xs
xsm
sm
md
lg

กม.ลูกผ่านฉลุย-ลดเงินบริจาคเหลือ 10 ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร่าง กม.ลูก 3 ฉบับผ่านสภาฉลุย หลังใช้เวลาเพียง 6 ชม. สนช.ลดเพดานเงินบริจาคเหลือ 10 ล้าน หลังถูกติง 50 ล้านสูงเกินไป หวั่นเถ้าแก่ อาซ้อ ครอบงำพรรค ใช้ทุนล่อแลกผลประโยชน์ ยังคงให้สิทธิ์ทหารเสนอชื่อ ส.ว.แต่งตั้งได้เพียง 1 คน

เมื่อเวลา 13.30 น. วานนี้ (26ก.ย.) มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสนช.เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีการพิจารณา ทั้ง 3 ฉบับในวาระ 2 เรียงตามลำดับมาตรา และลงมติวาระ 3 พร้อมกัน

ทั้งนี้ มีการพิจารณาผ่านในร่าง พ.ร.บ. กกต. ฉบับแรก โดยใช้เวลาเพียง 40 นาที โดยที่สมาชิกไม่ติดใจในการแก้ไขของคณะกรรมาธิการ ส่วน ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง มีการอภิปรายในเรื่องของคำนิยาม “พรรคการเมือง” โดยมีการเสนอให้เพิ่มคำต่อท้ายตามคำนิยามของร่างกมธ. ด้วยว่า “โดยไม่มีวัตถุประสงค์ทางการค้าหากำไรหรือแบ่งปันในหมู่สมาชิก” แต่ กมธ. ชี้แจงว่า คำนิยามที่ระบุในร่างกฎหมาย มีความชัดเจนอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเขียนเพิ่ม อีกทั้งจะเป็นการแบ่งแยกกับกฎหมายพรรคการเมือง ที่เคยมีมาในอดีต รวมถึงกฎหมายพรรคการเมืองของต่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่มีการอภิปรายกันมาก คือ กรณี การบริจาคเงินแก่พรรคการเมือง ในมาตรา 55/2 เรื่องการห้ามไม่ให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลบริจาคให้แก่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเกินกว่าห้าสิบล้านบาทต่อปี ปรากฏว่ามีกมธ.เสียงข้างน้อย คือ นายณรงค์ โชควัฒนา สงวนความเห็น และเสนอว่าควรให้บริจาคเงินได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า การปล่อยให้บริจาค 50 ล้านบาท ถือว่ามากเกินไป โดยส่วนตัวคิดว่า การบริจาคเงินให้พรรคการเมืองควรเป็นการบริจาคแบบไม่มีเงื่อนไขตอบแทน

เพราะการบริจาคเงินให้พรรคการเมืองไม่ใช่การลงทุน แต่การบริจาคต้องมาจากการศรัทธาในอุดมการณ์ของพรรคการเมือง ซึ่งไม่มีใครศรัทธามากถึงขนาดบริจาค 50 ล้านบาทโดยไม่มีเงื่อนไข ดังนั้นส่วนตัวคิดว่าพรรคการเมืองควรขายอุดมการณ์เพื่อแลกกับเงินบริจาค และขายนโยบายที่จะทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติแบบส่วนรวม ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับพรรคการเมือง ไม่เช่นนั้นธุรกิจการเมืองจะคงอยู่กับประเทศไทยต่อไป ซึ่งทำให้เราไม่สามารถปฏิรูปการเมืองได้

"ผมไม่เชื่อว่าการที่เอกชนมาซื้อโต๊ะจีนโต๊ะละล้านเพื่อมากินอาหาร แต่เขาต้องหวังผลตอบแทนแน่นอน พรรคการเมืองไม่ควรขายสัมปทาน หรือขายบริการที่จะให้ผลประโยชน์กับเอกชนจากการจัดซื้อจัดจ้างและจากงบประมาณของรัฐ เพราะฉะนั้น 50 ล้านสูงเกินไป ในสหรัฐให้บริจาคแค่ 3.5 ล้านบาทเท่านั้น การที่ปล่อยให้บริจาคสูงขนาดนี้แล้วอ้างว่าเพื่อความโปร่งใส ดีกว่าอยู่ใต้ดินและนำมาบริการสมาชิกแบบนั้นคงฟังไม่ได้ เพราะสมาชิกที่จะเข้าพรรคการเมืองควรเข้ามาด้วยความศรัทธาเพราะว่าพรรคการเมืองนั้นทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ ไม่ใช่เพราะพรรคการเมืองนั้นบริการประชาชนแบบนี้ ดังนั้นเสนอว่าเต็มที่ 10 ล้านก็พอ"นายณรงค์ กล่าว

ขณะที่ นายประพันธ์ คูณมี กรรมาธิการเสียงข้างมากชี้แจงว่า ที่กมธ.กำหนดเพดานเงินไว้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปีนั้น เพื่อให้ทราบที่มาที่ไปของเงินบริจาค เพราะกฎหมายเดิมไม่ได้มีการกำหนดเพดานการบริจาคไว้เลย เพียงแต่ต้องเปิดเผยชื่อและยอดเงินบริจาคเท่านั้น ทั้งนี้ที่ผ่านมาพบว่ามีสตรีคนหนึ่งบริจาคเงินให้พรรคการเมืองหนึ่งถึง 300 ล้านบาท โดยที่ไม่สามารถมีใครคัดค้านได้ และกกต.ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ หรือบอกว่าผิดกฎหมาย ขณะที่ผู้บริจาคคนนั้นก็มีอำนาจครอบงำพรรคการเมือง

หากให้นิติบุคคลใดบริจาคเงินให้พรรคการเมืองโดยไม่จำกัดเพดานขั้นสูงไว้ จะกลายเป็นว่าพรรคการเมืองนั้นมีเถ้าแก่เป็นเจ้าของ และเข้าไปครอบงำการบริหารกิจการ จึงเห็นว่าเพดานเงินสูงสุด 50 ล้านบาทนั้น มีเหตุมีผล เพราะหากใครกล้าบริจาคเงินมากขนาดนี้ให้กับพรรคการเมืองต้องกระทำโดยเปิดเผย โปร่งใส และต้องอธิบายกับสังคมเองว่าทำไมจึงกล้าบริจาคเงินให้มากขนาดนั้น เพราะฉะนั้นการกำหนดเพดานเงินขั้นสูงดังกล่าวไม่น่าเป็นช่องทางทำให้คนบริจาคเงินกับพรรคการเมืองที่ได้รับบริจาคกล้าทำอะไรทางการเมืองโดยมิชอบ

ในที่สุดที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยกับนายณรงค์ ที่ให้กำหนดเพดานเงินบริจาคขั้นสูงสุดให้แก่พรรคการเมืองได้จำนวน 10 ล้านบาท ด้วยคะแนน 69 ต่อ 51 เสียง

ส่วนร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ได้มีการอภิปรายในเรื่ององค์กรที่มีสิทธิ์เสนอรายชื่อผู้สมัคร ส.ว. โดย พล.ร.อ.ประเสริฐ บุญทรง ผู้สงวนคำแปรญัตติได้เสนอให้กำหนดความชัดเจนขององค์กร 5 ภาค เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อน และให้เพิ่มโควต้าให้แต่ละองค์กรที่มีสมาชิก 1 หมื่นคน สามารถเสนอตัวแทนได้อีก 1 คนแต่รวมไม่เกิน 5 คน โดยให้เหตุผลว่าทหาร 3 เหล่าทัพ และตำรวจ มีบุคคลกรเกือบแสนคน แต่มีสิทธิ์เสนอได้เพียงหนึ่งคน ซึ่งไม่เป็นธรรม แต่เสียงส่วนใหญ่ยังคงมีมติเห็นชอบตามที่กรรมาธิการพิจารณา

ภายหลังจากที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับในวาระ 2 นาน 6 ชั่วโมง จึงได้ลงมติเห็นชอบในวาระ 3 รายฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ. กกต. เสียง 165 ต่อ 1 เสียง ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง 167 เสียง และร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. 165 ต่อ 1 เสียง

ขณะที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานกมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ กล่าวขอบคุณและว่า สภาได้สร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกม.ลูกทั้ง 3 ฉบับ ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญไปสู่กระบวนการเลือกตั้งด้วยความเข้าใจว่า การเมืองในวันข้างหน้าคงต้องดีขึ้น เพราะได้มีแก้ไข ความบกพร่อง และจุดอ่อนต่างๆ พอที่จะเป็นความหวังในการปฏิรูปการเมืองในข้างหน้าคงดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้นำไปปฏิบัติด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น