xs
xsm
sm
md
lg

อินเทล-ไมโครซอฟท์ แล้วก็ถึงคราว 'ดิสนีย์'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายบิล เกตส์ ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัทผู้ผลิตซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ "ไมโครซอฟท์” เพิ่งจะเดินทางออกจากกรุงฮานอยปลายเดือนที่แล้ว สัปดาห์นี้บริษัทมีเดียยักษ์ใหญ่แห่งสหรัฐฯ วอลต์ ดิสนีย์ ก็ได้ประกาศบุกลาดเวียดนาม อันเป็นแผนการหนึ่งในการขยายกิจการสู่ตลาดระหว่างประเทศอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

บริษัทอเมริกันเหล่านี้อาจจะดูช้าไปสักนิดในการเข้าไปมีตัวมีตน ทำธุรกิจอยู่ในประเทศคอมมิวนิสต์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ที่มีประชากรกว่า 80 ล้านคนและเศรษฐกิจ กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมาก

บริษัทรถยนต์ฟอร์ดมอเตอร์ส เข้าไปมีตัวมีตนอยู่ที่นั่นได้ 11 ปีแล้ว แต่เพิ่งจะเริ่มประกอบรถยนต์เป็นจริงเป็นจังก็ในปี 2547 และในปัจจุบันครองส่วนแบ่งในตลาดอย่างงาม เป็นรองจากรถญี่ปุ่นอยู่ไม่มาก ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่หายากสำหรับรถยนต์ยี่ห้อนี้ นอกตลาดสหรัฐอเมริกา

ในเดือน ก.พ.ปีนี้ บริษัทอินเทล (Intel) ผู้ผลิตไมโครชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกสัญชาติสหรัฐฯ ก็ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานชานนครโฮจิมินห์ เพื่อผลิตชิปป้อนตลาดในภูมิภาค โรงงานแห่งนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นของการลงทุนที่มีมูลค่ารวมกัน 605 ล้านดอลลาร์

และก็ต้องไม่ลืมว่าเมื่อ 2 ปีก่อน ที่นายกรัฐมนตรีเวียดนามนายฟานวันข่าย ไปเยือนสหรัฐฯ นั้น สายการบินเวียดนามได้สั่งซื้อเครื่องบินโดยสารของบริษัทโบอิง ซึ่งรวมทั้งโบอิง 787 รุ่นใหม่ล่าสุด ก่อนหน้านี้สายการบินแห่งชาติเวียดนาม สั่งซื้อจากบริษัทคู่แข่งเชื้อสายยุโรปคือ แอร์บัสอินดัสตรี มาโดยตลอด

นี่ต้องเรียกว่าเป็นช่วงเวลาของบริษัทอเมริกันในตลาดเวียดนามขนานแท้

บริษัทวอลต์ ดิสนีย์ เอง ซึ่งธุรกิจในฮ่องกงดูจะทุละทุเลพอสมควรในระยะที่ผ่านมา แต่ก็มองเห็นช่องทางในตลาดเวียดนาม หลังจากวงการบันเทิงในประเทศนี้เริ่มลืมตาอ้าปาก ก็ถึงเวลาที่ภาพยนตร์คุณภาพจากค่ายดิสนีย์จะเข้าไปขอแจ้งเกิดบ้าง ซึ่งรวมทั้งภาพยนตร์การ์ตูนโดยพิกซาร์ (Pixar) ที่อยู่ในเครือด้วย
บริษัทวอลต์ ดิสนีย์ ก็เป็นบริษัทจากสหรัฐอีกบริษัทหนึ่งที่มองประเทศเวียดนามเป็นปลายทางการลงทุนที่น่าสนใจ
ถ้าหากนึกไม่ออกว่าหนังการ์ตูนของค่ายพิกซาร์สวยและน่ารักขนาดไหน ก็ลองนึกดูเรื่องเก่าๆ เช่น Toy Story, A bug’s Life, Monsters Inc, Finding Nemo และ The Incredible กับ เรื่องล่าสุดคือ Cars ที่ดิสนีย์กำลังจะนำเข้าสู่ตลาดเวียดนาม

ก่อนหน้านี้ดิสนีย์ เริ่มลองตลาดโดยเซ็นสัญญามอบลิขสิทธิ์ให้บริษัทอีสเทิร์นมีเดียโฮลดิ้งส์ (Eastern Media Holdings) เป็นผู้ทำตลาดตัวการ์ตูนของบริษัท ในแถบอินโดจีน คือ ในกัมพูชา ลาว และ ในเวียดนามด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นการลงทุนเพียงน้อยนิด แต่ก็แสดงให้เห็นความตั้งใจของดิสนีย์ ที่จะเข้าแสวงหาโอกาสในตลาดที่เกิดใหม่เหล่านี้

ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะเริ่มขึ้นเมื่อสัก 7 เดือนที่แล้ว หลังจากนายโรเบิร์ต ไอเกอร์ (Robert Iger) เข้ารับตำแหน่งซีอีโอของดิสนีย์แทนหลานคนหนึ่งของวอลต์ ดิสนีย์ เจ้าของตำนาน นายไอเกอร์ได้แสดงวิสัยทัศน์อันแจ่มชัดที่จะเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ เหล่านี้ ในขณะที่รายได้จากธุรกิจนอกสหรัฐฯ คิดเป็น 22% ของรายได้ของทั้งกลุ่มในปี 2548 ที่ผ่านมา

การเข้าลงทุนของดิสนีย์ ซึ่งก็ไม่ต่างกับบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ทั่วไป ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนที่นับวัน ก้าวลงลึกระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนาม ซึ่งครั่งหนึ่งเคยเป็นศัตรู ในสงครามยาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ ที่มีคนเสียชีวิตหลายแสน

ต่างฝ่ายต่างก็ใช้เวลาทำใจอยู่หลายปีนับตั้งแต่สงครามเวียดนามสิ้นสุดลงในปี 2518 จนกระทั่งปี 2544 จึงมีการเซ็นข้อตกลงการค้าทวิภาคี (Bilateral Trade Relation- BTA) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ของสองประเทศ และ ต่อมา นายบิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ได้เดินทางไปเยือนเวียดนาม

ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กำลังจะไปร่วมการประชุมผู้นำกลุ่มเอเปก ที่เวียดนามจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นปลายปีนี้ และจะถือโอกาสเยี่ยมเยือนประเทศนั้นอย่างเป็นทางการด้วย

อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนในสหรัฐฯ มองว่า ใครจะไปใครจะมานับวันจะเป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้ว และทุกฝ่ายกำลังพุ่งความสนใจไปที่ธุรกิจต่างๆ ของบริษัทอเมริกันพร้อมกับร้องถามกันว่า มีบริษัทไหนอีกบ้างที่ยังไม่ได้เข้าไปลงทุนในเวียดนาม

ถึงแม้ว่าผู้คนทั่วไปนอกสหรัฐฯ จะมองเห็นภาพรวมๆ ของดิสนีย์เป็นเพียงเจ้าของการ์ตูนอย่างมิกกี้เม้าส์ สโนว์ไวท์ แบมบี้กวางทอง หรือ สุนัขกู๊ฟฟี่ ก็ตาม แต่ความจริงดิสนีย์เป็นมากกว่านั้น ในปัจจุบันบริษัทนี้เป็นบริษัทมีเดียขนาดใหญ่ที่เข้าถึงหลายร้อยล้านครอบครัวในทั่วทั้งโลก
ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องดัง จากสตูดิโอพิกซาร์ ก็เตรียมลงโรงฉายในเวียดนามเช่นเดียวกัน
ที่ผ่านมาดิสนีย์ได้พุ่งความสนใจทางธุรกิจไปที่จีนกับอินเดีย ถึงแม้ว่าในจีนจะเต็มไปด้วย "โจรสลัด" ที่ทำซีดี/ดีวีดีเถื่อนแบบปราบไม่หมด แถมระยะหลังๆ นี้ทางการยังควบคุมสื่อจากต่างประเทศรัดกุมกว่าเดิม จนน่าอึดอัดก็ตาม

เทียบกับเวียดนามแล้วประเทศนี้กลับให้เสรีมากกว่า เมื่อรัฐบาลเริ่มอนุญาตให้สามารถนำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศได้สัก 3 ปีก่อน มีการเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวดมากโดยเจ้าหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์เอง แต่หลังๆ นี้รัฐบาลก็ปล่อยให้บริษัทธุรกิจที่นำเข้าเซ็นเซอร์กันเอาเอง โดยรัฐเพียงแต่ตีกรอบเอาไว้ให้

แอนดี้ เบิร์ด ประธานฝ่ายสินค้าอุปโภคของดิสนีย์กล่าวกับหนังสือพิมพ์ "ไฟแนนเชี่ยลไทมส์" ฉบับเมื่อวันจันทร์ (1 พ.ค.) ว่า ถ้าหากใครจะเรียกตัวเองว่าเป็น "บริษัทอินเตอร์" แล้ว ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องเข้าไปในเวียดนามด้วย เช่นเดียวกันกับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กอื่นไม่ว่าจะเป็นในเอเชีย ยุโรปตะวันออก หรือละตินอเมริกา

นายเบิร์ดยังกล่าวอีกว่า ดิสนีย์นั้นมองการทำธุรกิจในเวียดนามในระยะยาวข้างหน้า เน้นไปที่การสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ค้าปลีกในประเทศ เพื่อสร้างแบรนด์ของดิสนีย์ รวมทั้งเพาะบ่มตัวการ์ตูนต่างๆ ของบริษัทให้เป็นที่รู้จักอย่างดีในตลาดใหญ่เวียดนาม

เมื่อปีที่แล้วดิสนีย์ทำรายได้ในตลาดเอเชีย 1.4 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับ 5.2 พันล้านในยุโรป และ 24.8 พันล้านในอเมริกาและแคนาดา ซึ่งทำให้เห็นว่าตลาดเอเชียนั้นยังมีที่ว่างอีกมากมาย.
กำลังโหลดความคิดเห็น