xs
xsm
sm
md
lg

มวลน้ำจาก 9 เขื่อนผลิตไฟฟ้า ดันน้ำโขง “หลวงพระบาง” ใกล้จุดวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แม่น้ำคานบริเวณร้านอาหารแคมคาน เชิงพูสี ช่วงบ่ายวันนี้ เพิ่มสูงขึ้นจนล้นท่วมรูปปั่นพญานาค(ภาพจากเพจนะคอนหลวงพระบาง
MGR Online - มวลน้ำมหาศาลที่ระบายออกมาจากเขื่อนผลิตไฟฟ้า 9 แห่ง ดันให้ระดับแม่น้ำโขงที่หลวงพระบางสูงใกล้ถึงจุดวิกฤติ อุตุฯลาวเตือนประชาชนตามริมน้ำให้ระวัง เตรียมรับมือน้ำหลากล้น ท่วมขัง

วันนี้ (23 ก.ค.) กรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ กระทรวงกสิกรรมและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ได้ประกาศเตือนชาวหลวงพระบาง ว่า เมื่อเวลา 13.00 น. ระดับแม่น้ำโขง ณ สถานีหลวงพระบาง ได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 16.62 เมตร ใกล้แตะระดับเตือนภัยซึ่งอยู่ที่ 17.50 เมตร และระดับน้ำท่วมที่ 18.00 เมตร จึงให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวลำน้ำ เตรียมพร้อมรับมือกับสภาพน้ำหลากล้น ท่วมขัง และตลิ่งทรุด จากฝนที่ยังคงตกหนักต่อเนื่องหลายวัน

ระดับแม่น้ำโขงที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากพายุวิภา ที่แม้จะอ่อนกำลังลงจากพายุโซนร้อนเป็นพายุดีเปรสชั่นแล้ว แต่ยังทำให้มีฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นบริเวณกว้างในภาคเหนือและภาคกลาง


ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคมเป็นต้นมา เขื่อนผลิตไฟฟ้าหลายแห่งในภาคเหนือของลาว จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนผ่าน Spillway ประกอบด้วย เขื่อนน้ำคาน 1 , 2 และ 3 และเขื่อนน้ำอู 1-6 มวลน้ำมหาศาลที่ถูกปล่อยออกมาจากเขื่อนทั้ง 9 แห่ง ต่างไหลมาลงยังแม่น้ำโขงที่หลวงพระบาง จากนั้นไหลต่อลงไปยังแขวงไซยะบูลี แขวงเวียงจันทน์ และนครหลวงเวียงจันทน์

โดยเขื่อนน้ำคาน 2 ระบายน้ำออกมา 153.75 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เขื่อนน้ำคาน 3 ระบายออกมา 135 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เขื่อนน้ำอู 1 ระบายออกมา 4,500 ลูกบากศก์เมตร/วินาที เขื่อนน้ำอู 2 ระบายออกมา 3,800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เขื่อนน้ำอู 3 ระบายออกมา 3,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เขื่อนน้ำอู 4 ระบายออกมา 2,500 ลูกบาศเมตร/วินาที เขื่อนน้ำอู 5 ระบายออกมา 2,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และเขื่อนน้ำอู 6 ระบายออกมา 800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

ระดับแม่น้ำโขง บริเวณท่าหัวเสือ วัดเชียงทอง จุดบรรจบระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำคาน
วานนี้ (22 ก.ค.) รัฐวิสาหกิจน้ำประปา แขวงหลวงพระบาง ประกาศด่วนออกมาว่า จำเป็นต้องหยุดผลิตน้ำประปาเป็นการชั่วคราวตั้งแต่เวลา 20.00 น.เป็นต้นไป เนื่องจากระดับน้ำคานได้เพิ่มสูงขึ้นจนท่วมหอดูดน้ำดิบ และน้ำมีความขุ่นเกินมาตรฐาน จึงขอให้ประชาชนเร่งตุนน้ำประปาเอาไว้

แขวงหลวงพระบางเป็นหนึ่งในพื้นที่ของลาว ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากพายุวิภาต่อเนื่องมาตั้งแต่คืนวันที่ 21 กรกฎาคม นอกจากเกิดน้ำท่วมขังแล้ว ยังมีดินถล่ม มวลน้ำไหลหลาก สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง สะพาน รวมถึงถนนอีกหลายสาย

แม่น้ำคานที่ไหลผ่านขัวเหล็ก




กำลังโหลดความคิดเห็น