xs
xsm
sm
md
lg

“อารีย์-อรนุช”กอดเก้าอี้แน่น-แฉบริษัท มท.1 คู่ค้ามหาดไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สิทธิชัย”ประกาศลาออกแน่ เผยตัดสินใจแค่นาทีเดียวหลัง ป.ป.ช.แจ้งเรื่องถือหุ้นบริษัทเอกชนเกิน 5 % เตรียมยื่นใบลาให้นายกฯ มีผล 1 ต.ค.นี้ ด้าน “อารีย์”ก้นติดกาว-ยันไม่ลาออก อ้างหารือนายกฯ แล้วให้ทำต่อไป โบ้ยเป็นเกมการเมืองเพื่อหวังผลในการเลือกตั้ง ขณะที่ “อรนุช”ยอมรับมีหุ้นจริง เป็นธุรกิจในครอบครัว แต่ยังไม่คิดลาออก เพราะมีงานต้องสะสางอีกมาก แฉบริษัทที่ มท.1 ถือหุ้น เป็นคู่ค้ากับกระทรวงมหาดไทย “ธีรภัทร์”แนะรัฐมนตรีควรมีสปิริตลาออก เพื่อเป็นแบบอย่างด้านจริยธรรมให้สังคม

หลังจากนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาแถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่ามีรัฐมนตรี 3 คน ประกอบด้วย นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รมว. .เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นางอรนุช โอสถานนท์ รมช.พาณิชย์ และนายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย ถือครองหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัท เกินกว่าร้อยละ 5 ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จะมีบทเฉพาะกาล ให้รัฐมนตรีไม่ต้องรับผิดย้อนหลัง แต่ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม

ล่าสุดวานนี้ (21ก.ย.) นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ได้แถลงถึงการลาออกจากตำแหน่ง รมว.ไอซีที ว่า ตนจะยื่นหนังสือการลาออกจากตำแหน่ง ต่อ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี หลังจากเดินทางกลับจากราชการต่างประเทศโดยขอให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ และหากนายกรัฐมนตรีร้องขอให้ดำรงตำแหน่งต่อ หรือรับในตำแหน่งอื่นในรัฐบาลชุดนี้ จะขอปฏิเสธ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานที่ดีต่อรัฐบาล และเป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้องสำหรับผู้ที่มาดำรงตำแหน่งทางการเมืองในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ การปฏิบัติหน้าที่เป็นรมว.ไอซีที ในช่วงที่ผ่านมา ตนได้ปฏิบัติงานตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และตามแนวทางของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย และความไม่ถูกต้องในการดำเนินงานของหน่วยงานกำกับดูแลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ปฏิบัติโดยมุ่งเน้นประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมืองโดยส่วนรวมเป็นสำคัญ

"หากให้คะแนนผมถ้าเป็นนักวิชาการผมจะให้เกรดเอ แต่การเป็นรัฐมนตรี ผมนั้นขอจะให้คะแนนตัวเองที่เกรดซีกับการแก้ปัญหางานในช่วงที่ผ่านมา"

นายสิทธิชัย กล่าวว่า การลาออกออกจากตำแหน่งรมว.ไอซีที ครั้งนี้ใช้เวลาเพียงไม่ถึงนาที หลังจากที่ได้รับหนังสือจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)  ซึ่งต่างจากความคิดในช่วงที่ผ่านมา ที่เคยคิดจะลาออกเกือบ 20 ครั้ง ที่เป็นปัญหาในหลายๆ เรื่องจากการทำงาน และกระแสข่าวภายในหน่วยงานสังกัด โดยตนได้โทร.ปรึกษาสอบถามความเห็นภริยา ลูกชายและลูกสาว ซึ่งต่างเห็นด้วย กับเหตุผลในการลาออกครั้งนี้ โดยเรื่องนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นศักดิ์ศรีกับตัวเองและความสง่างามของผู้ที่ทำหน้าที่เข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง ก่อนโทรศัพท์แจ้งให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ

นายสิทธิชัย กล่าวด้วยว่า อยากฝากถึงผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็น รมว.ไอซีที ที่มาจากรัฐบาลชุดนี้ และผู้ที่มาจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นว่า กระทรวงไอซีที หากมีการบริหารงานที่ดี มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส กระทรวงแห่งนี้จะสามารถเป็นกระทรวงหลักที่สำคัญของประเทศ หรือ เป็นกระทรวงเกรดเอได้ เนื่องจากเรื่องของไอซีที ในแต่ละประเทศทั่วโลกต่างตระหนักและให้ความสำคัญ มุ่งเน้นต่อการสร้างบริการพื้นฐานด้านสื่อสารโทรคมนาคม และซอฟต์แวร์ให้กับประเทศ เพราะไอซีที จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน

ส่วนผลงานที่นายสิทธิชัย รู้สึกพอใจคือ การยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เรื่องภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคม ที่ต้องให้ บริษัท ทีโอที และ บริษัท กสท รับภาระจ่ายแทนเอกชนมาตลอด ถือเป็นเรื่องที่เป็นรูปธรรม ส่วนเรื่องที่ค้างอยู่ ก็ห่วงศูนย์แปลตำราแห่งชาติ และสัญญาสัมปทานดาวเทียมที่ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งระหว่างนี้ยังต้องรอผลสรุปในการตีความอยู่

ขณะที่สัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ของ เอไอเอส กับ ทีโอที  ดีแทค กับ กสท ทรมูฟ กับ กสท  นายสิทธิชัยกล่าวว่า  เรื่องนี้คงต้องรออีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทของทั้งสองฝ่าย ที่จะแก้ไขให้ชอบธรรมอย่างไร และรัฐไม่เสียประโยชน์  ซึ่งเรื่องแก้ไขให้เกิดความพอใจกับทุกฝ่ายต้องใช้เวลา

ส่วนประเด็นการชี้แจง ข้อมูลเหตุผล ในกรณีที่ป.ป.ช. ได้พิจารณาและมีมติออกมาว่า การถือครองหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเกินกว่า ร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยมิได้โอนหุ้นไปให้นิติบุคคลตามกฎหมายจัดการแทนถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมาย นายสิทธิชัย ชี้แจงว่า เรื่องนี้ไม่ทราบจริงๆ และตนได้ยื่นเอกสารโดยไม่ทราบที่จะต้องมีการถือครองหุ้นไม่เกิน ซึ่งข้อมูลในรายละเอียดที่จะต้องกระทำต่อการแสดงบัญชี หรือ การทำนิติกรรมให้เรียบร้อยต่อการเป็นรัฐมนตรี ก็ไม่มีใครมาบอก เพราะตนเป็นนักวิชาการ และ ไม่ใช่ผู้รู้ทางกฎหมายทางการเมือง

"ทาง ครม. ควรจะต้องทำความเข้าใจและให้เป็นบรรทัดฐานในอนาคต เพื่อที่จะไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นและเห็นถึงข้อเสียของการนำนักวิชาการมาเล่นการเมือง"นายสิทธิชัย กล่าว

ทั้งนี้ การถือหุ้นในบริษัทเอกชน 3 แห่งของนายสิทธิชัย เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารงานในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ที่นายสิทธิชัย เป็นเจ้าของ เมื่อจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยเอกชน จำเป็นต้องตั้งบริษัทเพื่อขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ส่วนอีก 2 บริษัท เป็นบริษัทจัดตั้งขึ้นเพื่อวิจัยและพัฒนา รวมถึงจัดสร้างดาวเทียมเพื่อการเรียนการสอน และบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อการวิจัย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสถาบันวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นที่ทราบกันดีว่า นายสิทธิชัย มีหุ้นและมีฐานะเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยดังกล่าว ก่อนที่จะดำรงตำแหน่ง รมว. ไอซีที

ทั้งนี้ นายสิทธิชัย ถือหุ้นในบริษัท วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนานาชาติ จำกัด ร้อยละ 16.17 บริษัท อุตสาหกรรมอวกาศไทย จำกัด ร้อยละ 31.33 บริษัทวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี จำกัด ร้อยละ 31.36

คนวงการโทรคมเสียดาย

นายสือ ล้ออุทัย รักษาการปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวว่า รู้สึกเสียดายกับการลาออกของนายสิทธิชัย เพราะเป็นบุคคลที่มีความสามารถ และให้นโยบายการทำงานแก่ราชการได้อย่างดี โดยเข้าใจต่อปัญหาและพยายามวางรกฐานกระทรวงไอซีทีให้มีความแข็งแรง มีบทบาทในการทำงานมากขึ้น  ซึ่งผลงานที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องการจัดซื้อบัตรประชาชนเอนกประสงค์อิเล็กทรอนิกส์ (สมาร์ทการ์ด) ได้อย่างไร้ข้อปัญหาในการการประมูลแบบอิล็กทรอนิกส์ (อี-อ๊อคชั่น) จนสามารถประมูลได้ 23 ล้านใบ รวมถึงการเร่งออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ (สนช. )แล้ว และอยู่ระหว่างการทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

สำหรับบรรยากาศที่หน้าห้อง รมว.ไอซีที ก่อนแถลงการณ์ลาออก ได้มีกลุ่มตัวแทนข้าราชการระดับสูง และผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ เช่น นายพิศาล จอโภชาอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม นายวรุธ สุวกร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที  ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม บริษัท ไปรษณีย์ไทย เข้ามายื่นดอกไม้ พร้อมกล่าวแสดงความเสียใจต่อการลาออก และต้องการให้ทำหน้าที่ต่อ รวมถึง ตัวแทนจากภาคเอกชน เช่น นายขจร เจียรวนนท์ ผู้บริหาร บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น  หรือแม้กระทั่ง นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น และ ประธานบริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานบริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค ได้โทรศัพท์เข้ามาแสดงความห่วงใย และเสียใจกับการลาออกกับเรื่องที่เกิดขึ้น

"อารีย์"ไม่ลาออก อ้างนายกฯ ให้ทำต่อ

นายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช. ระบุว่าตนเป็น 1 ในรัฐมนตรีที่ถือครองหุ้นในบริษัทเอกชนเกินร้อยละ 5 ว่า หุ้นจำนวนดังกล่าวมีอยู่ 20 ล้านบาท และขาดทุนไปแล้ว 10 ล้านบาท ซึ่งมีคนบอกก่อนหน้านี้แล้วว่า อาจไม่มีความเหมาะสม จึงได้โอนหุ้นดังกล่าวคืนให้กับเจ้าของ

นายอารีย์ กล่าวว่า หุ้นดังกล่าว ประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอด และส่วนตัวไม่ปรารถนาที่จะถือครอง แต่เนื่องจากช่วยเหลือเพื่อน และก่อนหน้าที่จะมาดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย ไม่มีใครมาแนะนำว่า ต้องดำเนินการอย่างไร และไม่ทราบว่าเรื่องดังกล่าวมีความผิดหรือไม่ อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีบทเฉพาะกาล ยกเว้น จึงไม่ถือเป็นความผิด แต่เป็นเรื่องของความเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม นายอารีย์ กล่าวว่า เมื่อคืนวันที่ 20 ก.ย. ตนได้โทรศัพท์พูดคุยกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และได้แสดงความจำนงว่า หากเรื่องดังกล่าวทำให้รัฐบาลไม่สง่างาม ก็พร้อมที่จะลาออก แต่นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าให้ทำงานต่อไป ดังนั้นจึงขอประกาศว่า จะไม่มีการลาออกจากตำแหน่งรมว.มหาดไทย เพราะหากลาออก เหมือนกับเรามีความผิดจริง และจะเข้าทางฝ่ายที่ต้องการที่จะให้รัฐมนตรีลาออกด้วย

ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นที่เกิดปัญหากรณีเดียวกันนั้น นายอารีย์ กล่าวว่า ได้หารือกันแล้ว ขึ้นอยู่กับการพิจารณาเป็นรายบุคคล แต่จะมีการหารือกันอีกครั้ง เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับจากการปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ

"กับนายสิทธิชัย โภไคยอุดม รมว.ไอซีที นั้นเคยได้นั่งคุยกัน การที่ลาออก ท่านได้บอกกับผมว่า เพราะรำคาญ เกี่ยวกับการที่มีคนเอาเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องมาทำให้รำคาญ แต่ผมไม่รำคาญ ดังนั้นผมไม่ลาออก เพราะไม่รู้สึกรำคาญ ต้องการทำงานสำคัญเรื่องการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ"

นายอารีย์ กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้เหมือนเป็นเกมทางการเมือง เชื่อว่ากลุ่มนี้คงหวังผลเรื่องของการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้ จึงขอบอกว่า จะไม่ทำอะไรให้เข้าทางใคร และจะเพิ่มความเด็ดขาด กับผู้ที่จะกระทำความผิดในการเลือกตั้งให้ถึงที่สุด

"ผมมั่นใจว่า ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และไม่ได้ทำความเสื่อมเสียให้กับใคร ผมไม่ได้ทำความผิด หรือทำให้ครม. ด่างพร้อย จึงไม่จำเป็นต้องลาออก แต่จะทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติต่อไปให้ดีที่สุด เราเป็นรัฐมนตรี เราต้องไม่อ่อนแอ ขอทำหน้าที่ 1-2 เดือน ให้ดีที่สุด ต้องบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนไม่รู้มาก่อนล่วงหน้า และเหมือนกับว่ามีอะไรแอบแฝงอยู่ อยากให้ผมลาออก เรื่องนี้ไม่ได้บั่นทอนจิตใจในการทำงานของผม และผมจะทำหน้าที่ต่อไปให้ดีที่สุด นี่คือสปิริตของผม"นายอารีย์ กล่าว

มท.1 ถือหุ้นบริษัทคู่ค้ามหาดไทย

รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัทที่นายอารีย์ ถือหุ้นอยู่คือ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ตรังชัวร์ จำกัด และจากการตรวจสอบรายการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงมหาดไทย ในช่วงเดือนม.ค.49 ถึงเดือนส.ค. 50 พบว่ากรมการปกครอง ได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับเอกชนทั้งหมด 615 สัญญา วงเงิน 3,751 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นการทำสัญญาจัดซื้อกับ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) จำนวน 3 รายการ รวมวงเงิน 6 ล้านบาท ได้เแก่ 1.ซื้อผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง วงเงิน 1,500,000 บาท (ใบสั่งซื้อเลขที่ 34/2549) 2.ซื้ออาหารกระป๋องประเภทข้าวกระป๋องขนาด 150 กรัม จำนวน 1,250 หีบหีบละ 48 กระป๋อง วงเงิน 1,500,000 บาท (สัญญาเลขที่ 160/2549) และ 3. ใบสั่งซื้อข้าวกระป๋อง รวม 7 รายการ วงเงิน 3,000,000 บาท (ใบสั่งซื้อเลขที่ 3/2550)

จากการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินของนายอารีย์ ที่ยื่นแสดงต่อคณะป.ป.ช. ช่วง เข้ารับตำแหน่ง วันที่ 9 ต.ค.49 พบว่า นายอารีย์ ถือหุ้นบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด(มหาชน) จำนวน 30,000 หุ้น มูลค่า 300,000 บาท และถือหุ้นบริษัท ตรังชัวร์ จำกัด จำนวน 2,000,000 หุ้น มูลค่า 20 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทตรังชัวร์ เป็นบริษัทในเครือบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล มีนายอารีย์ ถือหุ้นใหญ่

อย่างไรก็ตาม หลังจากเรื่องนายอารีย์ ถือหุ้นบริษัทเอกชน เกินร้อยละ 5 กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ แหล่งข่าวใกล้ชิด นายอารีย์ ก็ออกมาเปิดเผย ว่า นายอารีย์ เคยถือหุ้นในบริษัท ตรังชัวร์ จำกัด จำนวน 2 ล้านหุ้น ซึ่งซื้อมาในราคาพาร์ 13 บาท เป็นจำนวนเงิน 26 ล้านบาท เมื่อปี 2530 แต่ปรากฏว่า ที่ผ่านมาได้ประสบภาวะขาดทุน จากปัญหาค่าเงินบาทมาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 50 นายอารีย์ จึงได้ตัดสินใจขายหุ้นดังกล่าวให้กับเจ้าของกิจการ คือ นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง ไปในราคาหุ้นละ 50 สตางค์ เป็นจำนวนเงินเพียง 1 ล้านบาท แต่นายสุรินทร์ ยังไม่ได้ไปทำเรื่องโอน เพราะเห็นว่า ยังมีเวลาถึงวันที่ 31 ธ.ค. 50 ซึ่งจะครบกำหนดในวันดังกล่าว

"อรนุช"อ้างยังมีงานต้องสะสาง

นางอรนุช โอสถานนท์ รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงกระแสข่าวที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่าตนมีหุ้นในบริษัทเอกชนมากกว่าที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กำหนด และไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งต่อว่า ขณะนี้ ยังไม่ลาออกจากตำแหน่ง ต้องหารือกับรมว.พาณิชย์ก่อน และต้องฟังเสียงกระแสสังคม และสถานการณ์แวดล้อมด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการคุยโทรศัพท์กับ รมว.มหาดไทยก็ยังไม่คิดจะลาออก ขอทำงานต่อในช่วงเวลาที่เหลือประมาณ 3 เดือน ส่วนการประกาศลาออกของ รมว.ไอซีที คงไม่ทำให้กดดันอะไร เพราะแต่ละคนมีความคิดต่างกัน การลาออกถือเป็นการรับผิดชอบอย่างหนึ่ง แต่หากลาออกแล้วใครจะเข้ามาช่วยงาน ซึ่งงานกระทรวงพาณิชย์ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องสะสาง

“ยืนยันว่า ขณะนี้ ยังไม่ลาออก เพราะตัวเองยังมีประโยชน์ต่อประเทศชาติ แต่ก็ไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง อีกทั้งการที่ดิฉันเข้ามารับตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ เพราะต้องการช่วยเหลือประเทศชาติในยามประสบปัญหา และไม่ได้ตั้งใจเล่นการเมือง ส่วนตัวเป็นนักธุรกิจเล็กๆ แต่เมื่อมาอยู่กระทรวงพาณิชย์ก็ไม่เคยใช้ตำแหน่งเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจตนเอง และธุรกิจก็ไม่เกี่ยวข้องกับงานของกระทรวงเลย ขณะนี้ไม่ได้เข้าไปบริหารงานแล้ว ปล่อยให้ลูกบริหารงานแทน”นางอรนุช กล่าว

นางอรนุช ยืนยันว่า ไม่ได้ซุกหุ้น เพราะก่อนรับตำแหน่งได้เคยแสดงบัญชีหนี้สิน-ทรัพย์สิน ต่อป.ป.ช.แล้ว โดยมีหุ้น 66% ในห้างหุ้นส่วนจำกัด บ้านดอกพุด มูลค่า 2 ล้านบาท มีหุ้นในบริษัท อุดมแร่มรวย 12% มูลค่า 2.5 ล้านบาท ซึ่งทำธุรกิจโรงแรมขนาด 45 ห้อง และยังมีหุ้นอีก 50% ในโรงแรมเวียงใต้ ซึ่งเป็นกิจการของมารดา ที่ดำเนินกิจการมากว่า 40 ปีแล้ว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 52 ล้านบาท ถือว่าเป็นหุ้น และมูลค่าที่น้อยมากเมื่อเทียบกับนักการเมืองคนอื่น

นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การที่ รมว.ไอซีที ลาออก ไม่มีประเด็นอะไรที่ทำให้นางอรนุช ต้องลาออกตาม เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีบทเฉพาะกาล ระบุว่า การกระทำใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ถือว่าเป็นความผิด เท่ากับไม่มีผลบังคับย้อนหลัง หากเป็นเช่นนี้ รัฐมนตรีทั้ง 3 คน ไม่จำเป็นต้องลาออก

“ตอนนี้ ยังไม่ได้คุยกับท่านอรนุช แต่ถ้าได้คุยกัน จะบอกว่า ทำไมต้องลาออก ไม่เห็นจะเป็นความบกพร่องเลย และอยากให้ท่านอยู่ช่วยงานต่อ หากท่านยอมอยู่ต่อ ผมจะดีใจมาก เพราะจะได้มีเวลาเดินทางไปหาตลาดใหม่ เพื่อขยายการส่งออกของไทยอีก ที่สำคัญรัฐบาลชุดนี้เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน อยากให้ช่วยประคับประคองสถานการณ์ให้ดี ก่อนส่งมอบงานให้รัฐบาลชุดใหม่”นายเกริกไกร กล่าว

"ธีรภัทร์"บี้ต่อมจริยธรรม 2 รมต.

นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้เรามีบรรทัดฐานไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 40 แล้ว เมื่อมีการทำรัฐประหารก็มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 40 แต่ว่ากฏหมายลูกซึ่งออกมาล้อตาม มาตรา 209 ของรัฐธรรมนูญ ปี 40 ยังคงอยู่ และในขณะเดียวกัน เมื่อมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 49 ก็มีมาตรา 38 พูดถึงการวินิจฉัยการปกครองตามประเพณีในระบอบประชาธิปไตย ตนไม่แน่ใจว่าการวินิจฉัยในเรื่องนี้จะเป็นการขัดคุณสมบัติตั้งแต่ต้นหรือไม่ แต่ถ้ามองในด้านเป็นคุณอย่างที่ ป.ป.ช.ได้พูดไว้ ก็อาจจะไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม

เพราะว่าเราเคยมีตัวอย่างที่เป็นนักการเมืองในอดีตที่พยามยามจะหลบเลี่ยงไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 40 ในมาตรา 209 เช่น มีหุ้นมากกว่า 5% และมีการหลบเลี่ยงโดยการโอนให้ลูก เมีย ซึ่งเคยมีตัวอย่างที่ไม่เหมาะสมในอดีตก็เป็นเรื่องที่พวกท่านต้องพิจารณาว่า จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีแต่ละท่าน ส่วนบางท่านที่ลาออก ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม และเป็นแบบอย่างที่ดี

"ปัญหาจริยธรรม ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลซึ่งไม่สามารถไปกะเกณฑ์ให้ใครได้ ขึ้นอยู่กับสังคมเป็นผู้พิจารณา และเป็นเรื่องธรรมดาถ้ามีแบบอย่างที่ดี สังคมก็จะยกย่อง ถ้ามีอะไรที่ไม่สอดคล้องกับเรื่องดังกล่าวสังคมก็ตำหนิติเตียน เป็นเรื่องที่จะเกิดผลกระทบกับแต่ละท่านเอง ผมคงไปพูดเฉพาะเจาะจงไม่ได้"

เมื่อถามว่า เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลหรือไม่ นายธีรภัทร์ กล่าวว่า ตนคิดว่าเกิดผลกระทบแน่ แต่ก็คิดว่าน่าจะมีวิธีแก้ คือถ้ารัฐมนตรีแต่ละท่าน หรือท่านที่มีปัญหาดังกล่าวแสดงสปิริตโดยการลาออก และมีการแต่งตั้งขึ้นใหม่ โดยที่ดำเนินการให้ทรัสต์เข้ามาดูแลการถือครองหุ้นให้ถูกต้อง ซึ่งสามารถทำได้อยู่แล้ว ถ้าทำให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ แล้วค่อยกลับมาดำรงตำแหน่ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ นายกรัฐมนตรี ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งตรงนั้นก็เป็นทางออกอีกทางหนึ่ง

"ทิพาวดี"ไม่มีความเห็นนั่ง รมว.ไอซีที

คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องที่นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รมว. ไอซีที จะขอให้มารับตำแหน่งแทน หลังจากที่ถูก ป.ป.ช. ระบุว่า มีการถือครองหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท เกินกว่าร้อยละ 5 ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วน และหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม คุณหญิงทิพาวดี ปฏิเสธที่จะตอบว่า พร้อมที่จะรับตำแหน่งแทน นายสิทธิชัย หรือไม่ โดยกล่าวว่า รอให้นายกรัฐมนตรีกลับมาจากต่างประเทศก่อน แล้วแต่นายกรัฐมนตรีจะพิจารณา และว่าตนยังไม่ได้คุยเรื่องนี้กับนายสิทธิชัย เลย

"ประสงค์"แนะ รมต.ถอยดีกว่า

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แนะให้รัฐมนตรีที่มีปัญหาเรื่องการถือครองหุ้น ไปอ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีหมวดเรื่องคุณธรรม และจริยธรรม ที่แม้ว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่รัฐมนตรีซึ่งเป็นนักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง ควรคำนึงถึงเรื่องความเหมาะสม และมารยาทเป็นสิ่งสำคัญ

"เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคุณธรรม จริยธรรม ของบุคคล รัฐบาลหรือรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งยิ่งต้องคำนึงถึงคุณธรรม จริยธรรมให้มาก แม้ยังอยู่ในตำแหน่ง ก็ไม่มีใครเขาว่า แต่หากคำถึงอนาคต โดยเฉพาะอนาคตทางการเมือง รอยตำหนินี้จะติดตัวคุณไปตลอดชีวิต ถ้าเป็นผม ผมว่าควรไปดีกว่า"น.ต.ประสงค์ กล่าว

YPD เตือนไม่ลาออกจะพังทั้งคณะ

นายเมธา มาสขาว ประธานศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า รัฐมนตรีทั้ง 3 คนมีความผิดทางจริยธรรมอย่างชัดเจน เพราะเป็นรัฐบาลที่มาแทนที่คณะรัฐมนตรีที่มีปัญหาการคอร์รัปชั่น มีผลประโยชน์ทับซ้อนและธุรกิจการเมือง ซึ่งกำลังสะท้อนว่า รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่ได้แตกต่างทางจริยธรรมจากรัฐบาลชุดเก่าที่ถูกโค่นล้มไป จึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีทั้ง 3 คน ลาออกจากตำแหน่งโดยทันที เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางจริยธรรม ซึ่งไม่ทราบว่าทำไมเพิ่งจะมารู้ตัวตอนนี้ ในขณะที่รับตำแหน่งน่าจะสำนึกตั้งแต่ต้น จะอ้างว่าไม่มีความรู้ไม่ได้ ไม่รู้แล้วมาเป็นรัฐมนตรีได้อย่างไร

กรณีรัฐมนตรีบางท่านบอกว่าไม่ลาออกเพราะเท่ากับเป็นการยอมรับผิดนั้น ต้องเรียนว่า ป.ป.ช.ชี้มูลแค่นี้ ถือว่าท่านมีความผิดแล้ว เพียงแต่กฏหมายรัฐธรรมนูญเดิมซึ่งเป็นบรรทัดฐานเรื่องนี้ถูกรัฐประหารไป หรือท่านจะกลับไปหาบรรทัดฐานเก่าที่ล้าหลังกว่านี้ อยากให้รัฐมนตรีอีก 2 ท่านที่เหลือพิจารณาตัวเอง และมีสปิริตทางการเมือง โดยเอานายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง จะมาอ้างภาระกิจไม่ได้ ในเมื่อคุณสมบัติท่านหมดความชอบธรรมไปแล้ว

เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าเกี่ยวพันต่อภาพลักษณ์รัฐบาล อันเป็นความลดความน่าเชื่อถือในสายตาประชาคมโลก เพราะพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอชื่อแต่งตั้งด้วยตนเอง ฉะนั้นถ้าไม่ลาออก อาจจะพังเสียหายทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น