xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านไมโครไบโอมทางการแพทย์และเทคโนโลยีจุลินทรีย์เพื่อสุขภาพหนึ่งเดียว (MMOH)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดตัวศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านไมโครไบโอมทางการแพทย์และเทคโนโลยีจุลินทรีย์เพื่อสุขภาพหนึ่งเดียว (MMOH) “ศูนย์กลางกำลังคนทักษะสูงแห่งแรกของไทยในด้านไมโครไบโอมและสุขภาพหนึ่งเดียว – ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตแห่งอนาคต”

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันฟีโนมแห่งชาติ และเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำ และภาคอุตสาหกรรมจากทั่วประเทศ ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านไมโครไบโอมทางการแพทย์และเทคโนโลยีจุลินทรีย์เพื่อสุขภาพหนึ่งเดียว (Hub of Talents in Microbiome Medicine and Microbial Technology for One Health: MMOH)” ณ ห้อง กมลมาศ ชั้น 6 โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

โดยศูนย์ MMOH ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก วช. จำนวน 2 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งศูนย์กลางกำลังคนทักษะสูงที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไมโครไบโอมและเทคโนโลยีจุลินทรีย์ เพื่อตอบโจทย์นโยบายสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) และการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) อย่างแท้จริง

หลักการและความจำเป็นในการจัดตั้งศูนย์ MMOH ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากปัญหาสุขภาพเรื้อรัง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) การดื้อยาปฏิชีวนะ และภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อมถอยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าทางไมโครไบโอมได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของการแพทย์ยุคใหม่ที่สามารถอธิบายความหลากหลายระหว่างบุคคล และนำไปสู่แนวทางการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล การจัดตั้งศูนย์ MMOH จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้าง “ฮับ” ทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถสูง ความรู้ และเทคโนโลยี โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจาก 4 สาขาหลัก ประกอบด้วย 1) วิทยาศาสตร์สุขภาพและการแพทย์ 2) อาหารและยา 3)เทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ และ 4) เกษตรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมทั้งแนวรุกเชิงสุขภาพ การพัฒนาอุตสาหกรรมโภชนาการเฉพาะบุคคล รวมถึงการวิจัยเพื่อการป้องกันโรคและการใช้จุลินทรีย์เชิงประโยชน์ในระบบนิเวศของมนุษย์ สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม


พันธกิจของศูนย์ MMOH

1. พัฒนากำลังคนทักษะสูงให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน microbiome-based medicinal products (MMPs) และ microbial biotechnology

2. ผลักดันงานวิจัยและผลิตภัณฑ์สู่คลินิกอย่างรวดเร็ว ด้วยความร่วมมือระหว่างแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และภาคอุตสาหกรรม

3. พัฒนานโยบายและระบบมาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์ไมโครไบโอมในประเทศไทย

4. เพิ่มการมองเห็นของงานวิจัยไมโครไบโอมของนักวิจัยไทยสู่ระดับนานาชาติ

5. สร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและสถาบันพันธมิตรจากนานาประเทศ เช่น Murdoch University ประเทศออสเตรเลีย Imperial College London สหราชอาณาจักรฯ Zhejiang University และ Fudan University ประเทศจีน เป็นต้น

รศ.พญ.สุชาอร แสงนิพันธ์กูล หัวหน้าศูนย์ MMOH กล่าวว่า “MMOH คือโครงสร้างพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงองค์ความรู้ วิจัย และเทคโนโลยี เพื่อสร้างระบบสุขภาพที่ทันสมัยและแม่นยำให้กับประเทศไทยและอาเซียน”

คุณศิรินทร์พร เดียวตระกูล รองผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า “ประเทศไทยจำเป็นต้องมีศูนย์กลางวิชาการที่สามารถตอบโจทย์ BCG Economy Model และขับเคลื่อนสู่การแพทย์และเศรษฐกิจชีวภาพอย่างยั่งยืน”

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นและสถาบันฟีโนมแห่งชาติพร้อมสนับสนุนให้ MMOH เป็นพื้นที่บ่มเพาะบุคลากรรุ่นใหม่ และต่อยอดการวิจัยเชิงลึกไปสู่ภาคอุตสาหกรรม” -

คุณนิจพร จงอุดมฤกษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มด กัต จำกัด กล่าวว่า “ภาคเอกชนต้องการศูนย์กลางแบบ MMOH มาช่วยเชื่อมโยงผลวิจัยสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์สุขภาพแบบ Personalisation อย่างจริงจัง”

ผศ.ดร.จุฑารพ เพชระบูรณิน รองหัวหน้าศูนย์ฯ และ ผอ.สถาบันฟีโนมแห่งชาติ กล่าวว่า "ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้นำด้าน Microbiome Medicine และการใช้เทคโนโลยีจุลินทรีย์เพื่อสุขภาพอย่างยั่งยืน และ MMOH จะเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตคนไทยและประชาคมโลก"













กำลังโหลดความคิดเห็น