xs
xsm
sm
md
lg

3พรรคเสนอแก้กม.พรรคการเมือง ประธาน-กก.สาขาไม่ต้องแจ้งบัญชี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปชป.-ชท.-พมช. ประสานเสียงแก้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ต้องขจัดปัญหานายทุนฮุบพรรค เสนอกำหนดเพดานการรับบริจาค อำนวยความสะดวกรายย่อย เลิกให้ปธ.สาขาพรรคแสดงบัญชีทรัพย์สิน ด้าน"ประสงค์" ชี้เสียดายกลุ่มเคลื่อนไหวตั้งพรรคขณะนี้ไร้เจตนารมณ์ทำเพื่อบ้านเมือง หวังแค่ล้มร่างรธน. อย่างเดียว ระบุไปเร่ขายไอเดียถึง บก.ทบ. ถามกลับอยากนำรธน. 40 ปัดฝุ่นใช้ เพราะต้องการผูกขาดอำนาจรัฐใช่หรือไม่ ขณะที่ 3 หน.พรรค หวั่นลูกน้องทำพรรคโดนยุบ หากไปซื้อเสียงในศึกเลือกตั้ง บี้ กกต.ต้องชัดเจนการกระทำใดเข้าข่าย กรณีกลั่นแกล้งดูแลอย่างไร

วานนี้ ( 11 ก.ค.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมืองโดย น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า พรรคการเมือง ก็เหมือนพาหนะที่จะขับเคลื่อนให้การเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ถ้าเปรียบเป็นรถไฟ หัวรถจักรก็คือกรรมการบริหารพรรค ผู้โดยสารคือ สมาชิกพรรค ที่ผ่านมาพรรคการเมืองตั้งง่าย ตั้งแล้วก็ไม่ได้ส่งผู้สมัคร แต่ได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองเป็น 10 ล้าน สถานที่ตั้งก็ไม่มีแน่นอน การยกร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง จึงอยากฝากในเรื่องเหล่านี้ด้วย

นอกจากนี้การดำเนินการของพรรคการเมือง ถ้าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการตั้งพรรคถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะนี้การรวมกลุ่มกันเคลื่อนไหวเพื่อขอจดจัดตั้งพรรค น่าเสียดายว่าไม่ใช่ตั้งเพื่อมาทำประโยชน์ให้บ้านเมือง แต่กลับเป็นลักษณะเพื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ที่ยกร่างกันมาด้วยความยากลำบาก ทั้งที่หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ก็จะได้มีการเลือกตั้ง บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ถ้าไม่ผ่าน คมช. ก็ต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาใช้บังคับ เลือกตั้งก็ล่าช้า บ้านเมืองอาจปั่นป่วนไม่ปกติ

"ฝากไปถึงคนเหล่านี้ปรารถนาดีอะไรกับบ้านเมือง ถ้าเปรียบสถานการณ์ตอนนี้เหมือนขบวนรถไฟ บางพรรคนั่งอยู่ในรถไฟดีๆ เห็นป้ายโฆษณาว่ามีขบวนใหม่รออยู่ข้างหน้า ก็ลงมาเพื่อรอรถไฟขบวนใหม่ แต่ก็ไม่มาสักที เหตุการณ์อย่างนี้กำลังจะเกิดขึ้น บางคนไปเร่ขายตั๋วรถไฟ ให้คนมาขึ้นรถไฟของตัวเองก็มี บางคนไปเร่ขายที่ บก.ทบ. ไม่รู้เขาจะซื้อหรือไม่ ก็กำลังรอดูอยู่" น.ต.ประสงค์ กล่าว

ที่ผ่านมามีการพูดว่า รัฐธรรมนูญปี 40 ผูกขาดอำนาจรัฐ จึงทำให้มีการร่างจำกัดการผูกขาดอำนาจรัฐไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ 50 แต่เวลานี้ไม่เข้าใจว่า ทำไมจึงมีการคิดที่จะนำรัฐธรรมนูญ 40 มาใช้อีก หรือเพราะคนที่อยากนำกลับมาใช้อยากผูกขาดอำนาจรัฐใช่หรือไม่

ด้านนายเกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม ประธานคณะอนุกรรมาธิการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวว่า เมื่อคณะอนุกมธ.ได้ยกร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองเสร็จแล้ว จะส่งให้พรรคการเมืองพิจารณาเพื่อขอความเห็น ซึ่งส่วนตัว เห็นว่า

1. การเมืองในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ 2. ลักษณะของพรรคการเมืองต้องมีการส่งผู้แทนลงเลือกตั้งในทุกระดับ จริงจังในการดำเนินการ มีการทำงานที่ต่อเนื่อง ไม่ใช่ตั้งขึ้นเฉพาะกิจ 3. พรรคการเมืองต้องมีฐานมาจากประชาชน ไม่เป็นตัวแทนของกลุ่มทุน

4. ต้องมีหลักประชาธิปไตย พรรคต้องเป็นของคนทั้งพรรคไม่ใช่ของนายทุนพรรค หัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค ต้องมีวาระการดำรงตำแหน่งและการเลือกต้องทำโดยลับ สมาชิกต้องถอดถอนหัวหน้าพรรคได้ 5. พรรคการเมืองต้องพึ่งตัวเองได้ เช่น การรับบริจาคกับรายย่อยไม่ควรกำหนดกติกายุ่งยาก แต่รายใหญ่ต้องเปิดเผยตรวจสอบได้ เพื่อไม่ให้การบริจาคมากมามีอิทธิพลต่อการทำกิจกรรมพรรค หรือ การสนับสนุนพรรคของกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง พรรคที่ไม่ส่งผู้สมัครไม่ควรได้รับการสนับสนุน ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจำนวนสมาชิกซ้ำซ้อน ที่เวลานี้มี 15 ล้านคน และเพื่อทำให้พรรคการเมืองเป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง คิดว่าควรจะมีการยกเลิกระบบสมาชิกพรรคเดิมเสียก่อนแล้วสมัครโดยลงลายมือชื่อ ส่งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองกันใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ตัวแทนพรรคการเมืองจาก 3 พรรค ทั้ง นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หัวหน้าพรรคมหาชน ต่างเห็นตรงกันว่า การสนับสนุนเงินให้กับพรรคการเมืองโดยผ่านกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ยังเป็นเรื่องจำเป็น ขณะเดียวกันการรับบริจาคก็ไม่ควรกำหนดกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยาก สำหรับผู้บริจาครายย่อย ขณะที่รายใหญ่ต้องเปิดเผยและตรวจสอบได้ พร้อมทั้งกำหนดเพดานสูงสุดของการบริจาคเพื่อไม่ให้ผู้ที่บริจาคเข้ามามีอิทธิพลภายในพรรคการเมือง ขณะเดียวกันควรยกเลิกการกำหนดให้ประธาน และกรรมการสาขาพรรคต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน เพราะทำให้การขยายสาขาพรรคทำได้ยาก ไม่สามารถหาคนมาทำงานได้ นอกจากนี้ ควรมีการปรับหลักเกณฑ์ สัดส่วนที่นำมาเป็นฐานในการคิดจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง และไม่เห็นด้วยกับการล้างระบบสมาชิก แล้วเริ่มต้นใหม่

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ 3 หัวหน้าพรรคการเมือง แสดงความเป็นห่วงก็คือ การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรค 2 กำหนดว่า หากผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง แล้วผู้บริหารพรรคไม่มีการระงับยับยั้ง มีสิทธิถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค และ กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี ได้ โดยนายบรรหาร กล่าวว่า วิตกมากกับการถูกยุบพรรคจากรณีนี้ ตนไม่เห็นด้วยกับการซื้อเสียงอยู่แล้ว แต่ถามว่าอย่างนี้แกล้งกันได้ไหมเช่น ผมส่งคนไปอยู่ในพรรค ปชป. แล้วให้เงินไปซื้อเสียง หากศาลเชื่อ จะทำอย่างไร ตรงนี้เป็นปัญหา ดังนั้นที่บอกว่า เมื่อยกร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองเสร็จแล้ว จะส่งให้พรรคการเมืองเพื่อรับฟังความเห็น ก็ขอให้ฟังพรรคการเมืองให้มากๆ อย่าอคติ

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตรงนี้ต้องไปดูในกฎหมายเลือกตั้งด้วย เพราะน่าจะมีการกำหนดไว้ว่า หากรู้เห็น สนับสนุนมีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งแล้วไม่มีการระงับยับยั้ง มีสิทธิที่พรรคจะถูกยุบ ดังนั้นในทางปฏิบัติ หาก กกต.ได้รับการร้องเรียน ก็สามารถแจ้งมายังพรรคการเมือง ซึ่งหากพรรคการเมืองไม่ดำเนินการยับยั้ง จึงจะถือว่าเข้าข่ายเสนอยุบพรรคได้ แต่ กกต.ก็ควรต้องกำหนดขั้นตอนต่างให้ชัดเจน

อย่างไรก็ตามในส่วนของกฎหมายพรรคการเมืองที่เวลาในการยกร่างจำกัดนั้น หากมีการเปลี่ยนอะไรมากก็จะมีปัญหา โดยเฉพาะถ้าเลือกตั้งในปีนี้ กฎเกณฑ์ต่างๆ ต้องเอื้อต่อการแข่งขัน ไม่อย่างนั้นการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองก็อาจไม่สัมฤทธิ์ผล

ส่วนพล.ต.สนั่น ขจรประศาสย์ หัวหน้าพรรคมหาชน กล่าวว่า การยุบพรรค กรณีมีผู้สมัครของพรรคไปซื้อเสียงเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีการออกกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนว่า การกระทำแบบใดที่ถือว่าเข้าข่ายถูกยุบพรรค แล้วถ้าเป็นกรณีกลั่นแกล้งกันจะป้องกันอย่างไร นอกจากนี้การจัดเลือกตั้งของ กกต.จะทำอย่างไรให้บริสุทธิ์ โปร่งใส ปราศจากการซื้อเสียง และที่มาตรา 239 ของรัฐธรรมนูญให้อำนาจ กกต.ในการวินิจฉัยผู้สมัครว่า หากทำผิดก็สามารถถอดถอนได้เลย ตรงนี้หมายถึงพรรคหรือเฉพาะคน

ด้านนางสดศรี สัตยธรรม กกต. กล่าวตอนหนึ่งระหว่างประชุมรับฟังความเห็นตัวแทนพรรคการเมืองเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสมาชิกซ้ำซ้อน ว่า ต้องการให้พรรคการเมืองตั้งยาก และเมื่อมีการยื่นขอจัดตั้งแล้ว ภายใน 1 ปีก็ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาความสามารถในการดำเนินการกิจกรรมทางการเมือง หากเห็นว่ามีความสามารถจึงจะรับจดจัดตั้งให้ แต่ก็พบว่ามีปัญหาน่าเป็นห่วงต่อไปว่า จะมีการซื้อขายชื่อพรรค ทางอนุกรรมาธิการจึงหารือกันว่าที่วางหลักเกณฑ์ไว้นั้นถูกต้องแล้วหรือไม่ เพราะเท่ากับว่า เป็นการวางเกณฑ์ให้มีการจดตั้งชื่อพรรค และยุบพรรคยาก แต่เราก็หนีไม่พ้นเรื่องการซื้อขายชื่อหัวพรรค

ขณะที่ นายอนุชิต ปราสาททอง รองผอ.สำนักบริหารการสนับสนุนโดยรัฐ ของสำนักงาน กกต. กล่าวว่า เมื่อพิจารณาคุณสมบัติที่ยังคงมีสิทธิส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้ ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ฉบับปัจจุบันนั้นปรากฏว่า จนถึงขณะนี้มีเพียง 19 พรรคการเมือง ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน
กำลังโหลดความคิดเห็น