xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.ร.สรุปนายกฯต้องเป็นส.ส. นั่งเก้าอี้ไม่เกิน8ปี-ใช้เสียง1ใน5เปิดซักฟอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.40 น. วานนี้ (24มิ.ย.) ที่รัฐสภา ได้มีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ... ซึ่งกรรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำเสร็จแล้ว โดยนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธาน ส.ส.ร. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาในส่วนที่ 9 การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจใน มาตรา 154 โดยร่างของกรรมาธิการกำหนดให้ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 เข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ นายการุณ ใสงาม ส.ส.ร.ได้เสนอให้ลงชื่อเพียง 2ใน 3 ของเฉพาะฝ่ายค้านก็พอ โดยให้เหตุผลว่า ในอดีตได้เกิดตัวอย่างที่ไม่สามารถอถิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ ก็เพราะฝ่ายค้าน 3 พรรคมี 125 เสียงพอดี ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคชาติไทยรวมกันได้ 122 เสียง ขาดอีก 3 เสียง ของพรรคมหาชนที่ส.ส.ไม่ลงชื่อด้วย ทำให้ไม่ครบจำนวน ดังนั้น 3 เสียงที่หายไป กลายเป็นเพียงที่กำหนดอนาคตของชาติ และยิ่งมีรัฐบาลผสมหลายพรรค ก็จะทำให้เสียงฝ่ายค้านได้ไม่ถึง 100 เสียง
อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการได้ยอมลดจำนวนส.ส.ที่เสนอญัตติจาก 1 ใน 4 มาเป็น 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขถ้อยคำของกรรมาธิการด้วยเสียง 38 ต่อ 31 งดออกเสียง 4 เสียง
จากนั้นได้พิจารณาในมาตรา 155 เกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งเดิมกรรมาธิการกำหนดจำนวนส.ส.ที่จะเข้าชื่อ 1 ใน 5 แต่เปลี่ยนมาเหลือ 1 ใน 6 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่มีอยู่ ขณะที่นายการุณ เสนอให้เข้าชื่อเพียงกึ่งหนึ่งของฝ่ายค้าน โดยมติที่ประชุมเห็นด้วยกับการแก้ไขใหม่ของกรรมาธิการ 43 ต่อ 27 เสียง
สำหรับ มาตรา 156 ที่กำหนดให้เมื่อรัฐบาลบริหารมา 2 ปีแล้ว สมาชิกที่ไม่ได้อยู่ในพรรคการเมืองที่นายกรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจสังกัดอยู่ สามารถเข้าชื่อยื่นญัตติได้จำนวน 1 ใน 5 และรัฐมนตรี ใช้เสียง 1 ใน 6 แต่กรรมาธิการได้ขอแก้ไขให้สมาชิกสามารถเข้าชื่อเพียงกึ่งหนึ่งของฝ่ายค้านก็สามารถยื่นญัตติไม่ไว้วางใจได้ ทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี
ส่วนมาตรา 157 ที่ระบุว่า ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 มีสิทธิเข้าชื่อเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้ครม.แถลงข้อเท็จจริงในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งนายสมชัย ฤชุพันธุ์ ส.ส.ร. ขอแปรญัตติให้ลดจำนวนมาเหลือกึ่งหนึ่ง ขณะที่นายการุณ เสนอให้ลดเหลือเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ปรากฎว่า กรรมาธิการยอมแก้ไขตามที่นายการุณ เสนอ
ส่วนการพิจารณาในมาตรา 158 เกี่ยวกับการกำหนดให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีมีหน้าที่เข้าประชุมเพื่อชี้แจง หรือตอบในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาตั้งกระทู้ถาม หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ก็ต้องแจ้งก่อนหรือในวันประชุมในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ ส.ส.มีอิสระจากมติพรรคการเมืองในการตั้งกระทู้ถาม การอภิปรายและการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอ
จากนั้นเป็นการพิจารณาหมวด 7 การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน
มาตรา 159 เรื่องการเสนอกฎหมายของประชาชนต่อรัฐสภา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. แต่มี ส.ส.ร.เสนอว่า ควรจะแก้ให้ใช้จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวรรคหนึ่ง เพียง 10,000 คน เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขในเรื่องเดียวกันนี้ไปแล้วไว้ในมาตรา 138 (4) ที่สุด ที่ประชุมเห็นด้วยกับการแก้ไขในมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้สอดคล้องกับมาตรา 138 (4) และยังเห็นด้วยกับการที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอในมาตรา 159 วรรคสี่ ให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่ประชาชนเสนอ
ต้องให้ผู้แทนประชาชนที่เสนอร่าง พ.ร.บ.นั้นชี้แจงหลักการของร่าง พ.ร.บ.ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาและให้มีผู้แทนประชาชนที่เสนอร่าง พ.ร.บ.ใน กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.นั้น ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวน กมธ.ทั้งหมดด้วย
ส่วนการเข้าชื่อของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 20,000 รายชื่อ เสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภามีมติตาม มาตรา 265 (เกี่ยวกับวิธีการลงคะแนนของวุฒิสภาในการถอดถอน) ให้ถอดถอนบุคคลตามมาตรา 261 (เกี่ยวกับตำแหน่งที่วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนได้) ซึ่งนายการุณ เสนอให้ลดจำนวนผู้เข้าชื่อถอดถอนเหลือเพียง 5,000 คน เนื่องจากจำนวน 20,000 คนมากเกินไป อีกทั้งการตรวจสอบรายชื่อและมีประชาชนไม่กล้าร่วมลงชื่อ เนื่องจากการเสนอถอดถอน ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนไม่เช่นนั้นอาจมีการฟ้องกลับผู้ยื่นถอดถอนได้
ด้าน นายวิชา มหาคุณ รองประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 3 ยืนยันว่าจะให้มีจำนวนผู้เข้าชื่อ 20,000 คนตามร่างของ กมธ. และชี้แจงว่า ถามว่าจะลดจำนวนลงจาก 20,000 คนได้หรือไม่ การยื่นถอดถอนควรมีจำนวนประชาชนพอสมควร กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญก็มองว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กำหนดว่าต้องมีจำนวน 50,000 รายชื่อ
กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจึงลดลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 20,000 คน อีกทั้งการถอดถอนไม่มีเพียงการเข้าชื่อของประชนชน การเข้าชื่อถอดถอนเป็นช่องทางสุดท้ายของประชาชน ไม่ใช่ช่องทางแรกช่องทางแรกในการตรวจสอบ คือการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ต่อมานายการุณขอที่จำนวน 10,000 คน เพื่อให้เป็นเกณฑ์เดียวกันกับการเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ. ซึ่ง นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ. ให้ใช้รายชื่อ 10,000 คนนั้น กมธ.เห็นด้วย แต่การถอดถอนขอให้มีมากกว่า 10,000 คน เพราะหากเท่ากันจะเกิดปัญหา กมธ.จึงขอยืนที่ 20,000 ที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับร่างของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญให้ใช้จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าชื่อถอดถอนบุคคลตาม มาตรา 261 รวม 20,000 คน ด้วยคะแนนเสียง 46-31 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง
เกี่ยวกับการสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการออกเสียงประชามติ ที่ประชุมเห็นชอบตามร่างของ
กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้การออกเสียงประชามติให้กระทำได้ในเหตุต่างๆ คือ (1) กรณีที่ ครม.เห็นว่าเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศหรือประชาชน (2) กรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติซึ่งการออกเสียงประชามตินี้อาจจัดเพื่อมีข้อยุติหรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ ครม.ก็ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ ก่อนการออกเสียงประชามติ รัฐต้องดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ และให้โอกาสทั้งฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบมีโอกาสแสดงความคิดเห็นได้อย่างเท่าเทียมกัน
สำหรับการพิจารณาในหมวด 9 คณะรัฐมนตรีในมาตรา 167 วรรค 2 ที่มาของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ร่างของกรรมาธิการ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ขอสงวนความเห็นตัดข้อความในวรรค 2 ออกทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น โดยระบุว่า หากกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. จะเป็นการรอนสิทธิประชาชน เพราะผู้นำที่เหมาะสมไม่ใช่มีแต่หัวหน้าพรรคที่มีอยู่เพียง 4-5 คนเท่านั้น ขณะที่เสียงข้างมาก อาทิ นายปกรณ์ ปรียากร กรรมาธิการเสียงข้างมาก ชี้แจงว่า เราได้เพิ่มสิทธิให้กับประชาชน แต่ทำไมเรากลับไม่เชื่อคนที่ประชาชนเลือก หากไม่กำหวดไว้ อาจมีคนนั่งเรือใบสีฟ้า มาเป็นนายกฯในอนาคตได้
นายเจิมศักดิ์ ปิ่มทอง ส.ส.ร. กล่าวว่า ส.ส.-ส.ว.และคนอื่นก็ควรเป็นนายกฯได้ ซึ่งไม่ใช่เลือกใครที่ไหนก็ได้ เพราะส.ส.เลือก แต่ถ้าไม่เอาตามกรรมาธิการ ประชาชนก็คว่ำรัฐธรรมนูญอีก ทำให้เรากลายเป็นนักปฏิบัติ ทั้งๆ ที่เราก็ได้เห็นตัวอย่าง กรณี นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานรัฐสภา ที่เสนอชื่อคนอื่นที่ไม่ได้เป็นส.ส.มาเป็นนายกฯ และรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ ก็มีผู้คนปรบมือ อย่าให้สังคมบีบให้เราทำตามอารมณ์ของสังคม ตนรู้สึกอึดอัดที่ต้องตระบัดสัตย์ต่อหลักการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเริ่มที่จะตึงเครียดขึ้นเพราะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยยกมือ และอภิปรายกันจำนวนมาก และมีถ้อยคำกระทบกระทั่งกันหนักขึ้น โดยเฉพาะนายมนตรี เพชรขุ้ม ส.ส.ร. กล่าวว่า มีไข้อะไรแทรกแซงขึ้นมา หรือเปิดโอกาสให้ใครกันแน่ ถ้าอยากจะเข้ามาก็เข้ามาในแบบเลือกตั้ง ถ้า ส.ส. 480 คนไม่มีความสามารถเป็นนายกฯได้แม้แต่คนเดียว ก็ลาออกไปเลย ขณะที่ได้อภิปรายกันกว้างขวาง ได้มีสมาชิกเสนอให้แขวนมาตรานี้เอาไว้ก่อน แต่บางคนได้ขอให้ปิดการประชุม แต่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ รองประธานสภาที่ทำหน้าที่ประธานการประชุมในขณะนั้น ชี้แจงว่า สมาชิกไม่สามารถเสนอญัตติให้ปิดการประชุมได้ ซึ่งได้มีสมาชิกหลายคนไม่ต้องการให้ปิดการประชุมเช่นกันเพราะเหลือเวลาน้อยแล้ว บรรยากาศเริ่มตึงเครียดหนักขึ้นประธาน จึงได้สั่งพักการประชุม 1 ชั่วโมง
หลังจากเปิดประชุมอีกครั้ง ประธาน ยังเปิดให้มีการอภิปรายกันต่อเนื่อง กว่า 1 ช.ม. ในที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก ด้วยคะแนน 73 ต่อ 4 เสียง งด ออกเสียง 3 เสียง
ส่วนวรรค สี่ การกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ กรรมาธิการเสียงข้างมากได้แก้ไขโดยตัด 2 สาระออกไป และกำหนดให้ไม่เกิน 8 ปี แต่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยแบ่งออกเป็น2 กลุ่ม คือ เสนอให้ตัดออกไปทั้งวรรค และ เสนอให้กำหนดเป็น 2 วาระ แทนที่จะกำหนดเป็นจำนวนปี แต่ในที่สุดเสียงส่วนใหญ่ 42 เสียง ต่อ 16 เสียง เห็นตามการแก้ไขของกรรมาธิการเสียงข้างมาก โดยมีผู้งดออกเสียง 7 เสียง จากนั้นประธานได้สั่งปิดประชุมเมื่อ เวลา 20.10 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น