ผู้จัดการรายวัน-- การขนส่งรถไฟฟ้าระบบรางแบบโมโนเรล (Monorail) หรือ รถไฟฟ้ารางเดี่ยวเป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจจากทางการเวียดนาม ในการรับมือกับปัญหาการจราจรติดขัดในนครใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนครโฮจิมินห์ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ
การศึกษาโมโนเรลจำนวน 2 สายที่ดำเนินมาตั้งแต่ต้นปีเพิ่งจะแล้วเสร็จ และบริษัทเบอร์จายา คอร์ปอเรชัน เบอร์หัด (Berjaya Corporation Berhad) จากมาเลเซียที่เสนอตัวเข้าลงทุนนี้ได้เสนอรายงานเบื้องต้นต่อทางการนครโฮจิมินห์เมื่อเร็วๆนี้
ทั้งสองสายนี้กำลังจะเป็นโมโนเรลสายที่ 2 และ 3 ในนครที่มีประชากร 8 ล้านคนและการจราจรกำลังติดขัดถึงขั้นโคม่าในชั่วโมงเร่งด่วน ขณะที่การก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่คือ รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกเพิ่งจะเริ่มต้น
ผู้เชี่ยวชาญของบริษัทกุบ-เบอร์จายา เอ็นวิโร (Kub-Berjaya Enviro) บริษัทลูกของ BCB ร่วมกับบริษัท TEDI Consulting ได้เสนอแผนการก่อสร้างโมโนเรลทั้งสองสายรวมความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมใจกลางนครกับเขตรอบนอก และเขตสวนอุตสาหกรรมหลายแห่ง
โมโนเรลทั้ง 2 สายนี้อยู่ในแผนการพัฒนาการขนส่งระบบรางในเขตเมืองจากปัจจุบันไปจนถึงปี พ.ศ.2563 ซึ่งยังมีรถไฟฟ้าใต้ดิน-บนดินรวม 6 สาย ขณะที่มีการพิจารณาระบบรถรางในเมือง (Urban Tramway) กับ รถบัสขนส่งมวลชนหรือ Bus Rapid Transit (BRT) เป็นทางเลือกอีกด้วย
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่ากลุ่มนักลงทุนจากญี่ปุ่นซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การการค้าสัมพันธ์กับต่างประเทศหรือเจโทร (Japan External Trade Organization) ได้เสนอเข้าลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยวสายแรกของนครโฮจิมินห์และกำลังอยู่ระหว่างเจรจาเงินกู้
สำหรับโมโนเรลสายที่ 2 มีความยาว 13.6 กม. จะเริ่มจากเขตทูเทียม (Thu Thiem) หรือฝั่งตะวันตกแม่น้ำไซ่ง่อนอันเป็นเขตพัฒนาใหม่ ขนานกับทางหลวงตะวันออก-ตะวันตก ข้ามแม่น้ำไปถึงสถานีปลายทางที่ทางหลวงสายที่ 50 ในเขตบิ่งแจ๋ง (Binh Chanh) หรือ "บึ่นเจิ๋น" ในสำเนียงท้องถิ่น
สายที่ 3 ความยาวเพียง 6.3 กม.จะเริ่มจากถนนเหวียนแอว็ง (Nguyen Oanh) ไปยังเขตเสาะเวิ๊บ (Go Vap) ไปถึงสถานีปลายทางที่สวนซอฟท์แวร์กวางจุ่ง (Quang Trung Software Park) ในเขต 12 ทั้งนี้เป็นรายงานของไซ่ง่อนไทมส์ หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันฉบับภาษาอังกฤษ
ผู้บริหารของกุบ-เบอร์จายา เอ็นวิโร กล่าวว่ารายงานสุดท้ายจะนำเสนอต่อทางการนครโฮจิมินห์ในอีก 3 เดือนข้างหน้าหรือก่อนสิ้นปีนี้ แต่ก็ยังไม่ยอมเปิดเผยเกี่ยวกับมูลค่าโครงการ เทคโนโลยีที่ใช้ และรายละเอียดอื่นๆ
อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนจะต้องใช้ที่ดินรวมกันราว 10 เฮกตาร์ (ประมาณ 625 ไร่) เพื่อสร้างโรงจอดและอู่ซ่อม สถานีปฏิบัติการและควบคุมของรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย รวมทั้งเป็นร้านค้าอีกด้วย และจะเร่งการก่อสร้างให้เปิดบริการได้ในปี 2553 โดยจะแล่นรถบริการทุกๆ 8 นาที
รถไฟฟ้าโมโนเรลของมาเลเซียจะสามารถขนส่งผู้โดยสารได้ 20,000-30,000 คนต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับนครโฮจิมินห์ที่กำลังอยู่ในฝันร้ายด้านการจราจร
ในเดือน มี.ค.ปีนี้ เบอร์จายาฯ ได้เซ็นบันทึกช่วยความจำเพื่อความเข้าใจกับแผนกคมนาคมขนส่งและโยธาธิการนครโฮจิมินห์เพื่อศึกษาและก่อสร้างโมโนเรลทั้งสองสาย แต่หนังสือพิมพ์เยินซเวิน (Nhan Dan) ซึ่งเป็นสื่อของศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม รายงานว่ากลุ่มบริษัทจากมาเลเซียนี้ยังได้รับมอบหมายให้ศึกษาความเป็นไปได้โครงการโมโนเรลสายอื่นๆ อีกด้วย
ตามแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเขตเมืองนั้น นครโฮจิมินห์จะมีบริการรถไฟฟ้าใต้ดิน-บนดินรวมความยาว 107 กม. รถโมโนเรลอีก 3 สายรวมความยาว 37 กม.
ระบบรถเมล์โดยสารไม่เพียงพอที่จะรับมือกับการคมนาคมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในนครที่มีเศรษฐกิจเติบโตสูงที่สุดในประเทศ ทำให้ผู้คนหันไปใช้พาหนะส่วนตัวซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถจักรยายนต์ที่มีความคล่องตัวสูง แต่ยิ่งมีจำนวนมากขึ้นการจราจรก็ยิ่งติดขัดมากขึ้น
ก่อนหน้านั้นในเดือน ธ.ค.2548 ผู้บริหารของกลุ่มมารุเบนี (Marubeni) กับผู้เชี่ยวชาญของเจโทรได้เสนอแผนการลงทุนก่อสร้าง รถไฟฟ้ารางเดี่ยวสายแรกของโฮจิมินห์ด้วยเงินลงทุน 474 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โมโนเรลสายแรกความยาว 13.95 กม. จะมีสถานีต้นทางที่ตลาดเบ๊นแถ่ง (Ben Thanh) มุดลงใต้ดินผ่าใจกลางเมืองก่อนจะไปโผล่ขึ้นลอยฟ้าวิ่งขนานกับแม่น้ำไซ่ง่อน โดยมีสถานีสุดท้ายที่ทางหลวงสาย 1A (ใต้-เหนือ) ในเขตที่ 12
ทางการนครฯ ได้เสนอให้โมโนเรลสายแรกมุดลงใต้ดินในช่วงถนนฮายบาจุง (Hai Ba Trung) ถนนฟานดิ่งฟุง (Phan Dinh Phung) ถึงถนนเหวียนเกี๊ยม (Nguyen Kiem) ก่อนจะขึ้นเป็นระบบลอยฟ้าไปตามถนนโตนดึ๊กถัง (Ton Duc Thang) ไปตลอดระยะทางที่เหลือ ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวเวียดนามเอ็กซ์เพรส
เจโทรกับทางการนครโฮจิมินห์กำลังเจรจากับรัฐบาลญี่ปุ่น เกี่ยวกับเงินกู้ดอกเบี้ยผ่อนปรนสำหรับการก่อสร้างโมโนเรลสายที่ 1 โดยคณะกรรมการปกครองนครจะรับผิดชอบค่าชดเชยที่จะต้องจ่าให้แก่ครอบครัวประชาชนที่ได้รับผลกระทบหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันกล่าว
ไม่เพียงแต่นครโฮจิมินห์เท่านั้น ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวยังได้รับความสนใจจากทางการกรุงฮานอย ที่การจราจรกำลังติดขัดอย่างหนักไม่แพ้กัน
ตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเขตเมือง ภายในปี พ.ศ.2563 ฮานอยจะมีรถไฟฟ้ารางเดี่ยวฟ้าจำนวน 8 สาย การศึกษาโมโนเรลสายแรกจากย่านใจกลางเมืองไปยัง อ.ห่าด่ง (Ha Dong) สำเร็จตั้งแต่ต้นปี 2548 โดยกลุ่ม TEDI เช่นเดียวกัน
ตามรายงานของสื่อทางการนั้นการก่อสร้างโมโนเรลสายแรกความยาว 14.8 กม. จะเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2548 แล้วเสร็จปลายปีนี้และเปิดบริการในเดือน ก.ค.2551 แต่ก็ยังไม่มีข่าวคราวอีกนับตั้งแต่นั้น
ในกรุงฮานอยยังมีระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน-บนดินอีก 2 สาย โดยสายแรกวางศิลาฤกษ์ไปในเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว การปรับพื้นที่ก่อสร้างเริ่มขึ้นเมื่อต้นปีนี้ โดยมีกำหนดจะเปิดให้บริการในปี 2553.