พิษณุโลก - กรมชลฯมั่นใจอุทกภัยปีนี้ สุโขทัยไม่เผชิญวิกฤตจากน้ำท่วม ขณะที่อ.บางระกำก็จะจมน้ำไม่นาน หนุนรัฐเร่งผุดเขื่อนแก่งเสือเต้น ยืนยันแก้น้ำท่วมแพร่ 100% แถมป้องกันสุโขทัยได้บางส่วน ชี้ยิ่งยื้อเวลาค่าก่อสร้างยิ่งเพิ่ม แถมทำให้ 50 โปรเจกต์บริหารน้ำเกิดไม่ได้ตามไปด้วย เผยปีหน้าเริ่มก่อสร้างเขื่อนคลองชมพู เมืองสองแคว พร้อมศึกษาผลกระทบการสร้างเขื่อนกั้นน้ำวังทองต่อ
นายพิชัย รัตนานคร ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรมบริหาร สำนักชลประทานที่ 3 (พิษณุโลก) เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านมีความแตกต่างกัน โดยลุ่มน้ำน่านสามารถเก็บกักและบริหารลำน้ำได้ ส่วนแม่น้ำยมยังไม่สามารถบริหารได้ทั้งหมด แต่เชื่อว่าปีนี้อุทกภัยลุ่มแม่น้ำยม ในเขตจ.สุโขทัยจะไม่รุนแรง เพราะกรมชลประทานผันน้ำยมจากหาดสะพานจันทร์เข้าสู่แม่น้ำยมสายเก่า ที่อ.สวรรคโลก ประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที และผันน้ำอีก 200 ลบ.ม.ต่อวินาทีในเขตศรีสำโรง จ.สุโขทัยและอ.พรหมพิราม พิษณุโลก ไหลรวมสู่คลองเมมที่ผ่านพิษณุโลก
จากนั้นจะควบคุมการระบายน้ำทางตอนล่างด้วยคลอง DR15.8 คือ ระบายน้ำจากแม่น้ำยมสายเก่าหรือคลองเมม ไม่ให้น้ำผ่านเข้าไปเขตอำเภอบางระกำ แต่ให้ไหลย้อนลงสู่แม่น้ำน่านแทน ซึ่งจะทำให้น้ำเขตสุโขทัยที่มีปริมาณมาก - น้ำท่วมขังที่บางระกำบรรเทาลง เพราะชลประทานได้ขยายประตูน้ำจาก 2 บานเป็น 4 บานบนคลอง DR2.8 ช่วยผันน้ำจากแม่น้ำยมให้ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน่านอย่างรวดเร็ว จากเดิมระบายออก 150 ลบ.ม.ต่อวินาทีเป็น 360 ลบ.ม.ต่อวินาที และถ้าคลองขวางตอนบนอำเภอสวรรคโลก-ศรีนคร ตามแนวผันน้ำยมลงน่านที่อำเภอพิชัย จ.อุตรดิตถ์แล้วเสร็จ ก็จะช่วยลดปริมาณน้ำยมลงไปได้มาก
อย่างไรก็ตาม การควบคุมน้ำทั้งหมดจะง่ายขึ้น และบริหารจัดการได้อย่างสมบูรณ์แบบ ต้องมีการควบคุมลำน้ำยมก่อนคือ ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่จะป้องกันน้ำท่วมจังหวัดแพร่ได้ 100% แต่ไม่สามารถช่วยสุโขทัยได้ทั้งหมด หากมีฝนตกด้านล่าง
นายพิชัย กล่าวอีกว่า จากปัญหาการต่อต้านอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีความชัดเจนจากนโยบายรัฐบาล ทำให้มูลค่าการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ณ วันนี้ ขยับขึ้นเป็น 1,175 ล้านบาท จากเดิมไม่ถึงพันล้านบาท เรียกว่าค่าก่อสร้างจากเงินเฟ้อ วัสดุก่อสร้างและราคาน้ำมันที่ขึ้นทุกปี อีกทั้งยังไม่มีการตัดสินใจที่แน่นอน ด้วยสาเหตุหลักๆ คือ งบประมาณ, ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแนวแผ่นดินเลื่อน
"ปัญหามวลชน ควรหาข้อยุติว่า จะทำอย่างไร เพื่อนำบ้านไม้สักจำนวนมากออกจากพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น หากยังไม่มีโครงการขนาดใหญ่ คือ แก่งเสือเต้น โครงการขนาดเล็ก-ขนาดกลางจำนวน 50 โครงการที่เตรียมไว้ควบคุม แต่ยังไม่ได้ออกแบบ - ประเมินราคา ก็เกิดไม่ได้"
นายพิชัย เปิดเผยอีกว่า ปี 51 สามารถชะลอน้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ที่มาสมทบแม่น้ำน่านได้ปริมาณ 360 ล้านลบ.ม. จากโครงการเขื่อนแควน้อย ซึ่งปีนี้ก็สามารถกักเก็บได้บางส่วนแล้ว จากปริมาณความจุน้ำสมบูรณ์แล้วเสร็จ 760 ล้านลบ.ม. สำหรับแนวทางของกรมชลประทานในปี 51 จะดำเนินงานก่อสร้างเขื่อนคลองชมพู อ.เนินมะปราง ที่มีความจุ 84 ล้านลบ.ม. ซึ่งยอมรับว่ามีปัญหาการต่อต้านบ้าง และ EIA ยังไม่ผ่าน แต่ยืนยันดำเนินการก่อสร้างได้แน่นอน
นอกจากนี้ เตรียมศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม งานก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ แม่น้ำวังทอง แต่จะไม่ให้มีผลกระทบต่อ น้ำตกหลายแห่งในจังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากแนวการก่อสร้างจะอยู่บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ในเขตอุทยานฯ แทน