xs
xsm
sm
md
lg

สุนทรียะแห่งเสียง ออกกำลังจิตล้างโรคาด้วยอารมณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ใครบางคนเพียงได้ฟังเสียงเพลงจังหวะจะโคนเร็วๆ เกิดความรู้สึกอยากจะส่ายสะโพกโยกย้ายเอวให้เคลื่อนไหวไปมา ใครบางคนเพียงได้ยินเสียงเพลงช้าพลอยทอดอารมณ์เปลี่ยวเหงา เศร้าใจไปกับจังหวะเพลง เพลงบางเพลงดังอึกทึกทำเอาหัวใจแทบจะกระโดดออกมา เสียงตึบ ตึบ ดังก้องอยู่ในโสตประสาท ทำเอาปวดหัวแทบระเบิด ตรงข้ามเพลงบางเพลงก่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายความกังวล สลัดความตึงเครียดที่รุมเร้ามาตลอด

ดนตรีจึงเป็นกิจกรรมสนุกสนานสามารถสร้างความมีชีวิตชีวาให้แก่ชีวิต ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ท่ามกลางการฟังดนตรีเพื่อความบันเทิงและจรรโลงจิตใจ ได้มีการนำเอาจังหวะตัวโน้ตเหล่านั้นมาใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ เรียกว่า "ดนตรีบำบัด" (music therapy)

การบำบัดด้วยเสียงดนตรีได้รับความนิยมเป็นอย่างมากถึงขั้นใช้ "ดนตรีบำบัด" ผ่านมือถือรักษาอาการท้องผูกและแก้เมา ด้วยระบบภาพและเสียงซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการในระบบมือถือระบบหนึ่ง เกาหลี ประเทศนำเข้าดนตรีบำบัดมือถือได้ทดสอบภายใน 3 สัปดาห์ พบว่าประสิทธิภาพการขับถ่ายดีขึ้น 30% ลดความเจ็บปวดจากอาการท้องผูกได้ 28% ส่วนดนตรีบำบัดมือถือแก้เมา ผลการทดสอบ 20 คน ทดลอง 2 วันๆ ละ 2 ครั้ง เท่ากับว่าในระยะเวลาที่เท่ากันคนที่ฟังเพลงจะเหลือแอลกอฮอล์เฉลี่ยที่ 60.9% เทียบกับคนดื่มแต่ไม่ฟังเพลงจะอยู่ที่ 72% คนที่ดื่มเหล้าแล้วฟังเพลงกรีนมิว สิกจะสร่างเร็วกว่าคนที่ดื่มเหล้าและไม่ฟังเพลง

ในกระแสความนิยมดนตรีบำบัดดังกล่าว "ผู้จัดการปริทรรศน์" พาไปรู้จักการรักษาด้วยดนตรีบำบัดอีกแบบ เป็นการผสมผสานระหว่างสมาธิบำบัด และท่าทางบำบัดประกอบดนตรีบำบัด แสดงออกมาเป็นท่าทางต่างกันตามลักษณะโรคและอาการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆภายในตัวแต่ละคน โดยเชื่อว่าเป็นการบำบัดโรคด้วยตัวเอง

จากบทสวดมนต์ สู่ดนตรีบำบัด

อาจารย์ศุภชัย จารุสมบูรณ์ ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อพัฒนาการแพทย์ทางเลือก(ประเทศไทย) เริ่มต้นเล่าที่มาที่ไปของศาสตร์ที่เรียกว่า "ดนตรีบำบัด" นั้นมีต้นกำเนิดมาจากพิธีการสวดมนต์

"ขณะที่สวดมนต์มีการเคาะให้จังหวะ ป๊อก ป๊อก ป๊อก ต่อมามีกลอง และเครื่องให้จังหวะอีกหลายๆอย่างเพิ่มเข้ามา เมื่อก่อนดนตรีจึงเป็นเครื่องให้จังหวะทางศาสนา พระสมัยโบราณนำเอาคลื่นเสียงไปใช้เป็นวิธีการด้วยการสวดมนต์ให้ผู้ป่วยฟัง พร้อมกับพนมมือเป็นท่าต่างๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ ตีลัญจกร"

นอกจากนี้ยังมีการนำดนตรีมาใช้ในเรื่องของการรบพุ่งเพื่อให้เกิดพลังใจในการต่อสู้ กลุ่มที่นำไปใช้คือ ชนเผ่ามองโกล นำมาใช้ในการปลุกเร้าและส่งอาณัติสัญญาณ เช่น เมื่อตีกลองหมายถึงการบุกเข้าจู่โจม ต่อมาประยุกต์ใช้ในเรื่องของสุขภาพ ทำให้เกิดความสมดุลของธาตุในร่างกาย ใครก็ตามเมื่อได้ฟังเสียงดนตรีแล้วธาตุภูมิไม่เท่ากันก็จะเกิดการเคลื่อนไหวออกมาเป็นท่าร่ายรำต่างๆ ดังนั้น การร่ายรำไม่ว่าของชนชาติใดเกิดขึ้นภายหลังได้ฟังดนตรี เมื่อเห็นว่าสวยงามจึงได้ทำการถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อๆมา

"ในเมืองไทยมีการถ่ายทอดมาช้านาน แถบอีสานเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเพลงผีฟ้า เกิดการบรรเลง แล้วนำไปร่ายรำรักษาคนอื่น แสดงว่าศิลปะรำฟ้อนของแต่ละชนเผ่านั้นไม่มีใครเป็นคนคิดขึ้น ร่างกายมนุษย์เป็นคนคิดบัญญัติขึ้น" อาจารย์ศุภชัยเล่า

ดนตรีโดยทั่วไปสามารถใช้ฟังเพื่อความผ่อนคลาย หากดนตรีบำบัดเป็นดนตรีที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้รักษาโรคโดยเฉพาะ จึงต้องมีการปรับแต่งคลื่นความถี่ของเสียงให้มีแรงสั่นสะเทือนเพียงพอที่จะเข้าไปปรับจูนโมเลกุลในอวัยวะต่างๆของร่างกายที่เรียงตัวกันไม่เป็นระเบียบให้กลับมามีระเบียบ

เมื่อ 10 กว่าปีนักดนตรีจีนจากสถาบันดนตรีจีนโบราณเซี่ยงไฮ้ และมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนนานกิงร่วมกันรื้อฟื้นเรื่องของดนตรีที่จะใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลได้ทดลองทำ

"อาจารย์ชี่กงทำหน้าที่กำหนดทิศทางเส้นลมปราณว่าขึ้น-ลงอย่างไร เป็นผู้กำหนดบันไดเสียงว่าต้องการให้คลื่นออกมาเป็นอย่างไร เกิดความถี่-ความยาวของคลื่นแค่ไหน จากนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงจะเป็นผู้ทำให้คลื่นเสียงบรรเลงออกมาตรงกัน ใช้เครื่องดนตรีหลายๆชิ้น เพื่อให้เกิดคลื่นเสียงตามที่อาจารย์ชี่กงต้องการ ใช้เวลา 10 กว่าปีในการประดิษฐ์ดนตรีชิ้นแรก เรียกว่าดนตรีบำบัดปรับ 5 ธาตุตามหลักอี้จิง คือทฤษฎีว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงปรับหยินไปสู่หยาง ก่อให้เกิดระบบนิเวศในร่างกาย"

การบำบัดด้วยดนตรีในเมืองจีนมี 5 ระดับชั้น ชั้นแรกเป็นการปรับระดับ 5 ธาตุในร่างกายให้สมบูรณ์ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์มาปรับเรื่องของจิตใจ เพราะจิตใจที่บกพร่องมีผลทำให้ร่างกายเจ็บป่วยด้วย นั่นคือปรับอารมณ์ทั้ง 7

"ระดับที่ 2 เป็นเพลงทำให้เกิดสภาวะอารมณ์ที่แตกต่างกัน ดีใจ เสียใจ วิตก กังวล โกรธ อารมณ์ทั้ง 7 เกี่ยวข้องกับธาตุ วิตกกังวลคือธาตุดิน มีผลต่อกระเพาะและม้าม อาการเสียใจ เศร้าโศก คือปอด และลำไส้ใหญ่ ธาตุทอง ตกใจและกลัวคือธาตุน้ำ ได้แก่ไตและกระเพาะปัสสาวะ โมโหและโกรธเกี่ยวข้องกับธาตุไม้คือตับและลิ้นปี่ ดีใจเร่งรีบเกี่ยวข้องกับธาตุไฟ หัวใจและลำไส้เล็ก คนที่ผ่านการฝึกจะมีอาการฝันอย่างมโหฬาร บ้างในฝันมีแต่เรื่องราวชวนให้เสียใจ ตื่นขึ้นมาน้ำตายังแฉะหมอน บ้างมีแต่เรื่องดีใจ ตื่นขึ้นมายังมีอารมณ์ขัน หัวเราะอยู่"

"ระดับที่ 3 คือการปรับปรุงให้ร่างกายสัมพันธ์กับธรรมชาติ มนุษย์เราทุกคนตั้งแต่เกิดมามีจุดอ่อนอยู่ 3 เดือน ดังนั้นเดือนไหนก็ตามที่เป็นจุดอ่อน คนผู้นั้นจะป่วย กล่าวคือ มนุษย์ไม่มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ เมื่อฤดูกาลเปลี่ยน ไม่สบาย เพราะมนุษย์อยู่ในท้องแม่ 9 เดือนได้รับพลังผ่านแม่ อีก 3 เดือนที่เหลือไม่ได้อยู่ในท้องแม่ คือข้อบกพร่อง"

"ระดับที่ 4 เพิ่มความสามารถ ศักยภาพให้สามารถควบคุมสมองได้มากกว่าคนอื่น มีความสามารถแยกแยะสมองซีกซ้ายและซีกขวา ปัจจุบันมีการนำไปใช้ในโรงงานเพื่อให้ทำงานได้มากขึ้น เปิดเพื่อให้ร่างกายมีความกระฉับกระเฉง"

"ระดับที่ 5 สัมพันธ์จักรวาล ในการเคลื่อนของดวงดาวเข้าใกล้โลกทำให้สนามแม่เหล็กของสุริยะแปรปรวน บางคนที่ฝึกมากพอเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นจะล่วงรู้ บางวันอาจรู้สึกตื้อๆมึนๆในวันที่จะมีพายุเข้า แผ่นดินไหว ร่างกายสามารถสัมผัสได้ แต่ไม่ได้สังเกต มีอะไรบอกเหตุในร่างกายของเรา เป็นเพราะร่างกายเราก็คือจักรวาลย่อส่วน"

อาจารย์ศุภชัยอธิบายต่อไปว่า คลื่นความถี่ของดนตรีเกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนจีน กล่าวคือ การรักษาโรคด้วยเสียงหรือดนตรีมีมานานแล้ว ชาวจีนเชื่อว่าอวัยวะภายในมนุษย์สั่นสะเทือนตรงกับบันได 5 เสียงได้แก่ กง ซัง อวี๋ เจี่ยว เจิง ตรงกับเสียงตัวโน้ตสากล คือโด มี ฟา ซอล ลา ซึ่งตัวโน้ตทั้ง 5 เป็นเสียงที่มีแรงสั่นสะเทือนตรงกับอวัยวะต่างๆในร่างกาย หรือกล่าวได้ว่ามีความสัมพันธ์กับธาตุทั้ง 5 ได้แก่ ดิน ทอง น้ำ ไม้ และไฟ

ธาตุดินเปรียบได้กับอวัยวะของมนุษย์ส่วนที่เป็นม้ามและกระเพาะอาหาร ธาตุทอง เปรียบได้กับอวัยวะปอด และลำไส้ใหญ่ ธาตุน้ำ เปรียบได้กับอวัยวะปอด และถุงน้ำดี และธาตุไฟเปรียบได้กับอวัยวะหัวใจ และลำไส้เล็ก

"ธาตุดินสร้างธาตุทอง ธาตุทองสร้างธาตุน้ำ ธาตุน้ำสร้างธาตุไม้ ธาตุไม้สร้างธาตุไฟ และธาตุไฟสร้างธาตุดิน หมายความว่าธาตุดินเป็นแม่ของธาตุทอง ธาตุทองเป็นแม่ของธาตุน้ำ ฯลฯ ถ้าอวัยวะหนึ่งป่วย หมายความว่าลูกป่วยด้วย ดังนั้น การรักษานอกจากรักษาธาตุดินแล้ว ยังต้องรักษาธาตุข้างเคียงอย่างธาตุทองและไฟ"

"ดนตรีบำบัดโรคจึงต้องมีธาตุดินเป็นหลัก เป็นเสียงโด รองลงมาคือมี อีกเสียงคือ ลา นำ 3 เสียงเหล่านี้มาร้อยเรียงเป็นท่วงทำนอง แล้วกำหนดจังหวะโดยการใช้เครื่องเคาะ นอกจากนี้ยังกำหนดเป็นการประสานเสียง เวลาจะรักษาด้วยดนตรีบำบัดต้องดูว่าจะรักษาธาตุอะไร มีเสียงอะไรประกอบ ไม่ใช่ใช้เพลงอะไรก็ได้ ต้องยึดหลักแพทย์แผนจีนว่าด้วยระบบนิเวศ 5 ธาตุในร่างกาย"

"เมื่อไรมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของอารมณ์ทั้ง 7 อันประกอบด้วยความรู้สึกเสียใจ ดีใจ วิตก กังวล ตกใจ กลัว โกรธ เกิดขึ้นจะทำให้อวัยวะภายในร่างกายของคนผู้นั้นพลอยบาดเจ็บด้วย" ยกตัวอย่าง หากเสียใจมากเกินไปก็กระทบกระเทือนกับปอด และลำไส้ใหญ่ เพราะเวลาร้องไห้ปอดทำงานหนัก เสียใจมากๆทำให้ระบบขับถ่ายเสียหายไปด้วย หรือการวิตกกังวลบ่อยๆม้ามและกระเพาะมักมีปัญหา ส่วนคนที่กลัวและตกใจบ่อยมักมีผลกระทบต่อไตและกระเพาะปัสสาวะ และคนที่ดีใจมากเกินไปย่อมมีผลกระทบต่อหัวใจได้

นำคุณสมบัติสะท้อนกลับของเสียงมาใช้อธิบายเพิ่มเติมว่า "เวลาเสียงสั่นสะเทือนไปเจอวัตถุจะเหนี่ยวนำให้วัตถุนั้นสั่นสะเทือนตามไปด้วย ดังนั้นเมื่อเครื่องดนตรีทั้ง 5 ให้เสียงที่มีแรงสั่นสะเทือนตรงกับแรงสั่นสะเทือนอันผิดปกติที่ทำให้เกิดโรค หากผู้ฝึกมีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารแสดงว่าธาตุดินในร่างกายไม่สมดุลต้องใช้เสียง "กง" หรือเสียง "โด" มากขึ้น

ในผลวิจัยจากสมาคมดนตรีจีนโบราณเซี่ยงไฮ้และมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนนานกิง พบว่าบางเพลงสามารถรักษาได้ถึง 98.5 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะเพลงปรับฮอร์โมน เพลงปวดประจำเดือน การรักษาด้วยดนตรีบำบัดสามารถรักษาได้ตั้งแต่โรคหัวใจ ความดัน ไมเกรน ปวดหัว เครียดลงกระเพาะ ไขมันอุดตัน นอนไม่หลับ ปวดประจำเดือน มะเร็ง ท้องอืด ปรับฮอร์โมนวัยทอง โรคอ้วน ดนตรีบำบัดช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ร่างกาย เป็นต้น

ออกกำลังจิต รักษาตัวเอง

"เมื่อไรที่เรานั่งสมาธิว่างเปล่าก่อให้เกิดสภาวะหยินตึงอย่างถึงที่สุด พลังหยางก่อเกิดขึ้นมาสั่นสะเทือนไปตามเส้นลมปราณ ชนข้อศอก ทำให้เกิดการร่ายรำ เรียกวิชาเหล่านี้ว่าจื้อ ฝ่า กง การฝึกฝนพัฒนาวิชาซึ่งว่าด้วยการสำแดงออกมา" อาจารย์ศุภชัยอธิบายเหตุของการที่ร่างกายมนุษย์เคลื่อนไหวก่อให้เกิดการรักษาตัวเอง

"จื้อ ฝ่า กง" หลักการใช้สมาธิก่อให้เกิดการร่ายรำเพื่อปรับปรุงธาตุทั้ง 5 ในร่างกายนั้นมีมานานกว่า 5,000 ปี ภายหลังคนรุ่นต่อมาใช้ท่าทางมาถ่ายทอดกันเพื่อให้เกิดสมาธิ

อาจารย์ศุภชัยในท่ายืนกางขาออก ย่อตัว เพ่งตาไปที่มือเหมือนกำลังจับลูกบอล หมุนเข้า-ออก ลูกบอลดูเหมือนจะค่อยๆขยายขึ้นกลายเป็นลูกบอลขนาดใหญ่ขึ้น กระทั่งใหญ่กว่าตัวผู้ฝึก เริ่มครอบตัวผู้ฝึก พร้อมกับมีพลังบางอย่างดึงตัวผู้ฝึกเคลื่อนไหวไปมาเอง ก่อนที่จะค่อยๆหมุนย่อลูกบอลให้เล็กลงจนหายไป จึงค่อยๆถูฝ่ามือไปมา และลูบๆไปทั่วหน้าอกและใบหน้า เรียกสิ่งนี้ว่าการฝึกจื้อฝ่ากงแบบดั้งเดิมโดยไม่มีเสียงเพลงประกอบ

เมื่อก่อนต้องนั่งสมาธินานกว่าจะนิ่ง ปัจจุบันใช้ดนตรีไปปลุก โดยไม่ต้องใช้สมาธิมาก จูนคลื่นในร่างกายให้สั่นสะเทือนมากขึ้น แล้วเกิดการเคลื่อนไหว

ชาวจีนเชื่อว่า "เสียงมีความสำคัญต่ออณูทุกอณูในร่างกาย เสียงดนตรีบำบัดนั้นเน้นที่การสั่นสะเทือนของเสียงมากระทบกับโมเลกุล ดีเอ็นเอในร่างกายของเรา ไม่ว่าจะหลับหรือตื่น เปิดปุ๊บมีความหมายทั้งสิ้น จึงไม่จำเป็นต้องตื่นหรือฟังอย่างตั้งใจ เปิดไปหลับไปก็สามารถเกิดการสั่นสะเทือน ไม่ต้องตั้งใจก็มีผล เพราะต้องการคลื่นเสียงมาเหนี่ยวนำ"

เวลาฝึกเริ่มจากฝึกหย่อนคลายกล้ามเนื้อในร่างกายทั้งหมด เป็นการปิดคลื่นสนามแม่เหล็กในตัวและรับคลื่นสนามแม่เหล็กซึ่งเป็นคลื่นเสียงเพลงเข้าสู่ตัวผู้ฝึก ถ้าไม่ปิดจะตื่นตัวตลอดเวลา สนามพลังจะไม่เข้าตัวเรา

"ปิดประสาทอัตโนมัติที่เรียกว่า ผ่อนคลายร่างกาย และแบ่งร่างกายเป็น 4 ส่วน คือ หน้า หลัง ซ้าย ขวา หย่อนกล้ามเนื้อ คลายเส้นเอ็นทีละส่วน จิตต้องสงบปล่อยวางจากเรื่องอื่นๆ"

ผู้เริ่มฝึกใหม่ๆยังหย่อนคลายไม่เป็น จึงต้องใช้วิธีการพูดนำหย่อนคลาย เสียงทุ้มๆยานๆ เริ่มต้นพูดนำไปเรื่อยๆ "หย่อนกล้ามเนื้อ คลายเส้นเอ็น จิตอยู่ที่กล้ามเนื้อใบหน้า ปล่อยออกมาทีละนิด..." ขณะที่ผู้ปฏิบัติอยู่ในท่ายืนกางขาออก 1 ช่วงไหล่ ปลายเท้าชี้ตรง ไหล่ตก แขนตก หลับตา รวมความนึกคิดไว้ที่จุดศรีชุม (กลางศีรษะ) พร้อมกับขยับอวัยวะส่วนต่างๆเมื่อเสียงนำเอ่ยถึง

ขณะที่เอ่ยนำหย่อนคลายไปได้สักพัก ผู้ปฏิบัติเริ่มแสดงออกท่าทางต่างๆกันบ้างทำไม้ทำมือโค้งตัวให้งอราวกับกำลังเล่นโยคะดัดตน บ้างประสานมือแบบ ตีลัญจกร บ้างปัดป่ายมือไปมาเข้าจังหวะกับขาราวกับกำลังเต้นระบำรำฟ้อนไปเรื่อยๆ กระทั่งเปลี่ยนจากเสียงทุ้มๆยานๆ มาเป็นเสียงเพลงบรรเลง

อาจารย์ศุภชัยอธิบายว่า "กล้ามเนื้อแขนขวาหย่อนคลาย แขนจะเคลื่อนไหวไปเอง พลังเป็นตัวควบคุม เราไม่ได้ควบคุม เป็นเรื่องของพลังจากธรรมชาติที่เข้าสู่ตัวเราหลังจากเราปิดประสาท สามารถกำหนดให้ช้าหรือเร็วได้ ตอนฝึกดนตรีบำบัดสามารถทำท่าโยคะก็ได้ ท่าตีลัญจกรก็ได้ กดจุดก็ได้ ร่ายรำก็ได้ ไทเก๊กก็ได้ เพื่อให้เกิดพลังการไหลเวียนที่ดีที่สุดในร่างกาย ไม่ใช่การสะกดจิต สามารถควบคุมได้ รู้ตัวตลอดเวลา"

เยียวยาผู้ป่วย ไม่ป่วยใช้เป็นภูมิต้านทาน

สุดาทิพย์ เจียรวงศ์ หญิงสาวซึ่งเคยเข้ารับการผ่าตัด และมีปัญหาระบบเลือดไม่ค่อยดี จึงหันมาใช้ดนตรีบำบัด "ทำได้ 2 ปี ได้สุขภาพ ทำให้มีสมาธิดีขึ้น ปกตินั่งสมาธิไม่ได้ พอมาเริ่มใช้ดนตรีบำบัดเหมือนกับว่าใจเย็นขึ้น"

สมใจ หญิงสาววัยกลางคนเล่าว่า "นานๆมาที ไม่ได้ทำติดต่อกัน คิดว่าเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง และช่วยให้เกิดการรักษาโรคได้ด้วยตนเอง นอนหลับสบาย ก่อนหน้านี้ ฝึกแล้วตัวร้อน เค้าบอกว่ามีพลัง ช่วยให้ตัวเราแข็งแรง ไม่เป็นโรค ฝึกแล้วสบาย นอนหลับ อาจารย์สอนผ่อนคลาย รู้สึกตัวโอนเอนไปมา ตอนนั้นไม่เชื่อว่าเป็นไปได้อย่างไร ตัวเรามีพลังได้อย่างไร สมาธิไม่ค่อยมี แต่พอเปิดดนตรีใจมีสมาธิมากขึ้น ตอนทำท่าทางรู้สึกตัว เหมือนมีอะไรผลัก ยืนไม่ติด เหมือนจะล้ม มือก็ไปๆมาๆ เป็นไปเอง ไม่รู้เหมือนกัน แปลกดีนะ ไม่ได้เป็นโรคอะไร แต่เคยนอนไม่หลับ พอมาฝึกนอนหลับสบายดี ตัวเราร้อนขึ้นโดยไม่ต้องไปวิ่งออกกำลังกาย สนใจทำให้ตัวเราร่างกายแข็งแรง เป็นการออกกำลังกายในตัว คนบางคนเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงและไม่สามารถควบคุมตนเองหรือเก็บพลังได้ จึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลให้คำแนะนำ ไม่กล้าฝึกที่บ้าน ต้องคุมตัวเองให้ได้ก่อน"

ณัตยาภรณ์ และ ณัฎฐา ฝาแฝดสาววัย 36 ปี มีปัญหาเรื่องของสุขภาพเหมือนกัน ต่างกันที่ณัตยาภรณ์ มีปัญหาภูมิแพ้ไอติดต่อกันหลายเดือน ส่วนณัฎฐามีปัญหาที่ไตและกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นเวลากว่า 2 ปีที่ทั้งคู่เลือกใช้การแพทย์ทางเลือกมาบำบัด แทนการนำยาแบบแพทย์สมัยใหม่เข้าสู่ร่างกาย

"ไอตลอด แพ้ยา เลยลองใช้แพทย์ทางเลือก ศาสตร์ตะวันออก เคยเรียนโยคะมาก่อน ฝึกตีลัญจกร ฝึกดนตรีบำบัดครั้งแรกตัวสั่นเล็กน้อย เริ่มเคลื่อนแต่ไม่เยอะ พอฝึกเริ่มออกท่าทาง ไปรักษาตรงจุดที่มีปัญหา ชอบปวดเอวปวดหลัง ออกเป็นท่าโค้งหน้าโค้งหลัง แต่ละคนท่าทางไม่เหมือนกัน แล้วแต่จุด ปวดหัวก้มหัวลง ตอนฟังดนตรีรู้ตัวตลอด บางคนฝึกเสร็จต้องมีการเก็บพลัง ฝึกที่บ้านจะคุมไม่ได้ ต้องมีคนคอยดูแล ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะในการใช้ชีวิตให้สมดุล ท่าพวกนี้นอกจากช่วยเรื่องของร่างกาย รวมจิตใจด้วย ฝึกสมาธิไปด้วยให้ร่างกายแข็งแรง คนธรรมดามาฝึกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยเรื่องของสมาธิ ปัญญา มีสติตลอด" ณัตยาภรณ์กล่าว

"เคยเรียนโยคะมาก่อน มาฝึกดนตรีบำบัด สุขภาพเห็นผลค่อนข้างมากไม่ต้องใช้ยา เริ่มรู้สึกเป็นหวัดฝึก ให้ยาสมัยใหม่เข้าตัวเองน้อยสุด แต่ก่อนมีปัญหาสุขภาพเยอะ ร่างกายเพลีย นอนน้อยเพลีย ไม่แข็งแรง ไตไม่ค่อยดีมาฝึกแรกๆเคลื่อนไหวแต่น้อย เป็นพลังที่เข้ามาเคลื่อนไปเอง ไม่ได้คิดไว้ก่อน ไปเอง เหมือนมีพลังวิ่งในตัว ร่างกายเคลื่อนไหวไปตามนั้น สิ่งที่ได้มองว่าเป็นการพัฒนาจิตใจ การฝึกท่าต่างๆเชื่อมลมหายใจให้มีสมาธิมากขึ้น ใจเย็นมากขึ้น มองทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น" ณัฎฐากล่าวทิ้งท้าย







กำลังโหลดความคิดเห็น