ผู้จัดการรายวัน- เพิ่งมีการเปิดเผยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลกัมพูชาได้อนุญาตให้บริษัทร่วมทุนระหว่าง บีเอชพีบิลลิตัน (BHP Billiton) จากออสเตรเลียกับบริษัทมิตซูบิชิของญี่ปุ่น เข้าสำรวจและศึกษาเพื่อทำเหมืองแร่บ๊อกไซต์ ทองแดงและทองคำ ในพื้นที่รวมกันประมาณ 1 ล้านเฮกตาร์ หรือ 6.2 ล้านไร่
นายจัมปะสิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเงินกัมพูชาเป็นผู้เปิดเผยเรื่องนี้ในวันเสาร์ (14 ต.ค.) ที่ผ่านมา เมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานกรุงพนมเปญ พร้อมกับคณะนายกรัฐมนตรีที่กลับจากการเยือนประเทศออสเตรเลีย
รมว.การเงินกัมพูชายังกล่าวอีกว่า หากการสำรวจพบแร่บ๊อกไซต์ในปริมาณที่คาดการณ์ กัมพูชาก็อาจจะเป็นผู้ผลิตบ๊อกไซต์รายใหญ่ที่สุดของโลกและจะมีโรงงานผลิตอะลูมิเนียมเพื่อส่งออกในประเทศนี้ และถ้าหากพบทองคำ กัมพูชาก็จะเป็นประเทศที่ร่ำรวย
อย่างไรก็ตาม นายสมรังสี ผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายค้านชื่อเดียวกันได้แสดงความเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกัมพูชาทั้งประเทศมีพื้นที่รวมกันเพียง 18 ล้านเฮกตาร์ พื้นที่สัมปทานที่รัฐบาลให้กับต่างชาติครั้งนี้ คิดเป็นถึง 5.5% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่ง "เป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลย"
พื้นที่สัมปทานของกลุ่มบริษัทออสเตรเลีย-ญี่ปุ่นนี้ ครอบคลุม จ.มณฑลคีรี (Mondolkiri) กับ จ. รัตนะคีรี (Ratanakiri) ซึ่งเป็นจังหวัดที่ประชาชนยังยากจนที่สุด อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ นอกจากนั้นในพื้นที่ดังกล่าวก็กำลังมีเหตุพิพาทแย่งชิงที่ดิน หรือ นายทุนสัมปทานต่างชาติขับไล่ประชาชนออกจากที่ดินทำกินเพื่อทำการเกษตรส่งออก
พื้นที่แถบนั้นยังเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติเพชรลดา (Petch Chreada) ซึ่งเป็นป่าเขตร้อนชุมชื้นที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชพรรณและสัตว์ป่า
บริษัทโกลด์มีทัลกรู๊ป (Gold Metal Group Co Ltd) จากออสเตรเลียอีกแห่งหนึ่งได้รับสัมปทานเข้าสำรวจ-ทำเหมืองแร่ทองแดงและทองคำใน จ.มณฑลคีรี และกำลังมีกรณีพิพาทกับราษฎรในท้องถิ่น นอกจากนั้นพื้นที่สัมปทานเหมืองยังล้ำเข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ยิ่งทำให้องค์การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมมีความกังวลเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพรรณพืชที่หายากในกัมพูชา
อย่างไรก็ตามรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นายฮุนเซนได้แสดงความพึงพอใจต่อการเข้าลงทุนทำเหมืองของกลุ่มบริษัทจากออสเตรเลียอย่างยิ่ง ระหว่างการเยือนครั้งนี้รัฐบาลออสเตรเลียได้ให้การช่วยเหลือแก่กัมพูชาอีกราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
"ที่ดินที่จะเข้าสำรวจอาจจะครอบคลุมพื้นที่ถึง 1 ล้านเฮกตาร์ จ.มณฑลคีรีเป็นจังหวัดยากจน แต่ก็ร่ำรวยมหาสมบัติอยู่ใต้ดินเป็นทองกับบ๊อกไซต์ที่เรายังไม่ได้ขุดค้นหา.. เมื่อประเทศของเรามีสันติภาพแล้ว เราจะต้องขุดค้นและทำธุรกิจ" นายจัมปะสิดกล่าว
"ถ้าหากพวกเขาค้นพบบ๊อกไซต์ ก็จะมีการตั้งโรงงานมาตรฐานระดับนานาชาติขึ้นเพื่อผลิตอะลูมิเนียม" รัฐมนตรีกัมพูชากล่าว ทั้งย้ำว่ามูลค่าการลงทุนทำเหมืองของสองบริษัทนี้อาจจะใหญ่โตกว่ามูลค่าการลงทุนทั้งหมดในประเทศ
หนังสือพิมพ์แคมโบเดียเดลีรายงานเมื่อวันจันทร์ (16 ต.ค.) โดยอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่สถานทูตออสเตรเลียในกรุงพนมเปญว่า บิลลิตันกับมิตซูบิชิได้เซ็นความตกลงกับรัฐบาลกัมพูชาในวันที่ 11 ต.ค. ณ กรุงแคนเบอร่า ระหว่างการเยือนของนายฮุนเซน แต่ก็ไม่ยอมที่จะเปิดเผยในรายละเอียดอื่นๆ
เอชพีบิลลิตันออกคำแถลงเมื่อวันพุธที่แล้วว่า บริษัทกำลังจะจัดทำรายงานผลกระทบด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ แต่ในคำแถลงก็ไม่ได้ระบุขนาดของพื้นที่ที่บริษัทกำลังจะเข้าสำรวจ
อย่างไรก็ตามบิลลิตันกับมิตซูบิชิ ได้รับสิทธิ์ที่จะได้รับการพิจารณาก่อนอื่น เข้าเจรจาทำสัญญาการลงทุนทำเหมืองแร่กับรัฐบาลกัมพูชา หลังจากการสำรวจศึกษาต่างๆ แล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มต้นได้ ในปลายปี 2551 ทั้งนี้เป็นรายงานของนิตยสารโฟร์บ ที่อ้างแหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ให้ระบุนามในบริษัทบิลลิตัน
นายญาราง จัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดมณฑลคีรี กล่าวกับแคมโบเดียเดลีว่าที่นั่นยินดีต้อนรับการเข้าสำรวจและทำเหมืองแร่ เพราะประชาชนจะได้มีงานมีการทำกันเสียที เนื่องจากในปัจจุบันทำไร่ทำนาแต่ก็ได้ผลผลิตไม่พอเลี้ยงครอบครัว
เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวว่า ตนเองไม่ได้ห่วงเรื่องผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมหรืออะไรทั้งสิ้น เพราะเชื่อว่าบริษัทผู้ลงทุน จะต้องทำการสำรวจศึกษาผลกระทบต่างๆ เสียก่อน และปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ
ก่อนหน้านี้บริษัทอู๋จื่อซาน (Wuzhishan) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ได้รับสัมปทานปลูกพืชเศรษฐกิจในพื้นที่มหาศาล ก็เกิดกรณีพิพาทกับประชาชนและกลุ่มชนพื้นเมืองใน จ.มณฑลคีรี ซึ่งร้องเรียนว่าบริษัทของจีนได้รุกล้ำเข้าไปในเขตอยู่อาศัยของพวกตน และยังทำลายสุสานที่ฝังร่างของบรรพบุรุษอีกด้วย
นายเมืองปอย (Muong Poy) ผู้ว่าราชการ จ.รัตนะคีรี ที่มีอาณาเขตติดกับมณฑลคีรี ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับกรณีของบริษัทอู๋จื่อซาน กับบิลลิตัน โดยอ้างว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดใดๆ
นาย เตียกเส็ง (Teak Seng) ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพิทักษ์สัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund) ในกรุงพนมเปญที่กล่าวว่ายังไม่ทราบอาณาเขตพื้นที่สัมปทานแน่ชัด แต่ก็ได้แสดงความเป็นห่วงว่าดูจากพื้นที่สัมปทานตามข่าวแล้ว เชื่อว่าจะต้องมีการเหลื่อมล้ำกับเขตป่าสงวนแห่งชาติอย่างแน่นอน
เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวว่ากำลังจะมีการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรขึ้นมาเพื่อทำงานร่วมกับบิลลิตัน หาทางลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม สัตว์ป่าและพรรณพืชให้เหลือน้อยที่สุด เพราะสิ่งที่วิตกมากที่สุดก็คือ ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและผลที่เป็นลบต่อสังคม
กลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อมยังแสดงความเป็นห่วงผลกระทบที่อาจจะมีต่อถิ่นที่อาศัยของคนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาอีกด้วย
นายเส็งกล่าวว่าการทำเหมืองบ๊อกไซต์นั้นเลวร้ายกว่าการทำเหมืองทองมาก เพราะเหมืองทองนั้นขุดลงไปในแนวลึก แต่เหมืองบ๊อกไซต์นั้นจะต้องลอกชั้นดินออกเป็นชั้นๆ
ส่วนผู้นำพรรคฝ่ายค้านกัมพูชากล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าหากไม่สามารถควบคุมขบวนการต่างๆ ได้ ผลกระทบในทางลบก็จะกินอาณาบริเวณกว้างขวาง เนื่องจากพื้นที่สัมปทานนั้นกว้างใหญ่ไพศาล เมื่อเทียบกับเนื้อที่ทั้งหมดของประเทศ