xs
xsm
sm
md
lg

ร่างปฏิญญาอาเซียนสะดุด สนช.ขอตั้งกมธ.ศึกษาก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร่าง ปฏิญญาอาเซียนสะดุด สนช.ตั้งกมธ.ศึกษาก่อนอนุมัติฯ หลังข้องใจรัฐบาลขออนุมัติกรอบการเจรจา หรือ ขออำนาจการทำสนธิสัญญา ด้าน"เกริกไกร"อ้ำอึ้งโบ้ยให้ข้าราชการตอบ สภาหวั่นผลผูกพันตัวเองลากยาว10 ปี พร้อมกับให้ความเห็นชอบร่างกฎบัตรอาเซียน

วานนี้ (7พ.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานโดยที่ประชุมได้พิจารณาร่างกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติตะวันออกเฉียงใต้ (กฎบัตรอาเซียน) ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยนายนิตย์ พิบูลย์สงคราม รมว.ต่างประเทศ รายงานว่า กฎบัตรอาเซียนประกอบด้วย 13 บท 55 ข้อ ครอบคลุมเรื่องสมาชิกภาพ โครงสร้างองค์กร เอกสิทธิ์ และความสัมพันธ์ การตัดสินใจ การระงับข้อพิพาท และความสัมพันธ์กับประเทศนอกอาเซียน

ทั้งนี้รัฐบาลไทยวางกรอบ และเป้าหมายที่ต้องการผลักดันไว้ 3 เรื่อง ได้แก่ การส่งเสริมให้รัฐสมาชิกปฏิบัติตามกติกามากขึ้น การมีส่วนร่วมของประชาชน และการทำให้อาเซียนมีประโยชน์ต่อประชาชน รวมถึงการสร้างกลไกที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการเพิ่มความยืดหยุ่นการตัดสินใจของอาเซียน ซึ่งทั้งหมดได้ถูกบรรจุไว้ในกฎบัตรนี้ และประเทศสมาชิกจะเสนอกฎบัตรดังกล่าวในการประชุมสุดยอดของอาเซียนครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 19 -22 พ.ย.นี้ ที่ประเทศสิงคโปร์ ครม.จึงขอเสนอเรื่องดังกล่าวต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ซึ่งหากร่างกฎบัตรอาเซียนผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ประเทศใดไม่ปฏิบัติตามร่างฯ เลขาธิการอาเซียนมีสิทธิที่จะยกเรื่องต่อที่ประชุมอาเวียนเพื่อให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับประเทศนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกหลายคนอภิปรายสนับสนุนไม่ว่า นายสมเกียรติ อ่อนวิมล นายโคทม อารียา โดยนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ สนช.ว่าที่เลขาธิการอาเซียน อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยที่จะให้สนช.ให้ความเห็นชอบ แต่มีข้อสังเกตคือ เลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบันมีความกังวล ในกระบวนการให้ความเห็นชอบใน 2 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 2 ประเทศ ที่จะต้องเสนอร่างกฎบัตรอาเซียนต่อรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งอาจทำให้ร่างกฎบัตรอาเซียนล่าช้า

ประการที่ 2 มาตรา 190 จะมีความรัดกุม ลึกซึ้ง กว้างขวางแค่ไหน เพราะอาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติที่คณะบุคคลที่รับผิดชอบไปร่วมเจราเรื่องต่างๆ กับอาเซียนที่จะต้องระมัดระวังสิ่งใดทำได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายการกำหนดขั้นตอนว่าด้วยการกำหนดสัญญา ดังนั้นควรจะรีบออกฎหมายดังกล่าว เพื่อวางกรอบการทำงานให้กับคณะบุคคลที่จะไปดำเนินการตามกฎบัตรอาเซียน นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นผู้ก่อตั้งอาเซียนขึ้นที่ลดความหวาดระแวงในภูมิภาคนี้

ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สนช. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 190 ระบุว่า หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือจะต้องออก พ.ร.บ.เพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคม ฯ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และต้องพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว ซึ่งทางรัฐบาลได้ส่งร่างกฎบัตรอาเซียน และร่างปฏิญญาว่าด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มาให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ แม้ว่าตนจะเห็นด้วยแต่ต้องการให้สร้างมาตราฐานการพิจารณาหนังสือสัญญาใดๆ ที่ต้องผ่านรัฐสภาควรจะมีการศึกษาให้ละเอียดรอบคอบและยกระดับการพิจารณาหนัง สือสัญญาให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกับนานาประเทศ ไม่ใช่เสนอมาวันนี้แล้วมีสมาชิก 2-3 คน อภิปรายเห็นด้วยและก็ให้ความเห็นชอบ เพราะหนังสือสัญญาเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลผูกพันไปทุกรัฐบาล จึงขอเสนอให้คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สนช.รับไปศึกษา 1 สัปดาห์ จากนั้นวันที่ 14 พ.ย. เสนอให้สนช.ให้ความเห็นชอบ ซึ่งก่อนวันรมต.ลงนาม 5 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุจิต บุญบงการ รองประธานการต่างประเทศ สนช. กล่าวว่า กรรมาธิการฯไม่ขัดข้องที่จะรับไปศึกษา แต่ที่ผ่านมาทางกระทรวงการต่างประเทศ ได้มาชี้แจงรายละเอียดของร่างกฎบัตรอาเซียนหลายครั้ง แต่ในส่วนของร่างปฏิญญาฯ ได้พิจารณาเพียง 1 ครั้งเท่านั้น ซึ่งในที่สุดที่ประชุมได้ลงมติ 107 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาร่าง ปฏิญญา ว่าด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดย นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ ได้ชี้แจงว่า ร่างปฏิญญามีสาระสำคัญ คือ สร้างอาเซียนให้เป็นตลาดฐานการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับภูมิภาคต่างได้ เช่น สหรัฐ ยุโรป สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ สร้างความเสมอภาคในการพัฒนาและความเป็นอยู่ให้ทัดเทียม ให้ภูมิภาคอาเซียนก้าวทันยุคโลกาภิวัฒน์และภาวะเศรษฐกิจโลก

ผู้สื่อข่าวรายงาน สมาชิกได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางโดยส่วนใหญ่อภิปรายเห็นด้วย ทั้งนี้ นายมีชัย ได้สอบถามว่า การเสนอร่างปฏิญญาฯให้ที่ประชุม สนช.ให้ความเห็นชอบ เป็นขั้นตอนการอนุมัติกรอบแผนงานเพื่อไปเจรจาหรืออนุมัติมาขอทำสนธิสัญญา นายเกริกไกร ชี้แจงว่า ไม่แน่ใจอยู่ขั้นตอนใดระหว่างการขออนุมัติในขั้นตอนที่ 3 เพราะหากให้มองขณะนี้ได้ดำเนินการเลยขั้นตอนที่ 1 มาแล้วคือ การอนุมัติกรอบที่จะไปให้เจรจา

ทั้งนี้ อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศได้ชี้แจงแทน ว่า ได้หารือกับฝ่ายกฎหมายว่า กรอบการเจราได้จัดทำเสร็จไปก่อนที่รัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งตามมาตรา 190 วรรค 3กำหนดให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจา โดยฝ่ายกฎหมายได้เสนอแนะให้เดินหน้าต่อไป

อย่างไรก็ตามที่ประชุมมีความเห็นที่แตกต่างกัน ทำให้นายมีชัย หารือควรตั้งกรรมาธิการวิสามัญไปศึกษาว่าเป็นการขออนุมัติทำแผนกรอบการเจราหรือการทำสนธิสัญญา เพราะเรื่องดังกล่าวมีผลผูกพันและเมื่อเจรากลับมาแล้วจะต้องเสนอกลับมาให้รัฐสภาอีกครั้งหรือไม่ รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการต่อว่ากันภายหลัง และเพื่อวางบรรทัดฐานให้รัฐสภาชุดใหม่ ในที่สุดที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่าง ปฏิญญาว่าด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจำนวน 21 คน โดยให้คำนึงถึงระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีจะต้องไปลงนามในวันที่ 19-22 พ.ย.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น