายสิ่งในของหญิงสาวคนนี้เปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเหมือนเดิมก็คือการแต่งตัวในสไตล์ที่ชอบ จะท้าแดดลุยโคลนขนาดไหนก็ขอสวยไว้ก่อน
“การเลี้ยงควายของเฟิร์น มันเริ่มจากสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ หมายถึงว่าเรายังไม่ได้ความผูกพัน ยังไม่ได้มีความชอบ เราก็แค่คิดว่าเราจะทำยังไงให้เราตื่นมาแล้วมีความสุขกับการออกมาฟาร์ม กับการมาเลี้ยงควายทุกวัน
เราเป็นคนชอบการแต่งตัว ถึงแม้ว่าเราจะออกไปฟาร์มก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราส่องกระจกแล้วเห็นตัวเองสวย เราก็จะออกมาจากบ้านในชุดที่เซ็กซี่นิดนึง ก็เลยเป็นเหมือนคอนเทนต์ไปเลย ทั้งที่จริงๆ มันแค่เริ่มจากการที่เราชอบแต่งตัว กับเราพยายามทำให้ตัวเองมีความสุขกับการเป็นตัวเอง ทำให้สิ่งที่ต้องทำกับสิ่งที่เรารักให้มันควบคู่กันไปด้วย แค่นั้นเองค่ะ
ช่วงนี้ดูแลตัวเองน้อยมากค่ะ ก็คือไหม้ไปแล้ว (หัวเราะ) ถามว่าสวยรักงามมั้ย แน่นอนอยู่แล้วใช่มั้ยคะผู้หญิง แต่เราก็มีป้องกันบ้าง ถ้าเราออกไปกลางแดด เราก็ใส่เสื้อคลุมกัน UV ถึงแต่งตัวไม่เข้ากับงาน แต่เราก็ยังห่วงตัวเองอยู่ (หัวเราะ)
หน้าเราก็ห่วงว่าเป็นฝ้ามั้ย แต่ก็ไม่เป็นไร หาหมวกหาใส่ได้ ครีมกันแดดก็ประโคมเข้าไป เราก็ไม่ได้ใส่แบบนี้ทุกวัน อย่างวันที่เราต้องมาทำงาน full time ก็จะเป็นอีกลุคนึงที่มันทะมัดทะแมงกว่านี้ อาจจะไม่ได้แต่งหน้าขนาดนี้
จากปกติเรามีเวลาว่าง เราก็ไป hangout ไปคาเฟ่ เข้าห้างฯ กลายเป็นว่าทุกวันนี้เวลาว่างเราทุ่มเทให้กับที่ฟาร์มหมดเลย มาดูแลเขาบ้าง มาเล่นกับควายบ้าง มันเป็นเหมือนพันธะที่ผูกพัน ถ้าเฟิร์นไปต่างจังหวัด เฟิร์นไม่สามารถไปได้นานเกิน 2 วัน เฟิร์นต้องรีบกลับมาดูควาย เพราะว่าเราเป็นห่วงเขา เรารู้ดีว่ายังไงคนอื่นดูแล มันก็ไม่ดีเท่าเราดูแลแน่นอนอยู่แล้ว”
จากลูกสาวคนเล็กของบ้าน ไม่ใช่เรื่องง่ายกับการรับภาระอันหนักอึ้ง ทั้งหัวหน้าครอบครัวและดูแลธุรกิจฟาร์มควาย
“ทุกอย่างท้าทายมาก ทั้งในเรื่องของธุรกิจและในเรื่องของการบริหารจัดการการเงิน เพราะว่าเราเป็นหัวหน้าครอบครัวแล้ว กล้าพูดแบบนี้ได้เต็มปาก ครอบครัวจะไปรอดหรือไม่รอด กิจการจะไปรอดหรือไม่รอดขึ้นอยู่กับเราทั้งหมด
ตลอดเวลาคุณพ่ออยู่ คุณพ่อจะไม่ให้ลูกลำบาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเลี้ยงแบบสบาย เฟิร์นทำทุกอย่างเองเป็น หมายถึงว่างานบ้านงานเรือนหรืองานนอก เฟิร์นเอาอยู่ เฟิร์นทำได้หมดทุกอย่าง
คำสอนที่เฟิร์นจำมาตลอดคือคำว่า ‘อย่ายืมจมูกคนอื่นหายใจ เราต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด’ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ยืนด้วยขาของตัวเองให้ได้มากที่สุด การขอความช่วยเหลือคนอื่นเป็นเรื่องสุดท้าย ถ้ามันสุดความสามารถเราจริงๆ แล้ว เราค่อยขอความช่วยเหลือคนอื่น
เราก็เลยพยายามที่เราเข้ามาดูแลฟาร์ม เฟิร์นก็เลยพยายามเรียนรู้ทุกอย่างเพื่อให้เราทำเองให้ได้มากที่สุด ก็อยากจะบอกพ่อว่าหนูทำได้ หนูไม่ได้อ่อนแอแบบที่พ่อคิด หนูทนกับทุกอย่างได้ หนูแข็งแรงกว่าที่พ่อคิด และหนูก็จะทำให้ได้ดีกว่านี้ค่ะ”
*** คนที่รอด = ปรับตัวได้ทุกสถานการณ์ ***
นอกจากนี้ เฟิร์นยังได้เล่าถึง “ออมสิน” ควายเผือกยักษ์รูปหล่อที่คุณพ่อทั้งรักทั้งหวง ควายตัวนี้เป็นพ่อพันธุ์ชั้นดี ที่สร้างทั้งเม็ดเงินและชื่อเสียง คู่บุญพร้อมเพรียงชัยฟาร์มมาอย่างยาวนาน
“ออมสินคุณพ่อซื้อมาตั้งแต่หย่านม เป็นตัวที่คุณพ่อเลือกให้มาเป็นพ่อพันธุ์คุมฝูง ก็เลยอยู่มาตั้งแต่คุณพ่อทำฟาร์มควายงามเลย เป็นเหมือนพระเอกของฟาร์มที่มีนางเอกหลายๆ คน (หัวเราะ) จริงๆ แม่พันธุ์ของเราสวยๆ ก็มีเยอะเหมือนกันค่ะ
ออมสินเคยประกวดครั้งเดียวค่ะ ที่งานเกษตรกำแพงแสน เป็นประกวดรวมทั้งควายดำและควายเผือก ตอนนั้นออมสินประกวดเป็นรุ่นฟันน้ำนม เขาก็ได้รางวัลชนะเลิศมา เป็นแชมป์ฟันน้ำนมปี 2562
ล่าสุดเฟิร์นก็พาลูกของออมสินไปประกวดที่งานนครสวรรค์มา เราจะเริ่มดันประกวดเป็นลูกเขาแล้ว เพราะว่าพ่อพันธุ์ที่ดีจะต้องส่งลูกให้ได้รางวัล ได้ติดสนาม นั่นหมายถึงการการันตีผลงานว่าพ่อพันธุ์ของเราส่งลูกได้สวย
งานนครสวรรค์ที่ผ่านมา ก็จะเป็นดาวศุกร์กับน้องวันใหม่ที่เฟิร์นพาไปประกวด ก็ได้รางวัลจากน้องดาวพระศุกร์ติดมือกลับมา เป็นรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในงาน แล้วก็เดี๋ยวสิ้นปีนี้ก็จะพาเดินสายประกวดอีกรอบ”
[ คว้ารางวัลกลับฟาร์มจาก “ดาวพระศุกร์” ทายาทออมสิน ]
ส่วนใครที่สบประมาทเธอว่าเรียนจบปริญญาโทถึงเมืองนอก แต่ดันมาเลี้ยงควาย ก็ต้องทำความเข้าใจใหม่ เพราะความรู้ที่เฟิร์นร่ำเรียนมา ได้ถูกเอามาใช้กับงานที่ฟาร์มแบบตรงจุดเลยทีเดียว
“เฟิร์นกำลังเริ่มมีการวางแผนการตลาด ในเรื่องที่ว่าเราเพิ่มแม่พันธุ์ทุกบล็อก เพื่อให้ลูกออมสินตอบโจทย์ของเกษตรกรทุกกลุ่ม มีตั้งแต่ราคาที่ไม่สูงมากจนถึงราคาที่สูงขึ้นมาหน่อย เฟิร์นคิดว่าตรงนี้มันคือความรู้ทางด้านบริหารที่สามารถเอามาปรับใช้ได้ ว่าเราจะทำยังไงในสถานการณ์ที่ราคาควายตกแบบนี้ แต่ให้ฟาร์มมีรายรับในการขายลูกควายเข้ามา
ตอนนี้มีทั้งหมดเกือบ 30 ตัว เป็นควายงามบางส่วนค่ะ บางส่วนก็จะเป็นแม่พันธุ์ที่เราเตรียมไว้ให้ออมสินผสม ก็มีตั้งแต่ไซส์เล็กถึงแม่บล็อกไซส์ใหญ่ ถ้าออมสินผสมไป คิดว่าภายในปีหน้าเราก็จะมีลูกออกมาไล่ๆ กันทีเดียว
พอมีพ่อพันธุ์ ออมสินจะมีการรีดน้ำเชื้อ ขายน้ำเชื้อ การรับผสมจริง เกษตรกรคนไหนที่เขาสนใจในพันธุกรรมของออมสิน เขาจะเอาควายตัวเมียมาให้เราผสม การรับผสมจริงไป-กลับก็จะเป็นอีกราคานึง การรับผสมจริงแบบฝากกับโครงการ
ฝากระยะยาวก็จะเป็นอีกราคานึง แล้วก็เรื่องการขายลูกควาย ทั้งหมดมันเป็นรายรับ เป็นการทำธุรกิจเหมือนกันเลยค่ะ เราจะต้องบริหารยังไง เราจะต้องทำยังไงให้ตอบโจทย์เกษตรกร ทุกอย่างการบริหารจัดการเป็นจำนวนเป็นตัวเลขหมดค่ะ”
แม้จะการมารับช่วงต่อดูแลฟาร์มควายชื่อดัง แต่ตัวเธอก็ยังถือว่าเป็นมือใหม่ในวงการนี้ นอกจากการสร้างความเชื่อมั่นแล้ว ก็ยังต้องวางแผนไปถึงอนาคตให้ฟาร์มนี้เป็นมากกว่าฟาร์มควาย
“การต่อยอดก็คือ วางแผนว่าเราจะเตรียมลูกออมสินให้ได้ครอบคลุม ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ในทุกราคา เฟิร์นแพลนไว้ว่าอยากทำตรงนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรไปในตัว อาจจะมีทั้งคาเฟ่และเป็นกิจกรรมเล็กๆ ให้เด็กๆ ได้สัมผัสวิถีชีวิตการเลี้ยงควาย มันมีตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงสมัยนี้
ความเชื่อมั่นในวงการควาย ด้วยความที่เราเพิ่งจะเริ่มต้น อาจจะต้องใช้เวลาในการตัดสิน แต่สื่อที่ออกไปหลายๆ ข่าว เฟิร์นก็คิดว่าในวงการควายตอนนี้ เขาอาจจะเชื่อมั่นเราในระดับนึง ว่าเราทำได้ไม่แพ้คุณพ่อหรือไม่แพ้คนอื่นๆ กับการที่เราเป็นเด็กยุคใหม่ แต่เราลงแรงกายแรงใจเข้ามาเต็มตัวขนาดนี้ คิดว่าเราสามารถสร้างความเชื่อมั่นระดับนึงได้แล้วแน่นอนค่ะ
สถานการณ์ในวงการควายงามตอนนี้เป็นยังไงบ้าง เฟิร์นมองว่าควายงาม ควายดียังขายได้ราคา ไม่มีคำว่าราคาตก แล้วหลายๆ ฟาร์ม กำลังช่วยกันผลักดัน เพื่อให้วงการควายไทยมันออกไปสู่สายตาทั่วโลก เพื่อการพัฒนา ผลักดันให้มันเป็นสัตว์เศรษฐกิจให้ได้มากกว่านี้ค่ะ และเพื่อให้ทั่วโลกได้รู้ว่าควายไทยของเราไม่น้อยหน้าอย่างอื่นในโลก
นินลนีย์ฟาร์ม เขาก็สามารถปั้นควายจนสามารถลง Guinness Book ได้ว่าเป็นควายที่สูงที่สุดในโลกเลย เฟิร์นก็เลยมองว่าในอนาคตสำหรับวงการควายไทยมันไปได้ไกลมากกว่านี้ และควายไทยก็เป็นได้มากกว่าควายแน่นอนค่ะ”
เส้นทางใหม่ของหญิงสาววัย 28 ปีคนนี้ แม้จะเริ่มต้นขึ้นได้ไม่นาน แต่การเรียนรู้อะไรใหม่ๆ นอกห้องแอร์ ก็ได้สอนบทเรียนชีวิตให้กับเธอมากมาย โดยเฉพาะการปรับตัวกับอนาคตที่ไม่มีทางคาดเดาได้
“ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงมาก ตั้งแต่เป็นสาวออฟฟิศจนถึงการมาเป็นเกษตรกร สิ่งนึงที่สอนเฟิร์นคือชีวิตเป็นความไม่แน่นอน เราไม่มีทางรู้เลยว่าวันนึงเราจะต้องชีวิตพลิกผันเปลี่ยนไปขนาดนี้ มันก็ทำให้เรารู้ว่าเราสามารถทำได้ ถ้าคนอื่นทำได้ เราก็ทำได้ สุดท้ายแล้วเราก็ต้องปรับตัว คนที่จะอยู่รอดในทุกอย่าง คือคนที่ปรับตัวได้กับทุกสถานการณ์ค่ะ
เฟิร์นมองว่าการทำเกษตรความเครียดน้อยกว่า ความกดดันน้อยกว่า เพราะว่าเราเป็นนายตัวเอง ถ้าตัดภาพออกไปในแง่ที่ว่าในฟาร์มเฟิร์นไม่ได้มีคนงาน เฟิร์นมาเลี้ยงควายเองเต็มตัว เฟิร์นก็มองว่ามันเป็นงานที่สบายมากกว่างานออฟฟิศ
มันตากแดดตากลม ใช้แรงบ้างนิดหน่อย ไม่ได้อยู่ในห้องแอร์สบาย แต่มันเป็นงานที่เราไม่ต้องแบกรับความกดดัน ไม่ต้องมาแบกรับอารมณ์ใคร บางทีเราทำงานออฟฟิศ เราอาจจะต้องรองรับทั้งอารมณ์เจ้านาย แล้วก็รองรับทางอารมณ์ลูกค้า
และที่สำคัญเลยเราไม่ต้องเป็นออฟฟิศซินโดรม (หัวเราะ) ตอนที่เฟิร์นทำงานออฟฟิศ เรานั่งอยู่หน้าคอมพ์ ก็คือออฟฟิศซินโดรมหนักมาก พอเรามาทำตรงนี้ สุขภาพกายและสุขภาพจิตเราดีขึ้น และเรามีเวลาเหลือให้ครอบครัวมากขึ้นค่ะ
เฟิร์นก็ขอบคุณทุกคนนะคะที่ให้ความเอ็นดูและให้ความสนใจเจ้าออมสินแล้วก็เฟิร์น สามารถเข้ามามาเยี่ยมชมได้ทุกวัน แต่ว่าตอนนี้ฟาร์มเราอาจจะไม่ได้มีสถานที่ท่องเที่ยวอะไรมาก จะมีโรงเรือนเลี้ยงสัตว์กับทุ่งหญ้าที่ปล่อยให้เด็กๆ ได้ไปเดิน เรายินดีต้อนรับค่ะ แล้วก็ฝากถึงหลายๆ คนที่ยังไม่เข้าใจและยังไม่ได้มาสัมผัสกับวงการควายไทย อยากให้ลองเปิดใจดูค่ะ”
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพ : Facebook “Ornkanya Jarnlee”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **