xs
xsm
sm
md
lg

30บ.ยุคขิงแก่เจ๋งกว่าแม้ว เผยประชาชนให้7เต็ม10

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้( 29 ส.ค.) นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า สปสช.ร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ได้แจ้งผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ให้บริการต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประจำปี 2550 โดยศึกษากลุ่มตัวอย่าง 4,093 ตัวอย่าง บุคลากร- ผู้ให้บริการในสถานพยาบาลในโครงการฯจาก 29 จังหวัดทั่วประเทศ มีทั้งกลุ่มวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในทุกสังกัดและทุกพื้นที่สำนักงานสาขาเขตของสปสช. 13 เขต ระหว่างวันที่ 6 มิ.ย.-27 ก.ค.50
ทั้งนี้ พบว่า ผู้ให้บริการมีความพึงพอใจมีความสุขในการทำงานสูงขึ้น จากปี 48 พบว่าทุกกลุ่มอาชีพพอใจในอาชีพของตนเองถึงร้อยละ 58.9 และปี 49 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 69.9 ล่าสุดปี 50 ผู้ให้บริการพึงพอใจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 72.1โดยกลุ่มทันตแพทย์ มีความสุขและพึงพอใจทำงานมากที่สุด รองลงมาคือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และพยาบาล
สำหรับผู้ถือบัตรทอง มีความพอใจในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 7.73 คะแนน จากคะแนนเต็ม10 ขณะเดียวกัน หากเป็นกลุ่มตัวอย่างที่เคยใช้บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา มีความพอใจ 8.04 คะแนน โดยร้อยละของตัวอย่างมีความพึงพอใจในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสูงขึ้น กล่าวคือในปี 49 มีความพึงพอร้อยละ 80.20 ขณะที่ปี 50 มีความพึงพอใจถึงร้อยละ 83.16 โดยในจำนวนนี้ มีความพอใจในการให้บริการของแพทย์ถึงร้อยละ 90 และร้อยละ 87.6 พอใจกับคุณภาพการบริการของพยาบาล และผู้ช่วยพยาบาล และยอมรับว่าได้รับยาที่มีคุณภาพดีถึงร้อยละ 85.9 ขณะที่ร้อยละ 90 พอใจต่อผลการรักษา โดยมีค่าเฉลี่ยในการรอรับการตรวจ 1 ชั่วโมง 12 นาที และร้อยละ 89.3 ตั้งใจที่จะกลับมาใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอีก หากมีปัญหาเจ็บป่วย
"ผลการสำรวจนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนมีความพอใจในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและพอใจกับการให้บริการของบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น และยอมรับว่า ผู้ถือบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เข้าถึงโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง อย่างไรก็ตาม แพทย์-พยาบาลเห็นว่า ในปี 51 โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้จัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นจะดีต่อโครงการอย่างมาก โดยเฉพาะปี 51 ได้รับการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว 2,100 บาท/คน/ปี และจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน ซึ่งก้าวต่อไประบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือความพยายามที่จะลดภาระงาน โดยเน้นเรื่องการส่งเสริมศูนย์แพทย์ชุมชนบริการใกล้บ้านใกล้ใจ เพื่อลดความแออัดในรพ. การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและมีกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่นเพื่อลดภาระโรค" รมว.สธ. กล่าว
วันเดียววัน นพ.มงคล ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติเห็นชอบตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายผู้ป่วยโรคไต ที่ยื่นขอให้ขยายสิทธิการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย บอร์ด สปสช. ได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศึกษาและเร่งจัดทำข้อมูล เพื่อนำเสนอต่อครม. ภายในเดือนต.ค.นี้ ซึ่งจากจำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังตามที่มีข้อมูลจะใช้เงินราว 1,800 ล้านบาท
ด้าน นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. ได้นำร่องศึกษาการจัดระบบดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังใน 3 จังหวัด คือ รพ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น และ รพ.สงขลานครินทร์ จ.สงขลา เป็นเวลา 1 ปี พบว่า ได้ผลน่าพอใจ เนื่องจากมีความพร้อมของบุคลากร ประชาชน และอุปกรณ์วัสดุเครื่องมือแพทย์ ซึ่งผลการศึกษาในพื้นที่นำร่องพบว่า ผู้ป่วยมีความพึงพอใจ ดังนั้น ในปีนี้มีความเป็นไปได้ที่จะขยายรูปแบบเดียวกันนี้ในอีก 15 จังหวัด โดยจะเลือกจังหวัดที่มีความพร้อมทางด้านบุคลากร อุปกรณ์ และท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมี 3 วิธี คือ การผ่าตัดเปลี่ยนไต การฟอกเลือด และการล้างไตผ่านช่องท้อง อย่างไรก็ตาม สำหรับวิธีที่ 3 วิธีล้างไตผ่านช่องท้อง เป็นวิธีที่ผู้ป่วยสามารถทำเองได้ที่บ้าน ภายใต้การดูแลและแนะนำจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หากทำเองอย่างถูกวิธีแล้ว จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากที่สุด กล่าวคือ โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 15,000 บาท ต่อคนต่อเดือน ซึ่งการใช้วิธีล้างไตผ่านช่องท้อง ผู้ป่วยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้มากขึ้น เป็นวิธีที่นิยมมากในประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง
กำลังโหลดความคิดเห็น