xs
xsm
sm
md
lg

คตส.พบพิรุธปล่อยเงินกู้พม่า เพิ่มวงเงินพ่วงซื้อช่องสัญญาณไอพีสตาร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คตส.พบพิรุธเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่า จาก 3พันล้าน เป็น 4 พันล้าน เพื่อเอื้อให้พม่าซื้อช่องสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์ เตรียมเรียก"ปกรณ์ มาลากุล"อดีคประธานกรรมการธนาคาร ชี้แจงต่ออนุกรรมการฯ 4 เม.ย.นี้ พร้อมเดินหน้าสอบเงินค่าประกันไทยคม 3 จำนวน 1.2 พันล้าน เข้าชินแชทฯ มั่นใจสรุปผลสอบได้ในเดือนเม.ย.แน่นอน "นาม"ตอกกลับ"อารีย์"พูดเรื่อยเปื่อย ยันคตส.จำเป็นต้องหนังสือเรียก เพราะส่งหนังสือแจ้งถึง 2 รอบแต่เฉย เหน็บคลังอยู่ใกล้แค่คืบ มุดรั้วมาร้องทุกข์ ก็ได้

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบ กรณีธนาคารเพื่อการนำเข้าและการส่งออก(เอ็กซ์ซิมแบงก์ )ปล่อยกู้วงเงิน 4,000 ล้านบาท ให้แก่รัฐบาลพม่า ที่มีนายวิโรจน์ เลาหะพันธ์ กรรมการ คตส.เป็นประธาน เมื่อวันที่ 28 มี.ค.นั้น ทางอนุกรรมการฯได้รายงานความคืบหน้าในการตรวจสอบต่อที่ประชุม ซึ่งปรากฎว่าอนุกรรมการฯ พบว่า ก่อนที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) จะออกมติครม.ให้ดำเนินการเมื่อวันที่ 18 พ.ค.47 ด้วยวงเงินกู้ 4,000 ล้านบาท ได้มีการเสนอวงเงินปล่อยกู้ก่อนหน้านี้ ประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยอนุกรรมการฯ รายงานว่า จำนวน 3,000 ล้านบาท ที่มีการเสนอไปก่อนหน้านั้น ไม่ได้รวมเรื่องการโทรคมนาคมมาอยู่ในข้อตกลงในการปล่อยเงินกู้ด้วย แต่กลับมีการเสนอวงเพิ่มอีก ประมาณ 900ล้านบาท เพื่อมาเป็นเงินกู้ในส่วนของกิจการโทรคมนาคม

"และจากข้อเท็จจริงส่วนนี้ ทำให้คณะอนุกรรมการฯจะต้องดูว่า ใครเป็นผู้เสนอวงเงินกว่า 900 ล้านบาท เพื่อให้พม่ามากู้สำหรับการทำโทรคมนาคม แต่ยังคงไม่สามารถระบุได้ชัดว่า ปล่อยเงินกู้ลักษณะนี้จะมีความผิดหรือไม่ เพราะจะต้องรอการชี้แจงของ นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตประธานกรรมการธนาคารเอ็กซ์ซิมแบงก์ก่อน ซึ่ง อนุกรรมการฯได้เชิญมาให้ข้อมูลในวันที่ 4 เม.ย.นี้ เนื่องจากนายปกรณ์ เป็นประธานกรรมการธนาคารในสมัยที่มีการปล่อยกู้ในโครงการดังกล่าว ซึ่งเขาเองก็ได้ยืนยันว่า ในการให้กู้ ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ถูกขั้นตอน และภายใต้การตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งอนุกรรมการฯ คาดว่าถ้าได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากนายปกรณ์ ทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถสรุปผลการตรวจสอบในภายในเดือนเม.ย.นี้ แน่นอน" แหล่งข่าว กล่าว

นอกจากนี้ ในการรายงานการทำงานของอนุกรรมการฯ ยังได้ระบุว่าในการปล่อยเงินกู้ของธนาคารเอ็กซิมแบงก์ ที่ให้รัฐบาลพม่านำเงินกู้ไปซื้อดาวเทียมไอพีสตาร์ ของบริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน)เป็นมูลค่ารวมเกือบ 1 พันล้านบาทนั้น ทางบริษัท ชินแซทฯ ได้นำเงินที่ได้จากการจ่ายค่าประกันปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบพลังงานของดาวเทียมไทยคม 3 จำนวน 33,028,690 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,200 ล้านบาท มาระบุเป็นรายได้ ของบริษัท

"อนุกรรมการฯบางคนเห็นว่า เงินจำนวนดังกล่าวควรจะต้องป็นของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)ดังนั้น ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าให้ดำเนิการตรวจสอบในประเด็นดังกล่าวด้วยว่า การปล่อยกู้ของเอ็กซิมแบงก์ จะสามารถปล่อยกู้ในกรณีให้รัฐบาลพม่าสามารถซื้อดาวเทียมไอพีสตาร์ ของบริษัท ชินแซทฯ ได้หรือไม่ เพราะยังไม่ชัดเจนว่าโครงการดังกล่าวอยู่ในหมวดของการซื้อสินค้า หรือบริการ แต่เป็นเพียงแค่ช่องดาวเทียมช่องหนึ่งเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับไทย" แหล่งข่าว กล่าว

**จี้คลังรีบมุดรั้วมาร้องทุกข์ กล่าวโทษ

นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส.กล่าวถึง กรณีที่คตส.ได้ทำหนังสือเชิญ รมว.คลัง และ รคมว.มหาดไทย เข้าชี้แจงเหตุที่ไม่ทำหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ การออกสลากเลขท้าย 2-3 ตัว ว่า เป็นเรื่องปกติ เมื่อมีปัญหาความล่าช้าในการทำงานที่เกิดขึ้น ก็ต้องทำหนังสือไปถึงผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในกระทรวง ซึ่งรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาด้วยตัวเอง แต่สามารถมอบหมายให้ข้าราชการประจำมาร้องทุกข์กล่าวโทษแทน และกระทรวงหมาดไทย เข้าชี้แจงเหตุที่ไม่ทำหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษก็ได้ ส่วนที่ รมว.มหาดไทย ตำหนิว่า คตส.ให้ข่าวมากเกินไปนั้น ตนเห็นว่า เป็นการพูดไปเรื่อยเปื่อย ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร และคตส.ส่งหนังสือไปแล้วถึง 2 ครั้ง ดังนั้น นายอารีย์ ต้องกลับไปคิดเอง

ส่วนกรณีกระทรวงการคลัง ยังไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษ นายนาม กล่าวว่า คาดว่าจะมาภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งความจริงแล้ว กระทรวงการคลังก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้อย่างสะดวก เพราะอยู่ใกล้กับ คตส."ที่จริงกระทรวงการคลัง มุดรั้วมาแป๊บเดียวก็ได้แล้ว"

สำหรับการรับเรื่อง บริษัท คิงเพาเวอร์ ไว้พิจารณาหรือไม่นั้น นายนาม กล่าวว่า คงต้องรอมติที่ประชุมใหญ่ คตส. ในวันที่ 2 เม.ย.นี้ โดยจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม ผู้สื่อข่าวถามว่า หากคตส.รับเรื่องไว้พิจารณาเป็นเรื่องที่ 14 จะทันตามกรอบอายุของ คตส.หรือไม่ นายนาม กล่าวว่า หากรับเรื่องไว้ตรวจสอบแล้ว แต่คตส.หมดวาระลงก่อน ก็สามารถมอบเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาเอกสารที่ได้รับจากคณะกรรมการธิการการศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิ คาดว่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบไม่นาน เพราะคณะกรรมาธิการได้ตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดพอสมควรแล้ว

**"ทักษิณ"ขอเลื่อนแจงข้อกล่าวหา

นายอำนวย ธันธรา กรรมการ คตส.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือจากทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าว เพื่อขอเลื่อนเข้าชี้แจงข้อกล่าวหา จากเดิมที่นัดไว้วันที่ 29 มี.ค.ออกไปเป็นวันที่ 27เม.ย.โดยอ้างว่าอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ซึ่งอนุกรรมการฯไม่ติดใจ อนุญาตให้เลื่อนการชี้แจงไปได้ เพราะอยู่ระหว่างการรอการคัดค้านผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นชาวต่างชาติ จึงไม่ทำให้การทำงานของอนุกรรมการล่าช้าออกไป นอกจากนี้ ยังมีนายศรีสุข จันทรางศุ อดีตประธานบอร์ด ทอท.ได้ติดต่อขอเลื่อนการชี้แจงเช่นกัน ยังมีเพียง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรมว.คมนาคม ที่ยังไม่ได้ประสานขอเลื่อนมารับทราบข้อกล่าวหา จึงเข้าใจว่านายสุริยะ จะคงนัดเดิม คือเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 29มี.ค.นี้

**"อลงกรณ์"แจงเยาวภารวยผิดปกติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมาให้ปากคำ ในกรณีที่ได้ยื่นร้องให้ป.ป.ช.ตรวจสอบ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ และการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ พร้อมนำหลักฐานมายื่นต่อป.ป.ช.เพิ่มเติม เพื่อชี้ให้เห็นความผิดคดีนี้ใน 3 กรณี คือ 1.การให้ผู้อื่นถือหุ้นโครงการหมู่บ้านชินณิชา วิลล์ แทนตัวเอง 2. การซื้อที่ดิน 8 ไร่ มูลค่า 256 ล้านบาท ในโครงการหมู่บ้านชินณิชา วิลล์ 3. การที่บุตรทั้ง 3 คน เข้ามาซื้อหุ้น 4 บริษัท มูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท เมื่อปี 47ซึ่งน่าสงสัยว่าเป็นการถือครองหุ้นแทนนางเยาวภา เพราะบุตรทั้งหมด เพิ่งบรรลุนิติภาวะ และเรียนอยู่ในระดับอุดมศึกษา จึงน่าสงสัยว่าจะนำเงินจากไหนมาซื้อหุ้นบริษัท

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงในคดีนี้ คือ เมื่อป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนนางเยาวภาแล้ว ก็เหมือนกับเป็นการแหวกหญ้าให้งูตื่น ทำให้อาจมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินออกไป หรือแก้ไขเอกสารต่าง ๆ เพื่อทำลายหลักฐาน ในระหว่างที่ ป.ป.ช.กำลังไต่สวนคดีดังกล่าวอยู่ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอย่างไรดี จึงอยากให้ ป.ป.ช.เร่งไต่สวนคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น