ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ติวเข้ม "SMEs เหนือ/อีสาน" รุกลงทุน "สปป.ลาว" อดีต Land Lock ที่กำลังกลายเป็น Land Link ที่ทรงศักยภาพในการเชื่อม จีน - เวียดนาม ชี้ FTA - ถนน R3a และสะพานข้ามโขง เร่งเปิดพื้นที่ไร้ทางออกทะเลในอดีตมากขึ้น "นักวิชาการ - ทุนไทยในลาว - อดีตขรก.ลาว" ประสานเสียงเรียกร้องทุนไทยเพิ่ม "ความจริงใจ" ในการลงทุนกับเพื่อนบ้าน แทนเป็น "นายหน้า" เร่ขายสัมปทานเหมือนในอดีต ทำให้ทุนไทยไปไม่ถึงฝัน
ในการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "แนวทางการเพิ่มปริมาณการค้าชายแดนของ SMEs ไทย (ภาคเหนือ-อีสาน) กรณีศึกษาระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว( สปป.ลาว) ที่สมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย(SMEs )ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินท์ เชียงใหม่ มีนายธงชัย วงศ์เหรียญทอง รองผู้ว่าฯเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงาน และผู้ประกอบการ SMEs เข้าร่วมกว่า 100 รายนั้น
นายนเรศ กิ้มถ้อง อุปนายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ไทยเขต 4 กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการศึกษาข้อมูลเชิงรุกสำหรับ SMEs ในการขยายการค้าใน สปป.ลาว รวมทั้งการส่งผ่านไปสู่ประเทศที่ 3 เช่น จีน เวียดนาม โดยมีเป้าหมายที่จะจัดเวทีลักษณะเดียวกัน 4 ครั้งคือ ภาคเหนือตอนบนที่เชียงใหม่ ภาคเหนือตอนล่าง ที่พิษณุโลก ภาคอีสานตอนบนที่หนองคาย และอีสานตอนล่างที่อุบลราชธานี ซึ่งจะทำให้ทราบถึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย-ยุทธศาสตร์ ที่จะทำการค้ากับ สปป.ลาว ,ระบบ Logistic แนวทางการปรับตัวของ SMEs อันจะนำไปสู่การขยายการค้าชายแดนไทย-ลาวในอนาคตด้วย
ขณะที่ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. หนึ่งในนักวิจัยในโครงการนี้ นายนพพร ประโยชน์เจริญผล ผอ.บริษัทขุดค้นถ่านหินเวียงภูคา จำกัด นักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา ดร.คำขัน นภาวง อดีตปลัดกระทรวงการค้า สปป.ลาว ที่ได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อ "แนวทางการเพิ่มการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว" มีนายสรวิชญ์ เปรมชื่น ที่ปรึกษาสมาคมฯ ดำเนินรายการด้วยนั้น ได้สะท้อนมุมมองการลงทุนทำธุรกิจใน สปป.ลาว ไว้ว่า ต้องเน้นที่ความจริงใจ และต้องเริ่มทำกันตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่จะถูก จีน-สิงคโปร์ เข้ามายึดครองกระบวนการค้าใน สปป.ลาว ที่ปัจจุบันแปรสภาพจาก Land Lock มาเป็น Land Link
นายสรวิชญ์ มองว่า ไทย-ลาว มีการค้าระหว่างกันมานานนับร้อย ๆ ปี มีมูลค่าการค้าเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 3.8 หมื่นล้าน แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาจัดระบบพัฒนากระบวนการค้าอย่างจริงจัง ทั้งที่พื้นที่แถบนี้มีช่องทาง - โอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยมาก สามารถเชื่อมต่อถึงจีน-เวียดนามได้
ดร.คำขัน นภาวง อดีตปลัดกระทรวงการค้า สปป.ลาว ให้ทัศนะว่า การลงทุนจากต่างประเทศในลาวที่ผ่านมาไม่สำเร็จ เพราะขาดความจริงใจ เป็นไปในลักษณะ "นายหน้า" นำสัมปทานที่ได้มาเร่ขาย โดยที่ไม่มีเงินลงทุนจริง เมื่อขายไม่ได้ก็ไม่ทำมากกว่า ทั้งที่ยืนยันได้ว่า การเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว ปัจจุบันได้กำไรแน่นอน
ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ที่ลงพื้นที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับระบบ Logistic ในแถบอินโดจีนตอนบน โดยเฉพาะ สปป.ลาว มานานหลายปี กล่าวว่า การลงทุนของผู้ประกอบการไทยในประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่า ลาว มักถูกถามเรื่อง "ความจริงใจ" มากที่สุด
เขาบอกว่า ทุกวันนี้แม้ว่า ไทยจะเข้าไปลงทุนในลาวมากที่สุด แต่เป็นเพียงการลงทุนของกลุ่มทุนใหญ่ เช่น กลุ่มมิตรผล ล็อกซเล่ย์ ฯลฯ และการค้าชายแดนเพียว ๆ ของทุนท้องถิ่น ที่ข้ามเส้นพรมแดนไปไม่เกิน 10 กิโลเมตร(กม.) ที่เป็นธุรกิจเชิงรับ ส่วนกลุ่ม SMEs ที่สามารถรุกเข้าไปลงทุนได้ กลับไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า เป็นเพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ขณะที่จีน - สิงคโปร์ ที่รุกเข้ามาลงทุนใน สปป.ลาว มากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น กลับได้รับการสนับสนุนจากรัฐอย่างเต็มที่
"ตัวเร่งที่จะทำให้ สปป.ลาว เป็นพื้นที่เปิดสำหรับการลงทุน มีทั้ง FTA ที่จะมีผลต่อทุกประเทศในอีกไม่กี่ปีนี้ ถนน R3a ไทย ลาว จีน จะเสร็จสมบูรณ์ในปีนี้ ขณะที่สะพานเชื่อมเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว กับเชียงของ จ.เชียงราย ก็จะเสร็จในค.ศ.2010 ก็จะทำให้ลาวกลายเป็น Land Link ทันที"
ดร.ปุ่น ระบุว่า วันนี้เราต้องคุยกันแล้วว่า R3a เราจะทำกันอย่างไร ระหว่างไทย ลาว จีน จะเข้าไปลงทุนอะไร ระหว่างสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติ ,เทรดดิ้ง ,ท่องเที่ยว , เกษตรกรรม Contract Framing ขณะที่การขนส่ง ก็ต้องรวมพลังกัน แทนที่จะ "ส่งใคร ส่งมัน" เหมือนที่ผ่านมา ที่ทำให้ต้นทุนสูงมาก ไม่เช่นนั้นจะสู้จีนไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ทางจีนของขนสินค้ากันครั้งละมาก ๆ รวมตัวกันทำ มีนโยบายรัฐหนุนเต็มที่ เข้าถึงทุกเมือง ในลาว และถ้าถนน - สะพานเสร็จสมบูรณ์ ก็จะมีขบวนสินค้าจากจีนผ่านเชียงราย - แหลมฉบัง ไม่น้อยกว่า 4-5 พันคันต่อวัน
"SMEs ไทยต้องคุยกันแล้ว รวมตัวกันตั้งกลุ่ม Cluster ขึ้นมา เพิ่มศักยภาพในการรุกเข้าไป ขอให้รัฐเข้ามาสนับสนุน แทนที่จะทำกันแบบต่างคนต่างทำ"
ขณะที่นายนพพร ประโยชน์เจริญผล ผอ.บริษัทขุดค้นถ่านหินเวียงภูคา จำกัด ที่ทำเหมืองลิกไนต์ที่เมืองเวียงภูคา สปป.ลาว มาตั้งแต่ปี 2536 จนถึงทุกวันนี้ บอกว่า เดิมการเดินทางจากชายแดนเชียงของ จ.เชียงราย - เวียงภูคา ระยะทางประมาณ 100 กว่า กม.ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมงแต่ตอนนี้ใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมงทะลุขึ้นไปถึงชายแดนจีน กลายเป็นเมืองศูนย์กลางที่สามารถเดินทางไปจีน ด้วยระยะทางเพียง 100 กว่า กม. หรือมาไทย ก็มีระยะทางเพียง 100 กว่า กม.เท่านั้น จึงเป็นพื้นที่ ที่สามารถลงทุนทำธุรกิจบริการได้หลากหลาย เป็นจุดแวะพักรถทั้งขาขึ้น-ขาล่อง