xs
xsm
sm
md
lg

บวงสรวงเทพยดาครูอาจารย์ การจัดแสดงโขน ตอน "สัตยาพาลี"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บวงสรวงเทพยดาครูอาจารย์การจัดแสดงโขน ตอน สัตยาพาลี

​ ​เมื่อเวลา08.45น.วันเสาร์ที่19กรกฎาคม2568ณ อาคารเรียนรู้เรื่องโขน ตำบลเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พันโท สมชาย กาญจนมณี รองเลขาธิการพระราชวังและรองประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นประธานในพิธีบวงสรวงเทพยดา ครูอาจารย์ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อบอกกล่าวขออนุญาตเทพยดาครูอาจารย์ให้ช่วยเปิดทาง ปกป้องคุ้มครองและอำนวยพรให้การจัดสร้างฉากโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอนสัตยาพาลี เป็นไปอย่างราบรื่นอย่างสมบูรณ์แบบ จากนั้นเวลา10.00น.เริ่มพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อคณะดำเนินงาน นักแสดงและผู้เข้าร่วมพิธีด้วย

ในปี2568นี้ นับเป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทยอีกวาระหนึ่ง เนื่องในวันที่28กรกฎาคม2568พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา73พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา93พรรษา วันที่12สิงหาคม2568มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงร่วมเฉลิมฉลองโอกาสมหามงคลนี้ ด้วยการจัดการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน“สัตยาพาลี”ขึ้น ในระหว่างวันที่6พฤศจิกายน– 8ธันวาคม2568ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย“สัตยาพาลี”เป็นเรื่องราวของพญาพาลีกษัตริย์วานรเมืองขีดขิน ที่เสียสัจจะเพราะความหลงผิด แต่ภายหลังมีความสำนึกผิดในสัจจะ ผลของการเสียสัตย์ของพาลีนำพาเข้าสู่เรื่องราวมากมาย ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ความพิเศษของฉากจะยิ่งใหญ่อลังการขนาดไหนนั้น ติดตามรับชมได้ในการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน“สัตยาพาลี"เริ่มเปิดจำหน่ายบัตรวันที่12สิงหาคม2568เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์

สำหรับอาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน เป็นแหล่งรวมเรื่องราวของโขน นาฏกรรมชั้นสูงของไทย ที่ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก ภายในจัดแสดงอย่างครอบคลุมตั้งแต่ ประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ไปจนถึงขั้นตอนการจัดสร้างเครื่อง แต่งกายและหัวโขน ที่สะท้อนความประณีตของช่างฝีมือไทย นอกจากนี้ยังมีจุดไฮไลท์สำคัญของนิทรรศการแสดงโขน ฉากจำลองการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่ถูกจัดแสดงขึ้นอย่างงดงามและสมจริง ซึ่งเป็นฉากสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นฉากท้องพระโรงกรุงลงกา สำหรับฉากที่จะเห็นได้ชัด ของท้องพระโรงกรุงลงกา คือ ตอนพิเภกสวามิภักดิ์ เป็นต้น ฉากต่อมาคือฉากหนุมานอมพลับพลา ซึ่งอยู่ในตอนศึกมัยราพณ์ และฉากหนุมานเนรมิตกาย ตอนสืบมรรคา ทำให้ผู้เข้าชมสามารถจินตนาการถึงความยิ่งใหญ่และความสง่างามของการแสดงโขนที่จัดขึ้นในวาระพิเศษต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ศิลปะโขน ให้กลับมารุ่งเรืองและเป็นมรดกอันล้ำค่าให้ยังคงอยู่สืบไป อาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมโดยมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำบรรยายและพาเที่ยวชมตามจุดต่างๆ ในระหว่างวันพุธ–วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา09.30น.- 16.00น.โทร. 035-352-991

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้จัดการแสดงโขนเพื่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ชื่นชมความงดงามของศิลปะดั้งเดิมของไทยหลากหลายแขนงในการแสดงโขน โดยสิ่งที่เป็นขวัญกำลังใจในการดำเนินงานคือพระราชดำรัสเกี่ยวกับการอนุรักษ์ศิลปะแขนงนี้ว่า“ขาดทุนของฉันคือกำไรของแผ่นดิน”นับเป็นความโชคดีของคนไทยและประเทศไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงส่งเสริมและสนับสนุนการแสดงโขนอย่างเอาพระทัยใส่ทุกมิติ เป็นการธำรงนาฏศิลป์ อันทรงคุณค่าของชาติให้สืบทอดอยู่อีกนานเท่านาน

ความพิเศษของโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้รวบรวมองค์ความรู้จากครูผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา ทั้งโขน ละคร ดนตรี คีตศิลป์ ร่วมกันทำงานด้วยความวิริยะอุตสาหะ ทุกขั้นตอนทำด้วยความประณีต การแสดงจึงออกมางดงาม โดยนักแสดงที่ผ่านการคัดเลือกและได้ฝึกฝนจนเกิดความชำนาญจากครูผู้เชี่ยวชาญ เป็นการส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสฝึกฝีมือและได้มีโอกาสแสดงความสามารถตามที่ถนัด อีกทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนเป็นผู้ร่วมรักษาและสืบสานศิลปะการแสดงโขน สมดังพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงสืบไป

สำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน สัตยาพาลี มีกำหนดเปิดการแสดงในระหว่างวันที่6พฤศจิกายน- 8ธันวาคม2568ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เริ่มเปิดจำหน่ายบัตรวันที่12สิงหาคม2568เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางFacebook : Khon Performanceโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ








































กำลังโหลดความคิดเห็น