xs
xsm
sm
md
lg

"ท่านมุ้ย" นำทีม ดันหนังมีสิทธิเหมือนสื่อฯ ประเภทอื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ท่านมุ้ย" นำทีมคนวงการหนัง ยื่นหนังสือดันภาพยนตร์บรรจุรัฐธรรมนูญใหม่ ม.39 เหมือนสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุ - โทรทัศน์ เผยเป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัดว่าอะไรคือความเหมาะสมไม่เหมาะสม ด้าน "ปรัชญา" แจงแค่ขอสิทธิเสรีภาพและพร้อมหาองค์กรมาดูแลควบคุม

ยังคงคาราคาซังไม่รู้จบระหว่างสิทธิและอิสระของคนทำหนังที่มักจะมีปัญหาเพราะสวนแนวทางกับการทำงานของกองเซ็นเซอร์อยู่เป็นประจำ ล่าสุดในช่วงบ่ายที่ผ่านมาบรรดาคนในแวดวงภาพยนตร์ทั้งหลายนำทีมโดยหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ก็ได้ฤกษ์มุ่งตรงถึงทำเนียบรัฐบาล ส่งคำแถลงการณ์ให้กับ น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ อนุกรรมมาธิการยกร่างกรอบที่ 1 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพการมีส่วนร่วมของประชาชน และการกระจายอำนาจ โดยหวังให้ภาพยนตร์ไทยได้รับการบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ในมาตรา 39 เช่นเดียวกับสื่อทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์

ทั้งนี้ท่านมุ้ยได้เผยถึงการเข้ายื่นเรื่องในครั้งนี้ว่า..."วันนี้เรามายื่นหนังสือในมาตรา 39 มีผลการคุ้มครองในเสรีภาพของการแสดงออกที่เราโดนปิดกั้นมาเป็นเวลานานแล้ว ตอนนี้ภาพยนตร์อายุครบ 100 ปี นานมากกว่าทีวี หนังสือพิมพ์เสียอีก และตลอดเวลาที่ผ่านมาเราก็โดนกดขี่ข่มเหง ไม่มีสิทธิเสรีภาพมาโดยตลอด ทำได้ไม่ได้เต็มที่กับในระยะที่ผ่านมาที่มีการสร้างภาพยนตร์ การที่เรามายื่นมาตรา 39 เพื่อที่จะให้เรามีสิทธิเสรีภาพมากขึ้นเท่านั้น เพราะว่าจะมีพรบ.รองรับ"

พร้อมเผยถึงกรณีที่กองเซ็นเซอร์สั่งตัดหนัง "แสงศตวรรษ" ของ "เจ้ย อภิชาติพงศ์" ว่าเป็นประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ และยอมรับว่าในการทำงานภาพยนตร์บ้านเรานั้นยังมีการปิดกั้นเกินไป

"ส่วนของคุณเจ้ยการที่กองเซ็นเซอร์ตัดออกไปบางฉากนั้น มันก็เหมือนเราถูกปิดกั้นนั่นแหละ แต่ผมก็ไม่อยากวิจารณ์อะไรมากนัก แต่ถ้าถามความรู้สึกแล้วมันก็จะรู้สึกคล้ายๆ กัน ที่ได้ฟังมาก็คือว่ามันมีอยู่แค่ 3 - 4 ประเด็นเอง คือประเด็นของพระเล่นกีต้าร์ คุณหมอรับประทานสุรา คุณหมออวัยวะเพศแข็ง ซึ่งเขาก็จะให้ตัดออก แต่คุณเจ้ยนั้นไม่ยอมก็เลยถอนตัวดีกว่า เรื่องคุณเจ้ยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ออกมาครั้งนี้ แต่มันไม่ใช่ทุกส่วน"

ถ้าเกิดเรามีเสรีภาพมากไป จะทำให้เห็นภาพหรือบทที่ไม่เหมาะในหนังหรือเปล่า?
"อะไรคือฉากที่ไม่เหมาะในหนัง บรรทัดฐานอยู่ตรงไหน อะไรที่เรียกว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ผมเคยพูดไว้ตลอดเวลาว่าการเซ็นเซอร์หนังไทยจริงๆ แล้วมันค่อนข้างมีน้อยกว่าภาพยนตร์ต่างประเทศ แต่ก็ยังมีการจำกัดอยู่หลายประเด็น อย่างถ้าผมจะมาทำหนังเรื่องธุดงค์ เกี่ยวกับพระที่ออกมาจากป่า พร้อมกับผู้หญิงที่ท้องแล้วก็มีการวิจารณ์กันไปว่าพระไปนอนกับผู้หญิงเลยท้อง แต่จริงๆแล้ว มันก็มีหลายแง่ที่เราอยากอธิบาย"

"แต่เราก็ทำไม่ได้เพราะกองเซ็นเซอร์โยนกรอบไปให้ที่เถระสมาคม ซึ่งเขาก็คิดว่ามันไม่ดี แต่จริงๆ แล้วเราก็ไม่เคยพูดหรอกว่าพระรูปนี้เคยนอนกับผู้หญิงหรือเปล่า เราก็เพียงยกตัวอย่างว่าพระพุทธเจ้าเองท่านก็เคยมีประสบการณ์แบบนี้กับนางสุชาดา แต่ผมก็ไม่รู้หรอกว่าทำไมเขาถึงท้อง เห็นหรือเปล่าล่ะว่านี่แหละคือข้อจำกัด ซึ่งเราไม่สามารถจะทำได้"

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการบรรจุภาพยนตร์เข้าสู่รัฐธรรมนูญใหม่แล้วก็ตาม แต่เรื่องที่จะให้ระบบเซ็นเซอร์หมดไปนั้นคงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน..."เป็นไปไม่ได้หรอก เพราะทุกประเทศก็มีการเซ็นเซอร์กันทั้งนั้นแหละ ขนาดหนังของผมเองไปฉายที่ประเทศอื่นยังโดนเลย บางที่ขนาดฉากที่ไม่ผิดอะไรก็ยังโดนเซ็นเซอร์ คือมันแล้วแต่บางประเทศ บางประเทศก็มองมุมนี้ มันไม่เหมือนกันในเรื่องของการเซ็นเซอร์ อย่างบางประเทศก็ห้ามฉากเลิฟซีน การไม่ให้คนเห็นเลือด แต่บางทีเราก็รู้สึกว่าเรายอมไม่ได้"

ขณะที่ "ปรัชญา ปิ่นแก้ว" นายกสมาคมผู้กำกับฯ ได้เผยถึงเรื่องนี้ว่า
"ทุกวันนี้สื่อมวลชนทำงานกันอย่างสบาย ไม่ถูกตีกรอบไม่ถูกปิดกั้น แต่จริงๆ แล้วไม่มีใครรู้หรอกว่าคนที่ทำภาพยนตร์นั้นจะถูกปิดกั้นมาตลอด ในแง่ที่ว่าเขากลัวว่าภาพยนตร์จะทำให้เกิดผลร้ายกับประชาชน ต่อสังคมซึ่งจริงๆ แล้วผมคิดว่าเขาไม่ไว้วางใจดุลยพินิจในการรับผิดชอบของคนภาพยนตร์เลย ซึ่งผมคิดว่า จริงๆ แล้วมันก็ไม่แตกต่างจากการทำงานของสื่อมวลชนทั่วไป เพราะสื่อมวลชนทั่วไปก็จะมีการดูแลตัวเองและรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้วที่จะนำเสนออะไรออกไป"

"เราทำภาพยนตร์เราก็มีการคิดอย่างนั้นเหมือนกัน เพียงแต่ว่าครั้งนี้เรามาขอพูดในเรื่องของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สูงสุดของประเทศ และหลักการที่ว่าด้วยเรื่องของภาพยนตร์ในมาตรา 39 ซึ่งระบุชัดเจนเลยว่ามีหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อที่รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ที่จะไปควบคุม สิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่รวมถึงภาพยนตร์แม้แต่นิดเดียว ตรงนี้จึงเป็นที่มา"

"วันนี้จึงเป็นที่มาของการรวมตัวกันในวันนี้ของทุกๆ คน ซึ่งการตื่นตัวในครั้งนี้บอกได้เลยว่าเราเหนื่อยกันทุกคนนะ เราสู้กันจนหมดแรงแล้ว นักวิชาการต่างหากที่เป็นผู้เดือดร้อนในเรื่องแบบนี้ เราไม่ได้นัดกันเลยนะ แต่ละคนก็สอนในเรื่องของการสื่อสารแต่พอมาถึงเรื่องภาพยนตร์ไม่มีบรรจุถึงเรื่องภาพยนตร์เลย"

"จริงๆ แล้วผมจะบอกว่าสื่อทุกสื่อในประเทศไม่ว่าจะวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ท่านมีความอิสระกันหมดแล้ว ผมอยากให้ช่วยเราหน่อย เพราะเราก็เป็นสื่อมวลชนเหมือนกัน แต่ถ้าถามว่าเราจะมีการเซ็นเซอร์อย่างไร หรือจะมีการจัดการเรื่องนี้อย่างไร ผมก็ว่ามันไม่น่าจะต่างกับการทำงานของสื่อมวลชนอย่างพวกคุณนั่นแหละ เพราะต่างคนก็ต่างก็ต้องมีวิธีการดูแล เพื่อให้การทำงานแต่ละชิ้นแต่ละอย่าง ออกมาสู่สายตาประชาชนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม"
..........
คำแถลงการณ์

ภาพยนตร์เป็นสื่อสารมวลชน เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จึงควรระบุภาพยนตร์ในรัฐธรรมนูญได้หรือยัง? ภาพยนตร์เป็นสื่อสารมวลชนที่ทรงอิทธิพล สามารถถ่ายทอดแนวความคิดและวิถีชีวิต ความเป็นไปของคนในชาติได้หลายมิติ เป็นสื่อที่สามารถสร้างการรับรู้ เปลี่ยนทัศนคติ นำไปสู่พฤติกรรมที่พึงประสงค์ และสามารถสร้างผลกระทบในวงกว้าง สมควรที่รัฐและสังคมให้ความสำคัญ นำภาพยนตร์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยสร้างกลไกที่เหมาะสม กำหนดนโยบายการส่งเสริม กำกับดูแลและควบคุมสื่อภาพยนตร์เพื่อไม่ให้ภาพยนตร์เป็นสื่อมวลชนที่สร้างความเข้มแข็ง ทั้งทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นมรดกของชาติ และสร้างเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศได้ เฉกเช่นประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และล่าสุดคือกับประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งต่างก็ใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมและนำไปสู่ความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจในที่สุด

บัดนี้ในนามของนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และนักวิชาชีพเห็นควรที่จะร่วมผลักดันให้ระบุภาพยนตร์ซึ่งเป็นสื่อสารมวลชนที่สำคัญสาขาหนึ่งไว้ในรัฐธรรมนูญ

ลงชื่อ
นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน
สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ
สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย
18 เมษายน 2550
กำลังโหลดความคิดเห็น