ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมภาคใต้จี้รัฐให้ความสำคัญโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ที่ต้องชะงักไปหลังจากที่มีการรัฐประหาร ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เดินหน้าเวิร์กชอประดมความเห็นอย่างต่อเนื่อง ระบุทั้งรัฐบาลนี้และรัฐบาลหน้า ต้องเร่งผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดเพื่อดึงเงินลงทุนเข้ามาพัฒนาภาคใต้ ชี้หากยังเมินเฉยจะทำให้ประเทศตามเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและพม่าไม่ทัน
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เดินหน้าผลักดันโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โดยล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการจัดเสวนาเชิงปฏิบัติการขึ้นที่โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ จ.สงขลา เรื่อง "การพัฒนาท่าเรือชายฝั่งตะวันตกกับการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้"โดยมีการนำผู้ที่เกี่ยวข้องและนักธุรกิจในพื้นที่เดินทางเข้าสำรวจพื้นที่ สำหรับก่อสร้างท่าเรือปากบารา รวมทั้งท่าเรืออื่นๆ ในภาคใต้ ทั้ง จ.กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมพิจารณาสร้างท่าเรือฝั่งตะวันตก ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้
จากการติดตามของ "ผู้จัดการรายวัน" พบว่า โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลปากคลองบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ห่างจากกรุงเทพมหานคร 973 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ สำหรับสร้างลานจอดรถบรรทุก อาคารสำนักงานต่างๆ และพื้นที่ใกล้แนวน้ำลึกประมาณ 165 ไร่
จากการออกแบบของบริษัทที่ปรึกษาโครงการ คือ บริษัท เอทีที. คอนซัลแตนท์ จำกัด พบว่า ท่าเรือน้ำลึกปากบารามีพื้นที่ขนาดหน้ากว้าง 750 เมตร สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ประมาณ 1.5 ล้านตู้ เทียบกับท่าเรือน้ำลึกสงขลา ที่รับได้ประมาณ 1 แสนกว่าตู้ ท่าเรือน้ำลึกปากบาราอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเล 4.5 กิโลเมตร เชื่อมด้วยสะพาน 4 เลนจากชายฝั่ง ใช้งบประมาณการก่อสร้างรวม 9.5 พันล้านบาท
แบ่งเป็นงบประมาณก่อสร้างท่าเรือประมาณ 8 พันล้านบาท และเป็นงบประมาณจัดซื้อและติดตั้งเครนยกตู้คอนเทนเนอร์ อีกประมาณ 1.5 พันล้านบาท สามารถรับเรือบรรทุกสินค้าได้ทั้งขนาดเล็ก 2.5 หมื่นตัน และเรือขนาดใหญ่สุด 7 หมื่นตัน เทียบกับท่าเรือน้ำลึกสงขลาสามารถรับได้เฉพาะเรือบรรทุกสินค้าขนาดเล็กประมาณ 1 หมื่นตัน และจะมีการขุดร่องน้ำยาวประมาณ 3 กิโลเมตร เพื่อเป็นเส้นทางเดินเรือสู่ท่าเรือ
จากการนำแผนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารานำเสนอต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทย ปรากฏว่า การท่าเรือฯ มีแนวคิดให้ขยายเป็นโครงการขนาดใหญ่ขึ้น โดยเพิ่มเป็นท่าเรือที่สามารถรองรับตู้สินค้าได้ 3.2 ล้านตู้ และ 5.1 ล้านตู้ พร้อมทั้งจัดโรดโชว์ไปยังจังหวัดสตูล สงขลา ตรัง สุราษฎร์ฯ นครฯ ตามลำดับ เพื่อระดมแนวคิดจากผู้ประกอบการในแต่ละสาขา หลังจากนั้นจึงจะนำผลสรุปที่ได้ไปพัฒนาโครงการ แล้วจึงนำเสนอต่อการท่าเรือฯอีกครั้ง
หลังจากที่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีมติให้ยุบบอร์ดการท่าเรือฯ เดิม และทำการสรรหาใหม่ ทำให้โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราชะงักไปชั่วคราว และคาดการณ์กันว่าจะมีการสานต่อโครงการนี้ในรัฐบาลชุดต่อไป ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทั้งนี้หากโครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติ คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 9.5 พันล้านบาท สำหรับโครงการก่อสร้างท่าเรือฯ ขนาด 1.5 ล้านตู้ ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี (พ.ศ.2551 - 2554) จะมีการก่อสร้างเป็นเฟสๆ ในช่วงแรกจะสร้างท่าเรือหน้ากว้าง 750 เมตร รับตู้สินค้าได้ 5 แสนตู้ และจะมีการขยายเพิ่มขึ้นอีก
การจัดเสวนาเชิงปฏิบัติการ "การพัฒนาท่าเรือชายฝั่งตะวันตกกับการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้" นายทวี ปิยะพัฒนา ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ กล่าวว่า ภาคธุรกิจการลงทุนในพื้นที่ สนับสนุนเต็มที่ให้มีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เชื่อมท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 เป็นแลนด์บริดจ์เส้นทางเศรษฐกิจสำคัญ ที่จะดึงดูดนักลงทุนเข้ามา ซึ่งรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้าต้องรีบลงมือสร้าง
"วันนี้ภาคใต้มีปัญหา ถ้าไม่มีการกระตุ้น เรื่องการพัฒนา แล้วจะไปจูงใจใครให้เข้ามาลงทุนได้ ท่าเรือที่ จ.สตูล เป็นแนวที่เหมาะสมที่สุด ถ้าอยากเห็นภาคใต้เจริญรุ่งเรืองต้องรีบสร้างท่าเรือโดยเร็วที่สุด" นายทวี กล่าว
ขณะที่นายโอฬาร อุยะกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา กล่าวว่าการขนส่งสินค้าส่งออกภาคใต้ต้องผ่านประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่แพงขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้พื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดเริ่มอิ่มตัว คงต้องมีการขยายตัวลงมาทางเซาเทิร์นซีบอร์ดในอนาคต โดยเฉพาะการขนส่งทางทะเลภาคใต้ เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ไม่เฉพาะ จ.สตูล แต่ทุกจังหวัดจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้รวมทั้งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
"เรื่องนี้ รัฐบาลนี้ หรือรัฐบาลหน้าต้องสนใจอย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้นขีดความสามารถการแข่งขันของเราจะตามไม่ทันมาเลเซีย หรือแม้แต่พม่า" นายโอฬาร กล่าว