xs
xsm
sm
md
lg

ทุนไทย-พม่าตั้งวงถกปัญหาค้าริมแดน สินค้าจีนตีตลาด-ส่งออกไทยทรุด 20%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก - ทุนท้องถิ่นไทย-พม่าตั้งวงถกปัญหาการค้าชายแดนแม่สอด-เมียวดี หวังนำข้อสรุปเสนอรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศแก้ไข ชี้ส่วนแบ่งสินค้าไทยในตลาดพม่าหดหายกว่า 20% เผย 6 เดือนที่ผ่านมายอดส่งออกผ่านแม่สอดลดกว่า 1.6 พันล้าน หลังถูกสินค้าจีนตีตลาดยับ ขณะที่พม่าปรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจฯ-นิคมฯเมียวดี ล่าสุดคืบหน้า 30% จัดที่ดิน 900 เอเคอร์รับอุตฯ-พาณิชยกรรม


รายงานข่าวจาก อ.แม่สอด จ.ตาก แจ้งว่า ในการประชุมร่วมกันระหว่างภาคเอกชนไทยและพม่า นำโดยหอการค้าจังหวัดชายแดนทั้งสองประเทศ ซึ่งฝ่ายไทยมีนาย อำพล ฉัตรไชยาฤกษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก พร้อมคณะกรรมการ และนายวุฒิชัย วงษ์นาคเพ็ชร์ พาณิชย์จังหวัดตาก ฝ่ายพม่านำโดยนางมะตินติน มิ้น ประธานหอการค้าจังหวัดเมียวดี นายอู ดิน ม่อง ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรม จังหวัดเมาะลำไย พร้อมคณะรวม 12 คน

ทั้งนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางการค้าร่วมกันและสภาพปัญหา ความต้องการของภาคเอกชนนำไปเสนอรัฐบาลกลางของทั้ง 2 ประเทศ ที่สำนักงานหอการค้าจังหวัดตาก สาขาแม่สอด เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมานั้น ทั้ง 2 ฝ่ายได้หยิบยกประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการค้าร่วมกันขึ้นหารือ

นายวุฒิชัย วงษ์นาคเพ็ชร์ พาณิชย์จังหวัดตาก ระบุว่า การค้าชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก ระยะที่ผ่านมาซบเซาลง โดยเดือนมีนาคม 2550 มียอดการค้ารวมเพียง 1,180.58 ล้านบาท แต่ช่วงเดียวกันของปี 2549 มียอดรวมถึง 1,344.94 ล้านบาท ลดลง 12.22% นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกของไทยผ่านช่องทางด้านนี้ระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา ก็ลดลงถึง 20% หรือหายไปกว่า 1,600 ล้านบาท

สาเหตุสำคัญคือ มีการปิดด่านการค้าถึง 2 ครั้ง ช่วงเดือนมีนาคม 2550 ครั้งแรกเป็นปัญหาระดับพื้นที่ พม่าปิดด่านเมียวดีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2550 เนื่องจากรถยนต์โดยสารของพม่าที่เข้ามาใน อ.แม่สอด แล้วเกิดปัญหาฝ่ายพม่าจึงปิดด่าน เมื่อเจรจาทำความเข้าใจแล้วจึงมีการเปิดด่านตามปกติ ในวันถัดไป (18 มีนาคม 2550) ครั้งที่ 2 เป็นปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคง รัฐบาลพม่าสั่งปิดด่านเมียวดีตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2550 เปิดวันที่ 4 เมษายน 2550 ซึ่งช่วงนั้นยังมีปัญหาการสู้รบระหว่างทหารรัฐบาลกลางพม่า กับชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงคริสต์ (KNU)รวมถึงปัญหาสะพานมิตรไทย-พม่า ที่ชำรุดอยู่ระหว่างการซ่อมแซม ยังไม่แล้วเสร็จ ล้วนมีผลต่อภาวะการค้าชายแดน เช่น ผู้ส่งออกสินค้าเกิดภาวะต้นทุนการขนส่ง การบริหารจัดการสูงขึ้นกว่าปกติ ผู้นำเข้าสินค้าประเภทอาหารทะเลสด ได้รับความเสียหาย เป็นต้น

"สิ่งที่น่าห่วงคือ ส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยลดลงมาก เช่น สังกะสี มีประเทศเพื่อนบ้าน นำสินค้าเข้าไปในพม่า แม้สินค้าไทยมีคุณภาพดีกว่า -ราคาถูกกว่าก็ตาม ปัญหาเหล่านี้หลังการประชุมร่วมครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายน่าจะสามารถนำข้อมูลที่ได้เสนอต่อหน่วยเหนือ เพื่อหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดนร่วมกันได้อีกทางหนึ่ง"

นายอำพล ฉัตรไชยาฤกษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก เปิดเผยว่า ตอนนี้การค้าของไทยและพม่า ประสบปัญหาหลายอย่าง ประเด็นหลักก็คือ 1. สินค้าจีนที่นำเข้าทางพม่าด้านเหนือ มีราคาถูกกว่ามาก แม้กระทั่งรถจักรยาน ที่เคยนำเข้าจากไทยจำนวนมาก จักรยานจีนก็ยึดการตลาดหมดแล้ว 2.ผลจากการจับกุมผู้ประกอบการพม่า เมื่อกลางปีที่ผ่านมา และ 3.ปัญหาสะพานมิตรภาพ ชำรุดทำให้รถบรรทุกน้ำหนักไม่เกิน 12 ตันเท่านั้นที่ข้ามผ่านได้ ทำให้ต้องมีการขนถ่ายสินค้า เพิ่มภาระต้นทุนสูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสินค้าห้ามนำเข้าของพม่า 15 รายการ จากฝั่งไทย แต่สินค้าต้องห้ามหลายประเภทกลับอนุญาตนำเข้าได้จากจีนทางตอนเหนือของประเทศพม่า สามารถเจรจาขอยกเลิก และเก็บภาษีแทนได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยควรเร่งช่วยเหลือ ทั้งในด้านการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะภาคเอกชนไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้เพียงลำพัง

ส่วนปัญหาที่ฝ่ายพม่าเสนอก็คือ อยากให้รัฐบาลไทยลดภาษีนำเข้าลงจากเดิม เนื่องจากเอกชนพม่าได้เสียภาษีขาออกกว่า 10% ทำให้ต้นทุนสูง และอยากให้ฝ่ายไทยซื้อสินค้าการเกษตร พืชไร่ มากกว่าเดิม เพื่อกระตุ้นยอดการค้าที่รัฐบาลไทย-พม่ากำหนดบาร์เตอร์เทรดร่วมกัน ซึ่งในส่วนนี้หอการค้าจังหวัดตากได้ขอให้ประธานหอการค้า จ.เมียวดี รวบรวบข้อมูล ทำบัญชีสินค้าเสนอมายังหอการค้าจังหวัดตาก เพื่อจะได้ทำการประชาสัมพันธ์และนำเสนอหอการค้าไทยต่อไป

เขาบอกว่า การประชุมร่วมกันระหว่างภาคเอกชนของทั้ง 2 ฝ่ายครั้งนี้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เพราะเป็นการนำข่าวสาร ปัญหาและอุปสรรคต่างๆมาเสนอต่อกันเพื่อนำไปหารือ เสนอไปยังรัฐบาลกลาง เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือภาคเอกชนต่อไป

ทั้งนี้ในเวทีการประชุมครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงจัดงานแสดงสินค้า หอการค้าแฟร์ไทย-พม่า 2007 ร่วมกันในปลายปีนี้ ซึ่งจะพิจารณาสถานที่อีกครั้ง เพื่อความเหมาะสม โดยนำกรณีศึกษาที่เคยจัดงานแสดงสินค้าที่ย่างกุ้ง แต่เกิดเหตุระเบิดเมื่อครั้งก่อนมาประกอบการพิจารณาด้วย

ในส่วนของความคืบหน้าของเขตเศรษฐกิจชายแดน - นิคมอุตสาหกรรมฝั่งเมียวดี นางมะตินติน มิ้น ประธานหอการค้า จ.เมียวดี บอกว่า มีการเตรียมพื้นที่ห่างจากตัว จ.เมียวดี ประมาณ 10 กิโลเมตร บริเวณบ้านผาอ่อง เมคาเน ไว้แล้ว และได้พัฒนาพื้นที่คืบหน้าไปแล้วกว่า 30% โดยรัฐบาลกำหนดพื้นที่ด้านการพาณิชย์ไว้ประมาณ 400 เอเคอร์ อีก 500 เอเคอร์ สำหรับภาคอุตสาหกรรม

กรณีนี้ทางฝ่ายไทยเสนอขอให้ประธานหอการค้าเมียวดี ทำแผนผังโครงการ ฯ เสนอมายังหอการค้าไทย เพื่อสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนไทยในอนาคตด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น