xs
xsm
sm
md
lg

"วังขนาย" หนุนตั้งเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ขยายผลศก.พอเพียง/ลดต้นทุน-เพิ่มรายได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น-"วังขนาย"เดินหน้าตั้งเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนครอบคลุม 7 จังหวัด ชี้เกษตรกรในขอนแก่นตื่นตัวร่วมโครงการฯสูงขึ้นทะเบียนแล้ว 29 กลุ่มอาชีพ เผยเป้าหมายต้องการให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้เพิ่มศักยภาพ-ทำงานเป็นเครือข่ายลดต้นทุนการผลิตเพิ่มผลกำไรยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียง

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เป็นอุตสาหกรรมการเกษตรที่สำคัญ โดยในแต่ละปี สามารถนำเงินตราเข้าประเทศจากการส่งออกน้ำตาลทรายมูลค่าสูงถึง 30,000 ล้านบาท อ้อยจึงกลายเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ยังไม่นับรวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ได้จากอ้อย โดยเฉพาะ เอทานอล ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในฐานะพืชพลังงานทดแทน เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจึงเป็นฐานรากสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตที่ควรได้รับการส่งเสริมให้มีความเข้มแข็งในอาชีพและมั่นคงในคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่

พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 ได้ถูกนำมาใช้เป็นอย่างแพร่หลายตามนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งเน้นการรวมกลุ่มในการผลิตเพื่อพัฒนาตนเอง ถือได้ว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะนำมาพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยให้เกิดเสถียรภาพและเกิดความยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรเหล่านี้หลุดจากภาวะความยากจนซ้ำซาก

"กลุ่มวังขนาย" ผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ของประเทศ เป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรที่ให้ความสำคัญในประเด็นข้างต้น โดยพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง ด้วยการเข้าไปสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนแล้วถึง 572 กลุ่ม มีสมาชิกกว่า 6,000 ราย ในทั้งหมด 7 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ลพบุรี และสุพรรณบุรี

นอกจากนี้ กลุ่มวังขนาย ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้ามาส่งเสริมเรื่องของการปลูกผักปลอดสารพิษ ตามแนวทางเกษตรอินทรีย์อีกด้วย

ดร.ณรงค์ ชินบุตร ผู้อำนวยการประจำสำนักประธานกรรมการบริหาร ด้านการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มวังขนาย เปิดเผยถึงการจัดตั้ง วิสาหกิจชุมชนจตุรภูมิจังหวัดขอนแก่นว่า ขอนแก่น ถือเป็นจังหวัดที่มีความตื่นตัวในการดำเนินงานด้านวิสาหกิจชุมชนเป็นอย่างมาก ซึ่งภายหลังจากการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน สามารถจดทะเบียนได้ถึง 29 กลุ่ม มีสมาชิกจำนวน 432 คน ใน 5 เขตอำเภอ คือ อำเภอแวงน้อย อำเภอแวงใหญ่ อำเภอพล อำเภอชนบท และกิ่งอำเภอโนนศิลา

จากนั้นก็ได้จดทะเบียนเครือข่าย คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจตุรภูมิจังหวัดขอนแก่นขึ้น โดยกิจกรรมของกลุ่มประกอบด้วย กลุ่มประกอบอาชีพปลูกอ้อย 19 กลุ่ม กลุ่มเลี้ยงโค 5 กลุ่ม กลุ่มเกษตรผสมผสาน 4 กลุ่ม และกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ 1 กลุ่ม

ดร.ณรงค์ กล่าวถึงเป้าหมายหลักในการจัดตั้งเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนจตุรภูมิจังหวัดขอนแก่นว่า ต้องการให้เป็นศูนย์กลางการรวมกลุ่มเกษตรกรทุกแขนงในพื้นที่ เพื่อถ่ายทอดความรู้และเพิ่มศักยภาพ โดยส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วม และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกลุ่ม และสมาชิก นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มีการศึกษา ฝึกอบรม สาธิตแนวทางการพัฒนาอาชีพ ทั้งการผลิต และการตลาด หรือธุรกิจชุมชนแบบครบวงจร ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมการผลิตขั้นพื้นฐานตามแนวทางเกษตรธรรมชาติและเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลกำไร

ขณะเดียวกันกลุ่มวังขนาย ยังได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา เพื่อจัดโครงการฝึกอบรมและฝึกอาชีพให้แก่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในเครือข่าย ล่าสุดได้ร่วมกับคณะเทคโนโลยี คหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการในวิชาชีพที่คณะ ฯ มีความเชี่ยวชาญ เช่น วิชาชีพด้านอาหาร ผ้าและเครื่องแต่งกาย ของใช้ของประดับตกแต่ง ศิลปประดิษฐ์ และของที่ระลึก

ส่วนอีกโครงการคือ โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์พริกแกงสำเร็จรูปเพื่ออุตสาหกรรมการส่งออก ภายใต้หลักการคือ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมพริกแกงให้มีคุณภาพ โดยพัฒนากรรมวิธีการผลิตที่เหมาะสมเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา และพัฒนาพริกแกงให้อยู่ในรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ เหมาะสมในการนำไปใช้ และนำความรู้เทคโนโลยีที่พัฒนาได้มาถ่ายทอดสู่ชุมชน ภาคเอกชน และสถานประกอบการ เพื่อให้ผู้ปรุงอาหารได้ใช้พริกแกงที่มีคุณภาพ มีความสะดวกรวดเร็วในการปรุงอาหาร ผู้บริโภคได้บริโภคพริกแกงที่มีรสชาติดี

อีกทั้งเป็นการสร้างให้พริกแกง ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของอาหารไทยมีมาตรฐาน เพื่อเพิ่มมูลค่าในตลาดและปริมาณการส่งออกให้สอดคล้องกับนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกด้วย

ด้านนางมะลิวัน ประเสริฐศิลป์พลมา อายุ 42 ปี สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดสารพิษบ้านหญ้าคา หนึ่งในผู้เข้าร่วมการทำพริกแกง กล่าวว่า ตนประกอบอาชีพทำนา และ เป็นคนบ้านหญ้าคาโดยกำเนิด มีพี่น้องทั้งสิ้น 8 คน ด้วยความที่พ่อแม่มีลูกมากจึงทำให้ไม่ได้เรียนหนังสือในระดับสูง จึงตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำ จนได้เป็นพนักงานบริษัทอยู่ประมาณ 4-5 ปี ได้เงินเดือน 7,000-8,000 บาท

ต่อมาเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จากที่ได้เงินเดือนก็ถูกปรับรายได้ลง และจ่ายค่าจ้างเป็นรายวันเพียงวันละ 125 บาท ก็ไม่พอใช้ จึงเปลี่ยนงานใหม่และได้ไปทำงานที่จังหวัดราชบุรีตามคำแนะนำของญาติพี่น้อง เกี่ยวกับอะไหล่รถยนต์ ได้ค่าจ้างวันละ 135 บาท อยู่ได้แค่ปีกว่า ๆ ก็ลาออกอีก เนื่องจากเงินไม่พอใช้ จึงตัดสินใจกลับบ้าน

นางมะลิวันเล่าว่ารวมระยะเวลาที่ต่อสู้หางานทำอยู่ที่กรุงเทพฯนานถึง 20 ปี ตนได้ส่งเงินมาให้ที่บ้านบ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นกอบเป็นกำสักที แต่พอมาอยู่บ้านแม้จะหาอะไรทำไม่ได้มากนัก นอกจากทำไร่ ทำนา ก็ยังไม่พอใช้กับค่าใช้จ่าย จึงเริ่มหันมาปลูกผักเสริม เช่น ข่า ตะไคร้ กล้วย พริก และถั่วฝักยาว เพื่อใช้เป็นอาหาร เหลือก็นำไปขายที่ตลาด ก็มีรายได้เพิ่มมาอีกประมาณ 150 บาท ต่อวัน แม้จะไม่ได้มากมายแต่ก็ยังดีกว่า เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายเหมือนอยู่กรุงเทพฯ

ดร.ณรงค์ กล่าวย้ำว่าโครงการฝึกอบรมและฝึกอาชีพให้กับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในเครือข่าย วิสาหกิจภายใต้การดำเนินงานของกลุ่มวังขนายนั้น ทางกลุ่มจะขยายผลให้เข้าถึงพี่น้องเกษตรกรให้มากที่สุด เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นเจตนารมณ์เดียวกันกับนโยบายการสนับสนุนชุมชนให้ทำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจชุมชนระดับรากหญ้าให้เข้มแข็งเพื่อเข้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมรับกับการแข่งขันในตลาด


กำลังโหลดความคิดเห็น