xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจก้ำกึ่งเลิกปาร์ตี้ลิสต์ ค้านดึงองคมนตรียุ่งการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วม เผยผลสำรวจ 537 เวที ประชาชนยังมีความเห็นก้ำกึ่ง เลิกปาร์ตี้ลิสต์-ที่มาส.ว.แต่ยังเห็นด้วย ร้อยละ 68.7 ส.ส.เขตเดียวเบอร์เดียว หนุนเลื่อนผู้สมัครแทนคนที่โดนใบแดง จี้ใช้ช่อง 9 ทำความเข้าใจรธน.ไถ่บาปรับใช้ทุนมา 6 ปี ด้าน"นรนิติ"ไม่เห็นด้วยกับการดึงองคมตรีเกี่ยวข้องการเมือง เช่นการสรรหาองค์กรอิสระ

เมื่อเวลา 09.30 น.วานนี้ (2เม.ย.)ได้มีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)วาระการรายงานความคืบหน้าของคณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วมและการประชามติ โดยมี นายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธาน ส.ส.ร.ทำหน้าที่ประธานการประชุม

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ รายงานว่า ผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเวทีระดับจังหวัดครั้งที่ 3 วันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา แบ่งเป็นภาคเหนือ 177 เวที ภาคกลาง 100 เวที ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 213 เวที ภาคใต้ 47 เวที รวม 537 เวที ประเด็นสำคัญ

กรอบที่ 1 ว่าด้วย สิทธิเสรีภาพการมีส่วนร่วมของประชาชนและการกระจายอำนาจ อาทิ เรื่องการเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ความเห็นรวมของที่ประชุมเห็นด้วยร้อยละ 66.9 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 2.4 เรื่องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเสนอร่างกฎหมาย และการถอดถอนและการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งโดยตรงและอ้อม เห็นด้วยร้อยละ 78.2 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.6 เรื่องระบบป้องกันการละเมิดเสรีภาพของสื่อ เห็นด้วยร้อยละ 74.5 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 2.6 เรื่องการเพิ่มบทบาทให้ชุมชนในการปกป้องคุ้มครองพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ เห็นด้วยร้อยละ 81.5 ไม่เห็นด้วยร้อยละ 1.9

กรอบที่ 2 ว่าด้วยสถาบันการเมือง อาทิ เรื่องการลดจำนวน ส.ส.และ ส.ว.เห็นด้วยร้อยละ 63.1 ไม่เห็นด้วยร้อยละ 18.8 เรื่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เห็นว่าไม่ควรมี ร้อยละ 46.2 ควรมีร้อยละ 36.9 เรื่องส.ส.ต้องจบปริญญาตรีหรือไม่ กรณีมีส.ส.แบบบัญชีรายชื่อรวมถึง ส.ว.เห็นด้วยร้อยละ 66.1 ไม่เห็นด้วยร้อยละ 19.4 เรื่องการกำหนดเขตเลือกตั้งเป็นเขตละคนแบบเดิม เห็นด้วยร้อยละ 68.7 ไม่เห็นด้วยร้อยละ 10.8

เรื่องการให้ผู้สมัครส.ส.ที่ได้คะแนนลำดับถัดไปเป็น ส.ส.แทนผู้สมัครที่ถูกตัดสิทธิ เพราะได้ใบแดงใบเหลืองโดยไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ เห็นด้วยร้อยละ 49.2 ไม่เห็นด้วยร้อยละ 28.3 เรื่องส.ว.ควรมาจากการสรรหาจากตัวแทนของกลุ่มอาชีพแทนการเลือกตั้งโดยตรง เห็นด้วยร้อยละ 41.5 ไม่เห็นด้วยร้อยละ 33.0 เรื่องนายกฯควรมาจากส.ส.และควรเป็นส.ส.ในขณะเดียวกัน เห็นด้วยร้อยละ 75 ไม่เห็นด้วยร้อยละ 7.1 เรื่องการกำหนดให้นายกฯดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 วาระติดต่อกันหรือไม่เกิน 8 ปี เห็นด้วยร้อยละ 72.6 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 8.2

กรอบที่ 3 ว่าด้วยองค์กรตรวจสอบอิสระและศาล อาทิ เรื่องการไม่กำหนดอายุความในการฟ้องคดีนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐทุจริต เห็นด้วยร้อยละ 72.6 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 6 เรื่ององค์กรอิสระระดับจังหวัด ในการติดตามการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้บริหารท้องถิ่น เห็นด้วยร้อยละ 71.5 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 3.4 เรื่องการกำหนดงบประมาณให้แก่องค์กรอิสระในจำนวนที่ชัดเจนตามสัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เห็นด้วยร้อยละ 63.1 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 3

สำหรับผลการรับฟังความคิดเห็นรายบุคคลครั้งที่ 3 วันที่ 28 มี.ค.จำนวน 36,324 คน ภาคกลาง 20,827 คน ภาคเหนือ 7,161 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5,131 ภาคใต้ 3,205 คน ประเด็นสำคัญ ได้แก่ กรอบที่ 1 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพการมีส่วนร่วมของประชาชนและการกระจายอำนาจ อาทิ ให้คณะกรรมการสิทธิฯนำเรื่องสู่ศาลได้ด้วยตนเองเห็นด้วย ร้อยละ 62.6 การถอดถอนและดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยตรงเห็นด้วยร้อยละ 75.2 การมีส่วนร่วมของประชาชนเรื่องถอดถอดส.ส.และส.ว.เห็นด้วยร้อยละ 77.9

กรอบที่ 2 สถาบันการเมือง อาทิ ส.ส.ควรมีจำนวน 300 คน เห็นด้วยร้อยละ 26.1 ส.ส.มีจำนวน 400 คนเห็นด้วยร้อยละ 40.9 ส.ส.มีจำนวน 500 คน เห็นด้วยร้อยละ 24.7 การเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตอย่างเดียว เขตละ 1 คน เห็นด้วยร้อยละ 34.2 เขตละไม่เกิน 3 คนอย่างเดียว เห็นด้วยร้อยละ 22.9 แบบแบ่งเขต 1 คนกับบัญชีรายชื่อ เห็นด้วยร้อยละ 23.0 แบบแบ่งเขต เขตละไม่เกิน 3 คนกับแบบบัญชีรายชื่อ เห็นด้วยร้อยละ 11.1 ส่วน ส.ว.ควรมีครึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.เห็นด้วยร้อยละ 36.4

ในส่วนของ ส.ว.มีจำนวน 100 คน เห็นด้วยร้อยละ 24.2 ส.ว.มีจำนวน 200 คน เห็นด้วยร้อยละ 26.3 ส.ว.มาจากเลือกตั้งทั้งหมด เห็นด้วยร้อยละ 67.9 แต่งตั้งทั้งหมด ร้อยละ 8 และแบบผสมร้อยละ 16.3

ส่วนถ้าส.ว.มาจากการแต่งตั้งควรให้มีอำนาจในการถอดถอนนักการเมืองหรือไม่ เห็นด้วยร้อยละ 22.6 ไม่เห็นด้วยร้อยละ 65.1 เรื่องการให้ผู้สมัครส.ส.ที่ได้คะแนนลำดับถัดไปเป็น ส.ส.แทนผู้สมัครที่ถูกตัดสิทธิเพราะได้ใบแดงใบเหลืองโดยไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ เห็นด้วยร้อยละ 50 ส่วนที่เห็นว่าควรเลือกตั้งใหม่ร้อยละ 43.2 ประเด็นส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองเห็นด้วยร้อยละ 56.4 เปิดให้อิสระร้อยละ 36.3 ผู้สมัครส.ส.ต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 90 วันเห็นด้วยร้อยละ 53.7 ส่วนที่เห็นว่าควรสังกัดไม่น้อยกว่า 60 วันเห็นด้วยร้อยละ 21.4

ส่วนประเด็นนายกฯ ควรเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.เห็นด้วยร้อยละ 68.2 เป็นใครก็ได้ร้อยละ 25.1 ส.ส.ไปเป็นรัฐมนตรีควรพ้นจากส.ส.ร้อยละ 35.5 ไม่ต้องพ้นร้อยละ 55.5 ส่วนประเด็นนายกฯดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย เห็นด้วยร้อยละ 69.1 ขณะที่เห็นว่ากี่สมัยก็ได้ร้อยละ 23.7 ฝ่ายบริหารเมื่อพ้นจากตำแหน่งสมารถเป็นคู่สัญญากับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจได้โดยต้องพ้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ร้อยละ 35.6 ไม่น้อยกว่า 2 ปี ร้อยละ 23.6 เป็นได้ทันทีหลังพ้นจากตำแหน่งร้อยละ 30.3 ควรกำหนดจริยธรรมและบทลงโทษนักการเมือง เห็นด้วยร้อยละ 85.4

ส่วนกรอบที่ 3 ว่าด้วยองค์กรตรวจสอบอิสระและศาล อาทิ การกำหนดกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองต่อข้าราชการ เห็นด้วยร้อยละ 72.7 องค์กรตามรัฐธรรมนูญควรปลอดจากการครอบงำทางการเมือง เห็นด้วย 34.6 เห็นด้วยและขอให้องค์กรภาคประชาชนมีส่วนร่วม 48.8 คงกทช.และกสช.ไว้ ร้อยละ66.4 และ 54.5 ตามลำดับ

ด้านนาย ภุชงค์ นุตราวงศ์ รองเลขาธิการกกต.ด้านการมีส่วนร่วม รายงานผลการรับฟังความเห็นประชาชนจำนวน 13,362 คน มีประเด็นสำคัญ อาทิ ส.ส.มี 400 คน เห็นด้วยร้อยละ 42 ส.ส.มี 300 คนเห็นด้วยร้อยละ 24 ส.ส.มี 500 คนเห็นด้วยร้อยละ 33 ส.ส.ต้องจบปริญญาตรี เห็นด้วยร้อยละ 50 ไม่ควรกำหนดเห็นด้วยร้อยละ 49 ควรยกเลิกส.ส.บัญชีรายชื่อเห็นด้วยร้อยละ 63 ส.ว.มาจากการเลือกตั้งเห็นด้วยร้อยละ 58 การออกกฎหมายกันไม่ให้พี่น้องเครือญาตินักการเมืองของส.ส.ลงสมัครส.ว.เห็นด้วยร้อยละ 89 การยกเลิกเงินสนับสนุนพรรคการเมืองเห็นด้วยร้อยละ 71

จากนั้นมีการเปิดเวทีให้สมาชิกอภิปราย โดยนายไพโรจน์ พรหมสาส์น ส.ส.ร.เสนอว่า หลังจากเสร็จร่างแรกวันที่ 19 เม.ย.กรรมาธิการที่ต้องไปฟังความเห็นควรคัดเฉพาะประเด็นสำคัญที่มีการถกเถียงมาก และมีความเห็นใกล้เคียงกันไปถามให้ชัดมากขึ้น เช่น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ที่มา ส.ว.หรือรัฐบาลรักษาการช่วงยุบสภาหรือหมดวาระควรเป็นใคร

ด้านนายมนตรี เพชรขุ้ม ส.ส.ร.อภิปรายว่า อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บรรจุเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ส่วนราชการมีส่วนร่วมเผยแพร่อย่างแท้จริง ซึ่งวันนี้ตนเห็นมีเพียงนายกฯเท่านั้นที่ช่วยรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญอย่างเปิดเผยจริงจัง ดังนั้นต้องให้หน่วยราชการเคลื่อนไหวมากกว่านี้

ขณะที่นายเศวต ทินกูล ส.ส.ร.ได้เสนอว่าประเด็นการกำหนดพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ ควรจัดเวมีเอาคนมีความรู้มาถ่ายทอด ทั้งนี้กรรมาธิการฯชี้แจงว่าวิถีพุทธ คือใจกว้างและไม่สุดโต่ง และต้องศึกษาถึงแก่นและปฏิบัติ หากบอกแค่ว่าเ ป็นชาวพุทธหรือเอาใส่ในรัฐธรรมนูญโดยไม่ศึกษาและปฏิบัติคงป้องกันความเสื่อมไม่ได้

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ส.ส.ร.อภิปรายว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็จะมีการนำฉบับของ คมช.มาใช้ซึ่งอาจจะอันตราย ดังนั้นขอให้มีการประชาสัมพันธ์ โดยขอช่อง 9 อาทิตย์ละ 1 วัน 1 ชั่วโมงครึ่ง ช่วงคนดูมากๆทำความเข้าใจโดยเฉพาะประเด็นที่นำไปสู่การตัดสินใจ ทั้งนี้ 6 ปี ที่ผ่านมาช่อง 9 รับใช้ทุนธุรกิจมามาก วันนี้ถึงเวลาไถ่บาป

นายสิทธิศักดิ์ เอกพจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ช่อง 9 ชี้แจงว่า ตั้งแต่เดือนมี.ค.เป็นต้นมา อสมท.ได้ใช้สื่อทั้งโทรทัศน์ และวิทยุดำเนินการจัดรายการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งช่วงข่าวภาคค่ำได้มีการทำสกู๊ปพิเศษเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญทุกคืน และช่วงคืนวันเสาร์ก็มีรายการพิเศษ ช่วง 22.00 น.เป็นต้นมาและยังริเริ่มที่จะจัดรายการช่วงบ่ายวันพุธและวันศุกร์ และนอกจากนี้สถานีวิทยุยังมีรายการรัฐธรรมนูญช่วงเช้าและเย็นช่วงละ1ชั่วโมง 2 คลื่นความถี่ ทางเอฟเอ็ม 96.5 และเอฟเอ็ม 100.5 รวมทั้งมีแนวความคิดที่จะเพิ่มรายการสนับสนุนรัฐธรรมนูญซึ่งได้หารือกับคณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วมฯแล้วว่า ในช่วงที่ลงไปรับฟังความคิดประชาชนในเวทีต่างๆก็จะลงไปร่วมกันทำรายการถ่ายทอดสด ทั้งนี้ ยืนยันได้ว่า อสมท.ในฐานะสื่อของรัฐเข้าใจถึงความสำคัญในการเผยแพร่ให้ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วมฯ รายงานแผนการทำงานหลังร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จวันที่ 19 เม.ย.ว่า จะเดินสายฟังประชาชนและรับข้อเสนอมาให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯพิจารณา และจะนำประเด็นใหม่ๆที่ยังไม่ได้รับฟังประชาชนในครั้งแรกไปถามประชาชน ทั้งนี้จะส่งตัวร่างปี 50 เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 40 และมีหนังสือคำอธิบายเหตุผลรายมาตราของร่างปี 50และคณะกรรมาธิการยกร่างฯจะผลัดเปลี่ยนไปอธิบายข้อสงสัยตามจังหวัดต่างๆ และจะบันทึกเทปคำอธิบายที่กรรมาธิการยกร่างฯต้องการอธิบาย ประเด็นละ 5-8 นาที ปั๊มเป็นซีดีแจกจ่าย 76 จังหวัด เพื่อประชาชนมีการเรียนรู้และพร้อมลงประชามติ

นายปกรณ์ ปรียากรณ์ โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชี้แจงโดยยืนยันกลางที่ประชุมว่า ร่างแรกจะเสร็จ 19 เม.ย. และใช้เวลาพิมพ์อีก 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี จะแจกจ่ายสื่อได้วันที่ 18 เม.ย.เพื่อนำไปตีพิมพ์ ขณะที่มีส.ส.ร.บางส่วนยังห่วงว่าถ้าเสร็จช้าไปเพียง 1 สัปดาห์ แผนการทำงานของคณะกรรมาธิการรับฟังความเห็นประชาชนภาคต่างๆจะเสีย และมีปัญหาการเข้าถึงประชาชน ทั้งนี้นาย เสรี สุวรรณภานนท์ รองประธานส.ส.ร.ทำหน้าที่ประธานการประชุม จึงมอบให้เลขาธิการสภาฯไปดูตารางเวลาเพื่อความชัดเจนทั้งหมด

**ค้านดึงองคมนตรีเกี่ยวข้องการเมือง

นายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธาน ส.ส.ร.กล่าวถึงรัฐธรรมนูญที่กำลังมีการยกร่างอยู่ในขณะนี้ว่า คงยังพูดถึงข้อดีได้ไม่เต็มปาก เพราะเนื้อหายังไม่ยุติ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ก็ไม่รู้ว่าซ่อนเร้นอะไรไว้ตรงไหน ภาพรวมหมวดสิทธิ เสรีภาพ เข้าถึงประชาชนมากขึ้น ได้รับการพัฒนาขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยที่การร่างรัฐธรรมนูญ จะนำองคมนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการต่างๆ เช่น การสรรหาองค์กรอิสระ

"ถ้าถามผมไม่เห็นด้วย ไม่ควรดึงองคมนตรีเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องตามพระราชอัธยาศัย เราไม่ควรไปดึงท่านให้ทำโน่นทำนี่"นายนรนิติ กล่าว

สำหรับการทำประชามติรัฐธรรมนูญ เห็นด้วยที่จะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย รวมทั้งพรรคการเมืองออกมาแสดงความเห็นก่อนการลงประชามติ เพราะไม่ใช่การมัดมือชก ให้ส.ส.ร.ออกมาชี้แจงข้อดีเพียงฝ่ายเดียว หากพรรคการเมืองไม่เห็นด้วย ก็มีสิทธิออกมาชี้แจง เพราะพรรคการเมืองสามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญได้ แม้ยังไม่ยกเลิกประกาศ คปค. เพราะเรื่องนี้ กกต.ต้องเปิดเวทีให้อยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น