xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ให้ 7 อรหันต์คัดเลือก ส.ว. วาระ 6 ปี 3 ปีจับสลากออกครึ่งหนึ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจัด 7อรหันต์เป็นผู้คัดเลือก ส.ว.ออกบทเฉพาะกาลห้าม ส.ว.ปี 40 ลงสมัครเข้าคัดสรรส.ว.ใหม่ แต่ให้ ส.ว.ปี 49 เข้ามาคัดสรรได้ วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี 3 ปีจับสลากออก "พิสิฐ"หวั่นให้อำนาจคัดเลือกองค์กรอิสระต่อสายโยงใยฐานเสียง "จรัญ"หาทางดัก กำหนด ม.112 ห้าม ส.ว.ที่พ้นวาระไปแล้วดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ

วานนี้ (4 เม.ย.)มีการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธานการประชุม โดยเริ่มการพิจารณารัฐธรรมนูญรายมาตรา ในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ต่อจากเมื่อวันที่ 3 เม.ย.โดย มาตรา 101 วงเล็บ 11 ที่ระบุว่า ในส่วนของการสิ้นสภาพของ ส.ส.จะสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ความผิดอันกระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งสมาชิกได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง

นายอัครวิทย์ สุมาวงษ์ อภิปรายว่า ตนไม่สบายใจเพราะในวงเล็บ 11 ตามหลักการเดิม ต้องเป็นกรณีที่ถูกจำคุก ตนไม่ข้องใจหากจะบัญญัติว่า การตัดสินดียังไม่ถึงที่สินสุด สำหรับรัฐมนตรีก็ต้องออกจากตำแหน่ง แต่ในกรณีของ ส.ส.น่าจะเป็นคำพิพากษาที่ถึงที่สุดจะดีกว่า

ขณะที่นายศรีราชา เจริญพานิช แย้งว่า หากต้องการให้มีคนดีอยู่ในสภาไม่ว่าจะเป็น ส.ส.หรือรัฐมนตรี ก็ไม่ควรมีมลทิน ดังนั้นถ้าเขาต้องคำพิพากษาว่ามีความผิด ก็แสดงว่า เขามีปัญหาเรื่องพฤติกรรม ซึ่งหากในอนาคตหากเขาไม่ผิดจริง เขาก็สามารถพิสูจน์ตนเองได้ เพราะหากเราไม่บรรจุให้ชัดเจนว่าสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.เขาสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุก เขาก็สามารถใช้ตำแหน่งหน้าที่ประวิงและดำเนินการต่างๆ จนทำให้เกิดความเสียหายต่อคดี หรือเสียหายต่อส่วนรวมได้ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องเข้ม

นายจรัญ ภักดีธนากุล กล่าวว่า ตนเห็นด้วยถ้าหากจะบัญญัติให้ความเข้มข้นในเรื่องนี้กับ ส.ส. ต้องเบาบางกว่ารัฐมนตรี แต่สาเหตุที่อนุ กรอบที่ 2 ว่าด้วยสถาบันการเมือง เสนอวงเล็บ 11 ให้เข้มข้นนั้น ก็เพราะอนุกมธ.ได้เพิ่มข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้ เพราะลักษณะงานทางการเมืองต้องพูด และแถลงถึงบุคคลทั่วไป ถึงแม้จะเขียนเข้มก็จริง แต่เราได้ยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้ ถ้ากมธ.ส่วนใหญ่อยากให้ตัดเรื่องความเข้มออกไป ก็ต้องตัดบทเฉพาะกาลเรื่องการหมิ่นประมาทไปด้วย

ทั้งนี้นาย เดชอุดม ไกรฤทธิ์ กมธ.ยกร่างฯได้เสนอให้บัญญัติส่วนที่เกี่ยวกับการผิดจริยธรรม ว่า เรื่องจริยธรรมตนก็อยากให้บัญญัติให้ชัดเจนว่า ความเป็นสมาชิกภาพของ ส.ส.จะสิ้นสุดเมื่อมีการฝ่าฝืน และมีความผิดในเรื่องจริยธรรมด้วย เพราะในต่างประเทศแม้แต่มีการสอบสวนเรื่องจริยธรรมเล็กน้อย โดยพฤตินัยเขาก็ต้องออกแล้ว แต่ของประเทศเรารอการลงโทษก็ไม่ออก จะสอบสวนแล้วก็ไม่ออก ดังนั้นเรื่องนี้ต้องระบุให้ชัด

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการ กมธ.ยกร่าง กล่าวว่า ในเรื่องจริยธรรมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่โยงกับศาล ซึ่งในประเด็นนี้หาก ส.ส.คนใดทำผิดเรื่องจริยธรรมร้ายแรง ก็สามารถถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ซึ่งในกรณีนี้ตนจะนำไปปรึกษาหารือที่บางแสนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้อภิปรายเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง โดยสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าการบัญญัติความเข้มข้นเรื่องการพ้นตำแหน่งส.ส.หากต้องคำพิพากษาให้จำคุกนั้น เข้มเกินไป จึงขอให้มีการบัญญัติใหม่ว่าต้องมีคำพิพากษาจำคุกถึงที่สุดเสียก่อน ถึงจะพ้นจากการเป็นส.ส.ได้

จากนั้น ที่ประชุมมีการพิจารณาใน ส่วนที่ 3 วุฒิสภา ซึ่งมาตราที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดคือ มาตรา 107 ที่ระบุว่า ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา คณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้พิพากษาศาลฏีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกามอบหมายจำนวนหนึ่งคน และตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดมอบหมายจำนวนหนึ่งคน ทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่สมควรเข้ามาเป็นวุฒิสภา

นายจรัญ ได้กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมถึงการกำหนดมาตรานี้ว่า อนุสถาบัน กรอบที่ 2 ว่าด้วยสถาบันการเมืองเห็นว่า กระบวนการสรรหาวุฒิสภา จากการเลือกตั้งโดยตรงมีจุดอ่อนหลายประการ และหากจะกลับมาใช้การคัดสรร ส.ว.แบบแต่งตั้ง ก็มีข้อเสียอีกเช่นกัน ตนและกมธ.จึงขอเสนอรูปแบบใหม่ให้อยู่ตรงกลางคือ ให้มีคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ที่มีความเป็นอิสระทางการเมือง และมุ่งเน้นตัวแทนจากสาขาวิชาชีพทั้งหลาย หรือสัดส่วนของผู้ทรงความรู้ทุกๆ จังหวัดอย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นสติให้ ส.ส. ทั้งนี้ในกมธ.หลายคน อยากให้มีคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัดด้วย แต่ฝายเลขาไม่ได้เขียนไว้ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องนำไปพุดคุยในรายละเอียดอีกครั้ง

ต่อมา การพิจารณาใน มาตรา 110 ที่ระบุว่า บุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิสมัครหรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น วุฒิสภา โดยใน วงเล็บ 7 ที่ระบุว่า ต้องไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา และพ้นจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภา มาแล้วยังไม่เกิน 2 ปี นับถึงวันสมัครหรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ อย่างไรก็ตาม นาย สมคิด ชี้แจงว่า มาตรา 110 เป็นบทหลัก แต่จะมีการเขียนบทเฉพาะกาลให้ ส.ส.และ ส.ว.สมัยที่แล้ว ให้ลงสมัครได้ ไม่ได้กีดกันใคร อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างหลากหลาย ซึ่งนายจรัญ มองว่าการเขียนแบบนี้ไม่ได้มาจากกรอบ 2 เป็นการจงใจเขียนกีดกันเขา และไม่ทราบว่ามาจากไหน จึงอยากให้พิจารณาในเรื่องนี้ให้รอบคอบ ซึ่งนายสมคิด ได้รับปากต่อที่ประชุมว่า จะนำเรื่องไปแก้ไขใหม่

ส่วนมาตรา 114 ที่ระบุว่า สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา มีกำหนดวาระ คราวละ 6 ปี นับแต่วันแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ในวาระเริ่มแรก เมื่อครบกำหนดสามปี นับแต่วันที่ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ให้วุฒิสภาประชุมกันเพื่อดำเนินการจับสลากให้สมาชิกวุฒิสภาประเภทละกึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดพ้นจากตำแหน่ง และให้ถือว่าการพ้นจากตำแหน่งโดยการจับฉลากดังกล่าวเป็นการสิ้นสุดสมาชิกตามวาระ

ในวรรค 3 ระบุว่า ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งสิ้นสุดสมาชิกภาพตามวาระ อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่

นายอัครวิทย์ สุมาวงษ์ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า เรื่องของการดำรงตำแหน่งของ ส.ว.ที่จะกำหนดให้มีการดำรงตำแหน่งวาระเดียว หรือดำรงตำแหน่งได้ตลอดไปหรือไม่ให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกัน ตนมองว่า หากจะห้ามน่าจะห้ามว่าไม่ให้ ส.ว.ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 1 วาระ ซึ่งหากเว้นไป 1 วาระ ก็สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้ จึงอยากให้แก้ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 1 วาระไม่ได้ จะดีกว่า

นายจรัญ กล่าวว่า หากเรากำหนดให้แต่ละคนเป็นได้แค่ครั้งเดียว เราก็จะได้คนใหม่มาเสมอ แทนที่วุฒิสภาจะเป็นหลักเกณฑ์ให้บ้านเมืองต่อเนื่อง ก็จะไม่สมประโยชน์กับบ้านเมืองเรา ดังนั้นในวรรค 2 ที่เรากำหนดให้ออกทีละครึ่งสมัย ก็เพื่อต้องการให้ต่อเนื่องกระบวนการทำงานของวุฒิสภา ซึ่งเป็นความจำเป็นของการบริหารปกครองประเทศ ถ้าห้ามแค่ว่าดำรงตำแหน่ง 2 วาระ ติดต่อกันไมได้ แข็งพออยู่แล้ว หากตัดได้แค่สาระเดียวก็จะหมดคนและคนก็จะเปลี่ยนทุกช่วงทุกสมัยกลไกอื่น ๆ ก็จะปรับตัวไม่ทันตามการเปลี่ยนแปลงของวุฒิสภา

นายคมสัน โพธิ์คง กรรมาธิการฯกล่าวว่า ในมาตรา 114 หากให้ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียวในวรรคที่ 2 ให้มีการจับสลากออกครึ่งหนึ่ง 3 ปีก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควรเพราะเขาเป็นได้แต่วาระเดียวจับออกครึ่งหนึ่ง 3 ปีก็ต้องมีการสรรหาเข้ามาใหม่ และคนที่เป็น 3 ปีถัดไปก็มีอีกวาระหนึ่งซึ่งสิทธิของคนตรงนี้แตกต่างกับสมาชิกคนอื่นอีกหลายคนที่อยู่ครบวาระ ถาเอาออกครึ่งหนึ่งน่าจะไม่ใช่สมัยที่ติดต่อกัน ส่วนคำถามที่อยากถามกรรมาธิการคือ ถ้าส.ว.ถูกจับออกครึ่งหนึ่ง 3 ปี และต้องเว้นไปอีกเราจะนับเป็นวาระสภาหรือไม่เพราะยังอยู่ในช่วงอายุสภาอยู่ อยากให้ตีความในเรื่องนี้ให้ชัดด้วย ตนไม่เห็นด้วยให้วาระเดียวและห้ามเป็น เพราะ ส.ว.รอบนี้มีอำนาจแค่ให้คำปรึกษา 114 ในวรรค 2 ตนอ่านแล้วเหมือนจับสลากออกครึ่งหนึ่ง ออกหนหนึ่งมีกระบวนการสรรหามาใหม่พอครบ 6 ปี ชุดที่ 2 ก็ออก ข้อความอ่านแล้วไม่สื่อว่าสถานะของเขายังอยู่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากมีการลงคะแนนเลือกตั้งไม่ควรเอาออก แต่ถ้าเป็นการสรรหาก็สามารถเอาออกได้ ซึ่งต้องดูที่การสรรหาในจังหวัดด้วย

นายสมคิดกล่าวว่า ตามมาตรา 114 ให้เว้นวรรคอย่างน้อย 1 สมัย ส่วนเรื่องการจับสลากออกครึ่งหนึ่งมีปัญหาอยู่นิดเดียว วุฒิสภา 3 ปี แรก คำถามมีว่าเขาสามารถมาต่อสมัยที่ 2 อีก 6 ปีได้หรือไม่ ซึ่งก็มีอยู่ 2 ทางต่อได้เป็น 9 ปี หรือเว้นไปอีก 9 ปี คำถามคือ เราจะใช้สูตรเดียวตามองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญหรือไม่คือ อยู่ได้ครึ่งสมัย และถ้ามีการสรรหาใหม่เขาสามารถมาลงสมัครได้เลย

นายจรัญ กล่าวว่า ให้ประโยชน์กับคนที่จับสลากออกครึ่งหนึ่ง เราถือว่าถ้าเขาเป็นคนดีจริง ได้รับการสรรหากลับเข้ามาอีกให้เขาอยู่ได้อีกวาระหนึ่ง ให้ประโยชน์เขาได้ 9 ปี แแต่กรรมการสรรหาก็คงไม่ง่ายที่จะเลือกคนเหล่านี้กลับเข้ามาอีก เว้นแต่โดดเด่นดังนั้น จึงจำเป็นที่เราจะต้องเขียนให้ชัดว่าเรา ต้องสรรหามาให้ครบ คนเก่าอยู่ 6 ปีคนนี้ ส่วนคนที่ถูกจับสลากออกไป ก็ต้องสรรหาเข้ามาแทน ก็เท่ากับว่าทุก ๆ 3 ปีจะมีการจับสลากออก และเวียนคัดเลือกกันเข้ามา เท่ากับกำหนด 3 ปี ออกครึ่ง สรรหาเข้ามาครึ่งหนึ่ง ก็จะทำให้กลไกของวุฒิสภาต่อเนือง

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า เจตนารมณ์ของการมีวุฒิก็เพื่อเป็นองค์กรอิสระที่ช่วยดูแลประเทศ เป็นตัวเช็คบาลานซ์กับฝ่ายบริหาร ดังนั้นการที่ ส.ว.ชุดนี้มีโอกาสตั้งองค์กรอิสระจึงอาจจะทำให้เกิดการเอื้อผลประโยชน์จากตัวแทนองค์กรอิสระทั้ง 7 ได้ จึงอยากเสนอว่า ส.ว.ที่มาจาการสรรหา ควรอยู่ได้สมัยเดียว

ทั้งนี้นายจรัญ ได้สนอให้บัญญัติเพิ่มเติมใน มาตรา 112 ที่กำหนดว่าสมาชิกวุฒิสภา จะเป็นรัฐมนตรีหรือข้าราชการการเมืองอื่นมิได้ รวมทั้งห้ามดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระด้วย

ในที่สุด นายสมคิด ได้สรุปข้อหารือว่า วุฒิสมาชิกในการสรรหาครั้งนี้ ห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกัน แต่หากพ้นวาระไป 1 สมัยแล้วก็สามารถมาสมัครได้อีก ซึ่งชุดแรกที่ถูกจับสลากออกไป 3 ปี ก็เว้นวรรคไป 9 ปี ถึงจะลงสมัครในรอบ 2 ได้ ส่วนชุดที่ 2 ก็ดำรงตำแหน่งครบ 6 ปี เว้นวรรคไปอีก 6 ปี ถึงจะลงสมัครรอบใหม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น