xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.ร.ไม่เอาองค์กรแก้วิกฤติชาติ ซื้อเสียงเจอยุบพรรค-ตัดสิทธิ์5ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส.ส.ร.ผ่าน ม.67 และ 231/1 เรื่องทุจริตเลือกตั้ง จะถูกศาลรธน.สั่งยุบพรรค ตัดสิทธิ์กก.บริหาร 5 ปี ส่วน ม.68 ให้ตัดวรรค 2 ว่าด้วย"องค์กรแก้วิกฤติชาติ"ออก พร้อมมีมติให้เลื่อนการพิจารณาเรื่องการบรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติออกไปเป็น27-28 มิ.ย. ด้านแกนนำพระอดน้ำ อดอาหาร วอนให้ร่นเข้ามา ชี้หากพระมรณภาพ ส.ส.ร.ต้องรับผิดชอบ
 
เมื่อเวลา 09.45น.วานนี้(18มิ.ย.) ได้มีการการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.... เป็นวันที่ 6 โดยมี นายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นประธาน ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายนรนิติ ได้กำชับถึงเวลาการอภิปรายว่า จะมีการประชุมจนถึงเวลา 22.00 น. หรืออย่างช้าไม่เกิน 24.00 น. ของทุกวัน ดังนั้น จึงขอร้องไม่ให้ใครลุกขึ้น ขอปิดการประชุมก่อนเวลาที่กำหนด และวันเสาร์-วันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ ได้สำรองเป็นวันประชุมเพิ่มแล้ว
 
จากนั้น ที่ประชุมได้เริ่ม พิจารณา มาตรา 67 ซึ่งมีใจความสำคัญ คือ บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้
 
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ส.ร. ได้ขอแปรญัตติให้เพิ่ม กรณีการทุจริตเลือกตั้ง ให้ถือเป็นความผิดตาม มาตรา 67 ด้วย ซึ่งกรรมาธิการยกร่างฯ ได้ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวจะบัญญัติอยู่ในมาตรา 231/1 อยู่แล้ว ซึ่งทำให้นายเจิมศักดิ์ไม่ติดใจ
 
ส่วนกรณีที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้เพิ่มในวรรคท้าย ที่มีใจความว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง เพราะมีการกระทำความผิดดังกล่าว ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้า และกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบเป็นระยะเวลา 5 ปีด้วยนั้น ที่ประชุมไม่ติดใจ และให้ผ่าน มาตรา 67 โดยมีการปรับแก้ถ้อยคำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
 
จากนั้น ที่ประชุมได้นำ มาตรา 231/1 มาพิจารณา เพราะเห็นว่ามีเนื้อหาใกล้เคียงกับ มาตรา 67 โดยมาตรา 231/1 มีใจความว่า หากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคผู้ใด มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเลือกตั้ง ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้น กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองดังกล่าว ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปีด้วย ซึ่งสุดท้ายที่ประชุม มีมติเห็นด้วยกับมาตราดังกล่าว โดยมีการปรับแก้ถ้อยคำเพียงเล็กน้อย
 
สำหรับมาตรา 68 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญในวรรค สอง เกี่ยวกับองค์กรแก้วิกฤติชาติ ที่กมธ.ยกร่างฯ ได้ตัดออกไป แต่นางสดศรี สัตยธรรม ส.ส.ร. ได้ขอแปรญัตติให้มีวรรคสองเช่นเดิม และให้เพิ่มผู้นำเหล่าทัพ อยู่ในองค์กรแก้วิกฤติชาติดังกล่าวด้วย
 
ทั้งนี้ นางสดศรี ได้เสนอให้บัญญัติข้อความในวรรคสองว่า "ในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ภาวะคับขัน หรือเกิดสถานการณ์จำเป็นอย่างยิ่งในทางการเมือง ให้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานองค์กรอิสระตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และผู้นำเหล่าทัพของสภากลาโหม เพื่อพิจารณาหาทางป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการดำเนินการขององค์กรแก้วิกฤติดังกล่าว ให้อยู่ภายใต้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยองค์กรแก้วิกฤตการณ์แห่งชาติ"
 
ขณะที่ ส.ส.ร. คนอื่น ๆ เช่น นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ต่างก็แปรญัตติให้มี วรรคสอง เกี่ยวกับองค์กรแก้วิกฤติชาติ เพียงแต่ให้มีเนื้อหา หรือถ้อยคำแตกต่างกับนางสดศรี เท่านั้น
 
นายปกรณ์ ปรียากรณ์ กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า สาเหตุที่กมธ.ยกร่างฯ ได้ตัดวรรคสอง ออก เพราะจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะองค์กรตามรัฐธรรมนูญ พบว่า ส่วนใหญ่เห็นชอบให้ตัดมาตราดังกล่าวออก
 
ขณะที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ได้มีการพิจารณาประเด็นดังกล่าวมานาน จึงได้หยิบยกมาใส่ในร่างแรก ก่อนคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เสียงส่วนใหญ่จะตัดออกไป อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นด้วยที่ให้มีวรรคสอง เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ในภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ไม่มีช่องทางที่จะมาพูดจาหารือกัน และไม่อยากให้รบกวนเบื้องพระยุคลบาท ดังนั้น ถ้าหากเราจะคงไว้ แต่ตัดตำแหน่งที่ไม่ต้องการให้มาเกี่ยวด้วย ก็คงทำได้ แต่หากไม่ให้มีวรรคสองเลย หากเกิดมีวิกฤติ ก็คงต้องไปรบกวนเบื้องพระยุคลบาทอีก ซึ่งเราไม่ต้องการเช่นนั้น จึงอยากให้ที่ประชุมตัดสินใจ
 
นายศรีราชา เจริญพานิช กมธ.ยกร่าง กล่าวว่า อาจจะเป็นเรื่องแปลก หากนักวิชาการหันมาหนุน มาตรา 68 วรรคสอง แต่ตนขอเรียนว่า นักวิชาการส่วนใหญ่ไปเรียนจากเมืองนอก จนนำการปกครองทุกอย่างมาโดยระบอบก็อปปี้จากฝรั่ง และถูกเขาครอบงำความคิด จนทำให้กฎเกณฑ์บางอย่างไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ดังนั้น สิ่งที่ กมธ.ยกร่างฯ และ ส.ส.ร.ต้องคิด คือ เราจะออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไรให้สอดคล้องกับคนไทยและสังคมไทยมากที่สุด และนำประเทศชาติไปสู่การพัฒนาโดยไม่ยึดติดกับทฤษฎีฝรั่ง ดังนั้น บทบัญญัติใดที่มีขึ้นมาแล้วจะส่งผลประโยชน์ให้ประเทศชาติ สามารถฝ่าฝันวิกฤติได้ ตนก็เห็นด้วย ส่วนการที่หลายฝ่ายกล่าวว่า หากมีมาตรานี้แล้วอำนาจจะไม่ยึดโยงกับประชาชน ก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลก เพราะวิกฤติส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่มีใครมาถาม หรือทำให้ยึดโยงกับประชาชนเลย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ประธานที่ประชุมได้ขอมติว่า เห็นด้วยกับ กมธ.ยกร่างฯ ที่ได้แก้ไขโดยตัดวรรคสองออกหรือไม่ ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติ 44 ต่อ 28 เสียง เห็นชอบกับกมธ.ยกร่างฯ ที่ตัดวรรคสองออก โดยมีการงดออกเสียง 6 คน ไม่ลงคะแนน 1 คน จากนั้นที่ประชุมได้พักรับประทานอาหารกลางวัน
 
**การเลือกตั้งเป็น"หน้าที่"
 
สำหรับในช่วงบ่าย ที่ประชุมได้พิจารณา หมวดที่ 4 หน้าที่ของชนชาวไทย โดยเริ่มจาก มาตรา 69 "บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ และมีหน้าที่ป้องกันประเทศ" ซึ่งกมธ. ยกร่างฯ ได้ขอตัดคำว่า"และมีหน้าที่ป้องกันประเทศ"ออก เพื่อนำไปเพิ่มในมาตรา 70 ว่า "บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฎหมาย"แทน ซึ่งที่ประชุมไม่ขัดข้อง
 
ส่วนมาตรา 71 บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งฯ ได้มี นายจรัส สุวรรณมาลา ส.ส.ร.ขอแปรญัตติให้ใช้ถ้อยคำว่า "บุคคลมีสิทธิเลือกตั้ง" หรือให้การเลือกตั้งเป็น"สิทธิ" มากกว่า "หน้าที่" โดยให้เหตุผลว่า การบัญญัติให้เป็น"หน้าที่" เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร
 
ขณะที่นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. ในฐานะ กมธ.ยกร่างฯ แย้งว่า การกำหนดให้การเลือกตั้งเป็น"หน้าที่" มีประโยชน์ที่ทำให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น
 
จากนั้น นายเสรี สุวรรณภานนท์ รองประธานสภาร่างฯ ในฐานะประธานที่ประชุม จึงได้ขอมติ ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติ 46 ต่อ 17 เสียง ให้คงตามร่างของกมธ. ยกร่างฯ คือให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่
 
**เลื่อนถก ม.78 เรื่องพุทธศาสนาออกไป
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเรียงรายมาตรา กระทั่งเข้าสู่ มาตรา 78 ที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ รองประธานส.ส.ร. ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้แจ้งว่า นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ส.ส.ร. ผู้ขอสงวนคำแปรญัตติ ขอแก้ไขให้เพิ่มข้อความ ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติ ได้ทำหนังสือถึงประธาน เพื่อขอเลื่อนการพิจารณามาตรานี้ออกไป เป็นวันที่ 27-28 มิ.ย. โดยได้หารือกับกมธ. หลายคนแล้ว ซึ่งก็เห็นด้วย ทั้งนี้ เพื่อหาทางออกให้ดีที่สุด จะได้ไม่ขัดแย้งกัน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มี ส.ส.ร.บางส่วนไม่เห็นด้วยกับการขอเลื่อนดังกล่าว ขณะที่กลุ่มผู้แปรญัตติร่วมกับนายพิเชียร อภิปรายสนับสนุน โดยให้เหตุผลว่า เดิมเราเห็นว่าไม่ควรบรรจุศาสนาพุทธเข้าใน มาตรา 2 แต่หลังจากได้ฟังข้อมูลมามาก ยอมรับว่า มีเหตุผล และบังเอิญผู้เสนอเรื่องนี้ (นายพิเชียร) ถูกลดความน่าเชื่อถือ ถ้ามีการพิจารณาวันนี้ ส.ส.ร. อาจลงคะแนนไม่เอาด้วย เพราะไม่เชื่อถือตัวบุคคล การเลื่อนออกไปจะทำให้เราพิจารณาประเด็นศาสนาพุทธได้รอบคอบมากขึ้น ในที่สุด ที่ประชุมลงมติเห็นชอบให้เลื่อนการพิจารณาในมาตราดังกล่าวออกไปก่อนด้วยมติ 56 ต่อ 3 เสียง
 
**หากพระมรณภาพ ส.ส.ร.ต้องรับผิดชอบ
 
ด้านพระมหาบุญถึง ชุติณธโร ประธานรัฐสภาวนาราม 1 ในพระสงฆ์ที่ประกาศอดอาหาร เพื่อเรียกร้องให้ ส.ส.ร.บัญญัติประเด็นพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ กล่าวภายหลังรับทราบว่า สภาร่างฯ มีมติให้เลื่อนการพิจารณา มาตรา 68 ออกไปว่า ขอบิณฑบาตต่อประธานสภาร่างฯ ให้เลื่อนกำหนดการพิจารณาให้เร็วขึ้น เพราะมีพระสงฆ์ 5 รูป ได้ประกาศปฏิบัติอหิงสธรรมด้วยการอดน้ำ ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. ขณะที่พระสงฆ์อีก 5 รูป ที่อดอาหารมากว่า 15 วัน หากเลื่อนกำหนดการพิจารณาออกไป เกรงว่า ชีวิตของพระสงฆ์จะไม่สามารถอยู่ได้ถึงกำหนดการพิจารณาใหม่
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสภาร่างฯ ยืนยันที่จะเลื่อนกำหนดการพิจารณาเรื่องดังกล่าวออกไป จะดำเนินการอย่างไร พระมหาบุญถึง กล่าวว่า หากสภาร่างฯ จะใจดำไม่สนใจชีวิตของพระสงฆ์ และทำให้พระสงฆ์ต้องมรณภาพ คิดว่า ส.ส.ร.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น
 
**วอนพระเถระผู้ใหญ่สอบม็อบพระ
 
น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงกรณีที่พระสงฆ์ที่มาชุมนุม ประกาศอดอาหาร และน้ำ เพื่อปฏิบัติอหิงสธรรมขั้นอุกฤษฏ์ ว่า พระเถระผู้ใหญ่ควรพิจารณาเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ว่า อยู่ในแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ ส่วนสื่อมวลชนควรลดการขยายความเรื่องดังกล่าว เพราะไม่เป็นผลดีกับวงการพระศาสนา ผู้ที่รู้เห็นเข้าจะทำให้จิตใจเกิดความรู้สึกสงสาร เกิดความไม่ชอบ และเกิดความแตกแยกสำหรับพระสงฆ์
 
"ผมอยากบอกเพียงว่า พระสงฆ์ คือสมณะเพศ สมณะ คือความสงบ สมณะเพศ คือ เพศแห่งความสงบ ความสันโดษไม่เบียดเบียนใคร ไม่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวาย ผมอยากบอกว่า เมื่อเป็นสมณะเพศแล้ว ควรประพฤติปฏิบัติในแนวนี้คือ ประพฤติตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า การประพฤติปฏิบัติตนของสาวกพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่ใช่เรื่องว่าจะอยู่ที่โน่นที่นี่ ถึงแม้จะอยู่ที่ไหน ถ้าไม่ปฏิบัติตนให้ดี ศาสนาก็เสื่อม ความจริงพระธรรมวินัยไม่เคยเสื่อม แต่ผู้นำมาปฏิบัติต่างหากทำให้เกิดผลถึงพระธรรมวินัย"น.ต.ประสงค์ กล่าว
 
**ติง "จาตุรนต์" เก็บความคิดเห็นไว้ก่อน
 
เมื่อถามว่า ด้วยเหตุดังกล่าว ควรจะเร่งการแปรญัตติของ ส.ส.ร. ให้เร็วขึ้นหรือไม่ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ส.ส.ร.ได้พิจารณาตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ โดยกระบวนการจัดทำร่าง และการพิจารณาทำได้เร็วตามกรอบเวลา เชื่อว่า ส.ส.ร.น่าจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญได้ภายในกรอบเวลากำหนดไว้ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ตนไม่ทราบว่า การเรียกร้องเช่นนี้จะทำให้ ส.ส.ร.รู้สึกใจอ่อน หรือไม่ แต่สำหรับกมธ.ยกร่างฯ ทุกคน พยายามทำรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ และความมั่นคงของรัฐไม่ให้แตกแยกกัน และให้เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่อนาธิปไตย
 
"กรรมาธิการยกร่างฯ จะยึดหลักการเช่นเดิม จะกดดันเช่นไร เป็นเรื่องของท่าน ส่วนท่านจะทำถูกทำผิดเช่นใด สังคมจะเป็นผู้ตัดสิน"น.ต.ประสงค์ กล่าว
 
ส่วนที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง หัวหน้ากลุ่มไทยรักไทย ระบุว่าทางกลุ่ม มีความเป็นห่วงร่างรัฐธรรมนูญในบางประเด็น คงไม่สามารถยอมรับได้ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ตนอยากฟังเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า ใครที่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะถูกห้ามไว้ 5 ปี ควรเก็บความเห็นไว้ก่อน ส่วนที่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ตนอยากบอกว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย คงไม่ผ่านการพิจารณามาถึง 60 กว่ามาตรา โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพการมีส่วนร่วม และการกระจายอำนาจ เป็นเรื่องใหญ่ที่ร่างรัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนมากกว่ายุคก่อน ตนอยากทราบเหตุผลของผู้ที่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยว่า ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร
 
เมื่อถามถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ส.ส.ร.จะไม่มีการประชุมในวันพุธที่ 20 มิ.ย.นี้ เพื่อให้ สนช.ประชุม ส่วนจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประกาศ คปค.ฯ หรือไม่ เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนืออำนาจของ กมธ. ยกร่างฯ
 
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับการเสนอความเป็นเรื่องการนิรโทษกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรค น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาคำชี้แจงของนายสุรพล เห็นว่า ในเรื่องที่คนไม่ได้ทำความผิดในสถานการณ์การเมืองที่เหมาะสม อาจหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาได้ โดยไม่ได้บอกว่า ต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณาทันทีทันใด หากถามตนคงบอกว่า คำตัดสินของตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ โดยการแยกแยะว่าใครผิดใครถูกคงต้องใช้เวลา การดำเนินการในเรื่องนี้คงทำทันทีไม่ได้ เพราะต้องใช้เวลา หากทำไม่ทันใน สนช. เมื่อมีการเลือกตั้ง และสภาผู้แทนฯ แล้ว จะสามารถนำเรื่องนี้มาทบทวนได้
 
**รณรงค์คว่ำ รธน.ไม่ผิดแต่อย่าขัดขวาง
 
นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มไทยรักไทย จะรณรงค์ให้คว่ำรัฐธรรมนูญ ว่า ถ้ารณรงค์คงไม่เป็นอะไร แต่ถ้าถึงขนาดขัดขวางการลงประชามติ เช่น ไม่ให้คนงานในความดูแลไปออกเสียงประชามติ ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ. ประชามติ เนื่องจาก กกต. เน้นอยู่ตลอดเวลาว่า ขอให้ประชาชนมาออกเสียงประชามติ แต่ไม่ได้บังคับแบบการเลือกตั้ง ส.ส.
 
ส่วนกรณีหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติ จะทำให้การเลือกตั้งยืดเยื้อออกไปหรือไม่ ประธาน กกต.กล่าวว่า ไม่ยืดเยื้อ หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่าน ทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาปรับแก้ และใช้เลือกตั้งได้ ซึ่งคงใกล้เคียงกับเวลาเดิม ไม่เสียเวลามากมาย ประมาณ 1 เดือน ก็พร้อมจะเลือกตั้งต่อไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น