xs
xsm
sm
md
lg

รธน.สกัดนักการเมืองฮุบสื่อ ห้ามถือหุ้น - บวรศักดิ์ค้านเขตใหญ่เรียงเบอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ประสงค์” เผย รธน.ใหม่จะมีน้อยกว่า 320 มาตรา เน้นลดอำนาจรัฐ กระจายไปยังท้องถิ่นและประชาชน ระบุภายใน 11 เม.ย.ได้ข้อสรุปร่าง รธน.แรก ส่วนการพิจารณาร่าง รธน. กมธ.ยกร่างฯ รุมต้านให้ ศาลรธน.ชี้ขาด มาตรา 7 หวั่นเกิดปัญหาในอนาคต ขณะเดียวกันห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในธุรกิจสื่อ ห้ามเจ้าของกิจการและหน่วยงานรัฐครอบงำการทำหน้าที่สื่อ ด้าน “บวรศักดิ์” ค้านเขตใหญ่เรียงเบอร์เชื่อทำคนมีเงินได้เปรียบ พร้อมหนุนห้ามยุบรวยมพรรค

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าว วานนี้ (27 มี.ค.) ถึง การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคมนี้ ว่า จะเป็นการประชุมต่อเนื่องตลอด 3 วัน เนื่องจาก กมธ.ยกร่างฯ จะต้องพิจารณา รายละเอียดทุกมาตราทั้ง 15 หมวด เรื่องใดที่เป็นเรื่องทั่วไปและมีมติตรงกัน ก็จะสามารถผ่านไปได้ ส่วนเรื่องที่ยังไม่เป็นข้อยุติจะนำไปพิจารณาในการประชุม เพื่อสรุปเนื้อหาทั้งหมดในวันที่ 6-11 เม.ย.นี้ ที่ อ.บางแสน จ.ชลบุรี ต่อไป

น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ จะปรับให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีน้อยกว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมี 320 มาตรา โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของรัฐ ซึ่งจะมีการกระจายไปสู่ท้องถิ่นและประชาชนให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน จะเพิ่มอำนาจให้ประชาชนในเรื่องของสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วม เช่น สิทธิชุมชน สิทธิในการอยู่อาศัย การได้รับการศึกษา การรักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิทางการเมือง ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการะบวนการทางการเมืองมากขึ้น ทั้งการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและการเสนอกฎหมาย

“การประชุมวันสุดท้ายที่บางแสน จะได้ข้อสรุปของรัฐธรรมนูญร่างแรก จากนั้นจะจัดพิมพ์ 1 ล้านฉบับเพื่อแจกจ่ายใปยัง 76 จังหวัด และ กมธ.รับฟัวความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นประธาน จะอธิบายเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน”

ส่วนระยะเวลาเพียง 1 เดือน จะสามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้หรือไม่นั้น น.ต.ประสงค์ ย้อนว่า จะใช้เวลา 1 ปีเลยดีหรือไม่ ผมว่าถ้าอธิบายให้ชัดเจนประชาชนก็จะเข้าใจ นอกจากคนที่ไม่ต้องการเข้าใจ ก็บอก “I say no”

วันเดียวกันมีการประชุม (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา โดยมีประเด็นที่น่าคือ การพิจารณามาตรา 7 ฝ่ายเลขานุการ กมธ. ได้เสนอให้บัญญัติเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 คือ “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเติมให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรวินิจฉัยปัญหาในการใช้ มาตรา 7 เนื่องจากประสบการณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 มีปัญหาโดยจะระบุอำนาจไว้ในมาตรา 227/1

นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อภิปรายสนับสนุนว่า เห็นด้วยกับการให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเจ้าภาพ ในการวินิจฉัยมาตรา 7 เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีปัญหาต่างฝ่ายต่างเก่ง ไม่ยอมรับนับถือกัน ถ้าไม่เขียนไว้จะมีปัญหา การเปิดให้องค์กรวินิจฉัยกันเอง จะเกิดปัญหาว่าในบางเรื่องที่เกี่ยวพันกันจะเอาองค์กรไหนวินิจฉัย

อย่างไรก็ตามมี กมธ.หลายคนคัดค้านแนวทางของฝ่ายเลขาฯ โดยนายประพันธ์ นัยโกวิท กล่าวว่า เหตุที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่บัญญัติว่าให้องค์กรใดวินิจฉัย เนื่องจากต้องการให้แต่ละองค์กรที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องวินิจฉัยเอง การยกอำนาจให้ ศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นการเขียนกฎหมายคับแคบ เชื่อว่าจะทำให้เกิดปัญหามากขึ้น

ขณะที่นายคมสัน โพธิ์คง เห็นว่า มาตรา 7 คือบทบัญญัติที่ใช้อุดช่องว่าง ทางกฎหมาย ควรเปิดให้องค์กรที่เกิดปัญหาเป็นผู้ใช้อำนาจวินิจฉัย แต่ต้องสอดคล้องกับประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

“การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องอำนาจของสถาบันต่างๆ ต้องระวังว่าจะก้าวล่วงกับสถาบันอื่น และหากปัญหาเกิดในศาลรัฐธรรมนูญจะให้องค์กรไหนเป็นผู้ชี้ขาด”

นายมานิจ สุขสมจิตร กล่าวว่า เห็นด้วยที่คงมาตรา 7 เอาไว้ ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นกับองค์กรใดก็องค์กรนั้นก็มีอำนาจวินิจฉัย ถ้าให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะเท่ากับว่าให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเปลี่ยนตัวและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้เลยใช่หรือไม่

ในที่สุดนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการ กมธ. ได้สรุป ว่ามาตรา 7 ให้คงไว้ ตามรัฐธรรมนูญปี 40 และตัดมาตรา 227/1 ที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยออกไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับในหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นที่ประชุมมีมติ ให้คงไว้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ทั้งหมด

สำหรับ หมวด3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย เริ่มจากมาตรา26 ซึ่งมีการ อภิปรายกันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะมาตรา 44 เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ได้มีการกำหนดห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพมิพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียง หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์

มาตรา 45 พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพ ในการเสนอข่าวและแสดงความเห็นภายใต้ข้อกำจัดของรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาญัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการ แต่ต้องไม่ขัดต่อจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพ และ การกระทำใดๆ ไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อม ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าของกิจการ อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการเสนอข่าว หรือ แสดงความคิดเห็นในทางการเมือง ให้ถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวในการอภิปราย เรื่อง “ประสบการณ์ด้านรัฐธรรมนูญไทย-เยอรมัน” ว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 นำรูปแบบการเลือกตั้ง ส.ส.ของเยอรมันมาใช้ ทั้งแบบเขตเดียว เบอร์เดียวและแบบระบบบัญชีรายชื่อ แต่ในส่วนของระบบบัญชีรายชื่อได้นำมาปรับจากที่เยอรมันใช้สัดส่วนของพรรคการเมืองมาเป็นเปอร์เซ็นต์ของคะแนนเสียงที่ได้รับจากประชาชน แต่ขณะนี้ กมธ.ยกร่างฯ กำลังถอยหลังกลับไปหลังปี 2540 ด้วยการกำหนดการเลือกตั้งเป็นเขตใหญ่เรียงเบอร์ ซึ่งการกำหนดเช่นนี้จะทำให้คนที่มีเงินมากได้เปรียบ โดยวันเดียวสามารถจ้างคนไปติดโปสเตอร์ได้หมดเขต ขณะคนที่เงินน้อยใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าจะติดเสร็จ และการที่เป็นเขตใหญ่เรียงเบอร์ยังเอื้ออำนวยให้ประชาชนนอกใจคนที่เคยมีบุญคุณ และที่สำคัญยังนำไปสู่การที่ผู้สมัครพรรคเดียวกันหักหลังกันเอง เพื่อให้ตัวเองได้รับการเลือกตั้ง

นายบวรศักดิ์ ยังกล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 กำหนดให้ใช้เสียง ส.ส.จำนวน 2 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ว่า เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข เพราะรัฐบาลชุดที่แล้วใช้วิธีทางธุรกิจควบรวมพรรคการเมือง ภายหลังเลือกตั้ง ซึ่งการควบรวมดังกล่าวถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนในการเลือกตั้ง เนื่องจากตอนหาเสียงพรรคการเมืองได้นำเสนอนโยบายของตัวเอง แต่พอประชาชนเลือกเข้าไปแล้ว กลับไปควบรวม ดังนั้น รัฐธรรมนูญใหม่ต้องเขียนไว้ให้ชัดเจนว่าห้ามยุบรวมพรรคการเมือง เพราะครั้งที่แล้วกลายเป็นว่ามี ส.ส.ฝ่ายค้านไม่ถึง 200 คน ทำให้มาตรา 185 ของรัฐธรรมนูญไม่เคยได้ใช้ ดังนั้น การลดจำนวน ส.ส.ในการยื่นญัตติลงเหลือ 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ในสภา และหากคะแนนเสียงของผู้นำฝ่ายค้านไม่ถึง 1 ใน 5 แล้วรัฐบาลบริหารประเทศมา 1 ปีแล้ว ให้ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจได้ ไม่ว่าคะแนนเสียงจะถึง 1 ใน 5 หรือไม่ก็ตาม ถือว่าเป็นเรื่องดี นอกจากนี้ยังเสนอว่ากรอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ไปลอกรัฐธรรมนูญปี 2540 มาทั้งมาตราในเรื่องที่หาก ส.ส.ถูกพรรคการเมืองให้พ้นจากการเป็น ส.ส.ให้ถือว่าพ้นจากสมาชิกภาพ เป็นเรื่องที่ควรต้องปรับปรุงแก้ไข

นายบวรศักดิ์ ยังเสนอให้มีการแก้ไขประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องให้รัฐจัดเวทีเพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยร่างรัฐธรรมนูญได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในการทำประชามติ เพราะในร่างมีเพียงกำหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น