นับจากที่เรื่องความยั่งยืนได้เข้ามามีอิทธิพลกับธุรกิจจนได้กลายเป็นกระแสหลักที่ทุก ๆ กิจการจำเป็นต้องพิจารณานำมาดำเนินการกับองค์กรตนเอง เพื่อให้ก้าวทันกับความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น และให้สอดรับกับภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป จนในปัจจุบัน กิจการในแทบทุกอุตสาหกรรมได้ลุกขึ้นมาสื่อสารถึงการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับความยั่งยืนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ดี เมื่อไปสำรวจแนวทางการขับเคลื่อนความยั่งยืนสำหรับภาคธุรกิจนั้น ก็พบว่ามีความหลากหลายในการนำมาปฏิบัติใช้ โดยขึ้นกับชุดความคิดและสำนักวิชาที่ออกแบบและถ่ายทอดความรู้ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละค่าย ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงบริบทในอุตสาหกรรมที่ทำให้การประยุกต์เรื่องดังกล่าวมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกันด้วย
จุดตั้งต้นที่ใช่สำหรับกิจการ เป็นส่วนที่มีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อน เพราะหากเริ่มต้นไม่ตรงจุด ยิ่งกิจการก้าวเดินต่อไปเรื่อย ๆ องศาของเส้นทางเดินที่ควรจะเป็น จะยิ่งเบ้ห่างออกจากจุดศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น ทำให้เสียทั้งเวลา ทรัพยากร และงบประมาณที่ใช้ดำเนินการ รวมทั้งต้องกลับมาแก้ไขตั้งต้นกันใหม่ หรือต้องปรับรื้อสิ่งที่ได้ทำไปก่อนหน้านี้
โดยที่ผ่านมา ความเข้าใจแรกของกิจการในหลายแห่งที่มีต่อเรื่องดังกล่าว คือ การขับเคลื่อนความยั่งยืน องค์กรต้องจัดทำกลยุทธ์ความยั่งยืนขึ้นมาใช้ในการขับเคลื่อน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความยั่งยืน เป็นสถานะของกิจการ ที่ทุกองค์กรคาดหวังให้เกิดขึ้น หรือเป็นผลลัพธ์ที่อยากให้เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริง กิจการไม่สามารถบังคับบัญชาให้เกิดขึ้นได้เอง ทำได้แต่เพียงสร้างเหตุปัจจัย หรือเงื่อนไขที่เอื้อให้สภาพความยั่งยืนเกิดขึ้น โดยปัจจัยสำคัญซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าส่งผลโดยตรงต่อความยั่งยืน ได้แก่ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG)
การที่องค์กรหนึ่ง ๆ ออกมาสื่อสารว่า ได้จัดทำกลยุทธ์ความยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว แท้ที่จริงคือ การดำเนินการกับปัจจัยด้าน ESG (เป็นวิธีการ หรือ Mean) เพื่อให้ได้มาซึ่งความยั่งยืน (เป็นปลายทาง หรือ End) เนื่องเพราะกิจการไม่สามารถกำหนดหรือกำกับให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้เอง โดยปราศจากการใส่เหตุปัจจัยที่เหมาะสม
นั่นหมายความว่า แทนที่กิจการจะจัดทำกลยุทธ์ความยั่งยืน ขึ้นมาเพื่อดำเนินการ กิจการควรจะต้องมีการจัดทำกลยุทธ์องค์กรที่ได้ผนวกการพิจารณาปัจจัยด้าน ESG เข้าไว้ในกลยุทธ์อย่างรอบด้าน สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน แนวทางนี้ต่างหากที่จะทำให้สถานะความยั่งยืนของกิจการเกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด
ทั้งนี้ เพื่อให้กิจการมีกลยุทธ์องค์กรที่เป็นหนึ่งเดียว (Single Strategy) ไม่ก่อให้เกิดภาวะกลยุทธ์คู่ขนาน โดยมีทั้งกลยุทธ์ธุรกิจและกลยุทธ์ความยั่งยืนที่สร้างความสับสนและซ้ำซ้อนให้แก่พนักงานรวมถึงผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง
แม้ในระยะเริ่มต้น กิจการจะมีความริเริ่มด้านความยั่งยืนในลักษณะที่เป็นโครงการ/กิจกรรม แยกต่างหากจากกระบวนงานทางธุรกิจปกติ มิได้มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน แต่เมื่อเริ่มเข้าใจว่าเรื่องความยั่งยืนเป็นประเด็นสาระสำคัญที่ต้องดำเนินการ กิจการจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน และจะมีตัวชี้วัดใช้สำหรับประเมินผลงาน ดำเนินไปจนกระทั่งมาถึงจุดที่เรื่องความยั่งยืนจะถูกหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กร เป็นกลยุทธ์ชุดเดียวกันกับที่ใช้ขับเคลื่อนองค์กรโดยรวม
สำหรับกิจการที่เข้าใจหรือเดินมาถึงจุดนี้ จะพบว่าไม่มีความจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการความยั่งยืน หรือคณะทำงานด้าน ESG เพิ่มเติมเป็นการเฉพาะสำหรับดูแลการขับเคลื่อน เนื่องจากปัจจัยด้าน ESG ได้ถูกนำมาพิจารณาหลอมรวมอยู่ในกลยุทธ์องค์กรซึ่งสามารถถ่ายทอดลงสู่การปฏิบัติผ่านกลไกที่มีอยู่เดิมได้ตามปกติ
โดยหนึ่งในวิธีการสำหรับกิจการที่คุ้นเคยกับการจัดทำแผนที่กลยุทธ์ (Strategy Map) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการ คือ การปรับแต่งแผนที่กลยุทธ์ด้วยการผนวกปัจจัยด้าน ESG และขยายมุมมองให้ครอบคลุมเรื่องความยั่งยืน ด้วยการเชื่อมโยงวัตถุประสงค์ทางธุรกิจให้เข้ากับวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนได้ภายใต้แผนที่กลยุทธ์หนึ่งเดียว
ทั้งนี้ การจัดทำแผนที่กลยุทธ์ยังช่วยให้กิจการเห็นภาพรวมของปัจจัยด้าน ESG ที่นำไปสู่ความยั่งยืน และเห็นการปรับแนวการดำเนินงานและจุดเน้นขององค์กรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างเป็นเอกภาพ
สำหรับกิจการที่สนใจจัดทำแผนที่กลยุทธ์องค์กรหนึ่งเดียว สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการร่วมกับภาคธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง ได้ทำการเผยแพร่รายละเอียดไว้ที่เว็บไซต์ https://www.thaiesg.com/2025/02/single-strategy.html
บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์