xs
xsm
sm
md
lg

"พิเชียร"อ่วมเจอรุมยำกลางสภา สื่อเฮรธน.ให้ตั้งองค์กรกันถูกแทรกแซง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สื่อเฮ รัฐธรรมนูญให้โอกาสเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล กมธ.ยกร่างฯต้านไม่ไหว หลังส.ส.ร.บี้หนัก ยอมเติม สนับสนุนนักข่าว ตั้งองค์กรกันถูกแทรกแซง งง กมธ.สายนสพ. ยืนขวาง บอกอย่าบีบเถ้าแก่มากเกินไป ด้าน "พิเชียร" อ่วม หลังถูกรุมยำกลางสภา ฐานไส่ไฟถูกขบวนการปิดปากไม่ให้พูดเรื่องพุทธศาสนา จนต้องยอมยกมือไหว้ขอโทษ
 
การประชุม สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร) เพื่อพิจารณาแปรญัตติรัฐธรรมนูญ ในวันที่สาม เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (13มิ.ย.) โดยมีนายนรนิติ เศรษฐบุตร เป็นประธานในที่ประชุม โดยเริ่มพิจารณา ในมาตรา 45 เป็นเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะจำกัดได้ใน เฉพาะ กรณี "อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น" โดยนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ของแปรญัตติ เพิ่มคำว่า"ข้อมูลส่วนบุคคล" เพื่อให้มาตรานี้คุ้มครองไปถึงข้อมูลส่วนบุคคล หากสื่อจะนำไปเสนอ
 
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการ กมธ. กล่าวว่า การคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล และเรื่องการจะยอมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ กมธ.เห็นว่าควรเขียนคุ้มครองให้ชัดเจน แต่ก็ต้องยอมให้สื่อเผยแพร่ในบางเรื่องได้ โดย กมธ. อาจจะขอไม่เติมตามที่มีการอภิปราย แต่จะไปคุ้มครองในมาตราอื่นแทน
 
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย กล่าวว่า มาตราที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิและข้อมูลส่วนบุคคล มี 3 มาตรา คือ มาตรา 35 ซึ่งเป็นเรื่อการคุ้มครอง มาตรา 45 เกี่ยวกับการเปิดเผย และมาตรา 55 เป็นเรื่องเข้าถึง ซึ่งตนเห็นว่าต้องได้รับความคุ้มครอง และบางทีก็มีความจำเป็นในการเข้าถึง เช่นการดำเนินกาของ ตำรวจ หรือการ การดำเนินคดีของศาล ซึ่งท้ายที่สุดนายเจิมศักดิ์ ก็ได้เห็นด้วยกับที่นายสมคิดเสนอโดยระบุว่า เรื่องข้อมูลส่วนบุคคลเป็นกรรมสิทธิ์ เราต้องคุ้มครอง แต่ข้อมูลบางอย่างเช่น ส่วนสูง หรือการนับถือศาสนาใด ก็น่าจะรู้ได้ เพราะฉะนั้นการคุ้มครองน่าจะคุ้มครองอะไรที่เฉพาะเป็นการการส่วนตัว อะไรที่เป็นส่วนตัวก็น่าจะพอ ดังนั้นจึงขอถอนญัตตินี้ออก แต่ให้ไปใส่เรื่องการคุ้มครองในมาตราอื่น ซึ่งที่ประชุมก็เห็นด้วย และยืนตามที่ กมธ.ร่างมา
 
ส่วน มาตรา 46 ที่บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ โดย นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ส.ร. ขอแปรญัตติ 2 จุดด้วยกันคือ 1.ให้เติมคำว่า "ทั้งนี้ ต้องมีกลไกควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพ" และ 2. ให้เติมในวรรคท้ายว่า "เจ้าของกิจการสื่อต้องสนับสนุนให้พนักงานจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม" แต่ปรากฎว่าในจุดแรกนั้น กมธ.ยกร่างฯได้เติมให้แล้ว นายเจิมศักดิ์ จึงเหลือการแปรญัตติอยู่เพียงจุดเดียว
 
นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า การขอให้เพิ่มวรรคนี้เข้าไปเป็นเพราะบทเรียนที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ถึงแม้จะมีการเขียนคุ้มครองเสรีภาพให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ แต่ในทางปฎิบัติกลับมีการแทรกแซงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากกรณีกบฎไอทีวี พอเกิดปัญหาก็ต้องรวมตัวกันต่อสู้ เพราะถ้าสู้คนเดียวไม่สามารถต่อสู้คัดค้านกับเจ้าของกิจการได้ ดังนั้นจึงขอให้รัฐธรรมนูญช่วยผู้ประกอบวิชาชีพอีกนิดเดียว ด้วยการเขียนให้เจ้าของสนับสนุนให้เขาจัดตั้งองค์กรขึ้นปกป้องสิทธิของเขา ทั้งนี้ องค์กรที่ว่าไม่ใช่สหภาพแรงงานที่ขึ้นมาต่อรองเรื่องค่าตอบแทน แต่เป็นการป้องกันการแทรกแซงสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าว
 
แต่นายมานิจ สุขสมจิตร ชี้แจงในนาม กมธ. ว่า ขณะนี้วิชาชีพเราก็มีการแต่งตั้งองค์กรที่ปกป้องสิทธิจำนวนมากแล้ว ทั้ง สมาคม สมาพันธ์ต่างๆ ขณะนี้มีเรามีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวถึง 10 สมาคม ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ รวมทั้งยังมีสมาพันธ์หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีตัวแทนไปอยู่ในสมาพันธ์หนังสือพิมพ์อาเซียน และสมาพันธ์หนังสือพิมพ์ของโลก สิ่งเหล่านี้ก็ได้ทำอยู่แล้ว
 
นายปกรณ์ ปรียากร กมธ.ยกร่างฯ อีกราย กล่าวว่า การพิจารณาในมาตรานี้ได้ผ่านการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน แม้แต่ผู้ที่อยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนก็เคยมาชี้แจงในกมธ. โดยเขาบอกเองว่าไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ขนาดนั้น เพราะปัจจุบันองค์กรของสื่อได้ก้าวขึ้นมาเป็นสถาบันวิชาชีพสมบูรณ์ เช่นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ขณะที่สื่ออื่นใหม่ๆก็คงพัฒนาขึ้นมาเป็นองค์กรที่เข้มแข็งเพิ่มขึ้น
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่การอภิปรายดูเหมือนจะหาข้อยุติไม่ได้ นายเสรี สุวรรณภานนท์ รองประธานคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้ปรึกษา กมธ.ยกร่างฯ ว่า ถ้าจะเขียนในเชิงบังคับเจ้าของกิจการอาจจะทำให้เกิดความยุ่งยากในทางปฎิบัติ แต่ถ้าเขียนทำนองว่า รัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพนักงานในการจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิได้ น่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ทำให้นายเจิมศักดิ์ ได้แสดงความเห็นด้วย โดยอภิปรายว่า เห็นด้วยกับแนวทางของนายเสรี แต่ขอเรียนว่าสิ่งที่ นายมานิจ สุขสมจิตร พูดนั้นเป็นความจริงว่า มีองค์กรปกป้องสิทธิข้ามระหว่างสื่อ แต่ประเด็นที่ตนเสนอคือองค์กรที่อยู่ภายในบริษัท ในช่องโทรทัศน์นั้นๆ ที่ผ่านมาไม่ค่อยมี
 
ในที่สุดนายอัชพร จารุจินดา รองเลขานุการกมธ.ยกร่างฯ ได้ยอมรับที่จะปรับเปลี่ยนถ้อยคำ โดยให้ข้อความที่นายเจิมศักดิ์ ขอแปรญัตติไปแทรกอยู่ในวรรคแรก มีข้อความว่า "พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่จัดต่อจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ และ ให้พนักงานมีสิทธิจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพ ทั้งนี้ ต้องมีกลไกควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพ"
 
**ให้รวม กทช.กับ กสช.
 
สำหรับมาตรา 47 คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งร่างของกรรมาธิการได้รวมกทช.และกสช.เอาไว้เป็นองค์กรเดียว ในขณะที่มีผู้สงวนคำแปรญัตติหลายคน โดยนายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ส.ส.ร.ได้แปรญัตติให้ กทช. และกสช. แยกออกจากกัน ส่วนนายอุทิศ ชูช่วย ส.ส.แปรญัตติให้ตั้งเป็นสภาพัฒนาทรัพยากรสื่อสารแห่งชาติ หลังจากที่มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางก็ได้ลงมติปรากฎว่า ผลการลงคะแนนให้เป็นไปตามร่างเดิม 60 เสียงต่อ10 เสียงโดยให้กทช.และกสช.รวมเป็นองค์กรเดียว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นนายการุณ ใสงาม ส.ส.ร. ก็ทำให้บรรยากาศในที่ประชุมตึงเครียดขึ้นมา ด้วยการเอาเอกสารสำคัญหลายชิ้นมาแฉนายพิเชียร เกี่ยวกับการแปรญัตติบรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และการออกรายการคมชัดลึก ที่สถานีโทรทัศน์เนชั่นว่าถูกปิดปากไม่ให้พูดเรื่องศาสนาพุทธ และตนเองถูกขบวนการดิสเครดิต ทำให้นายพิเชียรเกิดความไม่พอใจ เปิดไมโครโฟนพูดแทรกการอภิปรายของนายการุณ เป็นระยะ จนนายนรนิติ ซึ่งทำหน้าที่ประธานต้องห้ามทัพโดยขอให้นายพิเชียร อย่าพูดแทรก แต่นายพิเชียร ก็ยังไม่ยมฟัง อย่างไรก็ตาม นายการุณได้อภิปรายด้วยคำพูดที่รุนแรง โดยกล่าวว่า นายพิเชียรได้ขีดชื่อตนออกจากการขอสงวนคำแปรญัตติ ซึ่งได้แปรญัตติเอาไว้ 138 ประเด็นใน 72 มาตรา แต่สุดท้ายเหลือเพียงประเด็นเดียว รวมทั้งการแปรญัตติของ นางสดศรี สัตยธรรม ส.ส.ร.ในมาตรา 68 ก็ถูกตัดทิ้งไปเช่นกัน นอกจากนั้นการออกรายการคมชัดลึกยังได้โยงใยไปถึง น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ ประธานกรรมาธิการด้วย เมื่อเราจับโจรได้ จะทำอย่างไร
 
นายพิเชียร พูดสวนทันทีว่า นายการุณ เอาข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมาพูด และตนไม่ใช่โจร ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเอาเรื่องนี้มาบดขยี้ทำลายตนหลายครั้ง และปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความเข้าใจผิด และได้แก้ไขไปแล้ว อย่างไรก็ตาม บรรยากาศในที่ประชุมเริ่มชุลมุนขึ้น เนื่องจากนายพิเชียรได้พยายามอภิปราย โดยไม่ฟังเสียงของประธานฯ จนมีส.ส.ร.หลายคนต้องประท้วงว่า ไม่อยากเห็นบรรยากาศเหมือนตลาดสดคลองเตย แต่ก็ไม่เป็นผล แม้ว่าประธานจะปิดไมโครโฟนนายพิเชียร ก็ยังตะโกนและไม่ยอมนั่งลงตามคำสั่งประธาน ซึ่งนายการุณ ได้ชิงกดไมโครโฟนพูดแทรกขึ้นว่า เอกสารทั้งหมดมัดตัวชัดเจน จับตัวได้ ทำให้นายพิเชียร ตะโกน สวนว่า พูดอย่างนี้ได้อย่างไร เพราะตนไม่ใช่สัตว์ ขณะที่ ส.ส.ร. 4-5 คนรีบเข้ามาขอให้นายพิเชียรใจเย็นๆ โดยมีเสียงนายเสรี ที่รีบมานั่งข้างๆนายนรนิติ แนะนำให้รีบสั่งให้สมาชิกทุกคนกลับไปนั่งที่ ขณะที่บางส่วนได้เดินออกจากห้องประชุมไป
 
อย่างไรก็ตาม นายพิเชียร ยังคงชี้แจงเพียงประเด็นการแปรญัตติ แต่ไม่ได้กล่าวถึงคำพูดที่ออกรายการคมชัดลึก ทำให้สมาชิกหลายคนประท้วงเพราะต้องการฟังคำชี้แจงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งนางสดศรี ได้กล่าวว่า การพูดออกรายการที่พาดพิงว่ามีกระบวนการล้มล้างใครหรือไม่ ดังนั้นเพื่อให้ความเป็นธรรมขอให้เปิดเทปรายการดังกล่าวในที่ประชุม มิฉะนั้นสภาจะเสียหาย ซึ่งนายพิเชียรได้ชี้แจงอีกครั้งพร้อมกับยกมือไหว้สมาชิกไปรอบห้องโดยยืนยันว่า ตนไม่มีเจตนาจะกระทำตามที่นายการุณ กล่าวหา
 
จากนั้น น.ต.ประสงค์ ได้ใช้สิทธิพาดพิง โดยกล่าวว่า ตนได้บอกแล้วว่าหากหาชื่อไม่ทัน ญัตติของนายพิเชียรก็จะตกไป เมื่อครบกำหนดรายชื่อก็ไม่ครบ 11 คน แต่นายพิเชียร ก็เถียงว่าไม่ตก จนในตอนหลังได้โทรศัพท์มาเพื่อขอเสียงสนับสนุนส.ส.ร.ที่เป็นกรรมาธิการจนได้ครบ หลังจากนั้นก็ได้ให้ พล.อ. รุ่นน้อง ของตนคนหนึ่งโทรฯมาขอโทษ พอนายพิเชียร มาเจอตนที่ห้องอาหารก็ยกมือไว้ขอโทษ ตนก็สงสารเพราะประสบการณ์การเมืองมีน้อย จนเมื่อคืนก่อนไปออกรายการดังกล่าว บอกมีขบวนการดิสเครดิตจนไม่สามารถหยิบยกเรื่องพุทธศาสนามาพูดได้ ตน นางสดศรี และ นายการุณ ไม่ได้คิดว่าจะอยู่ในขบวนการดิสเครดิต
 
แต่ที่กระทบมาก คือทำให้พระสงฆ์เข้าใจผิดว่าสภาแห่งนี้ขัดขวาง เพราะเวลาก็มีการสวดชยันโตให้ตนทุกเย็น แต่ถือว่าเป็นศิริมงคล แต่ยัง ดีที่นายพิเชียร กล่าวขอโทษ ไม่อย่างนั้นตนก็ไม่ยอม และขอให้นายการุณ ให้อภัยด้วย ซึ่งเมื่อน.ต.ประสงค์พูดจบ นายพิเชียรได้ยกมือไหว้ทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น