xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการลดหย่อนภาษีโซลาร์รูฟท็อป ยังไปได้ไกลกว่านี้ /ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ผู้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) สำหรับครัวเรือน สามารถนำค่าติดตั้งไปรับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้สูงสุด 200,000 บาท นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนระดับครัวเรือนของไทย 

มาตรการนี้มีความเหมาะสมในแง่ของการลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน อีกทั้งยังสนับสนุนเป้าหมายของประเทศในด้านความมั่นคงทางพลังงานและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวยังคงมีขอบเขตที่จำกัด และอาจไม่เพียงพอในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (energy transition) อย่างมีประสิทธิภาพในระดับครัวเรือน หากไม่มีนโยบายเสริมที่ออกแบบให้สอดคล้องกับข้อจำกัดเชิงโครงสร้างระบบไฟฟ้า พฤติกรรมผู้บริโภค และกลไกการสนับสนุนทางการเงิน

มาตรการที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อยกระดับประสิทธิภาพ

การขยายผลจากมาตรการลดหย่อนภาษีควรครอบคลุมใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่

1.เพิ่มโควตารับซื้อไฟฟ้าจากภาคประชาชน
โครงการรับซื้อไฟฟ้าในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดด้านโควตา โดยตั้งไว้เพียง 90 เมกะวัตต์ตลอดช่วงปี 2564–2573 และอัตรารับซื้อที่ 2.20 บาทต่อหน่วย แม้ประชาชนจะสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ แต่หากมีไฟฟ้าส่วนเกิน ก็ยังไม่มีความแน่นอนด้านนโยบายรับซื้อ การเพิ่มโควตารับซื้อพร้อมพิจารณาอัตราที่สะท้อนต้นทุนและผลตอบแทนอย่างเหมาะสม จะช่วยสร้างแรงจูงใจและความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุนในระดับครัวเรือน

2.สนับสนุนการซื้อขายพลังงานระหว่างครัวเรือน (Peer-to-Peer Trading)
เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถรองรับการซื้อขายพลังงานระหว่างบ้านเรือน แต่ยังขาดกรอบกฎหมายและกลไกตลาดที่เอื้อต่อการดำเนินการ หากมีการทดลองระบบซื้อขายในระดับชุมชนอัจฉริยะ จะช่วยปลดล็อกนวัตกรรมและกระจายประโยชน์ของพลังงานสะอาดได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

3.จัดหาแหล่งทุนเพิ่มเติมสำหรับครัวเรือนฐานราก
มาตรการภาษีมีข้อจำกัดในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีฐานภาษี รัฐควรออกแบบกลไกทางการเงินเพิ่มเติม เช่น กองทุนดอกเบี้ยต่ำ หรือโมเดลธุรกิจที่ช่วยให้สามารถผ่อนชำระได้ในระยะยาว เพื่อให้กลุ่มฐานรากสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดอย่างเป็นธรรม

4.เร่งพัฒนากลไกค่าบำรุงระบบ (Back-up Tariff) ให้มีความเป็นธรรม
เมื่อมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ต้นทุนคงที่ของระบบโครงข่ายถูกเฉลี่ยไปยังผู้ใช้ไฟรายอื่นมากขึ้น หากไม่มีการออกแบบค่าบำรุงระบบที่สะท้อนต้นทุนจริงและเป็นธรรม จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและต่อต้านจากผู้บริโภค การกำหนดค่าบำรุงระบบจึงควรอยู่บนฐานข้อมูลต้นทุนที่โปร่งใส พร้อมเปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย

ระดับความยาก–ง่ายในการดำเนินมาตรการ: ความพร้อมเชิงนโยบายและข้อจำกัดเชิงปฏิบัติ
การผลักดันมาตรการสนับสนุนการติดตั้ง Solar Rooftop ให้เกิดผลในระดับครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องพิจารณาทั้งลำดับความสำคัญและระดับความยาก–ง่ายของการดำเนินนโยบายแต่ละด้านอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทยที่มีข้อจำกัดด้านโครงสร้างตลาดไฟฟ้า ระบบกฎหมาย และความสามารถในการเข้าถึงของประชาชนทั่วไป


ลำดับความสำคัญในการดำเนินมาตรการ

จากการวิเคราะห์ข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง ระบบไฟฟ้า และหลักความเป็นธรรมในระบบพลังงาน มาตรการที่ควรเริ่มดำเนินการก่อน คือ การพัฒนากลไกค่าบำรุงระบบ (Back-up Tariff) เนื่องจากเมื่อมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองเพิ่มขึ้น ปริมาณการใช้ไฟฟ้าผ่านระบบโครงข่ายจะลดลง ขณะที่ต้นทุนคงที่ของระบบ เช่น ค่าโครงข่าย และค่าบำรุงรักษายังคงอยู่ ซึ่งหากไม่มีกลไก Back-up Tariff ที่สะท้อนต้นทุนจริง ผู้ใช้ไฟรายอื่น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าเองได้ จะต้องรับภาระต้นทุนมากขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม และอาจนำไปสู่แรงต้านทางสังคมต่อการขยายตัวของพลังงานสะอาดในอนาคต

การดำเนินการเรื่อง Back-up Tariff จึงไม่ใช่เรื่องทางเทคนิคเท่านั้น แต่เป็น “กลไกเชิงโครงสร้าง” ที่จำเป็นเพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีเสถียรภาพทางการเงินและเกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟทุกกลุ่ม

ถัดมา คือ การเพิ่มโควตารับซื้อไฟฟ้าจากภาคประชาชน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีภายใต้กรอบนโยบายเดิม และตอบสนองต่อผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีศักยภาพโดยตรง สำหรับมาตรการในลำดับถัดไปหลังจากการเพิ่มโควตารับซื้อไฟฟ้าจากภาคประชาชน ควรให้ความสำคัญกับ การจัดหาแหล่งทุนสนับสนุนสำหรับกลุ่มครัวเรือนฐานราก เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายนี้ไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนภาษีได้โดยตรง เนื่องจากไม่มีฐานภาษีหรือมีรายได้ต่ำกว่าระดับที่ต้องเสียภาษี กลไกการสนับสนุนทางการเงิน เช่น กองทุนดอกเบี้ยต่ำ โมเดลการเช่าระบบ (leasing) หรือการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน จึงมีความจำเป็นเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเปราะบางทางพลังงานสามารถเข้าถึงระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างเป็นธรรม การดำเนินมาตรการในลักษณะนี้ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านพลังงาน และเป็นรากฐานของการสร้างความเท่าเทียมในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานสะอาดของประเทศ

ต่อจากนั้นจึงควรดำเนิน การส่งเสริมการซื้อขายพลังงานระหว่างครัวเรือน (Peer-to-Peer Trading) ซึ่งแม้จะเป็นแนวทางที่มีศักยภาพในการปลดล็อกนวัตกรรมและสร้างระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์ แต่ยังมีความท้าทายสูงในเชิงกฎหมายและโครงสร้างตลาด ทั้งในด้านการกำกับดูแล การจัดสรรบทบาทระหว่างผู้ผลิต–ผู้ใช้ และการบริหารธุรกรรมไฟฟ้าในระดับจุลภาค ดังนั้นจึงควรเริ่มต้นจากการออกแบบ sandbox หรือโครงการนำร่องในระดับชุมชน เพื่อประเมินผลกระทบทางเทคนิค เศรษฐศาสตร์ และสังคม ก่อนการขยายผลในระดับประเทศ


สถานะของประเทศไทยในปัจจุบัน: ยังอยู่ในระดับเริ่มต้น แต่มีทิศทางขยายตัวที่ชัดเจน

การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ในประเทศไทยเริ่มมีพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา โดยภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากครัวเรือนที่ติดตั้งระบบขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์พีก (kWp) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินคืนเข้าสู่ระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้ ระหว่างปี 2562–2565 มีจำนวนผู้ติดตั้งรวม 5,609 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 30.8 เมกะวัตต์ (Krungsri Research, 2025)

ในช่วงปี 2564–2573 รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากภาคครัวเรือนเพิ่มเติมไม่เกินปีละ 90 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจาก 1.68 บาท เป็น 2.20 บาทต่อหน่วย ภายใต้สัญญาระยะเวลา 10 ปี ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจติดตั้ง Solar Rooftop มากขึ้น โดยเฉพาะในปี 2564–2565 ที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากปี 2563 สะท้อนถึงการตอบรับที่ดีภายใต้นโยบายจูงใจด้านราคา (Krungsri Research, 2025)

ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ระบุว่า โครงการ Solar Rooftop ที่มีพันธะสัญญาขายไฟกับภาครัฐมีจำนวน 6,149 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 131 เมกะวัตต์ ในขณะที่โครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองภายในบ้านหรือขายตรงให้กับลูกค้า มีจำนวนถึง 18,717 ราย รวมกำลังการผลิตติดตั้งกว่า 2,050 เมกะวัตต์ แสดงให้เห็นว่าแม้ระบบเชื่อมโยงกับภาครัฐยังขยายตัวจำกัด แต่ภาคเอกชนและภาคธุรกิจมีบทบาทสูงขึ้นในการผลักดันระบบผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ (distributed generation) (Krungsri Research, 2025)

แม้ภาพรวมของ Solar Rooftop ในระดับครัวเรือนยังถือว่าอยู่ในช่วงตั้งต้น แต่โครงสร้างนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุน เช่น การตั้งเป้าโควตาที่ชัดเจน และการขยายกลไกการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer to Peer ล้วนเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ประเทศไทยสามารถยกระดับพลังงานแสงอาทิตย์จากระดับครัวเรือนไปสู่ระบบไฟฟ้าที่สะอาด กระจายศูนย์ และยั่งยืนในระยะยาวได้ หากมีการผลักดันอย่างเป็นระบบ


บทสรุป
มาตรการภาษีสำหรับ Solar Rooftop ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกของนโยบายพลังงานสะอาดระดับครัวเรือน แต่จะเกิดผลอย่างเต็มประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีการจัดการที่ครอบคลุมทั้งด้านเทคนิค เศรษฐกิจ และโครงสร้างตลาดไฟฟ้า การขับเคลื่อนนโยบายต่อยอดใน 4 ด้านข้างต้นจะช่วยให้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในภาคครัวเรือนไทยไม่เพียงเป็นมาตรการลดภาระ แต่ยังเป็น “เครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานไปสู่ความนั่งยินที่แท้จริง”

บทความโดย ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์
นักวิชาการนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย



กำลังโหลดความคิดเห็น