xs
xsm
sm
md
lg

ประเวศหนุนสื่อร่วมแก้วิกฤติ ชี้สังคมขัดแย้งเหมือนไก่ในเข่งรอถูกเชือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (24 มิ.ย.) ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง"คิดเพื่อประเทศไทย คิดไปข้างหน้า" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า วันนี้เราคุยกันเรื่องของอนาคต เพราะว่าสังคมใดสังคมหนึ่งหากติดอยู่กับอดีตจนเคลื่อนไปอนาคตไม่ได้ ก็จะเข้าไปสู่สภาวะวิกฤต จนออกไม่ได้ หรือ ติดอยู่กับปัญหาปัจจุบัน ซึ่งมีมากมายและแก้ยากๆ ก็จะออกจากวิกฤตการณ์ไม่ได้
วิธีการคือ มองอนาคตร่วมกัน อนาคตที่ดี มีเป้าหมายร่วมกัน แล้วรวมตัวกันไปทำสิ่งใหม่ที่ดี อันนี้จะง่ายกว่า และเมื่อเกิดความสำเร็จจะเกิดความชื่นชมร่วมกัน และเกิดความเชื่อถือ (Trust) ความไว้วางใจกัน จากนั้นจะทำให้สามารถย้อนมาแก้ปัญหาต่าง ๆ และปัญหายาก ๆ ได้ ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า ตนอยากนำเสนอ 4 ข้อ เพื่อจะทำให้เกิดตรงนี้ ข้อที่ 1. คือตนคิดว่าเราต้องการจินตนาการใหม่ มุมมองใหม่ เพราะคิดว่าคนไทยเราเหมือนถูกสะกดจิต หรือถูกวางยาไว้ ให้มีจินตนาการบางอย่าง มุมมองบางอย่าง ทำให้ชาติหมดกำลังลง เช่น คิดว่าประเทศไทยยากจน คนไทยไม่ดี ไม่เก่ง เราต้องพึ่งพาคนอื่น เราถูกสะกดไว้ตรงนี้ซึ่งไม่เป็นความจริง ยกตัวอย่างประกอบได้ว่า 1. คนจีนเวลาเรือมาเหยียบเมืองไทยก็มองว่ารอดตายแล้ว เพราะเป็นประเทศอุดมสมบูรณ์ 2. นักวิชาการญี่ปุ่นเขียนบทความวิชาการว่า Thailand is rich , Japan is poor. เขาไม่ได้พูดเล่น แต่เปรียบเทียบทรัพยากรธรรมชาติว่าไทยมีมากมาย เหลือเฟือ 3. มีคนอังกฤษชื่อมาร์ติน วินเล่อร์ เดินทางรอบโลก มาติดใจประเทศไทย และติดใจชาวบ้านจ.ขอนแก่น โดยมาร์ติน เล่าให้ฟังว่า เขามีที่ดินมากกว่าที่ต่างประเทศ เขามีงานทำตลอดปี มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ในหมู่บ้านมีอากาศบริสุทธิ์ไม่มีมลพิษเหมือนในประเทศบ้านเกิด และลูกเขาวิ่งเล่นให้หมู่บ้านได้อย่างปลอดภัย เพราะฉะนั้นชีวิตในประเทศไทย ถือเป็นชีวิตที่ดีมาก ซึ่งเหล่านี้ได้ให้ภาพอีกภาพหนึ่งว่าประเทศไทยมีความสมบูรณ์ และสามารถจัดให้ทุกคนพออยู่พอกินในระยะเวลาอันสั้นใน 5 ปีข้างหน้า ให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าเรามีมุมมองใหม่
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า เรื่องของคน ส่วนใหญ่มักมองว่าคนไทยไม่เก่ง มีความรู้น้อย เพราะการมองแต่เพียงความรู้ในตำรา แต่หากมองความรู้ในตัวคน คือวัฒนธรรม และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เป็นเครื่องมือ ทุกวันนี้เราเอาความรู้ในตำราเป็นตัวตั้งโดยทิ้งวัฒนธรรมไป ซึ่งการศึกษาแบบนี้จะทำให้คนไทยขาดรากเหง้าของตัวเพราะเอาแต่ท่องหนังสือ ถ้าเรามองให้ลึกการศึกษาที่ทิ้งวัฒนธรรมเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ
"ตอนคุณทักษิณ เป็นนายกฯ ปีแรก ผมเสนอให้ท่านจัดงบเพิ่มให้ สกว.ให้ไปสนับสนุนทุกมหาวิทยาลัย แล้วให้แต่ละมหาวิทยาลัยลงไปทำแผนที่มนุษย์ (Human Mapping) ว่าทุกคนทำอะไรเก่ง แล้วทำฐานข้อมูลทั้งประเทศ ทุกคนจะเก่ง และกลายเป็นคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีทั้งประเทศ และเราจะมีข้อมูล ซึ่งจะกลายเป็นฐานทางเศรษฐกิจ นายกฯ ทักษิณ ก็เป็นคนหัวไว ท่านก็เข้าใจ ที่อาจารย์พูดว่า คล้าย ๆ จีไอเอส แต่ตรงนี้เป็นแผนที่คน แต่ท่านคงยุ่งก็เลยไม่ได้หันกลับมาทำตรงนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำได้คนส่วนใหญ่จะมีเกียรติ แต่ถ้าเราถือความรู้เฉพาะในตำรา คนส่วนใหญ่จะขาดความมั่นใจ เลยไปถึงการขาดความมั่นใจแห่งชาติ ดังนั้นเราต้องมีจินตนาการทางสังคมใหม่ที่ดี จากนั้นภายใน 5 ปี เรียบร้อยหมดทั้งประเทศ ถ้าเรามีความฝันร่วมกัน และมีจินตนาการใหม่"
ประการที่ 2 ถ้าเรามองว่า ประเทศของเรามีความขัดแย้ง ร้อยปีที่ผ่านมามีความขัดแย้ง มีการปฏิวัติรัฐประหาร มีการฆ่ากัน ร้อยแปด รวมทั้งปัญหาภาคใต้ด้วย ทั้งหมดเป็นโรค"ไก่อยู่ในเข่ง" คือไก่ ระหว่างถูกกักขังอยู่ในเข่งรอถูกนำไปฆ่าวันตรุษจีน ระหว่างนั้นจะจิกตีกัน ซึ่งตนพูดมานานแล้ว เราทุกคนต้องพร้อมใจกันออกจากเข่ง แต่ไก่ไม่สามารถพร้อมใจกันได้ กลับแต่จะจิกตีกันทำให้ตายทั้งหมด
"ผมหมายถึงคนไทยทั้งหมดจะต้องรวมตัวกันออกจากเข่ง ซึ่งเข่งหมายถึงสภาพแคบที่บีบคั้น แต่เราไม่ใช่ไก่ เราเป็นคน ถ้าเรารู้ว่าเราลำบากร่วมกัน ถ้าเราไม่ออกจากเข่ง เราก็ตายด้วยกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นแทนที่จะจิกตีกัน เรามารวมตัวกันออกจากเข่ง ออกไปสู่ภพภูมิใหม่ที่มันเปิดกว้าง ผมเคยเรียนท่านนายกฯทักษิณว่า ท่านอย่าไปใช้อำนาจเพราะมันไม่ได้ผลและในที่สุดอำนาจต่างๆ จะรุมกลับมาและจะเกิดอำนาจมรณะ ก็เรียนท่านไว้ และบอกท่านว่าต้องเปิดพื้นที่ทางสังคม และเปิดพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง อันนั้นคือ ออกจากเข่ง เปิดออกมาให้ทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีร่วมกันหมด อย่าไปใช้อำนาจครอบไว้" ศ.นพ.ประเวศ กล่าว
ประเด็นที่ 3 เราได้คุยถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ตนขอยกตัวอย่างจากพระไตรปิฎก สมัยพุทธกาล พระภิกษุในกรุงโกสัมพี ทะเลาะกันแบ่งกันเป็น 2 ขั้ว พระพุทธเจ้าเสด็จไปห้ามก็ไม่เชื่อ และขอพระผู้มีพระภาคจงขวนขวายน้อย หมายความว่า อย่ามาห้าม จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงดำเนินหลบพระที่ทะเลาะกันเข้าไปป่าปาเลไลย์ ขณะที่ประชาชนก็เบื่อมากที่พระทะเลาะกันไม่หยุด เลยหยุดใส่บาตรทั้งคู่ พระทั้ง 2 ฝ่าย จึงหมดแรงก็เลยหยุด ดังนั้นเวลาคนทะเลาะกันมาเชิญตนไปห้าม ตนจะไม่ไป เพราะขนาดพระพุทธเจ้ายังห้ามไม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่าหวังว่านายกฯ จะไปห้าม หรือพระเจ้าอยู่หัวจะไปห้าม เพราะขนาดพระพุทธเจ้ายังห้ามไม่ได้ ดังนั้นประชาชนต่างหากที่มีบทบาทในการห้าม
ศ.นพ.ประเวศ เสนอว่า ถ้าเรามีเวทีสาธารณะ แล้วเรามีกรอบกติกาที่ตกลงร่วมกัน แล้วประชาชนเข้าใจเป็นผู้กำกับ โดยกรอบกติกาตรงนี้คือ คุณขัดแย้งกันได้ เถียงกันได้ ไม่เห็นด้วยได้ แต่ต้องใช้สันติวิธี ไม่ใช้อาวุธ ไม่ละเมิดผู้อื่น แล้วมาพูดจากันโดยใช้ข้อมูลหลักฐาน และเหตุผล แล้วมาพูดกัน โทรทัศน์ วิทยุถ่ายทอดทั่วประเทศ แล้วให้คนทั้งประเทศเป็นผู้ดู แล้วมีกรอบกติกาว่าคุณจะพูดอะไรต้องมีหลักฐานและเหตุผล และจะรู้อย่างรวดเร็ว ว่าใครทำผิดประชาชาชนจะเห็น จะช่วยกำกับพฤติกรรมของนักการเมืองได้
"ถ้าจัดเวทีตรงนี้ต่อไปทุกฝ่ายมาพูดกันได้ จะมีกติกาอย่างที่ว่า คุณวีระ จักรภพ จตุพร อะไรเนี่ยะ มาใช้เวทีนี้ได้ พูดจากกันด้วยเหตุผล เขาเป็นเพื่อนคนไทยเหมือนกัน เขาไม่ใช่ยักษ์มารที่ไหน ต้องถือทุกคนเป็นเพื่อนกัน เหมือนคนในครอบครัว ลูกเราก็ไม่ได้ดีไปหมดทุกคน ญาติพี่น้องบางทีก็ไม่ดี เราก็ไม่ได้ตัดออก ก็ยังเป็นเพื่อนคนไทยอยู่ ถ้าเรามีจิตใจอย่างนี้ มีเวทีอย่างนี้ แล้วมีประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้ดู สิ่งต่างๆ จะขยับดีขึ้น และถอดชนวนลงโดยรวดเร็ว" ศ.นพ.ประเวศ กล่าว
ประการสุดท้าย เราต้องเข้าใจว่า อะไรที่เป็นรากฐานของความร่มเย็นเป็นสุข ต้องจับให้ได้ว่าอะไรเป็นรากฐานของสังคมคุณธรรม จากนั้นภายใน 4-5 ปีจะเรียบร้อย ทั้งนี้ สังคมที่ดี จะต้องประกอบด้วย 1. ต้องมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ เป็นปัจจัยให้เกิดสังคมร่มเย็นเป็นสุข 2. การสร้างพระเจดีย์จะต้องสร้างจากฐาน ประชาธิปไตยก็เช่นกัน จะต้องมาจากรากฐาน สร้างจากฐานรากคือชุมชน ท้องถิ่นต้องเข้มแข็ง หากช่วยกันตรงนี้ ภายใน 5 ปีข้างหน้าการเรียกร้องประชาธิปไตยเกิดขึ้น ประชาธิปไตยจากฐานรากก็จะเป็นตัวรองรับทั้งหมด 3. สังคมใดเป็นสังคมดำ เศรษฐกิจการเมืองก็จะไม่ดี จะต้องเป็นสังคมที่ทุกคนมีความเสมอภาค ภราดรภาพ 4. ต้องใช้ยุทธศาสตร์การสื่อสารอย่างเต็มที่ ระบบที่ดีที่สุดคือ ร่างกายของเรา เนื่องจากภายในร่างกายเชื่อมโยงเป็นเอกภาพ ดังนั้นขณะนี้เรามีเทคโนโลยีมากมาย ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารไปพร้อม ๆ กันหมดในเรื่องเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราต้องทำการสื่อสารให้ดีที่สุด ซึ่งเราจะต้องมีเวทีพูดจากัน และ 5. หากเรามีการเมืองสร้างสรรค์ การเมืองเป็นอำนาจ ถ้าเรามีการเมืองสร้างสรรค์ประเทศก็จะร่มเย็นเป็นสุขโดยรวดเร็ว
ศ.นพ. ประเวศ กล่าวต่อว่า การเมืองสร้างสรรค์ คือทำทุกข้อที่ตนว่ามา เพราะฉะนั้นคือการทำอย่างไรจะมาร่วมสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน ทำอย่างไรพรรคการเมืองจะมาทำให้คนไทยรวมใจกันบินออกจากเข่ง แล้วก็ทำอย่างไรพรรคการเมืองจะมาร่วมสร้างท้องถิ่นเข้มแข้ง ถ้าพรรคการเมืองได้มีส่วนร่วมตรงนี้จะพัฒนาไปสู่การเมืองที่สร้างสรรค์

**ความกลัวทำให้ไม่กล้าออกจากเข่ง
ด้านพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังรับฟังแนวความคิดจาก ศ.นพ.ประเวศ ว่า คิดว่า สิ่งที่ได้พูดกันวันนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แม้ตนจะได้ฟังเฉพาะช่วง ศ.นพ.ประเวศ ซึ่งได้สรุปสถานการณ์ และอนาคตของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี สิ่งที่ตนเรียนรู้มาในช่วงชีวิตก็คือ เรื่องของความกลัว ความกลัวเป็นอันหนึ่งที่ทำให้เราไม่ค่อยอยากจะออกจากเข่ง ทำอย่างไรที่เราจะได้แหวกความกลัวออกไปได้ ศ.นพ.ประเวศ ได้พูดถึงความเชื่อมั่น คนที่จะนำจะต้องมีความเชื่อมั่นสูง และมีความสามารถทำให้ความกลัวของผู้คนลดลง นั่นเป็นจุดสำคัญ
ในส่วนที่ ศ.นพ.ประเวศ พูดถึงชุมชนเข้มแข็ง ตนเห็นด้วย และในส่วนนี้รัฐบาลก็ได้พยายามทำให้ชุมชนพึ่งตัวเองได้ ทำอย่างไรที่เราจะสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งตรงนี้ ซึงก็จะทำให้เขาหลุดพ้นจากความกลัว ซึ่งความกลัวของคนเบื้องต้นคือ เรื่องปัจจัย 4 ที่ทุกคนจะกลัวไม่มีข้าวงสารกรอกหม้อ ไม่มีอะไรกิน ไม่มียารักษาโรค สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานการดำรงชีวิต แต่สิ่งที่มีเหนือกว่า ก็คงเป็นเรื่องของผู้ที่ระงับความกลัวได้ อย่างที่ตนได้กล่าวแล้วผู้ที่ระงับความกลัวได้ หมายถึง ผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง มองผ่านสิ่งที่เราอาจเห็นด้วยตาเหล่านี้ และมองผ่านว่าอนาคตข้างหน้านั้นจะเป็นอย่างไร ที่ตนเรียนตรงนี้ก็คือสิ่งที่เราพยายามสร้างขึ้นมา คือสังคมที่มีคุณธรรมนำความรู้ ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการ ก็พยายามเร่งรัด และคิดว่าในช่วงต่อไปข้างหน้านั้น การศึกษาเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะให้ประชาชนมีโอกาสเรียนรู้เพิ่มเติม
"สิ่งที่หมอประเวศพูดถึง ผมเห็นด้วยว่า ดีที่สุดก็คือ การปฏิบัติ ใครที่ได้ปฏิบัติด้วยตัวเอง คนนั้นจะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ในประสบการณ์ของตัวผม ผมจะจำภาพได้ดีกว่าตัวหนังสือ ถ้าผมเห็นภาพ ผมไปที่สถานที่ไหนแล้ว ในชีวิตผมไม่เคยลืม ภาพนั้นจะอยู่ในความทรงตำจำของผมตลอด นั่นก็เป็นวิธีที่จะสะสมเรียนรู้ ผมอ่านหนังสือ ผมจะต้องนึกให้เป็นภาพให้ได้ ถ้าเป็นภาพแล้วผมจะเข้าใจและจดจำได้ง่ายขึ้น นั่นเป็นส่วนที่อยากฝากว่า การปฏิบัติ เมื่อทำกับมือเราจะสามารถอธิบายได้ทุกขั้นตอน ถ้าเราได้ทำมากับมือ เราก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น"

**ต้องเน้นเรื่องการศึกษาเพื่ออนาคต
พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในภาพรวมทั้งหมดนี้ถ้าเราสามารถสอดแทรกสิ่งที่ ศ.นพ.ประเวศ พูดได้ในทุกส่วน ตนเน้นเรื่องการศึกษาเพราะจะสร้างฐานความรู้ที่มั่นคงต่อไปในอนาคต และสิ่งสำคัญเราต้องสอดแทรกเรื่องคุณธรรมเข้าไป สังคมของเรามีปัญหาหลายด้าน แต่ตนไม่คิดว่าจะแก้ไม่ได้ ตนพูดตลอดเวลาว่าใช้วิธีการคุยกัน โดยที่ไม่ต้องกำหนดกรอบ หลังจากนั้นมันก็จะมีกรอบขึ้นมาเอง หลังจากนั้นมันก็จะไปสู่การเจรจาได้
"เป็นเรื่องที่อยากฝากไว้ว่า เห็นด้วยกับหมอประเวศ 99.99% ขอฝากอีกเรื่องที่จะทำให้คนคลายจากความกลัวได้ บางคนกลัวสูญเสีย กลัวว่าจะไม่ได้ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ สิ่งเหล่านี้เราต้องขจัดความกลัวให้ได้ แล้วเราจะก้าวข้ามหรือดันเข่งไปได้" พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าว และว่า ที่พูดวันนี้ไม่ได้พูดในฐานะนายกฯ เพราะไม่ชอบเอาตำแหน่งไปพูดในที่อื่น ถ้าพูดในตอนนี้ก็ถือว่าตัวเองเป็นทิดที่ได้สึกมาสัก 2 ปีแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.สุรยุทธ์ เดินทางมาถึงในเวลา 15.30 น. และได้เข้าร่วมรับฟังการปาฐกถาของ ศ.นพ.ประเวศ จากนั้นพล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวถึงความเห็นส่วนตัว และขอตัวไปงานศพแม่ของเพื่อนตำรวจที่เคยทำงานมาด้วยกันนานกว่า 10 ปีทันทีโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมแก่สื่อมวลชน

**วิกฤติเกิดจากความกลัวของคน2 กลุ่ม
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะเลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันที่เกิดขึ้น มีที่มาจากความกลัวของคู่ขัดแย้ง ซึ่งตามจิตวิทยามวลชนนั้นถือว่า ความกลัวเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เกิดอะไรก็ได้ ทั้งนี้ คู่ขัดแย้งที่เกิดความกลัวนั้น กลุ่มที่ 1 คือ คนทำรัฐประหาร ต้องกลัวแน่ว่าหลังจากนี้ไป เมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วอะไรจะเกิดขึ้น เขาจะถูกเช็กบิลหรือไม่ กลุ่มที่กลัวไม่แพ้กันคือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่รู้ตัวเองอยู่ตรงไหนตอนที่คุณทักษิณกลับมา
กลุ่มที่ 2 ที่กลัวคือ กลุ่มทักษิณเอง กลัวทั้งคดีอาญา และคดียึดทรัพย์ พวกแกนนำม็อบสนามหลวงก็กลัว แม้ว่าในม็อบบางส่วนก็เรียกร้องต่อต้านรัฐประหารจริง แต่อีกบางส่วนก็ทำด้วยความกลัว คือ ถ้ามองตามสภาพจิตวิทยาทั้งหมดแล้ว จะตอบปัญหาได้ว่า ถ้าจะมาแก้ปัญหาให้คนที่กำลังขัดแย้งกันหยุดตีกันนั้น เลิกพูดเถอะ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเขากลัว และเขาต้องทำให้ความกลัวของเขาหมดไปเขาจึงจะเลิก นี่คือจงใจ ดังนั้นถ้าต้องการแก้ข้อขัดแย้งทางการเมืองตรงนี้ จะต้องทำให้ความกลัวของทั้งสองฝ่ายหมดไป ซึ่งตนก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นด้วยกับ ศ.นพ.ประเวศ ว่าควรจะคิดอะไรไปข้างหน้า ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ในช่วงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ทุกคนยังมีความหวังที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 40 แต่ทุกวันนี้ไม่มีอะไรเป็นความหวังที่อยู่ข้างหน้า ที่เราจะร่วมกันได้ และหยุดคิดเรื่องความขัดแย้ง ความกลัวแล้วมองไปข้างหน้า
"โจทย์ใหญ่ ถ้าเราจะข้ามสถานการณ์ช่วงนี้ ต้องทำให้สถานการณ์เหมือนเมื่อปี 40 คือสร้างความหวังต่อสังคมไทยขึ้นมา แล้วก็ช่วยกันทำให้คนที่ไม่มีเสียง ที่เราเรียกว่า"พลังเงียบ" เป็นคนที่มีเสียงขึ้นมา เพราะคนเหล่านี้เป็นคนจำนวนมากที่รับผลกรรมหมู่ ที่ทำกันมาทั้งประเทศ แต่ไม่มีเสียงที่จะแสดงออก"
นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า บทบาทสำคัญขณะนี้อยู่ที่สื่อมวลชน ซึ่งปัจจุบันนี้ตนพูดอย่างไม่เกรงใจว่า สื่อมีความผิดเพี้ยนไปมาก ลองคิดดูว่า วันหนึ่งเราสามารถทำหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับ และเอาโทรทัศน์หนึ่งช่อง มาทำเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งถูกขจัดไป ก็ทำแบบเดียวกัน แปลว่า สื่อไม่ได้ทำหน้าที่สื่ออย่างแท้จริง มันมีอะไรผิดเพี้ยนอยู่
"ที่ผมคิดว่าตรงนี้เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะว่าเสียงของพลังเงียบ จะได้ยินออกมาสู่คู่ขัดแย้ง และทำให้คู่ขัดแย้งต้องกลับมานั่งคิดว่า สิ่งที่เราขัดแย้งกันอยู่นี้ คนส่วนใหญ่เขาไม่เอาด้วย มันผ่านสื่อเท่านั้น เพราะฉะนั้นสื่อต้องทำหน้าที่อีกอย่างคือ รักษาจรรยาบรรณ ไม่ให้คนเอาไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง และทางเศรษฐกิจส่วนตัว ของตัวเอง เพราะในปัจจุบันเห็นแต่การเรียกร้องสื่อออกจากรัฐ แต่ไม่มีการเรียกร้องสื่อออกจากทุน" เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าว
ดังนั้นประเด็นที่ต้องคิดเวลานี้คือ อะไร คือความหวังที่จะให้เหมือนปี 40 เหมือนที่เคยสร้างความหวังให้เรามุ่งสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อให้ทุกคนเรียกร้องไปให้ถึงตรงนั้น และเมื่อตรงนั้นออกมาได้แล้ว คู่ขัดแย้งตอนนี้พอถึงเวลานั้นจะอยากมีเวที และถ้าหากยังไม่ถึงตรงนั้น เราจะต้องจัดเวทีให้เขาได้หรือไม่ อย่างไร ในรูปแบบไหน บอกตรงๆ ว่า วันนี้เทคโนโลยีตรงนี้ยังขาด
"ประเด็นที่สาม คือ คู่ขัดแย้ง ภายใต้ภาวะแบบนี้ ผมก็คิดว่าลำบาก แต่ก็จำเป็นที่จะต้องให้เขาพูดและให้คนเห็นว่าคำพูดของเขามันนำไปสู่สังคมแบบไหน แต่ว่ามันให้พูดอย่างเดียวไม่พอ จะต้องมีการวิจารณ์และระดมความคิดกัน ไม่ใช่ให้พูดฝ่ายเดียว เพราะจะเป็นการพูดสิ่งที่ตัวเองอยากพูด และจะทำให้เกิดปัญหาในการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน" นายบวรศักดิ์ กล่าว
นายบวรศักด์ กล่าวสรุปว่า ควรให้เปิดเวทีสาธาณะ รับฟังความคิดเห็นโดยเฉพาะประชาชนพลังเงียบ เพื่อมานั่งคุยกันว่าจะลดความขัดแย้งในสังคมอย่างไรบ้าง โดยมีเครือข่ายที่เป็นแกน 12 องค์กร เช่น สภาการหนังสือพิมพ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ นักวิชาการจากสถาบันต่างๆ องค์กรภาคประชาชน และภาคเอกชน โดยมีจุดมุ่งหมายคิดไปข้างหน้า และปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งคำพูด วาจา และ กาย ซึ่ง 1-2 สัปดห์ข้างหน้า อาจจะกลับมาคุยกันว่าจะคิดการใหญ่กันอย่างไร เราจะต้องเปิดรับสมัครเครือข่าย เพื่อมาร่วมกับ 12 องค์การข้างต้น อาจจะมีสื่อมวลชนเป็นเครื่องมือเพื่อติดต่อสื่อสารระหว่างกลุ่ม มานั่งคุยกันอย่างสันติวิธี และใช้เทคโนโลยีใหม่
"เราจะคิดกันว่า หลังการเลือกตั้ง รัฐบาลชุดใหม่ จะต้องเดินหน้ามีนโยบายอย่างไรบ้าง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง" นายบวรศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น