xs
xsm
sm
md
lg

‘วิจิตร’ลั่นปี 51 ไร้แป๊ะเจี๊ยะชี้ปีนี้ ร.ร.ดังถูกร้อง 15 แห่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วิจิตร” พอใจการรับนักเรียนปีการศึกษา 2550 เผยมีโรงเรียนดังถูกร้องเรียน 15 แห่ง ส่วนใหญ่ไม่พบความผิด พร้อมประกาศยืนยันนโยบายเดิม ในปี 2551 ยังคงไม่ให้มีการรับเด็กฝาก หรือรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ เตรียมออกประกาศกระทรวงฯ ไว้ให้รัฐบาลใหม่ใช้เป็นแนวทางรับนักเรียน เชื่อจะไม่ถูกรื้อทิ้ง เพราะประชาชนสนับสนุน

วานนี้(17 มิ.ย.) ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานการประชุมสัมมนาการดำเนินงานรับนักเรียน ปีการศึกษา 2550 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีผู้บริหารกระทรวงฯ ผู้บริหาร สพฐ. ผู้อำนวยการโรงเรียนที่ได้รับความนิยมสูง 362 แห่ง เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 500 คน จัดการประชุมขึ้นที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ

ศ.ดร.วิจิตร กล่าวบรรยายพิเศษต่อที่ประชุมว่า ในการรับนักเรียนปี 2550 ที่ผ่านมา นโยบายการไม่รับเด็กฝาก ไม่รับเงินแป๊ะเจี๊ยะแลกกับการได้ที่เรียน ได้รับการปฏิบัติโดยโรงเรียนในสังกัดทุกแห่งอย่างเคร่งครัดเป็นที่น่าพอใจ อีกทั้งยังได้รับความชื่นชมจากผู้ปกครองและประชาชนอย่างดียิ่ง ในการสัมมนาครั้งนี้ จึงต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันประเมินผลเพื่อวางแผน วางแนวทาง การรับนักเรียนในปี 2551 ที่จะมีการเปิดรับนักเรียนช่วงต้นปี 2551 โดยตนยังยืนยันให้คงนโยบายเดิม คือ การไม่รับเด็กฝาก ไม่รับเงินแป๊ะเจี๊ยะ และดำเนินการอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่ขอให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ กลไก ให้มีความเหมาะสมรัดกุม ลดจุดบกพร่องที่พบในปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้ข้อสรุปจะยังไม่เป็นข้อยุติ แต่จะถือเป็นข้อเสนอสำคัญที่จะนำมาพิจารณาในระดับกระทรวงอีกครั้ง ก่อนออกเป็นประกาศที่ชัดเจนต่อไป

“ผมยืนยันนโยบายการรับนักเรียนขั้นพื้นฐาน โดยยึดเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ความเป็นธรรม และความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา พูดง่าย ๆ คือ จะยังยึดนโยบายไม่มีเด็กฝาก และไม่มีการรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ โดยนโยบายนี้จะออกเป็นประกาศกระทรวงในช่วงรัฐบาลนี้ แม้รัฐบาลนี้อาจจะอยู่ถึงเดือนธันวาคม หรืออย่างมากคือ รักษาการไม่เกินเดือนมกราคม 2551 แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ และควรทำต่อเนื่อง เตรียมไว้ให้รัฐบาลใหม่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

ศ.ดร.วิจิตรยังแสดงความมั่นใจว่า แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว แต่นโยบายนี้น่าจะยังคงอยู่ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างมาก ที่เห็นได้ชัดเจนคือ เมื่อเพียงมีข่าวออกไปว่ามีการเสนอให้โรงเรียนกลับไปมีโควตารับนักเรียนของผู้มีอุปการคุณต่อโรงเรียนได้ ซึ่งถือเป็นการรับเด็กฝากอย่างเปิดเผยนั้น ตนได้รับโทรศัพท์และจดหมายแสดงความไม่เห็นด้วย รวมทั้งบางคนขู่จะยื่นฟ้องศาลด้วย เพราะถือเป็นการไม่เสมอภาคต่อนักเรียน ซึ่งทำให้ตนสบายใจว่ารัฐบาลต่อไปคงไม่คิดรื้อทิ้งแนวคิดนี้

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีข้อร้องเรียนในการรับนักเรียนปี 2550 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ใช่เพื่อการจับผิด หรือเอาผิดทางวินัย แต่เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ชี้แจงต่อสาธารณชนได้ และยังเป็นกระบวนการหนึ่งเพื่อคุ้มครองผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และผลก็เป็นที่น่าพอใจ ส่วนการรับเงินบริจาคจากผู้ปกครองนั้น ทางกระทรวงไม่ห้าม แต่ขอให้เขียนโครงการเสนอคณะกรรมการโรงเรียนให้ชัดเจน และรับบริจาคนอกช่วงเวลาการรับนักเรียน เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสงสัยข้องใจ

สำหรับรายงานผลการตรวจ ติดตามการรับนักเรียน ตามนโยบายและมาตรการการรับนักเรียน พ.ศ. 2550 ของคณะกรรมการตรวจและติดตามนโยบายและมาตรการการรับนักเรียน นักศึกษา พ.ศ. 2550 ซึ่งประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ สพฐ.ได้ดำเนินการตรวจสอบโรงเรียนที่ได้รับความนิยมสูง 362 โรงเรียน ทั่วประเทศ แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 85 โรงเรียน และต่างจังหวัด 277 โรงเรียน มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 15 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 4.14 แบ่งเป็นเรื่องร้องเรียนในเขตกรุงเทพฯ 5 โรงเรียน และร้องเรียนโรงเรียนในต่างจังหวัด 10 โรงเรียน

ประเด็นที่ได้รับการร้องเรียนทั้ง 15 เรื่อง แบ่งเป็น ประเด็นโรงเรียน/สมาคม เรียกรับเงินจากผู้ปกครองนักเรียนในช่วงรับนักเรียน 6 เรื่อง ประเด็นโรงเรียน/สมาคมเรียกรับเงินบำรุงการศึกษาจากผู้ปกครองนักเรียนภายหลังได้เข้าเรียนและมีกิจกรรมอื่น ๆ 3 เรื่อง ประเด็นการให้โอกาส/ความเป็นธรรมกับเด็กในพื้นที่บริการการศึกษาอย่างเท่าเทียม 3 เรื่อง ประเด็นการเลือกปฏิบัติในการเข้าเรียน 2 เรื่อง และประเด็นความไม่เป็นธรรมในการเรียกผู้ได้รับในลำดับสำรอง 1 เรื่อง อย่างไรก็ตาม ได้ดำเนินการตรวจสอบแล้ว ส่วนใหญ่ไม่มีมูลตามประเด็น และยังคงอยู่ระหว่างการตรวจสอบอีก 3 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ ทั้งหมด

นอกจากนี้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งข้อสังเกตด้วย เช่น การไม่ได้ระบุวิธีปฏิบัติในรายละเอียดตามประกาศกระทรวงฯ ทำให้แนวปฏิบัติของโรงเรียนแต่ละแห่งแตกต่างกัน การประชาสัมพันธ์ของบางโรงเรียน หรือบางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ไม่สามารถเข้าถึงตัวนักเรียน สพท.บางแห่งไม่เข้าใจกรอบแนวคิดการกำหนดเขตบริการ และใช้อำนาจไม่ถูกต้อง การร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นการกลั่นแกล้งผู้บริหารโรงเรียน ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะ เช่น ควรกำหนดแนวปฏิบัติชัดเจน ยืดหยุ่นในการรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ มีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับนักเรียนและผู้ปกครองมากขึ้น ไม่ควรให้โรงเรียนเก็บเงินจากนักเรียนทุกคน แต่ให้ระดมทุนจากบางแหล่งทุนแทน เป็นต้น

วันเดียวกัน ศ.ดร.วิจิตรได้กล่าวถึงข้อสรุปหลักเกณฑ์การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาประจำปีการศึกษา 2553 ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ว่า ตามที่ ทปอ.มีมติให้การรับนักศึกษาปี 2553 จะใช้คะแนนถนัดร้อยละ 50 กับคะแนนสัมฤทธิผลทางการเรียนอีกร้อยละ 50 โดยที่คะแนนสัมฤทธิผลทางการเรียน มาจากคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ (จีพีเอ) รวมกับคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) นั้น ถือว่าเป็นแนวคิดที่ตรงกับ ศธ. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คิดไว้ ซึ่ง ทปอ.ระบุไว้ว่าหาก สพฐ.ยังไม่ได้กำหนดอัตราส่วนถ่วงน้ำหนักจีพีเอและโอเน็ต ทปอ.ก็จะใช้อัตราส่วนจีพีเอร้อยละ 20 กับโอเน็ตร้อยละ 30

ทั้งนี้ ทางกระทรวงฯ ได้มีแผนจะถ่วงน้ำหนักรวมจีพีเอกับโอเน็ตให้เหลือองค์ประกอบเดียว เป็นรายงานสัมฤทธิผลทางการเรียนอยู่แล้ว โดย สพฐ.จะหารือในรายละเอียดกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ต่อไป สำหรับในปี 2551 และ 2552 นี้ ทปอ.ให้นักเรียนที่จบก่อนมีการสอบโอเน็ต ใช้ระบบรับตรงเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้นไม่ให้มาสมัครรวมกับระบบกลาง ซึ่งตนก็เห็นว่ามีความเหมาะสม เพราะวิชาที่เปิดรับตรงส่วนใหญ่ก็เหมือนกับระบบกลางอยู่แล้ว อีกทั้งนักเรียนกลุ่มนี้ก็เหลือจำนวนน้อยลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตนยังเห็นด้วยที่ให้นำคะแนนคุณธรรมมาใช้คัดเลือกนักศึกษา แต่ถือเป็นเรื่องยากในการตัดสินระดับคุณธรรมของบุคคล
กำลังโหลดความคิดเห็น