xs
xsm
sm
md
lg

ยกโมเดล"โชวห่วยแพร่"ต้านห้างยักษ์ แนะค้าปลีกรายย่อยทั่วไทยปรับใช้ก่อนตายหมด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่ - จุฬาฯยกโมเดล "โชวห่วยแพร่ต้านห้างยักษ์" เป็นกรณีศึกษา หลังผนึกกำลังทั้งค้าปลีกรายย่อย - องค์กรเอกชนท้องถิ่น -อปท. เดินเกมสู้ห้างใหญ่ ทุนยักษ์ทั้งด้านข้อกฎหมาย - กลเกมการตลาด อย่างได้ผล เชื่อหากปรับใช้ทุกพื้นที่ ช่วยโชวห่วยไทยอยู่รอดได้ท่ามกลางสงครามกับทุนยักษ์

ตลอดระยะเวลา 3 ปีในการต่อสู้ของผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อย (โชวห่วย) เมืองแพร่ กับห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ที่เข้ามาเปิดสาขาถึง 2 รายคือ บิ๊กซี - เทสโก้โลตัส กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาในทางวิชาการ เป็นบทเรียนสำหรับโชวห่วยจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ ที่ห้างใหญ่ทุนยักษ์รุกเข้าไปเปิดสาขา แย่งชิงกำลังซื้อในท้องถิ่น ที่เคยเกื้อหนุนกันมาหลายชั่วอายุคน

ล่าสุดเมื่อ 6 กันยายน ที่ผ่านมาศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจการเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าสำรวจและร่วมศึกษากรณีตัวอย่างของจังหวัดแพร่ ทั้งกลุ่มบริหารโครงการ กลุ่มผู้ค้าปลีกรายย่อยที่มีการทำงานร่วมกัน มีนางสาวศิริพร ยอดกมลศาสตร์ เป็นตัวแทนเข้าพบนางจิรพันธ์ โชติรัตนวิมลประธานหอการค้าจังหวัดแพร่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในวิธีการต่อสู้ของภาคธุรกิจในจังหวัดแพร่ รวมทั้งออกสำรวจข้อเท็จจริงในสงครามตลาดค้าปลีกเมืองแพร่อีกด้วย

นางสาวศิริพร กล่าวว่า ยุทธวิธีต่อสู้ทางการค้าของผู้ประกอบการค้าปลีกในจังหวัดแพร่ ไม่ธรรมดาที่สามารถตรึงลูกค้าไว้ได้ โดยการมีแคมเปญร่วมกัน ทั้งผู้ประกอบการรายย่อย เช่นร้านอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยว หรือแม้กระทั่งอาชีพบริการ ซ่อมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ สามารถคืนกำไรเป็นรถยนต์ปิกอัพให้ลูกค้าได้ทุกราย ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดศัยกภาพการแข่งขันแล้ว แต่ผู้บริหารยังมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่ยากแก่การเลียนแบบ เป็นช่วงจังหวะที่ดีมากในการกำหนดวัน การโหมโฆษณา มีการใช้ระบบ Logistic เข้ามาช่วยด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ห้างต่างถิ่น 2 ห้างใหญ่มีอาการไม่ค่อยดี หรือแม้กระทั่งอาจต้องมองว่า การลงทุนตั้งห้างใหญ่ ที่แพร่อาจทำได้เพียงการเก็บสต๊อกสินค้าเสริมจังหวัดหลักๆ เท่านั้น

"ทางสถาบันมองว่าโมเดลของโชวห่วยแพร่น่าสนใจ น่าจะนำไปใช้กับหอการค้าอื่นๆ หรือผู้ประกอบการค้าปลีกอื่นๆ เพราะถ้ายังคงปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปโดยไม่มีใครแก้ไข อนาคตผู้ประกอบการค้าปลีกจะหมดไปจากเมืองไทยในยุคคนรุ่นนี้แน่นอน"

นางจิรพันธ์ โชตรัตนวิมล ประธานหอการค้าจังหวัดแพร่ กล่าวถึงการต่อสู้ของโชวห่วยเมืองแพร่ ว่า ระยะที่ผ่านมาไม่เพียงแต่ดำเนินการทางด้านข้อกฎหมายเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้เข้ามาร่วมกับหอการค้าฯ ในการสร้างเครือข่ายการสั่งซื้อสินค้าร่วมกัน โดยมีการเปิดแคมเปญรวมในกิจการร้านค้าที่เป็นสมาชิกกระตุ้นการขายร่วมกัน

ประธานหอการค้าจังหวัดแพร่ กล่าวว่า กิจการค้าปลีกรายเล็กรายใหญ่ของท้องถิ่นสามารถเข้าร่วมโครงการได้ทั้งสิ้น ด้วยการซื้อคูปอง เพื่อนำไปมอบให้ลูกค้าเมื่อซื้อสินค้าครบ 100 บาทจะได้คูปองชิงโชค 1 ใบ ซึ่งคูปองเหล่านี้หอการค้า เทศบาลเมืองแพร่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ร่วมกันจัดรายการชิงรางวัลเป็นรถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรางวัลใหญ่ที่สุดคือ รถยนต์ปิกอัพ ภายใต้โครงการ "คืนกำไรให้ชาวแพร่" ซึ่งเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จมาก จัดมาแล้ว 3 ปีติดต่อกัน

ปีแรก สามารถสร้างยอดขายให้แก่โชวห่วยในเครือข่ายรวมกันมากถึง 200 ล้านบาท ปีที่2 สร้างยอดขายเพิ่มเป็น 250 ล้านบาท และปีสุดท้ายคือปี 2549 ที่ผ่านมา สามารถทำยอดขายรวมมากถึง 300 ล้านบาท ยอดเงินดังกล่าวเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า โชวห่วยท้องถิ่นสามารถตรึงลูกค้าไว้ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้หอการค้าแพร่ได้รับการประกาศให้เป็นหอการค้ายอดเยี่ยมระดับประเทศ

นางจิรพันธ์ กล่าวด้วยว่า ในช่วงที่มีการวางแผนการทำงานต่อสู้กับห้างใหญ่คือ โครงการคืนกำไรให้ลูกค้าถึง 3 ครั้งนี้ยืนยันได้ว่าเป็นมาตรการที่สามารถเอาชนะห้างขนาดใหญ่ได้

อย่างไรก็ตาม นอกจากความสำเร็จที่โชวห่วยในท้องถิ่นได้แล้ว ยังสามารถแสดงให้ซัปพลายเออร์ได้เห็นศักยภาพของผู้ประกอบการค้าปลีกของท้องถิ่นว่าสามารถร่วมกันทำงานอย่างได้ผล ในที่สุดระยะหลังซัปพลายเออร์ต่างๆ เริ่มให้การสนับสนุนกิจการในท้องถิ่นมากขึ้น ต่างจากห้างใหญ่ ที่ปัจจุบันนำสินค้าเฮาส์แบรนด์มาวางขายแข่งกับสินค้าของซัปพลายเออร์ จนทำให้ยอดขายของผู้ผลิตสินค้าหายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ ผู้ที่จะประสบปัญหาหนักก็คือ ซัปพลายเออร์ ทำให้สุดท้ายก็ต้องหันมาร่วมมือกับโชวห่วย ที่เป็นลูกค้าเก่าแก่มากขึ้น

นางจิรพันธ์ ยังได้กล่าวถึงการทำงานในอนาคตของหอการค้าจังหวัดแพร่ ในการต่อสู้กับห้างใหญ่ต่างถิ่น ว่า ขณะนี้ปัญหาของคดีระหว่าง ผู้ประกอบการในจังหวัดแพร่ กับองค์การบริหารส่วนตำบลนาจักร ที่อนุญาตให้ห้างบิ๊กซีเปิดกิจการได้อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ดำเนินมาแล้วถึง 2 ปีเต็ม น่าจะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้

ขณะที่กลุ่มโชวห่วยในจังหวัดแพร่ ก็เริ่มจับมือกันอีกครั้งในโครงการบัตรหม้อห้อมสมาทการ์ด ที่เป็นบัตรส่วนลดที่ทำขึ้นมาเพื่อนำเงินไปสมทบทุนในการจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติในเดือนพฤศจิกายน 50 และอาจพัฒนาเป็นโครงการคืนกำไรให้ลูกค้าโครงการ 4 ก็เป็นได้ เพื่อต่อสู้กันในยกท้ายๆ ก่อนที่กฎหมายจะจัดการกับผู้กระทำผิด ซึ่งน่าจะเริ่มได้ในปลายปีนี้ ขณะนี้ยังหาวิธีว่าจะสวมโครงการคืนกำไรกับโครงการบัตรหม้อห้อมสมาร์ทการ์ด หรือจะวางแผนขึ้นใหม่ โดยไม่ให้เกิดความเดือดร้อนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการและให้ประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากที่สุด นอกจากนั้นยังมีแผนในการพัฒนาบัตรคืนกำไรดังกล่าวให้เป็นบัตรที่สามารถใช้ได้ในภูมิภาคกลุ่มจังหวัดสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจก็เป็นได้

ทั้งนี้การเข้ามาเปิดสาขาในจังหวัดแพร่ของโลตัส - บิ๊กซี ได้รับการต่อต้านจากโชวห่วยท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง โดยระยะที่ผ่านมามีทั้งการต่อสู้ทางข้อกฎหมาย - การวางกลยุทธ์การตลาดแข่งขันกัน แทนการเดินขบวนประท้วง ซึ่งทั้งสองห้างมีประเด็นที่ผู้ประกอบการในท้องถิ่นเชื่อว่า กระทำผิดกฎหมาย กรณีโลตัสมีปัญหาพื้นที่ก่อสร้างรุกล้ำลำเหมืองสาธารณะ ส่วนห้างบิ๊กซี ฝ่าฝืนกฎหมายผังเมือง ในการตั้งสถานที่ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่ในตัวเมือง ซึ่งแม้ว่าบิ๊กซี จะขออนุญาตก่อนผังเมืองใหม่บังคับใช้ แต่ไม่ดำเนินการก่อสร้าง จนสัญญาการก่อสร้างหมดอายุลง ทั้งที่ยังไม่ได้ถมดิน จนกลายเป็นประเด็นทางกฎหมายถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาลปกครองอยู่ในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น