กรุงเทพฯ- ตลาดทองในพม่าคึกคักตั้งแต่วันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่แล้ว หลังจาก พลเอกอาวุโสตานฉ่วย (Thanshwe) ไม่ได้ออกปรากฏตัวในงานครบรอบปีที่ 59 ฉลองวันเอกราช ท่ามกลางข่าวเล่าลือว่าผู้นำสูงสุดแห่งพม่า ถูกโค่นลมจากอำนาจแล้ว ขณะที่สื่อของชาวพม่าพลัดถิ่นอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวระบุว่าผู้ยิ่งใหญ่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และรับการผ่าตัดในโรงพยาบาลที่ดีที่สุดของสิงคโปร์
ข่าวเล่าลือเริ่มขึ้นตั้งแต่เช้าวันที่ 4 ม.ค. เมื่อมีการอ่านสาสน์เนื่องในโอกาสรำลึกครบรอบปีที่ 59 ที่ประเทศได้รับเอกราชจากอังกฤษ แต่ไม่ได้ออกปรากฏตัวในงานเลี้ยงที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการและไม่มีคำอธิบายใดๆ จากทางการ
สาธารณชนในพม่ารับรู้ข่าวลือเกี่ยวกับการเดินทางออกนอกประเทศของ พล.อ.ตานฉ่วย มาตั้งแต่ช่วงวันหยุดส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หลายคนทราบว่า ประธานสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือ SPDC (State Peace and Development Council) ซึ่งเป็นสภาสูงสุดของคณะปกครองทหาร เดินทางไปสิงคโปร์ แต่ก็ไม่ได้มีการประกาศเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ
ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวพม่าได้แห่กันเข้าร้านทองมาตั้งแต่วันศุกร์ (5 ม.ค.) เพื่อซื้อกักตุนเอาไว้ รับสถานการณ์ที่ไม่แน่ไม่นอน เพราะหากเก็บเป็นเงินจั๊ต เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป ค่าเงินอาจจะตกฮวบลง
"เขา (ตานฉ่วย) อยู่ในโรงพยาบาลที่สิงคโปร์" สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างคำกล่าวในสถานทูตพม่าที่สิงคโปร์ ส่วนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล Singapore General Hospital ที่ไม่ประสงค์ให้เอยนาม กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (7 ม.ค.) ว่า พล.อ.ตานฉ่วย วัย 73 ปี ได้ออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว เหลือเพียงสมาชิกครอบครัวจำนวนหนึ่งที่ยังอยู่
อย่างไรก็ตามเมื่อผู้สื่อข่าวกับช่างภาพของรอยเตอร์ ไปยังโรงพยาบาลดังกล่าวในตอนเช้าวันอาทิตย์ ก็ได้พบกับการรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนาที่อาคารผู้ป่วยหลังหนึ่ง
ข่าวเล่าลือมีมานานแล้ว และก็มีการคาดการณ์กันอย่างสูงในช่วงไม่นานมานี้ว่า พล.อ.ตานฉ่วยกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพอย่างรุนแรง และมีรายงานในวงในว่า ผู้นำสูงสุดของพม่าเดินทางไปสิงคโปร์ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. ทำให้ไม่สามารถออกปรากฏตัวในวันพฤหัสบดี
นับเป็นครั้งที่ผู้นำอาวุโสไม่ได้ออกปรากฏตัวในงานเลี้ยงสำคัญนี้ นับตั้งแต่ยึดอำนาจจาก พล.อ.ซอหม่อง เมื่อปี 2535
ได้มีเสียงโจดจันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ตานฉ่วย บ้างก็บอกว่า แท้จริงแล้วผู้มีอำนาจสูงสุดในพม่าในตอนนี้ก็คือ พล.อ.ตูระฉ่วยมาน (Thura Shwe Mann) ผู้นำหมายเลข 3 ซึ่งเป็นทายาทการเมืองที่ พล.อ.ตานฉ่วย เลือกเอง
ส่วน รองพลเอกอาวุโสหม่องเอ (Maung Aye) ผู้นำหมายเลข 2 และ ผู้บัญชาการทหารบก คนปัจจุบันไม่ได้การยอมรับอย่างกว้างขวางเท่าที่ควร
สำนักข่าวดีวีบี (Democratic Voice of Myanmar) หรือ "เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า" ที่ตั้งอยู่ในกรุงออสโล ประเทศนอร์เว ได้อ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวในโรงพยาบาล ระบุว่า พล.อ.ตานฉ่วย เกิดมะเร็งลำไส้กำเริบ และ ต้องผ่าตัด
ผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ได้พบว่า มีการปิดโรงพยาบาลไปบางส่วนมิให้ผู้คนเดินผ่านโดยมีเจ้าหน้าที่พม่ายืนรักษาการประจำคอยห้ามผู้คน เจ้าหน้าที่ รปภ.ของโรงพยาบาล ได้ควบคุมตัวช่างภาพของรอยเตอร์ และสั่งให้ลบภาพออกจากกล้องทั้งหมด
โฆษกหญิงของโรงพยาบาลคนหนึ่งปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
สุขภาพของ พล.อ.ตานฉ่วย เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายสงสัยมานาน ในแวดวงกลุ่มผู้นำทหารที่ค่อนข้างจะลี้ลับซับซ้อน
ในปี 2548 มีข่าวลือสะพัดว่า พล.อ.ตานฉ่วย ป่วยหนักและถูกโค่นลงจากอำนาจ คราวนั้นชาวพม่าก็แห่ไปซื้อทองกันคึกคัก เวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ของทางการก็ได้ออกกล่าวโทษสื่อต่างประเทศ ที่ออกข่าวโคมลอยเช่นนั่น
เมื่อเดือนที่แล้ว พล.อ.ตานฉ่วย ได้ออกเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการพัฒนาในประเทศในหลายโอกาส แต่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่ไม่ชอบพบปะกับชาวต่างชาติ
การเดินทางไปต่างประเทศครั้งล่าสุด มีขึ้นในปี 2547 คราวนั้นไปเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ ซึ่งได้ถูกกลุ่มนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยพากันแห่ไปประท้วง ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะมีแต่กลุ่มผู้ประท้วงร้องตะโกนให้รัฐบาลทหารปล่อยนางอองซานซูจี ที่ถูกกักบริเวณเป็นเวลานานกว่า 10 ปีตลอดช่วง 17 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามบรรดานักการทูตได้รับทราบจากหนังสือพิมพ์นิวไล้ท์ออฟเมียนมาร์ ซึ่งเป็นสื่อของรัฐในวันพฤหัสบดีว่า งานเลี้ยงในเย็นวันเดียวกันนั้นจะมี พล.อ.หม่องเอ นั่งหัวโต๊ะ แทน พล.อ.ตานฉ่วย โดยที่ไม่คำอธิบาย
ตามความเชื่อของวงการทูตในพม่านั้น หาก พล.อ.ตานฉ่วย กำลังมีปัญหาสุขภาพอย่างร้ายแรง ก็อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนขั้วอำนาจในคณะผู้นำทหารของประเทศได้ และ อาจจะถูกแทนที่โดย พล.อ.ฉ่วยมาน
ตามรายงานที่แพร่สะพัดในหมู่นักการทูตนั้น พล.อ.หม่องเอ ไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองอย่างเข้มแข็งเท่ากับ พล.อ.ฉ่วยมาน ขณะเดียวกันก็มีข่าวเล่าลือมานานเช่นกันว่า ผู้นำหมายเลข 2 ก็มีอาการโรคมะเร็งในตับ
พล.อ.ตานฉ่วย เป็นผู้ริเริ่มให้ย้ายศูนย์การบริหารประเทศออกจากกรุงย่างกุ้ง ไปยังเมืองเนย์ปีดอ (Naypyidaw) ที่อยู่เหนือขึ้นไปกว่า 200 กิโลเมตรใกล้กับเมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) บ้างก็กล่าวกันว่า เพื่อหนีการโจมตีของสหรัฐฯ ต่อหน้าการรุกรานอิรัก
แต่หลายเสียงก็ได้ยินมาว่า พลงอ.ตานฉ่วย ย้ายเมืองหลวงไปตามเสียงทำนายทายทักของหมอดู ซึ่งบอกว่ากรุงย่างกุ้งมีฮวงจุ้ยไม่ดี เสี่ยงต่อการเกิดเหตุร้ายอาจจะถึงขั้นที่ผู้นำต้องลงจากอำนาจถึงขึ้น
พม่าตกอยู่ใต้การปกครองของฝ่ายทหารมาตั้งแต่ ปี 2505 ไม่นานหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ โดย พล.อ.เนวิน ได้โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนายกรัฐมนตรีอูนุ จากนั้นก็ประกาศใช้แนวทางสังคมนิยม และ โดดเดี่ยวตัวเองจากโลกภายนอก
พล.อ.เนวิน ลาออกจากทุกตำแหน่งในปี 2531 ท่ามกลางการประท้วงต่อรัฐบาลทหารที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่แล้วทหารอีกรุ่นหนึ่งที่หนุ่มแน่นกว่าก็ขึ้นครองอำนาจแทน และ กลายมาเป็น SPDC ในปัจจุบัน.