xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเร่งสารพัดโปรเจกต์รับ"สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ" เดินหน้าสะพานข้ามโขง 3-ท่าเรือเชียงแสน 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - "คมนาคม"เร่งโปรเจกต์รับสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ เตรียมงานสร้างสะพานข้ามโขง 3 เชื่อม R3a ให้เสร็จในปี 54 พร้อมของบฯปี 51 ผุดท่าเรือเชียงแสน 2 รับสินค้าผ่าน 7.5 แสนเมตริกตัน/ปี รวมถึงตัดถนนใหม่-ปรับปรุงทางสายเก่าเชื่อมจีนถึงกรุงเทพฯ ด้านศุลกากรเตรียมตั้งศูนย์ Logistic - สถานีขนถ่ายรับทั้ง 2 จุด แต่ยอมรับนิคมฯเชียงแสน อาจได้แค่ทุนไทยในประเทศ หลังจีนปักธงนิคมฯบ่อหานแล้ว

ฟันธงปี 54 สะพานข้ามโขง 3 เสร็จ
เชื่อมไทย-ลาว-จีนผ่าน R3a


ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงราย แจ้งว่า นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต รองปลัดกระทรวงคมนาคม และหัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ และนางสุนิดา สกุลรัตนะ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้เดินทางมาตรวจราชการ ความคืบหน้าก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย - แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้ร่วมประชุมหารือที่หมวดการทาง อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีนายวิรัตน์ แสนอุดม หัวหน้าหมวดการทางเชียงของ นายเจริญลาภ สุเดชะ นายด่านศุลกากรเชียงของ นำเสนอข้อมูล

จากนั้นก็ได้เดินทางไปดูจุดก่อสร้างสะพาน ที่ริมฝั่งโขง บริเวณบ้านปากอิงเหนือ ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งทางเข้าเป็นสวนข้าวโพด ติดหมู่บ้านดอนมหาวัน ห่างจากถนนสาย อ.เชียงของ ราว 6 กิโลเมตร(กม.) ส่วนฝั่งตรงข้าม เป็นพื้นที่ราบป่าเขา อยู่ในเขตบ้านดอนขี้นก ทางทิศใต้ของตัวเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว (บริเวณทิศใต้ของท่าเรือแร่ลิกไนต์ ราว 2-3 กม.)

นายปิยะพันธ์ กล่าวว่าขณะนี้กำลังออกแบบก่อสร้าง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จึงจะเริ่มก่อสร้าง โดยใช้เวลาก่อสร้างอีก 3 ปี คาดว่าสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งนี้ น่าจะเสร็จราวปลายปี 2554 ซึ่งจุดนี้เป็น 1 ใน 4 จุด ที่มีความเป็นไปได้ น่าจะเหมาะสมที่สุด เพราะแม่น้ำโขงกว้างน้อยสุดแค่ 480 เมตร มีหินดานทำให้การตอกเสาเข็มไม่ต้องลึกมาก

ทั้งนี้ ตามแบบเดิมสะพานกว้าง 16.70 เมตร ความยาวสะพาน 630 เมตร ถนนฝั่งไทย มี 4 ช่องจราจร ฝ่ายลาวถนน 2 ช่องจราจร แต่หลังสุดในการประชุมที่ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่าง ไทย-ลาว และ ADB เมื่อ 20 เมษายน 2549 มีการลดแบบสะพานลงเหลือกว้าง 13.70 เมตร พร้อมองค์ประกอบอื่น และลดค่าก่อสร้างเหลือ 31 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือพันกว่าล้านบาท ภายใต้แนวทาง ไทย-จีน ออกค่าก่อสร้างคนละครึ่ง หรือฝ่ายละ 15.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะสปป.ลาวให้ข้อมูลว่า สปป.ลาวยังไม่มีงบประมาณ ฝ่ายไทย - จีนน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าจากสะพาน

ต่อจากนี้ บริเวณรอบสะพานฝั่งไทย จะมีการเวนคืนที่ดินมากพอสมควร เพราะกรมศุลกากรเองก็จะจัดตั้งศูนย์ลอจิสติกส์ เพื่อตรวจสอบและส่งเสริมการขนถ่ายสินค้าภายใต้ระบบ One Stop Service ด้วย

คาดนิคมฯเชียงของรับทุนไทยเป็นหลัก

ส่วนนิคมอุตสาหกรรมได้กำหนดจุดที่ ต.ศรีดอนชัย ต.สถาน อ.เชียงของ ห่างจาก ตัวเมืองเชียงของ ไปทางทิศใต้ ราว 7 กม. มีพื้นที่ประมาณ 1.6 หมื่นไร่ และทราบว่าฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สร้างนิคมอุตสาหกรรม ที่เมืองบ่อหาน สปป.ลาว ดังนั้น นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ น่าจะรองรับนักลงทุนชาวไทยเป็นหลักก่อน

เตรียมปรับถนนเชียงรายรับ R3a

รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กรมทางหลวงจะก่อสร้างถนนบาสพาส อ.เชียงของ เพื่อระบายรถที่จะมากขึ้นในอนาคต และถนนที่จะเชื่อม อ.เชียงแสน - อ.แม่สาย ขณะที่กรมทางหลวงชนบท จะสร้างถนนอีก 2 สาย ให้เชื่อมกับถนนพหลโยธิน ที่ อ.เมืองเชียงราย ก่อนไปสู่ภาคกลาง รองรับการคมนาคมที่จะเพิ่มขึ้น ตลอดจนมีแนวทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย ที่จะรองรับทางรถไฟในอนาคต แต่ส่วนรถไฟต้องดูนโยบายจากรัฐบาลอีกครั้ง

มีรายงานว่าหลังข่าวการก่อสร้างสะพานแพร่ออกไป ทำให้ที่ดินบริเวณดังกล่าว ซึ่งราคาประเมินราวไร่ละ 2 แสนบาท ขยับสูงขึ้นอีกเล็กน้อย เนื่องจากคาดว่าจะเป็นที่ต้องการของนักลงทุน และการเวนคืนซึ่งอาจจะมีสูงหลายร้อยไร่

ของบฯปี 51 ปั้นท่าเรือเชียงแสน 2

ในวันเดียวกันรองปลัดกระทรวงคมนาคม และคณะได้ไปตรวจจุดก่อสร้างท่าเรือเชียงแสน แห่งที่ 2 ซึ่งจะอยู่บริเวณ ใกล้สามเหลี่ยมปากแม่น้ำกก ที่บรรจบแม่น้ำโขง บริเวณบ้านสบกก ต.เวียง อ.เชียงแสน ห่างจากท่าเรือเชียงแสนแห่งแรกลงมาทางใต้ราว 5 กม. ภายใต้งบประมาณพันล้านบาทเศษ โดยมีการปรองดองที่ดินจากชาวบ้านไปแล้วราว 400 ไร่ มูลค่า 50 ล้านบาท และมีที่ดินของศุลกากรอีกราว 200 ไร่ รวมประมาณ 600 ไร่ ซึ่งจะต้องเร่งสร้าง โดยหลังจากนี้จะเร่งเสนอให้กระทรวงคมนาคม เพื่อที่จะของบประมาณในปี 2551 และใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดว่าจะเสร็จประมาณปี 2553

รองปลัดกระทรวงคมนาคม บอกอีกว่า ปัจจุบันท่าเรือเชียงแสน มีเนื้อที่ราว 14 ไร่ และรองรับสินค้าได้ปีละ 2.2 แสนเมตริกตัน ขณะนี้มีสินค้าผ่านท่าเรือปีละ 1.8 แสนเมตริกตัน หากสร้างท่าเรือเชียงแสน 2 จะสามารถรองรับการผ่านเข้า-ออก ของสินค้าสูงกว่าปีละ 7.5 แสนเมตริกตันต่อปี หรือมากขึ้นอย่างน้อยกว่า 4 เท่า และรองรับเรือสินค้าจีนเทียบท่าได้ครั้งละกว่า 20 ลำ รวมทั้งมีโกดังสินค้าและพื้นที่จอดรถบรรทุกจำนวนมาก

นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า เป็นการดีที่ภาครัฐจะเร่งผลักดันก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง อ.เชียงของ ตามแผนที่วางไว้ เพื่อรับกับถนน R3a ที่จะแล้วเสร็จในปลายปี 2550 และการลำเลียงสินค้าทางรถยนต์จะมากขึ้น ส่วนท่าเรือเชียงแสน 2 ก็จำเป็นมาก เพราะจะเห็นว่าเรือสินค้าที่แล่นเข้าเทียบท่าเรือเชียงแสน มีจำนวนมากขึ้นต่อเนื่อง เพราะประเทศจีนสนับสนุนให้มีการค้า - การท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญในแม่น้ำโขง ดังนั้น ปริมาณการใช้มากขึ้นแน่นอน ถือว่าจังหวัดเชียงรายจะเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าและการท่องเที่ยวที่สำคัญในอนาคต

นายประเทือง ศรขำ ผอ.ท่าอากาศยานเชียงราย กล่าวว่าในอนาคตหากมีการเปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขง และมีการลำเลียงสินค้ามากขึ้น คาดว่าจะทำให้ธุรกิจการบินได้ประโยชน์ เพราะจะมีนักลงทุนใช้บริการเครื่องบินจากท่าอากาศยานเชียงราย แล้วเดินทางด้วยรถมาที่ชายแดน อ.เชียงของ และใกล้เคียงมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีถนนที่ดีรองรับการเดินทางด้วยรถ
กำลังโหลดความคิดเห็น