กรุงเทพฯ-- รัสเซียประกาศในค่ำวันอังคาร (15 พ.ค.) ที่ผ่านมาว่า ได้ตกลงสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ ซึ่งรวมทั้งเตาปฏิกรณ์เพื่อการวิจัยให้แก่พม่า ที่ถูกโลกตะวันตกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมาหลายปี
ความตกลงจะนำไปสู่ "การออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ที่ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ในพม่า" รวมทั้งเตาปฏิกรณ์ประเภทมวลเบา (light-water nuclear reactor) จำนวน 1 หน่วยอีกด้วย องค์การพลังงานอะตอม "รอสอะตอม" (Rosatom) ของรัสเซียระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง
หัวหน้าองค์การรอสอะตอมคือ นายเซอร์เก คิริเยนโก (Sergei Kiriyenko) กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพม่า อูตอง (U Thaung) ได้ลงนามความตกลงฉบับหนึ่งกับฝ่ายรัสเซียในวันเดียวกัน เพื่อก่อสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ขึ้นในประเทศ ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี
ความตกลงดังกล่าวได้ถูกมองเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นวิธีทำธุรกิจของรัสเซียกับประเทศที่ถูกสหรัฐ อังกฤษ และ สหภาพยุโรปนำขบวนคว่ำบาตร โดยชาติตะวันตกเหล่านี้เรียกร้องให้พม่าปฏิรูปประชาธิปไตย ปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดออกจากที่คุมขัง รวมทั้งนางอองซานซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดด้วย
สหรัฐฯ ได้กล่าวหาว่า รัฐบาลทหารพม่าทำการกดขี่ ทรมานฝ่ายตรงข้าม ใช้วิธีการปราบปรามชนกลุ่มน้อยโดยการข่มขืนสตรี เข่นฆ่า รวมทั้งทำการปราบปรามด้วยความรุนแรงและอาวุธ ในขณะที่ปล่อยให้การผลิตและการค้ายาเสพติดดำเนินต่อไป
อย่างไรก็ตามการคว่ำบาตรของโลกตะวันตกส่งผลกระทบต่อรัฐบาลทหารพม่าน้อยมาก เนื่องจากหลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อินเดีย จีน ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และไกลออกไปกระทั่งเกาหลีใต้ ต่างก็เข้าไปลงทุนในแขนงพลังงานในพม่า ที่ร่ำรวยด้วยก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ ด้วยเงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
บริษัทน้ำมันจากรัสเซียแห่งหนึ่งก็กำลังสำรวจขุดเจาะหาน้ำมันดิบและก๊าซอยู่ในพม่า อีกหลายบริษัทกำลังมุ่งหน้าเข้าไปแสวงหาโอกาสการลงทุนเช่นกัน
หนังสือพิมพ์ข่าวการพาณิชย์คอมเมอร์ซานต์ (Kommersant) รายงานเมื่อปีที่แล้วว่า รัสเซียยอมจำหน่ายอาวุธ ยุทโธปกรณ์ให้แก่รัฐบาลพม่า เพื่อแลกกับการเข้าทำธุรกิจและลงทุนด้านน้ำมันและก๊าซในประเทศนี้
รัสเซียยังเป็นผู้สนับสนุนรายหลักของพม่าบนเวทีระหว่างประเทศ คู่กับจีน รวมทั้งในองค์การสหประชาชาติ ซึ่งทำให้มติคว่ำบาตรที่รุนแรงต่อพม่าถูกวีโตมาตลอด
เมื่อปีที่แล้วสหรัฐฯ ได้ผลักดันให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ออกข้อมติประณามพม่าอย่างรุนแรง แต่ต้องล้มเหลวเนื่องจากจีนกับรัสเซีย ใช้สิทธิยับยั้ง
ในช่วงปีใกล้ๆ นี้รัสเซียเข้าทำธุรกิจอย่างออกหน้าออกตากับกลุ่มประเทศที่สหรัฐฯ มองว่าไม่เป็นมิตร ซึ่งประกอบด้วย พม่า เกาหลีเหนือ อิหร่าน รวมทั้งเวเนซูเอลาด้วย ทำให้เกิดความมึนตึงในความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ อยู่บ่อยครั้ง
รัสเซียยังสร้างความไม่พอใจให้แก่สหรัฐฯ อย่างรุนแรง โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้แก่อิหร่าน ท่ามกลางความวิตกกังวลของประชาคมระหว่างประเทศ ที่เกรงว่าประเทศนี้จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมา
อย่างไรก็ตามองค์การรอสอะตอม ระบุในคำแถลงว่า ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ในพม่าจะอยู่ใต้การควบคุมดูแลขององค์การพลังงานนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ แห่งสหประชาชาติ หรือ UNAEA (United Nation International Atomic Energy Agency) และจะดำเนินการโดยบริษัท Atomstroiexport ซึ่งเป็นแขนงธุรกิจในเครือของรอสะตอม
ที่ศูนย์ดังกล่าวยังจะประกอบด้วยห้องทดลองเพื่อผลิตไอโซโธปส์ทางการแพทย์ (medical isothopes) รวมทั้งอาคารและเครื่องมือเพื่อการกำจัดกากนิวเคลียร์ด้วย แต่คำแถลงมิได้กล่าวถึงมูลค่าการก่อสร้าง หรือ ข้อแลกเปลี่ยนใดจากฝ่ายพม่า.