xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-พม่าไฟเขียวแนวถนนเมียวดี-ย่างกุ้งผ่านเขต KNU

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตาก - พม่าตกลงใช้แนวถนนเศรษฐกิจ East-West Economic Corridor ผ่าเขตอิทธิพล KNU เชื่อมแม่สอด -เมียวดี-กอกาเรก-ผาอัน-ย่างกุ้ง หลังทางหลวงไทยสำรวจแนวใหม่ เปิดช่องนำเข้าอาหารทะเลจากอันดามัน - เปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่

นายวัชระ แตงฉ่ำ รองผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 4 และรักษาราชการผู้อำนวยการแขวงการทางตากที่ 2(แม่สอด) เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการก่อสร้างถนนเส้นทางเชิงเขาตะนาวศรีไปยังจังหวัดกอกาเรก รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร(กม.)เชื่อมต่อเข้ากับเส้นทางไปสู่กรุงย่างกุ้ง เมืองหลวงทางเศรษฐกิจของพม่า (ต่อจากโครงการถนนแม่สอด-เมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี ที่ไทยให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณไปแล้ว 122 ล้านบาท) ว่า ล่าสุดไทย-พม่า ได้ตกลงปรับเปลี่ยนแนวเส้นทางใหม่ โดยตัดผ่านพื้นที่อิทธิพลของกะเหรี่ยงคริสต์ (KNU) ประมาณ 10 กว่า กม. แต่สามารถร่นระยะทางจาก 40 กม.เหลือเพียง 29 กม.เท่านั้น ซึ่งจะมีผลในเชิงยุทธศาสตร์ของทางการพม่าด้วย

แบบแปลนที่กรมทางหลวงได้สำรวจไว้นั้น ถนนเชิงเขาตะนาวศรี-กอกาเรกระยะทาง 29 กม. จะตัดผ่านพื้นที่ราบจะต้องใช้งบประมาณดำเนินการ ก่อสร้าง 300 ล้านบาท เป็นถนนขนาดผิวจราจรกว้าง 9 เมตร ไหล่ถนนอีก 2 เมตร รวม 9 เมตร เป็นถนนลาดยางแบบ 2 ชั้นหรือ Double Surface Treatment

ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหาแหล่งเงินทุนของรัฐบาลพม่า ว่าจะใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) หรือแหล่งทุนอื่น ๆ รวมถึงเงินกู้จากรัฐบาลไทย ที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ก็ได้แจ้งต่อรัฐบาลพม่าแล้วว่า พร้อมให้การสนับสนุน เพียงแต่อาจจะต้องรอให้ปัญหาทางการเมืองในพม่าคลี่คลายลงด้วยเช่นกัน
และหลังจากโครงการนี้แล้วเสร็จ ก็จะมีการพัฒนาช่วงที่ 3 จากกอกาเรก-จ.ผาอัน ระยะทาง 30- 40 กม. อยู่ระหว่างรอการสำรวจ(ให้โครงการ ที่ 2 ดำเนินการแล้วเสร็จ ก็จะเริ่มทันที) งบประมาณ 300 ล้านบาท

เมื่อถนนทั้ง 2 ช่วงเสร็จสมบูรณ์ ก็จะเชื่อมต่อเข้ากับถนนผาอัน-ย่างกุ้ง ที่อังกฤษ -จีน พัฒนาเป็นถนนลาดยางไว้ในระยะทางอีกประมาณ 200 กว่า กม.เท่านั้น ทำให้โครงข่ายถนนสายเศรษฐกิจ East - West Economic Corridor สมบูรณ์ขึ้น

นายวัชระ กล่าวอีกว่า เส้นทางดังกล่าวนี้หากแล้วเสร็จ โดยเฉพาะช่วงแม่สอด-เมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี-กอกาเรก จะเป็นเส้นทางทางการค้า-เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่สำคัญ สามารถพัฒนาเป็นย่านการค้าอาหารทะเล ที่นำเข้าจากอันดามันได้เป็นอย่างดี ซึ่งดูได้จากระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา ช่องทางแม่สอด มีการนำเข้าอาหารทะเลจากพม่าสูงเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับสินค้านำเข้าประเภทอื่น ทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ยังไม่เปิดสู่โลกภายนอกอีกเป็นจำนวนมาก ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น