xs
xsm
sm
md
lg

แฉ”บริษัทยา”เจ้าเล่ห์ไม่จริงใจ-แทงข้างหลังจ้องล้ม CLทุกทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายภาคประชาชนเปิดโปงพฤติกรรมบริษัทยาลวงโลกไม่จริงใจ สร้างภาพเป็นคนดี แต่จ้องล้มซีแอลไทยทุกวิถีทาง เตือนสธ.ไม่ควรอ่อนข้อให้กับบริษัทยามากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ พร้อมกดดันคณะกรรมการควบคุมราคายาพิจารณาแอ็บบอตทำผิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้าหรือไม่ ชี้ผลวิจัยออสซี่เชื่อมโยงบริษัทยาอยู่เบื้องหลัง

วานนี้ (24 ก.ค.) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และเครือข่ายประชาชนต้านแอ็บบอต แถลงข่าว “เปิดโปงเล่ห์กลบริษัทยาในความพยายามล้มเลิกซีแอลในไทย” พร้อมสนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุขยืนหยัดในการใช้มาตรการซีแอลต่อไป

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่ที่ไทยประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาโดยรัฐ (ซีแอล) กับยา 3 ชนิด คือ ยาต้านไวรัสเอชไอวี เอฟฟาไวเร้นท์ ยาต้านไวรัสที่มีสูตรผสมระหว่างโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์ และยาโรคสลายลิ่มเลือดหัวใจและหลอดเลือดโคพิโดเกรล ก็ได้จับตาพฤติกรรมบริษัทยา โดยเฉพาะบริษัท แอ็บบอต ลาบอแรตอรีส

กล่าวคือหลังจากไทยทำซีแอลก็ประกาศลดราคายาให้ทุกประเทศยกเว้นไทยโดยจะยอมลดราคาก็ต่อเมื่อไทยยกเลิกการทำซีแอลเท่านั้น ถือเป็นการไม่เคารพสิทธิอันชอบธรรมที่ประเทศไทยมีสิทธิตามกฎหมายที่จะทำซีแอลได้

“รับไม่ได้กับพฤติกรรมของแอ็บบอตที่สร้างภาพไปทั่วโลก โดยก่อนหน้านี้ก็ใช้เงินสร้างภาพให้รางวัลตัวเอง เป็นรางวัลGlobal Business Coalition on HIV/AIDS Award ของกลุ่มธุรกิจยาที่ตั้งขึ้น เพื่อมอบรางวัลให้กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเพื่อให้คนเข้าถึงยา ถือเป็นโฆษณาชวนเชื่อ หลอกลวง ขณะที่ในการเจรจาต่อรองราคายากับสธ.หลายครั้ง แอ็บบอตมีเงื่อนไขในการให้ไทยยกเลิกทำซีแอลโดยตลอด ไม่เคยพูดจะลดราคายาให้ แต่ใช้วิธีซื้อ 10 แถม 5 หรือซื้อผู้ใหญ่แถมยาเด็ก หรือใช้ทริกว่าไม่อยากคุยกับคณะเจรจาเพราะไม่มีอำนาจตัดสินใจ เพราะหากแอ็บบอต มีเจตนาที่ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงยาของผู้ติดเชื้อจริง ต้องหยุดสร้างเงื่อนไขที่แอบแฝงมากับการช่วยเหลือต่างๆ รวมทั้งกลับมาขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้วย”นายนิมิตร์ กล่าว

นายนิมิตร์กล่าวต่อว่า ส่วนการเจรจาต่อรองราคายาของกระทรวงสาธารณสุข
ที่มีเงื่อนไขจะซื้อยาต้นตำรับหาก ราคายานั้นมีราคาสูงไม่เกินกว่า 5% ของราคายาซื่อสามัญ เพื่อให้ยาต้นตำรับลดราคาลงมาสู้กับยาสามัญ เป็นการอ่อนข้อและประนีประนอมให้บริษัทยาจนถึงที่สุดแล้วและภาคประชาชนสามารถยอมรับได้ แต่บริษัทยาก็ไม่สนใจ แต่ยืนยันยังให้ราคาเดิมไม่ลดราคาลง หรือมีเงื่อนไขแลกกับการยกเลิกการทำซีแอล ไม่เจรจาตรงไปตรงมาและไม่คำนึกถึงชีวิตคน ดังนั้น สธ.จะต้องไม่อ่อนข้อให้มากไปกว่านี้ เพราะหลังชนฝาแล้ว

“ขณะนี้มีความกังกลว่า บริษัทยาจะยื้อการเจรจาไปเรื่อยๆ ซึ่งการซื้อเวลา จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโดยเฉพาะยาคาเรทต้าที่ขณะนี้คาดว่าที่เหลืออยู่ในสต็อกใช้ได้อีก 3 เดือนเท่านั้นหากไม่เร่งสั่งซื้อหรือนำเข้าอาจเกิดปัญหาผู้ป่วยขาดยา ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น”

นายนิมิตรกล่าวด้วยว่า ส่วนผลการวิจัยจากประเทศออสเตรเลียเกี่ยวกับการทำซีแอลในไทยและประเทศบราซิล นั้น คงจะต้องถามว่าใครเป็นคนจ้าง เพราะผลการวิจัยไม่ต่างจากข้อมูลของยูเอสเอ ฟอร์ อินโนเวชั่น ก่อนหน้านี้เลย จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการเชื่อมโยงของบริษัทยาอยู่เบื้องหลัง เนื่องจากงบประมาณด้านการป้องกันและรักษาโรคเอดส์เพิ่มขึ้นตลอดทุกปี ทั้งสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงบประมาณก็ให้ความสำคัญกับปัญหาโรคเอดส์มาก

ด้านน.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือถึงกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเรียกร้องให้แอ็บบอตกลับมาขึ้นทะเบียนยาใหม่กับอย.ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการถอนการขึ้นทะเบียนไป เนื่องจากเป็นการทำผิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ซึ่งได้รับการยืนยันจากนักกฎหมายว่า พฤติกรรมครั้งนี้ของแอ็บบอตเข้าข่ายผิดกฎหมายอย่างแน่นอน ดังนั้น ขอให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเร่งการพิจารณาว่า การกระทำของแอ็บบอตผิดกฎหมายหรือไม่และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ตามเครือข่ายประชาชนต้านแอ็บบอตจะเดินหน้ารณรงค์ “เลิกซื้อ เลิกใช้” สินค้าของบริษัทแอ็บบอตต่อไป โดยขณะนี้มีเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศอาเซียนที่ยินดีให้การสนับสนุนมาตรการดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ ในส่วนของคณะกรรมการควบคุมราคาสินค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ดูแลติดตามราคายาโดยเฉพาะ กลับไม่ทำหน้าที่แต่เข้าไปควบคุมราคาสำลี ยาแก้ปวดที่มีการแข่งขันกันมากและมีกลไกตลาดควบคุมราคาอยู่แล้ว ขณะที่ยาสำคัญที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต มีการผูกขาดกลับไม่เข้าไปดูแล ทั้งๆ ที่กลไกราคายามีความบกพร่อง ไม่ทราบโครงสร้างราคาที่ชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น